Official website
แนว : สงคราม / ชีวิต / ประวัติศาสตร์
ความยาว : 119 นาที
กำหนดฉาย : 29 ธันวาคม 2543
เรื่องราวของชาวบ้าน ๑๑ คนที่กลับกลายเป็นตำนาน ด้วยต่างหยิบดาบสู้กับพม่าด้วยหัวใจกล้า ต่อกรกับทัพพม่าที่มีไพร่พลมหาศาล... ปีระกา เดือน ๓ พุทธศักราช ๒๓๐๘ ในเวลานั้น พม่าแบ่งกำลังออกเป็น ๒ เส้นทาง มังมหานรธา ตีจากทิศตะวันตก เนเมียวสีหบดี (พิเศษ สังข์สุวรรณ) ตีไล่จากทางเหนือ หวังขนาบกรุงศรีอยุธยา ครานั้นทัพของเนเมียวต้องล่าช้าไป เนื่องจากติดพันการต่อสู้กับกลุ่มชาวบ้าน ที่รวมตัวกันในนาม "บางระจัน" เนเมียวสีหบดี แค้นหนักที่กองทัพของตนพ่ายแพ้ถึง ๓ ครั้ง จึงเพิ่มกำลังหนักเข้า ชาวบางระจันรบกันอย่างถวายหัว แต่คราวนั้นพ่อแท่น (ชุมพร เทพพิทักษ์) หัวหน้าของชาวบ้าน ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ทุกคนจึงต้องหาผู้นำคนใหม่ ขณะนั้นข่าวการชนะพม่าของบางระจันกระจายไปทั่ว ชาวบ้านมากมายพากันมารวมตัวสู้ บางระจันได้ผู้มีฝีมืออีกสองคนมาช่วยคือ นายดอก (นิรุต สาวสุดชาติ) ครูมวยจากวิเศษไชยชาญ และ นายทองแก้ว (สมนึก แก้ววิจิตร) ครูดาบบ้านโพธิ์ทะเล ชื่อกลุ่มโจรของ นายจันหนวดเขี้ยว (จรัญ งามดี) เป็นที่กล่าวขานในเวลานั้น บางระจันจึงส่ง นายอิน (วินัย ไกรบุตร) มือแม่นธนู, นายเมือง (อรรถกร สุวรรณราช) คนหนุ่มใจกล้าและพวก เสี่ยงภัยออกจากค่ายไปตาม นายจันยอมมาช่วยบางระจันทันที เมื่อรู้ว่า พระอาจารย์ธรรมโชติ (ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง) ย้ายจากเขานางบวช บ้านเกิดของตนที่วอดวายไปแล้ว มาจำวัดที่บางระจัน นายจันหนวดเขี้ยว เป็นนักรบประเภทยอมหักไม่ยอมงอ ด้วยครั้งหนึ่งตนเคยเสียชีวิตลูกเมียให้กับพม่า เมื่อได้เป็นผู้นำคนใหม่ จึงเปลี่ยนแปลงบางระจัน ให้ทุกคนมีวินัย และไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง ทำให้นายจันไม่เป็นที่ถูกใจของ นายทองเหม็น (บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์) ขี้เมาพเนจรที่ชอบขี่ควายแอบออกจากค่าย ไปตีพม่าอยู่บ่อยครั้ง ไม่มีใครรู้สาเหตุว่า นายทองเหม็นทำอย่างนั้นเพื่ออะไร เมื่อหยุดจากการรบ ชาวบ้านก็เป็นเพียงชาวบ้าน ความรักของนายเมือง และอีแตงอ่อน (สุนทรี ใหม่ละออ) ลูกสาวพ่อแท่น กำลังก่อตัวขึ้นอย่างงดงาม พ่อแง่แม่งอนตามประสา เช่นเดียวกับนายอินกับ อีสา (บงกช คงมาลัย) เมียรักที่เพิ่งอยู่กินกัน ความกดดันจากสงคราม ทำให้อีสาไม่บอกให้นายอินว่าตนกำลังท้อง ด้วยกลัวผัวจะเป็นกังวล นายเมือง นายอิน ต้องเสี่ยงภัยกันอีกครั้ง เมื่อต้องเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา เพื่อขอปืนใหญ่ แต่เมื่อไปถึงกลับได้รับการปฏิเสธกลับมา เมื่อนายอินกลับมาแล้วมารู้ทีหลังว่าเมียกำลังท้อง แล้วนายปลั่ง เพื่อนรักที่ร่วมรบกันมาจนบาดเจ็บพิษไข้ขึ้น ถึงกลับวิกลจริตไป ซ้ำมารู้ว่า ตนกำลังจะมีลูก นึกแค้นพม่าหนัก นัดพาพวกล่องเรือไปตีพม่าถึงในค่าย โดยไม่รู้ว่า พม่าเองก็แอบส่งกำลังมาตีบางระจันเช่นกัน ครั้งนั้นด้วยใจร้อน นายอินพาคนไปตายมากมาย ซ้ำกลับมาค่ายบางระจันก็ถูกตีจนยับเยิน คนตายมากมาย ชาวบ้านก็พากันอพยพหนีไป