|
โครงการปิดทองหลังพระ นาขั้นบันได บ้านเปียงซ้อ จ.น่าน
|
|
ได้มีโอกาสไปเยือนเป็นหนที่สอง (28-30/08/10) ครั้งแรกไปเมื่อ พ.ย. ปีที่แล้วไปแจกของพวกเครื่องห่มกันหนาวให้น้องๆ ที่บ้านบวกอุ้มเมื่อเสร็จภารกิจเราก็เดินทางมาบ้านเปียงซ้อ มาเยี่ยมชมการขุดนาขั้นบันได(โครงการปิดทองหลังพระตามแนวพระราชดำริ)ซึ่ง พึ่งจะเริ่มโครงการ พอมาปีนี้ก็เลยอยากจะกลับไปดูความคืบหน้าของโครงการอีกครั้ง การเดินทางหน้าฝนค่อนข้างลำบาก เจ้าหน้าที่ที่บ้านเปียงซ้อ ลงมารับเราโดยใช้รถ 4x4 โดยการประสานงานของหมอเบิ้ม ต้องขอขอบคุณคุณหมอมากค่ะ เสียดายที่ไม่ได้เจอคุณหมอ เพราะคุณหมอติดภารกิจที่กรุงเทพไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพผู้ใหญ่ 5 ท่านที่ฮ ตก คืนแรกเรานอนที่โครงการซึ่งมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง ทำงานเก็บข้อมูลการทำไร่ ของชาวบ้านและเป็นผู้ผลักดันให้โครงการนาขั้นบันไดประสบผลสำเร็จ ตามแนวพระราชดำริ แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะชาวบ้านบางกลุ่มไม่ชินกับการทำไร่แบบนี้ และชาวบ้านมีการนับถือผี ทีมงานจึงจัดงานเลี้ยงผีตามความเชื่อถือของชาวบ้านก่อนจะเริ่มดำเนินการ คืนที่สองไปนอนที่บ้านบวกอุ้ม นอนที่สถานีอนามัยซึ่งยังสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยดี แต่ก็เป็นที่พักพิงในค่ำคืนอันหนาวเย็นจากฝนได้เป็นอย่างดี และรุ่งขึ้นเราก็ร่ำลาเจ้าหน้าที่ที่บ้านเปียงซ้อ ที่ให้การต้อนรับเราเป็นอย่างดี และเราคงมีโครงการดีๆเพื่อไปช่วยเสริมหรือสนับสนุนชาวบ้านที่นั่นอีก
"โครงการปิดทองหลังพระฯ ยึดแนวพระราชดำริทั้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โครงการแรกที่จะทำงานบูรณาการจากทุกภาคส่วนราชการทั้งอบต. อบจ.จังหวัด เกษตร ปศุสัตว์ กรมชลประทาน ป่าไม้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฯลฯ และชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้ชาวบ้านคิดเอง แต่ภาครัฐจะเข้าไปให้ความรู้ เพื่อหาต้นแบบที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าใน พื้นที่ป่าต้นน้ำ (น้ำจาก น.น่าน 45 เปอร์เซ็นต์ไหลลงสู่เจ้าพระยา) ซึ่งโครงการเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ที่ผ่านมา"
ชาวบ้านในพื้นที่ โครงการปิดทองหลังพระ ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าลัวะ ยากจน และมีหนี้สิน อันเป็นตัวเร่งให้ชาวบ้านรุกพื้นที่ป่าตลอดมา วิธีแก้ความจนอันดับแรก คือส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวให้พอกินโดยเปลี่ยนมาทำนาขั้นบันไดแทน ซึ่งการปลูกข้าวแบบเดิม (ข้าวไร่) ได้ผลผลิตเพียง 17-20 ถังต่อไร่ ขณะเดียวกันยังปลูกข้าวโพด ทุก ๆ ปีข้าวโพดได้ผลผลิตต่ำลง เพราะดินเสื่อม ทำให้ชาวบ้านรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายไร่ข้าวโพด ปัจจุบันพื้นที่ใน โครงการปิดทองหลังพระใน จ.น่าน ครอบคลุม 15 หมู่บ้านใน อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ท่าวังผา และ อ.สองแคว ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดหลังจาก เริ่มโครงการเมื่อปีที่ผ่านมา คือภาพของนาขั้นบันไดกระจายอยู่บนแนวเทือกขาภูพยัคฆ์ ภูแว แซมอยู่ในแปลงข้าวไร่ และข้าวโพดเป็นระยะ บางมุมยังเห็นป่าเหลือเป็นหย่อม อย่างพื้นที่บ้านเปียงซ้อเหลืออยู่ 3,000 ไร่ ป่าที่เห็นนั้นคือป่าช้า เพราะชาวลัวะมีความเชื่อเรื่องผีอย่างเหนียวแน่น จึงไม่ตัดต้นไม้เพราะเชื่อว่ามีผีอยู่
“เผ่าลัวะ ขุดดินก็ผิดผี เอาดินกลับก็ผิดผี ผีทุกอย่าง ต้องมีกลยุทธ์เลี้ยงผี ดึงผีมาเป็นพวกให้ได้ แต่ก่อนปลูกข้าวไร่มีแต่ข้าวเหนียว แต่เมื่อมีโครงการปิดทองหลังพระ คุณจะมีผัก มีไก่ ผีก็อิ่ม คนก็อิ่ม” มนัส โสกันธิกา ปลัดจังหวัดน่านว่า ในฐานะภาคราชการอีกส่วนที่มาร่วมทำโครงการปิดทองหลังพระ
