Official website
more info. from IMDB
แนว : ตลก / ดราม่า
ความยาว : 118 นาที
กำหนดฉาย : 15 กรกฎาคม 2547
เบอร์ลินตะวันออก ฤดูร้อน ปี 1978 ขณะหนูน้อยวัย 11 ขวบ อเล็กซ์ เคอร์เนอร์ กับน้องสาวของเขา อาริแอน กำลังนั่งชมการถ่ายทอดภารกิจบนยานอวกาศ โซยุส 31 เมื่อ ซิกมันด์ จาห์น (สเตฟาน วาลซ์) กลายเป็นชาวเยอรมันคนแรกในอวกาศ แม่ของพวกเขา คริสติอาเน่ (คาทริน ซาซ) ก็กำลังถูกสอบสวนจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งบอกเป็นนัยว่าสามีของเธออาจมีชู้รักอยู่ในเบอร์ลินตะวันตก และเมื่อเขาไม่ยอมกลับจากการเดินทางไปยังฝั่งตะวันตก เธอก็ตกอยู่ในสภาพหดหู่ เศร้าซึมเป็นเวลานาน หลังจากเข้ารับการบำบัดทางจิตได้พักหนึ่ง เธอตัดสินใจจะหันมาอุทิศตน ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์อย่างหมดใจ ฤดูใบไม้ร่วง ปี 1989 ในวันฉลองครบรอบ 40 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ คริสติอาเน่เหลือบไปเห็นลูกชายของเธอ อเล็กซ์ (เดเนี่ยล บรูห์ล) ถูกจับระหว่างการประท้วง เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อันเป็นเหตุให้เขาได้รู้จักกับนางพยาบาลสาวชาวรัสเซีย ลาร่า (ชูลแพน คามาโตว่า) ผู้น่าหลงใหล เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คุณแม่หัวสังคมนิยมสุดโต่งถึงกับช็อคหัวใจวาย และตกอยู่ในอาการโคม่าเป็นเวลาหลายเดือน ในระหว่างช่วงเวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์ประสบกับความพ่ายแพ้ กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย และเยอรมันได้รวมประเทศเข้าเป็นหนึ่งเดียว ส่งผลให้ระบบทุนนิยมเริ่มแทรกแซงอิทธิพล เข้ามาในเบอร์ลินตะวันออก ปาฏิหาริย์ถือกำเนิดขึ้น เมื่อจู่ๆ คริสติอาเน่ก็ฟื้นคืนสติอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แต่คุณหมอที่ดูแลรักษาเธอได้เตือนอเล็กซ์ว่า หากแม่ของเขาประสบกับเรื่องชวนช็อคเพียงเล็กน้อย และเกิดอาการหัวใจวายอีกครั้ง คราวนี้มันคงรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตอย่างแน่นอน ปัญหาสำคัญคือ คริสติอาเน่ตื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ว่า พรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลายไปแล้ว เธอไม่รู้ว่าลูกสาวของเธอ อาริแอน (มาเรีย ซิมอน) ทำงานอยู่ในร้านเบอร์เกอร์คิง และมีแฟนเป็นชายหนุ่มจากฝั่งตะวันตกชื่อ ไรเนอร์ (อเล็กซานเดอร์ เบเยอร์) ส่วนลูกชายของเธอก็ทำธุรกิจติดตั้งจานดาวเทียม ร่วมกับเพื่อนสนิท เดนิส (ฟลอเรียน ลูคัส) ดังนั้น ด้วยความกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณแม่อันเป็นที่รัก อเล็กซ์จึงตัดสินใจจัดฉาก ให้แม่คิดว่าทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม..! เขาตกแต่งอพาร์ตเมนต์ด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่จากยุคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจ เขาต้องเดินทางไปเสาะแสวงหาอาหารตามร้านขายของชำเก่าๆ โทรมๆ เพื่อให้ได้อาหารแบบที่แม่ต้องการ (เขาไม่สามารถหาแตงกวาดองยี่ห้อที่แม่อยากกินได้ ตามชั้นขายของในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ซึ่งปัจจุบันเต็มไปด้วยสินค้าจากฝั่งตะวันตก) และบางครั้งยังต้องลงทุนคุ้ยถังขยะเพื่อหาขวดโหล หรือฉลากยี่ห้อเก่าๆ เพื่อนำมาสลับสับเปลี่ยนกับฉลากสินค้ายุคใหม่ เมื่อแม่ของเขาอยากดูข่าวทางทีวี อเล็กซ์กับเพื่อนก็นำเอาเทปเก่ามาเปิดให้เธอดู โดยซ่อนเครื่องเล่นวีดีโอเอาไว้ให้ลับตา เมื่อป้ายโฆษณาโค้กขนาดใหญ่ ถูกนำมาติดตั้งตรงด้านนอกอพาร์ตเมนต์ แทนป้ายโฆษณาพรรคคอมมิวนิสต์ อเล็กซ์ก็ต้องอัดเทปข่าวปลอมขึ้น เพื่อประกาศว่าแท้จริงแล้ว โค้กเป็นสินค้าที่เยอรมันตะวันออกคิดค้นขึ้น!?! แต่ท่ามกลางความพยายามปกปิดทั้งหลายทั้งปวง สิ่งหนึ่งที่อเล็กซ์ไม่รู้ ก็คือคริสติอาเน่เอง ก็มีความลับของเธอเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงสามีของเธอ และพ่อของลูกๆ ทั้งสอง... Good bye, Lenin! เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ อย่างถล่มทลายในเยอรมัน และอีกหลายประเทศแถบยุโรป แต่ใครก็ตามที่มีโอกาสได้ชมหนังเรื่องนี้ คงไม่รู้สึกแปลกใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว มันเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันหลายระดับ และพร้อมกันนั้นก็ไม่ขาดแคลนความสะเทือนใจ หม่นเศร้าแบบลึกๆ ผู้กำกับ วูล์ฟกัง เบคเกอร์ (Life Is All You Get) เชี่ยวชาญในการส่งทอดมุขประเภทตลกโปกฮา และมุขตลกประเภทร้ายลึก ชนิดไม่เป็นสองรองใคร ที่สำคัญ มุขตลกเหล่านั้น ยังมีความเป็นสากล พอจะเรียกรอยยิ้มจากนักดูหนัง ที่ไม่ใช่ชาวเยอรมันได้ไม่ยาก ชื่อหนังได้แรงบันดาลใจ มาจากฉากสื่อสัญลักษณ์อันงดงามฉากหนึ่ง เมื่อคริสติอาเน่เดินออกจากอพาร์ตเมนต์ และเห็นรูปปั้นเลนินถูกขนย้ายไปโดยเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง มือของรูปปั้นดูเหมือนจะยื่นตรงมาทางเธอ เพื่อบ่งบอกความนัยบางอย่าง ประเด็นสาระของเบคเกอร์ ก็คือ เยอรมันตะวันออกหาใช่ประเทศที่เลวร้ายแต่อย่างใด หากมันทุกอย่างดำเนินไป ตามภาพอุดมคติของเหล่าหนุ่มสาวทางการเมือง ภาพที่อเล็กซ์มีโอกาสได้สรรค์สร้างขึ้นมาด้วยมือของเขาเอง ทีมดารานำของเรื่องต่างทำหน้าที่ได้อย่างไร้ที่ติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาทริน ซาซ ดาราใหญ่ในเยอรมันตะวันออก เธอดึงเอาบุคลิกดื้อรั้นของตัวละคร ออกมาตีแผ่ได้อย่างพอดิบพอดี โดยไม่กลบเกลื่อนแง่มุมอบอุ่นแห่งความเป็นแม่ภายใน จนผู้ชมไม่รู้สึกแปลกใจว่า ทำไมลูกชายของเธอถึงได้ยอมลงทุนทำทุกวิถีทาง เพื่อให้แม่มีความสุข, เดเนี่ยล บรูห์ล ผสมผสานเสน่ห์ส่วนตัว เข้ากับฝีมือการแสดงอันเป็นธรรมชาติได้อย่างลงตัว สะท้อนความรู้สึกขัดแย้งในใจอเล็กซ์ ระหว่างชีวิตในสองยุคสมัยการปกครอง ซึ่งล้วนก็มีจุดอ่อน จุดแข็ง ข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไปได้อย่างแนบเนียน พวกเขาทั้งสอง ทำให้แก่นหลักทางอารมณ์ของหนัง ได้แก่ ความรักระหว่างแม่กับลูก โดดเด่น น่าเชื่อถือ โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกให้โฉ่งฉ่างแต่อย่างใด Good bye, Lenin! ได้รับการเสนอชื่อ เข้าชิงรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลลูกโลกทองคำและ BAFTA Awards สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ, และสามารถคว้ารางวัลมามากมาย อาทิ Cesar Awards และ Goya Awards สาขาภาพยนตร์ EU ยอดเยี่ยม, ALFS Award จาก London Critics Circle Film Awards สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ, German Film Awards อีกหลายรางวัล รวมทั้งรางวัลอีกมากมายจากหลายสถาบันทั่วโลก |