นายจันท้อใจจะกลับไปเป็นกองโจรเหมือนเดิม หากแต่ได้กำลังใจอย่างไม่คาดคิดจากนายทองเหม็น ขี้เมาที่เป็นอริกันมาตลอด และรู้ว่าแท้จริงแล้ว นายทองเหม็นเอง ก็มีอดีตที่เจ็บปวดไม่น้อยไปกว่าตน ยามนั้นพม่าได้แต่งตั้งนายกองคนใหม่นามว่า สุกี้ (กฤษณ์ สุวรรณภาพ) เข้าตีบางระจัน ทัพสุกี้ครั้งนี้มีกองปืนใหญ่มาด้วย บางระจันเอาปืนใหญ่เข้าสู้ ทั้งที่ร้าวอย่างไม่มีทางเลือก ทุกคนรู้ชะตากรรมว่า นี่คงเป็นครั้งสุดท้ายของบ้านบางระจันแล้ว... บางระจัน ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ผลงานเรื่องที่สามของ บริษัท ฟิล์มบางกอก กำกับภาพยนตร์โดย ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้ช่วยผู้กำกับฯ คือ ศักดิ์ชัย ศรีบุญนาค บทภาพยนตร์โดย ก้องเกียรติ โขมศิริ (ดอกฟ้าในมือมาร), บุญถิ่น ทวยแก้ว (กึ๋ยทู), ปฏิการ เพชรมุณี, ธนิตย์ จิตนุกูล ที่ปรึกษาบทโดย เฉลิม วงศ์พิมพ์, สิทธิพงษ์ มัตตะนาวี, ก้องเกียรติ โขมสิริ, ยรรยงค์ เหล่าธนาสิน, พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม, บุญถิ่น ทวยแก้ว, สมหมาย เลิศอุฬาร, ปฏิการ เพชรมุนี บริหารงานสร้างโดย อังเคิ่ล (อดิเรก วัฏลีลา), นนทรีย์ นิมิบุตร ทีมงานหลังกล้องส่วนอื่นได้แก่ ออกแบบงานสร้างโดย บุญถิ่น ทวยแก้ว (เกิดอีกทีต้องมีเธอ), ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ, ชัชฎาวรรณ ชุ่มคำ (เสือ...โจรพันธุ์เสือ, ล่าระเบิดเมือง), สราวุธ อินทรพรหม, กิจจา ลาโพธิ์ และ จุฑามาส แก้วชาติ, ภาพเทคนิคพิเศษโดย เรนเดอร์ฮาร์ท (ละคร "เจ้ากรรมนายเวร"), บันทึกเสียงขณะถ่ายทำโดย ชาย คงศีลวัต, ผสมเสียงโดย ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา, ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ (นางนาก, โคลนนิ่ง คนก็อปปี้คน), กำกับภาพโดย วิเชียร เรืองวิชญกุล (รักเอย, เสือ...โจรพันธุ์เสือ, สวัสดีบ้านนอก, มหาราชดำ, เวลาในขวดแก้ว), ลำดับภาพโดย สุนิตย์ อัศวินิกุล (คนจร, ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ, สตางค์) และ ธานินทร์ เทียนแก้ว บางระจัน นำแสดงโดย วินัย ไกรบุตร รับบท นายอิน, บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ รับบท นายทองเหม็น, จรัญ งามดี รับบท นายจัน หนวดเขี้ยว, ชุมพร เทพพิทักษ์ รับบท นายแท่น, อรรถกร สุวรรณราช รับบท นายเมือง, ภูธฤทธิ์ ยิ่งนานสุข รับบท พันเรือง, สุรเชษฐ์ เลาะสูงเนิน รับบท ขุนสัน, ใจ พงษ์ศักดิ์ รับบท นายทองแสงใหญ่, ภาสกร อักษรสุวรรณ รับบท นายโชติ, นิรุต สาวสุดชาติ รับบท นายดอก, สมนึก แก้ววิจิตร รับบท นายทองแก้ว, ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง รับบท หลวงพ่อธรรมโชติ, บงกช คงมาลัย รับบท อีสา, สุนทรี ใหม่ละออ รับบท อีแตงอ่อน นอกจากนี้ บางระจัน ยังร่วมแสดงโดยนักแสดงกิตติมศักดิ์ อาทิ พิเศษ สังข์สุวรรณ นักทำดนตรีประกอบมือหนึ่งของไทย ในบท เนเมียวสีหบดี, ธีรนิติ์ ดำรงวินิจฉัย ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่เคยมีผลงานเรื่อง นางแบบ ในบทบาทของ มังฉงาย และนักแสดงหน้าใหม่ กฤษณ์ สุวรรณภาพ ในบท สุกี้ นายกองทัพพม่า อังเคิ่ล (อดิเรก วัฏลีลา) ผู้ควบคุมงานสร้าง เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนสำคัญ ซึ่งปัจจุบันเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับ ฟิล์มบางกอก และควบคุมการผลิต ให้กับภาพยนตร์ของฟิล์มบากกอกทุกเรื่อง ก่อนหน้านี้ อดิเรกดำรงตำแหน่งโปรดิวเซอร์ และผู้จัดการฝ่ายภาพยนตร์ให้กับอาร์เอสฟิล์ม ระหว่างปี 2538 - 2542 ผลงานกำกับภาพยนตร์ของเขาได้แก่ ซึมน้อยหน่อย กระล่อนมากหน่อย, ปลื้ม, ฉลุย1, ฉลุยโครงการ 2, ฉลุยหิน คนไข่สุดขอบโลก ผลงานการเป็นโปรดิวเซอร์ ระหว่างอยู่ที่อาร์เอสฟิล์มได้แก่ โลกทั้งใบให้นายคนเดียว, เกิดอีกทีต้องมีเธอ, เด็กระเบิดยืดแล้วยึด, ฝันติดไฟ หัวใจติดดิน, ล่องจุ๊น...ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน, แตกสี่ รักโลภโกรธเลว, โคลนนิ่ง คนก็อปปี้คน ส่วน ธนิตย์ จิตนุกูล หรือ ปื๊ด ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นทั้งผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ ที่ผ่านงานหนังมาอย่างโชกโชน ตลอดระยะเวลากว่า 14 ปีในวงการหนัง ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เขาเริ่มทำหนังในปี 2528 ด้วยเรื่อง ซึมน้อยหน่อย กระล่อนมากหน่อย โดยกำกับร่วมกับ อังเคิล (อดิเรก วัฏลีลา) ให้กับ ไทเอ็นเตอร์เทนเมนต์ บริษัทหนังหน้าใหม่ในเวลานั้น ผลปรากฏว่า จากงานเรื่องแรกก็สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ ให้ทั้งผู้กำกับและผู้สร้างไปไม่น้อย ในปี 2529 กำกับเรื่อง ปลื้ม คู่กับอังเคิล ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขากำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ สุพรรณหงส์ทองคำ สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม, ปี 2530 แยกตัวมากำกับเดี่ยวเป็นครั้งแรก ด้วยเรื่อง อย่าบอกว่าเธอบาป ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ สาขา ลำดับภาพยอดเยี่ยม, ปี 2534 กำกับภาพยนตร์เรื่อง สยึ๋มกึ๋ย ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาเทคนิคการแต่งหน้ายอดเยี่ยม, ปี 2538 กำกับภาพยนตร์ กึ๋ย 2, ปี 2540 กำกับภาพยนตร์ รักเอย, ปี 2541 กำกับภาพยนตร์ เสือ...โจรพันธุ์เสือ ได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขา นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, แต่งหน้ายอดเยี่ยม, ได้รับรางวัลจากชมรมวิจารณ์บันเทิง สาขาผู้แสดงประกอบชายยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สาขาผู้แสดงประกอบหญิงยอดเยี่ยม, กำกับภาพยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, เครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม, ปี 2542 กำกับภาพยนตร์เรื่อง สวัสดีบ้านนอก, ปี 2543 ที่ปรึกษาของฟิล์มบางกอก และ กำกับภาพยนตร์เรื่อง บางระจัน ธนิตย์ จิตนุกูล ในฐานะโปรดิวเซอร์ เป็นโปรดิวเซอร์ให้หนังเรื่อง รักเอย, เสือ...โจรพันธุ์เสือ, ไนน์ตี้ช็อคเตลิดเปิดโลง กำกับโดย เฉลิม วงศ์พิมพ์, ฉีกป่าล่าคน กำกับโดย สุขุม เมธาวณิชย์, ล่าระเบิดเมือง กำกับโดย เฉลิม วงศ์พิมพ์ |