ภาพยนตร์บันเทิง

Guest Talk

 

กษมา นิสสัยพันธุ์ 'ทำงานปิดทองหลังพระ กับชีวิตที่พอเพียง'


กษมา นิสสัยพันธุ์ หรือ เอ๋ อดีตนักแสดงที่แจ้งเกิดและโด่งดังจากบทของ "ไอ้ฟัก" ในละคร "คำพิพากษา" ทางช่อง 3 จากนั้นเขาก็มีงานแสดงต่อเนื่องทั้งในบทของพระเอกและตัวเอกจนมาถึงตัวรอง งานแสดงของเขาก็ยังมีอยู่ตลอด ก่อนจะผันตัวเองไปทำงานเบื้องหลังในตำแหน่งแอ็กติ้งโค้ชและผู้ช่วยผู้กำกับฯ จนขยับขึ้นมาเป็นผู้กำกับฯ ให้กับทางช่อง 7 คือ "อตีตา", "บ้านไร่เรือนตะวัน", "หงส์ฟ้ากับสมหวัง"

ปัจจุบันเขายังคงทำงานเบื้องหลังให้กับ "พี่ปิ่น" ณัฏฐนันท์ ฉวีวงษ์ บอสใหญ่แห่งบริษัท ทีวีซีน และ "แม่ก้อย" ทาริกา ธิดาทิตย์ แห่ง บริษัท มาสเตอร์วัน ส่วนจะในตำแหน่งหน้าที่อะไรนั้นแม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ เพราะทำมันซะเกือบทุกอย่างซึ่งน้อยคนจะทำอย่างเขาได้

วันนี้ GUEST TALK ขอเปิดพื้นที่พูดคุยกับผู้ชายมากความสามารถคนนี้ในเรื่องของการทำงาน มุมมอง และแนวคิด ที่หลายคนอาจจะคิดไม่ถึงว่าอย่างน้อยก็ยังมีคนแบบนี้อยู่...

ความหลากหลายในหน้าที่ที่ทำกับ บริษัท ทีวีซีน และมาสเตอร์วัน
"ถ้าเป็นที่ทีวีซีนพี่จะดูแค่เรื่องบทและมีออกกองถ่ายบ้าง ไปคุยกับพี่ปิ่นเพราะเวลาที่แกอยู่กองถ่าย บางทีแกนึกอะไรออกมาต้องรีบจดทันทีถ้าไม่จดแกจะจำไม่ได้ ก็เหมือนเป็นเลขาฯ คนหนึ่งของแก ที่ต้องคอยตามเรื่องงานเรื่องบทส่งช้า ส่วนที่มาสเตอร์วันพี่จะดูแลการผลิตให้แม่ก้อย อ่านเรื่องย่อละคร ดูเรื่องบท คุมเรื่องบทว่าบทเดินทางถูกต้องไหม ตรงไหนยืดเยื้อ ตรงไหนต้องแก้ ถ้าเราไม่ดูปัญหาจะเกิด เตรียมงานก่อนจะออกกอง ดูแลเรื่องงบผลิต ไม่ได้งบในการทำละครนะแต่เป็นงบของพล็อบในละครแต่ละคิว

หรือบางครั้งก็ไปกองถ่ายบ้าง ไปดูแลผู้กำกับอยากได้อะไรเราก็จัดหามาให้ ไปแก้ปัญหาให้กองถ่ายบ้างอย่างเช่น ดารามาช้ามาเร็ว สุดท้ายพอละครเข้าห้องตัดต่อเราก็ต้องไปตัดต่อเองหรือไม่ก็ต้องไปดู พี่เป็นมือตัดจริงๆ ที่ทุกคนกลัวมาก เพราะพี่ตัดตลอด คือบางทีมันสนุกเราเลยอยากตัดให้มันสั้น จนทีมงานแซวและให้ฉายาว่าเป็นมือตัด"

