Modern Mom

แวะอ่าน
 
เทคนิคเวิร์กกิ้งมัมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เรื่อง  นภัส



เมื่อนมแม่นั้นดีที่หนึ่ง คุณแม่ก็ย่อมอยากให้ลูกได้รับนมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้แต่เวิร์กกิ้งมัมที่ต้องกลับไปทำงานหลังคลอด ถึงอุปสรรคจะมากกว่าคุณแม่ฟลูไทม์ แต่ก็ใช่ว่าจะยากเกินทำได้ แค่ต้องมีการเตรียมความพร้อมของคุณแม่และคุณลูก แล้วจะเตรียมอย่างไร เตรียมอะไรบ้าง มาดูพร้อมกันค่ะ

เตรียมความพร้อมคุณแม่ : ภารกิจสต็อกนม
   
ภารกิจหลักของคุณแม่ที่ต้องเตรียมคือ การเก็บน้ำนมค่ะ ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ แบบบีบมือ และใช้เครื่องปั๊ม โดยแบบบีบมือดีตรงที่สามารถควบคุมน้ำหนักความแรงได้ แต่แบบเครื่องปั๊มดีตรงที่สะดวกสบาย มีให้เลือกทั้งปั๊มมือและปั๊มไฟฟ้า ซึ่งสามารถเลือกได้ตามความถนัดของคุณแม่แต่ละคนค่ะ
 
คุณแม่ควรเริ่มเก็บน้ำนมเมื่อลูกอายุครบ 1 เดือนไปแล้ว โดยเริ่มปั๊มหรือบีบเก็บหลังจากลูกดูดนมอิ่ม แต่ถ้าน้ำนมไหลดี ระหว่างที่ลูกดูดข้างหนึ่ง แล้วมีน้ำนมไหลจากอีกข้าง ก็สามารถปั๊มไปพร้อมกันด้วยก็ได้ค่ะ ระยะแรกอาจจะยังปั๊มได้ไม่มากนัก แต่ทำไปสักพักร่างกายจะปรับตัวสร้างน้ำนมเพิ่มขึ้นเอง

ส่วนเมื่อคุณแม่อยู่ในที่ทำงาน ถ้าสามารถปั๊มเก็บได้ทุก 3 ชั่วโมงก็จะดีมาก หรืออาจแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ก่อนเข้างาน หลังอาหารเที่ยง และบ่าย หากทิ้งไว้นานกว่านี้ จะทำให้การสร้างน้ำนมลดลงเรื่อยๆ และควรบีบเก็บให้เกลี้ยงเต้า ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที แต่ถ้าคุณแม่ไม่ค่อยมีเวลา ก็อาจแบ่งได้เป็น เวลาสายและบ่าย ปั๊มนาน 5 นาที เพื่อป้องกันนมคัด และช่วงพักกลางวัน ใช้เวลา 15-20 นาที ส่วนช่วงเย็นเมื่อกลับบ้าน คุณแม่ก็ควรให้ลูกดูดนมจากอก เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างน้ำนมได้ดีที่สุดค่ะ

ล้อมกรอบ
Tip
- อุปกรณ์การเก็บนม มีให้เลือกหลายแบบ ทั้งเป็นขวดนมเลย หรือถุงเก็บน้ำนมที่จะสะดวกกับการเก็บเป็นจำนวนมาก และการพกพา
- หากปั๊มนมที่ที่ทำงาน ควรแช่ใต้ช่องแข็งในช่องธรรมดา แล้วเอากลับไปฟรีซทีเดียวที่บ้านค่ะ
- หากไม่สะดวกแช่ตู้เย็นระหว่างวัน ให้เตรียมกระติกเก็บความเย็นและน้ำแข็งก้อน (หรือ ice pack) ก็จะสามารถรักษาคุณค่าน้ำนมไว้ได้ แล้วค่อยนำกลับไปแช่ต่อที่บ้านค่ะ
- หากนำนมที่เก็บไว้มาใช้แล้ว ไม่ควรนำกลับไปฟรีซต่อ ควรใช้ให้หมดภายใน 24 ชม. ค่ะ

เตรียมความพร้อมคุณลูก : ฝึกลูกให้คุ้นเคย

เมื่อเตรียมนมแม่ไว้พร้อมแล้ว ต่อไปก็ต้องเป็นการเตรียมคนเลี้ยงที่จะมาป้อนนมแม่ให้ลูกระหว่างที่คุณไม่อยู่ค่ะ โดยอาจจะเป็นคุณย่า คุณยาย หรือพี่เลี้ยง ถ้าเป็นญาติหรือคนคุ้ยเคยที่อยู่กับเด็กมาตลอดอยู่แล้วอาจจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากจ้างพี่เลี้ยงก็ต้องให้ลูกได้มีการทำความคุ้นเคยกันก่อน โดยในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนคุณแม่กลับไปทำงาน คุณควรให้ลูกได้เริ่มอยู่กับคนเลี้ยง แล้วค่อยๆ  เพิ่มเวลาให้นานขึ้น ให้พี่เลี้ยงได้ป้อนนมแม่ที่บีบไว้จากแก้ว ช้อน หรือไซริง ก็จะช่วยให้ลูกกับพี่เลี้ยงค่อยๆ คุ้นเคยกันมากขึ้น
โดยการป้อนนมด้วยแก้ว ช้อน และไซริงนั้น จะทำให้ลูกไม่ติดจุกและยังไม่ลืมในการกลับมาดูดนมจากอกคุณแม่ด้วยค่ะ