ประยงค์ สีสัตย์ใจ เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฝ่ายงานสำรวจวิจัยป่า ในฐานะผู้ร่วมปฏิบัติงานในโครงการ เล่าว่าภูมิปัญญาการทำนาขั้นบันได มีต้นแบบมาจากประเทศจีน ชาวเขาเผ่ามูเซอ เป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในการทำนาขั้นบันได เมื่อมาอาศัยในแผ่นดินไทยก็ปลูกข้าวด้วยระบบนาขั้นบันได ก่อนหน้าที่ดอยตุงเผ่ามูเซอก็เป็นผู้บุกเบิกนาขั้นบันได ดังนั้นเมื่อมาเริ่มต้นใน จ.น่าน ชาวเขามูเซอได้มาเป็นปราชญ์ถ่ายทอดวิธีการทำนาขั้นบันได ให้กับชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ กองอาสารักษาดินแดน (อส.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
นา ขั้นบันไดใช้สายตาในการกะระยะแนวขอบคันนา ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องส่องเพื่อหาระดับ คนที่มีประสบการณ์จะกะระยะได้เป็นแถวเป็นแนวขนานไปแนวสันเขาสวยงาม สิ่งสำคัญเมื่อได้ระดับจะช่วยไม่ให้น้ำขังไปด้านใดด้านหนึ่ง ขนาดของนาขั้นบันไดนั้นขนาดความกว้างจะไม่เกิน 4 เมตร ถ้ามากกว่านี้จะรับความจุของน้ำไม่ไหวทำให้นาพังลงมาได้ นอกจากนี้ยังใช้ไม้ไผ่ฝังไว้เป็นท่อระบายน้ำตามแนวคันนาเพื่อระบายน้ำเข้า ออกคันนา ป้องกันนาถล่มอีกทาง ส่วน ขนาดความยาวของนามีได้ถึง 10-20 เมตร เมื่อกะเกณฑ์แนวของนาได้แล้วจะขุดดินด้านล่างขึ้นมาถมเป็นคันนา ต้องอัดดินในนาให้แน่นไม่เช่นนั้นเก็บน้ำไว้ไม่ได้ ส่วนการไถนั้นจะใช้ควาย หรือใช้จอบในการไถพรวนได้เลย และใช้วิธีการลงแขก เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน
“นาขั้นบันไดจะใช้สารเคมีฆ่าหญ้าบนคันนาไม่ได้ ต้องใช้จอบหรือมือในการดายหญ้าแทน เพราะ รากหญ้าจะช่วยยึดดินบนคันนาไม่ให้พังทลายลงมา หญ้า ในนาใช้วิธีฆ่าหญ้าด้วยการปล่อยน้ำ เข้านา ถ้าใช้สารเคมี ชาวบ้านเหยียบย่ำลงในนาก็ได้รับสารเคมีไปด้วย” เจ้าหน้าที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ฝ่ายงานสำรวจวิจัยป่า อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการทำเกษตรในโครงการ
ปัญหาของการ ปลูกข้าวบนที่สูงใช้น้ำเฉกเช่นเดียวกับนาพื้นที่ราบลุ่มทั่วไป สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงนาขั้น บันได นอกจากน้ำฝนแล้วยังใช้แหล่งน้ำจากร่องน้ำตา และบ่อพลวงขุดไว้เป็นแหล่งเก็บน้ำกระจายตามแนวเขาโดยใช้ระบบท่อ เก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ซึ่งน้ำจากบ่อพลวงใช้สำหรับปลูกพืชผักตามคันนา และใช้ในการปลูกป่าเศรษฐกิจในอนาคต
ประสงค์ กล่าวว่า ชาวบ้านที่นี่ถือครองที่ดินต่อเฉลี่ยครอบครัว 50 ไร่ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ใช้ทำนา 40 ไร่ ระบบทำนาขั้นบันไดจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นจากนาข้าวไร่ เกินครึ่ง คือ 40-50 ถัง ส่วนพื้นที่เหลือจะส่งเสริมให้ปลูกป่าเศรษฐกิจ เช่นไผ่ ขี้เหล็ก ต้นไก่ ที่ใช้เปลือกมาทำธูป วิธีการนี้จะช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดออกไปเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า อัตโนมัติ แต่ชาวบ้านมีรายได้ ยกตัวอย่างเช่นต้นไก่ 10 ปีเห็นผล คำนวณออกมาต้นไก่ 1 ต้นจะได้กำไร 1,000 บาท
“โครงการเราเพิ่ง เริ่ม มีชาวบ้านบางหมู่บ้านยังไม่เข้ามาร่วมกับโครงการ ส่วนหนึ่งกลัวรัฐจะเอาที่ดินคืน ยืนยันว่าจะไม่ยึดคืนขอเพียงอย่าไปรุกป่าเพิ่ม อย่างนาขั้นบันไดในปีหน้าจะมีชาวบ้านเข้าร่วมอีกเพราะเห็นความแตกต่างแล้ว ว่านาขั้นบันได ข้าวเขียวกว่าข้าวไร่ที่ปลูก” ผู้ร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่บอกเล่า
คาดว่าภายใน 5 ปี แนวสันเขาจะเต็มไปด้วยนาขั้นบันไดสวยงาม เหมือนในเวียดนาม และฟิลิปปินส์ อนาคตจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางขุนเขาและดงดอยเทียบเท่าดอยตุง. ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แก้ไขเมื่อ 08 ก.ย. 53 19:18:23
แก้ไขเมื่อ 08 ก.ย. 53 19:09:33
แก้ไขเมื่อ 08 ก.ย. 53 19:09:03
จากคุณ |
:
Errantry
|
เขียนเมื่อ |
:
8 ก.ย. 53 19:06:07
|
|
|
| |