ไม่ได้แค่ดูบทอย่างเดียวแต่บางครั้งถึงกับต้องแก้บทเองด้วย
"ก็มีแก้บ้างเพราะนักเขียนบทบางคนเวลาเขียนอาจจะติดลมหรือหลุดไปบ้าง แต่บางคนแทบไม่ต้องแก้เลย อย่างของ เอก ลิขิต พี่ไม่ค่อยไปยุ่งกับเขา เพราะเขาทำมาเพอร์เฟกต์แล้ว อ่านบทของเขาแล้วสนุกเลยไม่รู้จะแก้อะไร ใครได้เอกลิขิตเขียนบทให้สบาย เพราะเขาพัฒนา แล้วถ้าไม่ชอบอะไรบอกเขาสามารถแก้ให้ได้ ซึ่งพี่ปิ่นก็พยายามหาคนเขียนบทใหม่ๆ นะ พี่ก็เคยเขียนบทมาก่อน แต่ตอนนี้ถ้าให้พี่เขียนจะเอาเวลาที่ไหน เพราะเวลาเขียนบทพี่ไม่สนใจอะไรเลยนะ เรียกว่าใช้เวลาเดือนสองเดือนโดยที่พี่ไม่ได้ทำอะไรเลย"

ทำงานแบบนี้เหมือนที่เขาชอบพูดกันว่าทำงานแบบจับฉ่าย
"งานที่ทำมันไม่มีความสำคัญในแต่ละจุดแต่มันทำให้ทุกจุดเท่านั้นเอง เพราะเราประสบการณ์เยอะกว่าคนอื่น เพราะเราอยู่ตรงนี้มาหลายปี ฉะนั้นการตัดสินใจของเราจะชัวร์กว่าเขา ซึ่งพี่ก็ชินแล้วนะที่ทำแบบนี้เพราะมันสนุกกับการทำงาน แต่งานเราต้องรีบทำให้เสร็จให้เร็วเพื่อที่เราจะได้ทำงานอื่นต่อไปได้อย่างตอนนี้พี่ดูเรื่อง "นายสุดซ่า ข้าสุดแสบ" แต่เราก็ไม่ได้ทำทุกอย่าง บางอย่างพี่ก็ปล่อยให้ลูกน้องทำนะ ถามว่าเราทำงานเยอะกว่าคนอื่นไหมก็ไม่นะ เพียงแต่เราต้องรู้จักแบ่งงาน แบ่งเวลา อันนี้เราไม่รับผิดชอบ อันนี้เรารับผิดชอบ อันนี้รับงานมาแล้วต้องส่งต่อ เราต้องแบ่งให้ถูก เพราะเราคนเดียวทำงานทั้งหมดไม่ได้หรอก บางอย่างพี่ก็ส่งต่อ"

ประสบการณ์ที่ถือเป็นครูในเรื่องของการทำงาน
"ก็มีเยอะนะ โดยเฉพาะการที่พี่ได้ร่วมงานเป็นผู้ช่วยให้กับผู้กำกับฯ เก่งๆ หลายคนทำให้เราได้ศึกษาและได้ประสบการณ์เยอะมาก อย่าง "พี่ดุล" อดุลย์ บุญบุตร พี่จะได้เรื่องภาพ ได้การเล่าเรื่องด้วยภาพจากแก ส่วน "พี่นะ" ชนะ คราประยูร ได้เรื่องบทเรื่องไดอะล็อกจะเป๊ะมาก หมายถึงความหมายต้องใช่เพราะถ้าเรากลับคำความหมายไม่ใช่เลย และพี่นะเป็นคนที่คร่ำเคร่งเรื่องภาษา ส่วน "พ่ออี้ด" สุประวัติ ปัทมสูต ได้เรื่องจังหวะ มา "อาชู" ชูศักดิ์ สุธีรธรรม ได้เรื่องภาพรวมเพราะอาชูแก้ปัญหาในกองเก่งและใจเย็น หรืออย่าง สมชาย นิลวรรณ ที่เสียชีวิตไปแล้วก็เป็นครู จะใครก็แล้วแต่ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนการแสดงที่เราสอนก็เป็นครูของเรานะ เพราะเด็กแต่ละคนมีความสามารถมีพรสวรรค์ มันคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเด็กว่าคนนี้มี คนนี้ไม่มี ทำให้เรามองว่าเด็กอย่างนื้คือใช่ เด็กแบบไหนที่เข็นไม่ขึ้น"