ตัวช่วยป้อนนม

ถ้วยป้อนนม : จะมีลักษณะเหมือนถ้วยยาน้ำเล็กๆ สำหรับการป้อน ให้เทนมลงถ้วยประมาณ 1 ใน 3 ของถ้วย ตะแคงถ้วยให้น้ำนมแตะที่ริมฝีปากแล้วให้ลูกดูดกินเอง ไม่ควรเทนมใส่ปากเด็ก การใช้ถ้วยป้อนเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ดีที่สุด และป้อนได้เร็วที่สุด แต่แม่หลายคนมักกลัวว่าวิธีนี้จะทำให้ลูกสำลัก ซึ่งถ้าหากฝึกบ่อยๆ ก็จะทำได้ไม่ยากเลยค่ะ

ช้อน : ช้อนสำหรับเด็กเล็กจะเป็นยางนุ่มๆ ซึ่งคุณแม่ควรดูด้วยว่าต้องเป็นพลาสติกที่ไม่มีสารที่เป็นอันตรายกับเด็ก โดยในการป้อนให้ตักนมประมาณ 2 ใน 3 ของช้อน แล้วตะแคงข้างช้อน ให้ลูกค่อยๆ ดูดน้ำนม ซึ่งการใช้ช้อนป้อนจะใช้เวลานานกว่าแก้ว จึงเหมาะสำหรับป้อนแบบสั้นๆ 

ไซริง : จะคล้ายกระบอกฉีดยา ซึ่งทำให้สามารถกะปริมาณน้ำนมได้ง่ายในแต่ละมื้อของลูก ใช้วิธีดูดน้ำนมขึ้นไซริง แล้วหยดน้ำนมเข้าไปตรงมุมปากของลูก แล้วลูกก็จะกินได้เองค่ะ แต่การป้อนแบบนี้จะใช้เวลานานเช่นเดียวกับใช้ช้อนป้อน

งานนี้คุณแม่ก็ต้องออกกำลังภายในการสต็อกนม และวางแผนจัดการกันหน่อยค่ะ แต่เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกแล้ว คุณแม่คนเก่งทำได้แน่นอนอยู่แล้วใช่ไหมคะ
  
ล้อมกรอบ
เคล็ดลับให้นมแม่ได้ครบปี

1. ปิยณัฏฐ์ ลูคัส ให้นมแม่จนถึงปัจจุบัน (อายุ 1 ขวบ 5 เดือน)
ดิฉันทำงานเป็นพนักงานบริษัทและเป็นคุณแม่ที่ให้นมแม่จนลูกสาวอายุ 1 ขวบ 5 เดือนกว่าแล้วค่ะ
สำหรับช่วงลาคลอด เป็นช่วงที่ได้อยู่กับลูก ควรให้ดูดกระตุ้นน้ำนมจากเต้าทุกมื้อ หลังลูกอายุครบ 1 เดือนจึงเริ่มทำสต๊อกนมแม่ โดยหลังจากลูกดูดนมแล้วปั๊มน้ำนมเก็บเอาไว้ แรกๆ อาจจะได้นมน้อย เก็บได้เพียง 1-2 ออนซ์ ก็ค่อยๆ สะสมน้ำนมที่เก็บภายใน 24 ช.ม. รวมไว้ด้วยกันได้ค่ะ โดยซื้อตู้แช่ไอศกรีม -18 องศา ที่สามารถเก็บนมแม่ได้นาน 6 เดือน - 1 ปีมาใช้เลยค่ะ จนปั๊มนมเก็บได้ 200 ถุง หมดกังวลเวลาที่จะกลับไปทำงาน

เมื่อกลับไปทำงาน หากที่ทำงานมีห้องเป็นสัดส่วนก็ดี แต่ถ้าไม่มีให้มั่นใจว่านมแม่ปั๊มได้ทุกที่ เพียงหาผ้าคลุมไหล่มาบัง หรือที่ห้องน้ำก็ได้ค่ะ ปั๊มวันละ 3 ครั้ง เช้าเมื่อมาถึงที่ทำงาน, ช่วงเที่ยงหลังจากรับประทานข้าวกลางวัน และช่วงเย็นหลังเลิกงาน ก่อนกลับบ้านค่ะ เมื่อกลับบ้านแล้วให้ลูกดูดจากเต้าเลย

