Final Score 365 วัน - ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์
Official website
แนว : สารคดี
ความยาว : 95 นาที
กำหนดฉาย : 1 กุมภาพันธ์ 2550

เจ้าหนูบราซิเลียนวัย 17 ทดสอบฝีเท้าเข้าสโมสรฟุตบอล

เด็กญี่ปุ่นวัย 17 แบ็กแพ็คมากินซูชิที่ถนนข้าวสาร

แต่... วัยรุ่นไทยวัย 17 ต้องไปเอ็นทรานซ์

วัน-เดือน-ปี เวียนผ่าน เด็กไทยวัย 17 สอบเอ็นท์กันมาชั่วนาตาปี

ปี 2549 ปีนี้ไม่เหมือนปีไหนๆ เพราะมันเป็นปีที่ปฏิทินการเมืองร้อนระอุด้วยม็อบกู้ชาติ ปีที่ใครๆ ก็ถามไถ่ “ไปพารากอนมารึยัง?” ปีที่ขวัญและกำลังใจของนักเรียน ม.6 แหลกสลาย เมื่อพระพรหมเอราวัณถูกทุบทำลาย ที่สำคัญ.. มันเป็นปีแรกของการประกาศใช้ระบบ 'แอดมิชชั่นส์' ที่ไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับการ 'แอดมิด' เข้าโรงพยาบาล

ปีนี้... วัยรุ่นไทยวัย 17 ที่อยากเอ็นทรานซ์ ต้องสอบ โอเน็ต-เอเน็ต

สดจากโรงเรียน กองถ่ายภาพยนตร์สุดอึดจาก GTH ทุ่มเทเวลา 1 ปีเต็ม เฝ้าติดตามชีวิตของนักเรียน ม.6 จำนวน 4 คน ในปีที่พวกเขาก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขัน ที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต โดยไม่รู้ว่าพระเจ้าจะดลบันดาลใจให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

หลากหลายความฝัน, หวัง และ ลุ้น ของเด็กอายุ 17

ชีวิตของทีมงานกลับถูกลิขิตโดยเด็กอายุ 17 จันทร์-ศุกร์ ต้องไปโรงเรียน, เสาร์-อาทิตย์ พาพ่อแม่ไปช้อปปิ้ง โดยเฉพาะเมื่อการตรวจคะแนนของโอเน็ต-เอเน็ต ประสบปัญหา... โอ้ละหนอ.. โอเน็ต-เอเน็ต เมื่อไหร่คะแนนเจ้าจะฟันธงออกมา

แต่ละปีเด็กม.6 ทั่วประเทศกว่า 200,000 คน ยื่นใบสมัครสอบเอ็นทรานซ์ จากจำนวนนี้ 160,000 คนคือ ผู้ผิดหวัง!

4 คน ในจำนวนนี้ เข้าสอบเอ็นทรานซ์ด้วยระบบ O-Net / A-Net ชีวิตเอ็นทรานซ์ของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ตามติดชีวิตการเตรียมตัวสอบ 365 วัน ต่อจากนี้ แบบไม่มีวันหยุด

หนังที่ไม่มีบท ไม่มีสคริปต์.. Final Score 365 วัน - ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์

จาก 7 เดือนเต็ม กับการตัดต่อฟุตเตจกว่า 300 ชั่วโมง จนได้ภาพยนตร์ความยาว 95 นาทีที่จริงยิ่งกว่าเรื่องไหน...


ไอเดียของหนังเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นที่ จิระ มะลิกุล ผู้ที่รู้สึกว่าชีวิตของเด็กไทยวัย 17 ปี นั้น มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเด็กไทยในช่วงวัยนี้ โดยเฉพาะชายไทยอายุ 17 ปี ในช่วงปี พ.ศ. 2310 ส่วนใหญ่จะต้องออกไปสนามรบ แต่พอมายุคนี้ ปีนี้ พ.ศ. 2549 เด็กไทยอายุ 17 ปี ทั้งหญิงชายจะต้องออกไปสนามสอบเอ็นทรานซ์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลของมันก็คือมีผู้คนล้มตายเหมือนๆ กันไม่ว่าจะ พ.ศ.ไหนก็ตาม กี่ชีวิตที่ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน กี่ชีวิตที่ตายด้วยความเครียดเพราะเอ็นทรานซ์ไม่ติด

ช่วงชีวิตของเด็ก ม.6 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเตรียมตัวจะเข้าสนามสอบ เพื่อย่างกรายเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยนั้น น่าจะเป็นเรื่องราวที่มีสีสัน สนุกสนาน มีอารมณ์ที่หลากหลาย ไหนจะต้องเป็นพี่ใหญ่ปีสุดท้ายในโรงเรียนมัธยม ไหนจะต้องดูหนังสือเตรียมสอบ ให้ติดเพื่อเอาใจพ่อแม่

จิระ พยายามหาคนที่จะมาทำโปรเจคท์นี้อย่างจริงจัง โดยที่เขาจะเป็นโปรดิวเซอร์ให้เอง จนในที่สุดก็ได้ แอน – โสรยา นาคะสุวรรณ ผู้ช่วยผู้กำกับที่ 4 จากหนังเรื่อง มหา’ลัย เหมืองแร่ ซึ่งย่ำดินย่ำโคลนกันมาสองสามเดือนตอนอยู่พังงากับจิระ สมควรจะมาทำให้โปรเจ็คท์นี้เกิดเป็นหนังขึ้นมาจริงๆ

เมื่อเริ่มแล่นเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียนเป็นวันแรก ทีมงานของโสรยาก็เปรียบเหมือนมินิออสติน ที่ทำตัวเล็กลีบอยู่ท่ามกลางกลุ่มรถบรรทุก ทั้งๆ ที่พยายามแฝงตัวให้ดูกลมกลืนแล้ว แต่ก็ยังคงถูกเด็กๆ มองด้วยความระแวงสงสัย ว่าไอ้พวกนี้มันมาทำอะไรกัน มาอยู่ได้ทุกวัน ส่วนตากล้องแมนๆ ของโสรยาก็ถึงกับเครียด กับการที่ต้องใช้ชีวิตคอยบันทึกภาพ อยู่ในโรงเรียนชายล้วนทั้งวัน แถมเมื่อตามกลับบ้าน ทีมงานก็ยังต้องไปหลังขดหลังแข็งนั่งอยู่ในบ้านเปอร์ทั้งคืน เรียกว่านอนทีหลังและตื่นก่อนทุกค่ำเช้า

เวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า ทีมงานทุกคนต้องอดหลับอดนอน บวกกับความเหนื่อยล้าที่เข้าขั้นสาหัส ทีมงานต้องเฝ้าดูการดำเนินชีวิตของแต่ละคนกันไปอย่างต่อเนื่อง เผื่อว่าอยู่ๆ จะมีเรื่องราวอะไรที่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้นทีมงานจะพลาดไม่ได้ เพราะจะถ่ายใหม่ก็ไม่ได้ เนื่องจากอยากได้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้นจริงๆ

ตากล้องและซาวด์แมนทำงานกันหนักที่สุด แต่ทีมงานของโสรยาทุกคนก็พยายามกันอย่างหนัก กล้องที่ใช้บันทึกเรื่องราว น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัมนั้น แทบจะเป็นอวัยวะส่วนเดียวกันกับตากล้องไปแล้ว ส่วนซาวด์แมนของโสรยา ก็อ่อนล้ากับการที่จะต้องถือบูม แล้วห้อยเครื่องอัดเสียงกันทุกวัน ซึ่งการตามบันทึกภาพแบบนี้ จะพักหรือวางอุปกรณ์การถ่ายแทบจะไม่ได้ เพราะภาพหรือเหตุการณ์ต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจจะน่าสนใจจนต้องตามถ่ายไปอีกไม่รู้กี่ชั่วโมง วันเวลาผ่านไป จากวันเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน จนทีมงานเข้าใกล้จะถอดใจโยนผ้ายอมแพ้ กระทั่งบางอาทิตย์ทีมงานก็กลับบ้านไป พร้อมกับฟุตเตจที่ใช้อะไรไม่ได้เลย

