วัดพระแก้ว เชียงราย
วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงรายแต่เดิมมีชื่อว่าวัดป่าเยียะ เนื่องจากมีไม้ไผ่พันธุ์พื้นเมืองคล้ายไผ่สีสุกไม่มีหนามขึ้นอยู่จำนวนมาก มีความสำคัญคือเป็นสถานที่ค้นพบพระมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต จึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดพระแก้วในเวลาต่อมา
มีประวัติเล่าว่าได้เกิดฟ้าผ่าต้ององค์พระเจดีย์จนทลายลงที่วัดแห่งนี้ และมีการค้นพบพระพุทธรูปลงรักปิดทองอยู่ภายใน เมื่อได้อัญเชิญออกจากพระเจดีย์แล้วนั้น ปูนที่พอกไว้ได้เกิดกะเทาะออก เผยให้เห็นพระพุทธรูปเนื้อหยกสีเขียวมรกต และตำนานของเน้นทางประวัติศาสตร์แห่งองค์พระแก้วมรกตได้เริ่มต้นขึ้นจากศรัทธาของเมืองต่างๆ ที่ได้อัญเชิญองค์พระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้สักการบูชา นับจากเชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ เวียงจันทน์และกรุงเทพฯ ปัจจุบันประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การค้นพบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ทำให้วัดพระแก้วเมืองเชียงรายเป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรัตนกรวุติวัสสานุสรณ์มงคลหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระหยกเชียงราย ซึ่งทางวัดได้สร้างขึ้นและอัญเชิญเมื่อปี พ.ศ.2534 ในวาระที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา และได้ประดิษฐานไว้ในหอพระหยก ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม เป็นเรื่องราวแห่งพระแก้วมรกต ว่าด้วยตำนานรัตนพิมพวงศ์ รวมทั้งภาพการสร้างหอพระหยก และพระเชียงรายและในพระอุโบสถนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง พระประธานสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยขนาดใหญ่และทางด้านหลังของโบสถ์นี้คือ องค์พระเจดีย์ซึ่งเป็นที่ค้นพบพระแก้วมรกต ปัจจุบันได้หุ้มแห่นทองเหลืองลงรักปิดทองอร่ามตา ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนมาสักการะอยู่ไม่ขาด