ขวัญเรือน : ปักษ์แรก - พฤศจิกายน 46

14 พฤศจิกายน วันพระบิดาแห่งฝนหลวง
 

..."เมื่อมีน้ำ น้ำก็มากไป ทำให้ท่วมพื้นที่ เมื่อน้ำลดก็แห้งแล้ง เมื่อฝนตก น้ำท่วมบ่าลงมาจากภูเขาเพราะไม่มีสิ่งใดหยุดเอาไว้ วิธีแก้ก็คือ ต้องสร้างเขื่อนเล็กๆ (Check Dams) จำนวนมาก ตามลำธารที่ไหลลงมาจากภูเขาต่างๆ จะช่วยให้กระแสน้ำค่อยไหลอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นไปได้ควรสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเล็กๆ สิ่งนี้จะแก้ไขปัญหาแห้งแล้งได้ ในฤดูฝนน้ำที่ถูกเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำและจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาหนึ่งที่ยังคงอยู่คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งภาคมีชื่อเสียงว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง ขณะนั้นข้าพเจ้าได้แหงนดูท้องฟ้า และพบว่ามีเมฆจำนวนมาก แต่เมฆเหล่านั้นพัดผ่านพื้นที่แห้งแล้งไป วิธีแก้ไขอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้เมฆเหล่านั้นตกลงมาเป็นฝนในท้องถิ่นนั้น ความคิดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการทำฝนเทียม ซึ่งประสบความสำเร็จในอีก 23 ปีต่อมาภายหลัง"...

จากพระราชบันทึกเรื่อง The Rainmaking Story

พระราชบันทึกเรื่อง The Rainmaking Story ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภมิพลอดุลยเดช ทรงบันทึกไว้ขณะเสด็จเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้ทรงพบเห็นปัญหา และความทุกข์ยากของพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ

นอกจากความผันแปร และคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สภาพอากาศ จากพื้นดินถึงระดับฐานเมฆ เอื้ออำนวยต่อการก่อรวมตัวของเมฆ ยากที่จะเหนี่ยวนำให้ฝนตกลงสู่พื้นดิน หรือหากตกปริมาณฝนก็จะมีระดับที่ต่ำกว่าปกติ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ที่ต้องอาศัยน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต อีกทั้งยังทำให้เกิดความเสียหาย ในด้านเศรษฐกิจโดยรวมของชาติอย่างมหาศาล

ข้อมูลจากสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือ พระบิดาแห่งฝนหลวง เล่าถึงต้นกำเนิดของโครงการพระราชดำริฝนหลวงไว้ว่า จากพระราชบันทึก The Rainmaking Story เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า โครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการตามพระราชประสงค์โดยแท้ เพราะก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใย ในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง

:: อ่านต่อในฉบับ ::

Source : ชาหรัน

:: กลับไปหน้าหลัก ::