สะพานประวัติศาสตร์เมืองปาย
ที่นี่มีประวัติเมืองปายให้ศึกษาอยู่
"ปายเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่ประมาณ 2,324 ตร.กม.
ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มฝั่งขวาของแม่น้ำปาย มีทิวเขาสูงโอบล้อมโดยรอบ
พื้นที่มีความสูง 600-1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล
ปายเป็นเมืองเงียบสงบ สภาพอากาศร้อนชื้น กลางคืนเย็นจัดในฤดูหนาว
ชนพื้นเมืองเดิมเป็นชาวไทยใหญ่ ซึ่งอพยพจากสงครามกลางเมือง
ในรัฐฉานประเทศพม่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว
ปายเป็นชื่อที่มีอยู่หลายตำนาน บ้างก็ว่า "ปาย" มาจากคำว่า "ป้าย"
ภาษาไทยใหญ่แปลว่า หนีหรืออพยพ ส่วนบางตำนานก็ว่า "ปาย"
มาจากชื่อของผู้นำชาวไทยใหญ่ "ขุนสางปาย" (ข้อมูลจาก อ.เจริญ วรรณยอดคำ)
ปายจากตำนานที่เป็นไปได้ และมีหลักฐานบันทึกในหอสมุดแห่งชาติ (ข้อมูล อ.โกศลกันทะรส)
ระบุคำว่า "ปาย" มาจาก "พลาย" บันทึกไว้ว่าในสมัยที่กรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองอยู่
มีเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้น ได้สั่งให้หาช้าง คล้องช้างไปเป็นเครื่องราชบรรณาการแด่อยุธยา
เมื่อเมืองเชียงใหม่มาคล้องช้าง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนืองของเชียงใหม่
พบชุมชนเล็กๆ และคล้องได้ช้างพลายหลายเชือก
(แล้วนำไปฝึกที่ "แม่ร่องสอน" ภายหลังเพี้ยนเป็นคำว่าแม่ฮ่องสอน)
จึงน่าจะตั้งชื่อเมืองปายว่าเป็นเมืองพลาย (ในบันทึกมีคำว่าเมืองพลายช้างผู้)
ต่อมาเมื่อเรียกสืบต่อกันมาจึงเพี้ยนคำว่า "เมืองพลาย" เป็น "เมืองปาย"
คล้ายกับคำว่าเมืองแพร่ คำเมืองเรียกว่า "แป้" คำว่าพลิก ก็เป็นคำว่าปิ๊ก
ในลักษณะเดียวกันนั่นเอง"
เพิ่มเติม...
แม่ฮ่องสอน มาจากคำว่าแม่ร่องสอน คือ เมื่อคล้องช้างได้แล้ว มีการนำมาฝึกที่ร่องแม่น้ำ
คำว่าแม่ หมายถึงแม่น้ำ, ร่อง หมายถึงร่องน้ำ, สอน หมายถึงสอนช้าง ฝึกช้าง
แต่ในภาษาเหนือ เสียง ร.เรือ จะออกเสียงเพี้ยนเป็นเสียง ฮ.นกฮูก
ดังนั้น แม่ร่องสอน จึงกลายเป็น แม่ฮ่องสอน, เรือน ก็เป็นเฮือน, เราก็เป็นเฮา ฯ ดังนี้แล