ช่วงอายุ 8 - 12 เดือน เด็กจะยืดตัว เตรียมเดินและทานนมน้อยลง คุณแม่ที่มีสต๊อกนมเยอะๆ ยังไม่ต้องรีบบริจาคหรือทิ้งนม เพราะพอลูกโตขึ้น ร่างกายคุณแม่ก็ผลิตน้ำนมน้อยลงด้วย โดยเฉพาะช่วงลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป นอกจากเคล็ดลับเหล่านี้แล้ว คุณแม่ต้องมีวินัยในการบริหารเวลา อาจจะเหนื่อยหน่อยแต่การให้นมแม่คือการให้สุขภาพลูกน้อยด้วยค่ะ ไม่มีใครให้ได้นอกจากคุณแม่เท่านั้น

2. เทพอัปสร ขันขะ ให้นมแม่จนถึงปัจจุบัน (อายุ 1 ขวบ 4 วัน)
ต้องเข้าใจในหลักธรรมชาติของลูกและแม่ ระยะ 3 เดือนแรกหลังคลอด เมื่อลูกหิวแม่ให้ดูดทันที ไม่มีกำหนดระยะเวลา แล้วมาเริ่มทำสต๊อกซ์เมื่อพร้อมคือก่อนไปทำงานประมาณ 1-2 อาทิตย์ เพื่อให้มีสต๊อกเก็บอย่างน้อย 40-50 ออนซ์ จากนั้นก็ทำความเข้าใจกับพี่เลี้ยงเรื่องการให้นมลูก วิธีการใช้ ปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ มีวินัยในการปั๊ม ไม่ทิ้งระยะห่างมากกว่า 3-4 ชม. แต่หากเกิดเหตุสุดวิสัย ก็ต้องปั๊มออกเมื่อสะดวก แม้เพียง 5-10 นาทีก็ยังดี เมื่อตั้งใจและมุ่งมั่นในการจะให้ลูกกินนมแม่ ไม่ไขว้เข้วกับสิ่งแวดล้อม หรือกระแสต่างๆ เราก็จะทำได้ สุดท้ายอย่าลืมให้รางวัลตัวเองบ้าง เพื่อให้การให้นมลูกไม่เป็นการเครียดและไม่มีความสุข เช่น การจิบกาแฟบ้าง แต่ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ส่งผลกับลูก
แค่นี้ก็ครบปีแบบมีความสุขและไม่ทรมานตนเองค่ะ

3. ธัญลักษณ์ โชติกีรติเวช ให้นมแม่ น้องออสตินจนอายุ 1 ขวบกว่า (ปัจจุบัน 4 ขวบ) และน้องเอ็มม่าจนปัจจุบัน (1 ขวบ 1 เดือน)
คุณแม่ที่ไปทำงานต้องหมั่นปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ ไม่เช่นนั้นน้ำนมก็จะลดน้อยลงและหมดไปในที่สุด ควรเตรียมเครื่องปั๊มนมและอุปกรณ์ไปให้พร้อม ก่อนปั๊มนม อย่าลืมล้างมือให้สะอาด และทำความสะอาดเครื่องปั๊มให้เรียบร้อยก่อน สถานที่ที่ปั๊มนม ควรไม่พลุกพล่าน มีความเป็นส่วนตัวและเงียบสงบ คุณแม่จะได้ผ่อนคลายในขณะปั๊มนมค่ะ แล้วเก็บนมในถุงเก็บน้ำนมแม่และเก็บในช่องแช่แข็ง เมื่อถึงเวลากลับบ้าน ให้นำนมที่ปั๊มไว้ใส่ในกระเป๋าเก็บความเย็นกลับบ้านไป หรือหากที่ทำงานอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ก็สามารถนำน้ำนมออกมาใหม่ๆ ไปส่งให้ลูกน้อยได้เลย แล้วอย่าลืมว่าน้ำนมแม่ที่ไม่ได้แช่ตู้เย็นจะอยู่ได้ประมาณ 3 ชม. ส่วนที่เก็บในตู้เย็นจะได้ประมาณ 2 วัน และน้ำนมที่อยู่ในช่องแข็งจะเก็บได้ประมาณ 1 เดือนค่ะ

เมื่อคุณแม่กลับมาที่บ้านให้ทำความสะอาดอุปกรณ์ในการปั๊มนมและอบหรือนึ่งฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้สำหรับวันถัดไปด้วยค่ะ เวลาคุณแม่อยู่ที่บ้าน สามารถให้นมลูกน้อยได้บ่อยเท่าที่ลูกต้องการ เพราะเจ้าตัวเล็กจะคิดถึงนมของคุณแม่เวลาที่คุณแม่ไม่อยู่บ้านค่ะ




:: อ่านต่อในฉบับ ::

:: กลับไปหน้าหลัก ::