จากภารกิจที่ต้องคอยตามเด็กเอ็นท์มาทั้งปี ครั้นพอเด็กจะเอ็นท์จริงๆ พี่ๆ ทีมงานทั้งหลาย ก็กลายมาเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ไปแทน กว่า 365 วันของการตามบันทึกภาพของเด็กๆ กลุ่มนี้ จนในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างก็เริ่มคลี่คลาย ผลสอบเอ็นทรานซ์ที่ดูจะมีปัญหาก็ถูกคลี่คลายกันไป ชีวิตใหม่ๆ ของเด็กแต่ละคนกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอย่างสดใส ในขณะที่พลังชีวิตของทีมงานกำลังจะดับลง หลังจากปิดกล้อง รวบรวมฟุตเตจที่ยาวนานกว่า 300 ชั่วโมง มาแบ่งแยกตามวันเวลาที่ถ่ายไป เพื่อนำฟุตเตจไปใช้ตัดต่อเป็นหนัง

สุดท้าย ทีมงานแต่ละคนต่างก็กระจัดกระจายหายตัวกันไปอยู่ช่วงหนึ่ง ตากล้องของเราถึงกับขอลาไปบวชสักระยะ ซาวน์แมนก็หายสาบสูญไป "หมายเลขที่ท่านเรียก ไม่สามารถติดต่อได้ในขณะนี้" ตัวผู้ประสานงานกองถ่าย ก็กลับไปช่วยที่บ้านขายอาหารที่ต่างจังหวัด ทุกคนล้วนอ่อนล้าอย่างบอกไม่ถูก "ไม่ไหวแล้ว"

ฟุตเตจที่ยาวถึง 300 กว่าชั่วโมง คือสิ่งที่ โบว์ มือตัดต่อหญิงร่างเล็ก ต้องนั่งดูภาพกันจนตาแฉะ มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 เพื่อคัดเลือกภาพ และนำเอาภาพเหตุการณ์ชีวิตจริง ที่ถูกบันทึกไว้ตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมานั้น มาบอกเล่าร้อยเป็นเรื่องราวให้มีสีสันมีความสนุก มีชีวิต และมีอารมณ์ แต่ตอนนี้ ตากล้องที่เคยหนีไปบวชอยู่พักหนึ่งกลับมาแล้ว กลับมาช่วยกันดูแลหนังเรื่องแรกนี้ ให้พร้อมออกมาในทิศทางที่มันควรจะเป็น และการที่ไม่มีบทนี้เอง ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกตัดต่อไปถึง 12 เวอร์ชั่น

หลายขั้นตอนในการทำงานได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ถือเป็นช่วงที่โสรยาและทีมงาน ได้ซึมซับช่วงเวลาแห่งความทรมานและรันทด แต่คุ้มค่ามากพอที่จะปลุกปั้นกันต่อไป กับขั้นตอนสุดท้ายของฟุตเตจกว่า 300 ชั่วโมง หลังจากประคบประหงมมานาน เพื่อที่จะนำภาพทุกนาทีชีวิตของเด็กไทยวัย 17 ที่เตรียมตัวจะเอ็นทรานซ์ ให้ออกมาเป็นหนังความยาว 95 นาที ซึ่งพร้อมรอให้ทุกคนได้เฝ้าชมนาทีชีวิตจริง ที่ไม่อิงบทหรือสคริปต์ใดๆ กันแบบเต็มๆ ตาเรื่องนี้