อยากกลับไปทำงานกำกับฯ
"ถามว่าอยากกำกับฯ ไหมก็อยาก มันยังอยู่ในความรู้สึก แต่ถ้าเรามากำกับฯ เราต้องทิ้งงานที่ทำอยู่ทั้งหมดทุกอย่างเลยนะเพื่อมากำกับฯ แล้วลูกน้องเราจะทำยังไง ถ้าเกิดพี่หยุดงานทั้งหมดไปนั่งกำกับฯ ลูกน้องจะทำไงก็ต้องมาปรึกษาพี่อยู่ดี พี่ก็ต้องทำทั้งหมดอยู่ดีแล้วพี่จะตายไหมก็อย่ากำกับฯ มันเลยอยู่อยางนี้ก็สบาย แต่วันหนึ่งเกิดไม่มีงานตรงนี้แล้วมีใครมาจ้างกำกับฯ พี่ก็ไปนะ แต่ก็ต้องถามดูว่ามันถึงเวลาหรือยังเพราะผู้กำกับฯ เมืองไทยสมัยนี้ขาดอยู่อย่างคือ วัยวุฒิและคุณวุฒิ อย่างผู้กำกับฯ รุ่นใหญ่หลายคนอาจจะมองว่าแก่แล้วหัวโบราณ ไม่ใช่เลย อย่างพี่นะหรือพ่ออี้ดไม่ได้โบราณเลย แต่เขาพัฒนาตัวเองนะ และมีความยึดมั่นในความเป็นละคร เพราะศิลปะการละครไม่เหมือนหนังมันเล่าเรื่องคนละแบบ"

ไม่คิดอยากจะเป็นผู้จัดละคร
"ไม่เคยคิดเลย ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่อยากคิด เพราะผู้จัดฯ ต้องมีเรื่องของความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ แต่เราไม่มีเพราะเราอยู่เบื้องหลังมาตลอด ผู้จัดฯ ไมได้แค่ทำงานได้แล้วก็มาเป็นผู้จัดฯ ได้นะ แต่ต้องมีคอนเนคชั่นกับทางช่องด้วย และช่องต้องไว้ใจให้เราทำด้วย โอเค.ชื่อของพี่คนอาจจะรู้จักแต่ใครจะไว้ใจให้ทำ อย่างพี่กับ "หนุ่ม" กฤษณ์ ศุกระมงคล ถ้าเป็นผู้จัดฯ เขาจะไว้ใจใคร ก็ต้องไว้ใจหนุ่ม เพราะตำแหน่งเขาอยู่ข้างหน้าตลอด ตำแหน่งพี่อยู่หลังตลอด ผมปิดทองหลังพระแต่ผมมีความสุข ผมชอบแบบนี้มากกว่า ไม่เจ็บตัวไม่เหนื่อยใจในเรื่องการโด่นด่าในการแก้ปัญหา ถึงจะโดนด่าแต่ก็เป็นเจ้านายผม

