|
ประวัติเขื่อนนี้นะคะ เขื่อนชลประทานตูเจียงเอี้ยน เป็นโครงการชลประทานโบราณบนลำน้ำหมินเจียง (เขตต้นน้ำของแม่น้ำแยงซีเกียง) ใกล้ที่ราบลุ่มฝั่งตะวันตกของเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นเมืองตูเจียงเอี้ยน ก่อนที่เขื่อนชลประทานแห่งนี้จะสร้างขึ้น ความเชี่ยวกรากของแม่น้ำหมินเจียงได้ก่อให้เกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง จวบจนเมื่อปีค.ศ. 256 ข้าหลวงเมืองสูนาม หลี่ปิงและบุตรชาย ได้นำประชาชนในท้องถิ่นก่อสร้างเขื่อนชลประทานแห่งนี้ขึ้น จากนั้นมา พื้นที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่เมืองเฉิงตูก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองแมนแดนสวรรค์’ และได้กลายเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของจีน ตลอดเวลากว่า 2,200 ปี ที่โครงการชลประทานแห่งนี้ยังคงปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานแห่งนี้เพื่อใช้ในการป้องกันอุทกภัย ชลประทาน ขนส่ง ผลิตกระแสไฟฟ้า เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมพื้นเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำใช้ในครัวเรือนของชาวเมือง เป็นต้น โครงการชลประทานตูเจียงเอี้ยน ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ ปากปลา เฟยซาเอี้ยน(ฝายน้ำล้น) และเป่าผิงโข่ว(ปากน้ำ) บริเวณปากปลา จะเป็นเกาะกลางน้ำ มีลักษณะคล้ายปลาใหญ่ทอดตัวไปตามแนวลำน้ำหมินเจียง ปากปลาหันไปทางต้นน้ำ ทำหน้าที่แยกสายน้ำเป็น 2 สายคือ สายในและสายนอก สายในใช้เพื่อการชลประทาน สายนอกใช้เพื่อการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก
เฟยซาเอี้ยนหรือฝายน้ำล้น จะอยู่บริเวณตอนกลางของตัวปลาใหญ่กลางน้ำ สร้างเป็นช่องทางระบายน้ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากไม่เพียงใช้ระบายน้ำ ยังช่วยชะลอสายน้ำที่ไหลผ่านเพื่อลดการเกิดระลอกคลื่นใหญ่ของลำน้ำสายนอก อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณการสะสมของกรวดทราย ที่จะไหลเข้าไปยังบริเวณเป่าผิงโข่วหรือปากน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่สาม เป่าผิงโข่วหรือปากน้ำ มีลักษณะเป็นช่องทางน้ำแคบๆคล้ายคอขวด มีหน้าที่ในการทดน้ำจากแม่น้ำสายในเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก และยังสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าเมืองได้อีกด้วย การชักนำสายน้ำที่คดโค้งตามธรรมชาติ ให้เกิดการทดน้ำเข้ามาในปริมาณที่พอเหมาะ ระบายน้ำและกรวดทรายที่เป็นส่วนเกินนั้น ต้องการความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น อาทิ สภาพทางชัยภูมิ เส้นทางน้ำ แรงน้ำตามธรรมชาติ เป็นต้น หลี่ปิง เมื่อครั้งสร้างตูเจียงเอี้ยนขึ้นนั้น ได้คำนวณอย่างมั่นเหมาะถึงการทำงานของทั้งสามส่วน ปากปลาทำหน้าที่เป็นคันกั้นน้ำให้แยกเป็นสองสาย เฟยซาเอี้ยนหรือฝายน้ำล้น ทำหน้าที่ระบายน้ำ และเป่าผิงโข่วหรือปากน้ำ ทำหน้าที่ทดน้ำเข้า ซึ่งต้องสอดประสานกันจนเป็นหนึ่งเดียว เมื่อถึงฤดูแล้ง สายน้ำจากแม่น้ำหมินเจียงที่ผ่านปากปลาจะไหลเข้าสู่สายใน 60% อีก 40% ระบายออกสายนอก ขณะที่ในฤดูน้ำหลากสัดส่วนจะกลับกัน โดยระบายออกสายนอก 60% ทำให้ฤดูน้ำหลากน้ำไม่ท่วม ในฤดูแล้งก็ไม่ขาดน้ำ
นอกจากนี้ แนวโค้งของลำน้ำและความแรงของกระแสน้ำจะทำให้ปริมาณของหินทรายที่ไหลมาตามน้ำถูกพัดพาเข้าหาลำน้ำสายนอกถึง 90% ส่วนที่เหลืออีก 10% ที่เข้ามายังสายในจะมีด่านกักทรายไว้อีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่น้ำจะไหลเข้าไปในบริเวณปากน้ำ จึงไม่เกิดการสะสมของตะกอนดินทราย กระบวนการทั้งหมดนี้ ล้วนสำเร็จได้โดยธรรมชาติ และการทำนุบำรุงรักษาโดยลูกหลานรุ่นต่อมา โครงการชลประทานตูเจียงเอี้ยน ถือเป็นศิลปะการก่อสร้างทางน้ำที่โดดเด่นเป็นเอก มีรูปแบบกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ และได้สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ให้กับที่ราบลุ่มเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นรากฐานของความอุดมสมบูรณ์ อันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนแห่งนี้ในเวลาต่อมา ตูเจียงเอี้ยนไม่เพียงเป็นโครงการชลประทานโบราณขนาดใหญ่ ที่ใช้เทคนิคการทดน้ำโดยไม่สร้างเขื่อนกักน้ำเพียงแห่งเดียวของโลก ที่ยังคงมีการใช้งานอยู่จวบจนปัจจุบัน แต่ยังเป็นแหล่งความรู้ทางการชลประทานชั้นนำของโลก ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ศาสนาและสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองในอดีต.
credit : http://www.manager.co.th/china/ViewNews.aspx?newsID=9470000078492&Page=2
แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 55 19:06:06
แก้ไขเมื่อ 30 เม.ย. 55 19:04:53
จากคุณ |
:
ซี-love
|
เขียนเมื่อ |
:
30 เม.ย. 55 19:04:42
|
|
|
|
|