อยู่เบื้องหลังพอละครออกอากาศเราได้มองว่าละครเรื่องนี้สนุกมากผู้กำกับฯ เก่ง นักแสดงดี แค่นี้พอแล้วแฮปปี้ แต่ถ้าเป็นผู้จัดฯ มันเครียดตอนละครออกอากาศ เกิดเรตติ้งไม่ดีทำไงชีวิตผู้จัดฯ ลำบากเลยนะ ยิ่งถ้าไม่ดีหลายเรื่องทำไง แต่ทั้งพี่ปิ่นและแม่ก้อยก็ให้โอกาสพี่นะ ก็เคยคุยเขาก็ถามว่าอยากกำกับฯ ไหม เราบอกก็อยากแต่ถ้าทำแล้วงานตรงนี้ใครจะทำ เขาบอกก็นั่นน่ะสิ พี่ก็เลยเฉยๆ เพราะอยู่ตรงนี้ก็แฮปปี้ ถามว่ารายได้พอใช้มั้ยก็พอใช้ มีความสุข พี่ไม่ต้องการรวยไม่ต้องการมีเงินทองเยอะแยะ พี่อยู่แบบนี้พี่มีความสุขแล้ว มีรายได้ขนาดนี้ เมียสบายลูกสบายได้เรียนหนังสือ มีบ้านอยู่ เราแฮปปี้กับตรงนี้แล้วไม่จำเป็นต้องไปใหญ่นะ"

แต่คนเราก็ต้องอยากมีความก้าวหน้า
"ถามว่าพี่เป็นคนทะเยอทะยานมั้ย เป็นนะแต่พอมาถึงจุดหนึ่งเราก้าวเร็วไปหรือเปล่า เราค่อยๆ ก้าวค่อยๆ เดินดีไหม ทุกวันนี้ก็สบาย อยากทำอะไรก็ทำ อยากกินอะไรก็กิน มีเหนื่อยไหมมีบ้างแต่สบายๆ รู้สึกเราค่อยๆ ก้าวขึ้นไปเรื่อยๆ ดีกว่า ส่วนจะไปจุดไหนก็ช่างมัน แต่วันนี้เราอยู่ตรงนี้เรามั่นคงเราค่อยๆ ก้าวไป ถึงจะไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเราหายไปไหนไปทำอะไร เพราะเราอยู่เบื้องหลังอย่างเดียวเราก็แฮปปี้

ส่วนหน้าที่การงานที่เราทำก็ไม่ใช่ไม่พัฒนานะมันพัฒนามาตลอดที่เรามาทำเบื้องหลัง เราเริ่มจากเป็นผู้ช่วยฯ แอ็กติ้งโค้ช ผู้กำกับฯ จนมาถึงจุดที่เราดูแลตรงนี้มันคือประสบการณ์ทั้งนั้นเลยนะ พี่อยู่วงการผ่านงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาจนถึงวันนี้ 28 -29 ปีแล้วมั้ง ถามว่าคนอื่นเขารวยเขาไปเป็นผู้จัดฯ กันหมดแล้วทำไมพี่เอ๋ไม่เอา คือความพอใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน พี่ก็ต้องทำงานของพี่ไป คนอื่นเขาไปถึงไหนก็ปล่อยเขาไปสิ เราก็เดินในทางของเราที่เราพอใจ"

ตั้งเป้าหรือมองอนาคตยังไง
"ไม่รู้จะตั้งเป้าอะไร เราทำงานของเราวันนี้ให้ดีที่สุด ไม่คิดว่าข้างหน้าเป็นยังไง เดี๋ยววันข้างหน้ามันเดินไปของมันเอง เราทำวันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อให้วันข้างหน้ามันก็จะดีเอง ทุกวันนี้แฮปปี้มีความสุขถึงงานจะจะเยอะหน่อย ส่วนอนาคตเราไม่รู้หรอก อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิดช่างมัน เราค่อยๆ เดินไปอย่างมั่นคง วันหนึ่งพี่อาจจะเลิกทำงานเบื้องหลังมาเล่นละครอย่างเดียวหรือถ้าไม่ได้ทำงานตรงนี้อาจจะไปเขียนบทก็ได้ นี่ลูกสาว (น้องพลอย) กำลังจะสอบเอ็นทรานซ์ พอสอบได้ก็จบแล้ว ชีวิตโอเค.ถามว่าพี่มีเงินเก็บมั้ยไม่มี เพราะมันมีรายจ่าย มีลูกน้อง"

งานบางอย่างทำด้วยใจไม่ใช่ด้วยเงิน
"บางอย่างทำได้เงินแต่บางอย่างก็ไม่ได้ แต่ทำเพราะสนุกอยากช่วย หลายอย่างที่เราทำเพราะหน้าที่ หลายคนคิดว่าเราทำงานเยอะทำหลายอย่างคงรวยแต่ไม่ใช่ บางอย่างทำไปเพราะแฮปปี้แล้วเราก็บอกเองด้วยว่าอันนี้ไม่เอา เราไม่ได้เห็นทุกอย่างเป็นเงิน หรือทำแล้วเขาไม่ให้เราก็ไม่เอา รู้สึกเราทำแค่นิดเดียวเอง ถึงไม่มีเงินเก็บไงเพราะมีก็ต้องใช้จะเอาที่ไหนมาเก็บ ค่าใช้จ่ายเยอะแยะไปหมด ลูกเรียนพิเศษ หมาป่วย มีรายจ่ายตลอด และบางอย่างพระเดชอย่างเดียวไม่ได้ต้องพระคุณด้วย ลูกน้องกินข้าวเราก็ต้องเลี้ยง อย่างค่าใช้จ่ายเฉพาะเดินทางไปดูสถานที่ถ่ายทำค่าน้ำมันวันละ 800 - 900 บาท มันคือรายจ่ายทั้งหมด ถามว่าพอกับรายได้ไหมก็พอกันแต่เราไม่มีเงินเก็บ โดยที่เราก็ไม่ทุกข์ ไม่ต้องมานั่งคิดว่าพรุ่งนี้จะหาเงินที่ไหนวะ เพราะเรามีงานทำมีเงินผ่อนรถมีเงินกิน ตราบใดที่เราทำงานได้ไม่อดตายหรอก ถ้ามีงานทำอยู่มีความสุขที่สุดเลย"

พอดีกับสิ่งที่มีอยู่
"เรามีน้อยใช้น้อย  บางคนมีเงินเยอะก็เลยใช้เยอะนะ เราไม่กลัวหมดเพราะเราไม่มี คนอื่นมีเยอะเพราะกลัวหมด เราไม่ได้อดอยากแต่เราสบายชีวิตมีความสุขจบ เราขับรถโตโยต้าเราไม่ได้อยากขับเบนซ์ ถามว่าขับได้ไหมขับได้แต่เวลาซ่อมทีเอาเงินที่ไหนจ่ายเข้าศูนย์ทีละเป็นหมื่น หนี้สินก็มีแต่ไม่เยอะเราผ่อนได้ เราอยากได้อะไรก็ผ่อนเอาสิ 6 เดือนก็หมดแล้ว เราพอดีกับสิ่งที่เรามี เศรษฐกิจพอเพียงคือพอมีแล้วเราใช้ อาจจะเหลือเก็บนิดหน่อยอาจจะมีสักแสนหนึ่งเพื่อที่เกิดความจำเป็นขึ้นมา

นี่ถ้าน้องพลอยสอบติดหมอที่จุฬาฯ คงต้องเอาบ้านไปวางจำนอง เอาเงินไปวางไว้ก่อนสี่แสน คือเรียนหมอต้องทำสัญญาหมดต้องมีคนค้ำ เพราะทุนรัฐบาลนะเป็นล้านนะ คือทางพี่ปิ่นกับแม่ก้อยพร้อมจะให้เงินเรายืม แต่เราจะเอาไหมไม่เอาหรอก ลูกเราเลี้ยงมาก็ต้องเอาของเราสิ คือถ้าเราจะพึ่งใครจริงๆ ต้องลำบาก ถ้าไม่ลำบากจริงอย่าไปพึ่งเขา ถามว่าถึงเวลาที่เราจะพึ่งเขาหรือยัง เรายังพึ่งตัวเองได้โดยการเอารถเอาบ้านไปจำนองได้ ก็ต้องพึ่งตัวเองก่อนสิ"



:: อ่านต่อในฉบับ ::

:: กลับไปหน้าหลัก ::