มนุษย์เหล็กไหล : Mercury Man
Official website
แนว : แอ็คชั่น / แฟนตาซี
กำหนดฉาย : 10 สิงหาคม 2549

ตามความเชื่อที่ว่า เมื่อใดก็ตามที่ เหล็กไหลจันทรา (ความเย็น) และ เหล็กไหลสุริยัน (ความร้อน) รวมตัวกันคราใด ก็จะนำมาซึ่งขุมพลังแห่งอำนาจเอนกอนันต์ อันยากเกินกว่าสรรพวุธอื่นใด จะสามารถสยบและหยุดยั้งได้ แต่แล้วแผนการครอบครองเหล็กไหลดังกล่าวของ อุสมาห์ (อานนท์ สายแสงจันทร์) หัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง หาได้เป็นอย่างที่คิดไม่ ถึงแม้ อารีน่า (เมทินี กิ่งโพยม) สมุนมือขวาของตน จะสามารถแย่งชิง เหล็กไหลจันทรา (วัชรธาตุ หรือ หยดน้ำฟ้า อันศักดิ์สิทธิ์) มาจาก พูนิมา (จิณวิภา แก้วกัญญา) กุมารีผู้ปกป้องประจำอารามแห่งหนึ่งในธิเบตมาได้แล้วก็ตาม

แต่ในระหว่างการปล้นตัวอุสมาห์ ผู้ก่อการร้ายข้ามชาติจากเรือนจำคุ้มครองพิเศษจากทางการไทย เกิดความผิดพลาดขึ้น จนนำไปสู่การระเบิดครั้งใหญ่ในเรือนจำ จนทำให้เหล็กไหลสุริยัน ทิ่มแทงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของ ฌาน (วสันต์ กันทะอู) นักดับเพลิงหนุ่ม ผู้มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ต้องตื่นตะลึงกับพลังลึกลับ และฤทธานุภาพของเหล็กไหลที่อยู่ในตน

ทางเดียวที่จะไม่ให้พลังแห่งความร้อนแรง ที่เกิดขึ้นจากเหล็กไหล แผดเผาเลือดเนื้อและร่างกายของฌาน คือจะต้องเรียนรู้การควบคุมสภาวะความรุ่มร้อน ในอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดจากส่วนลึกในจิตใจของตนให้จงได้ และเรียนรู้ที่จะควบคุมพลังจากเหล็กไหล ที่ตอนนี้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเลือดเนื้อและร่างกาย และที่สำคัญ จะต้องรับมือกับพลานุภาพของเหล็กไหลจันทรา ที่บัดนี้ถูกนำไปพัฒนาระดับขั้นของพลัง เพิ่มทวีคูณขึ้นไปอีก จากกลุ่มก่อการร้ายของอุสมาห์ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการปะทะกัน ระหว่างพลานุภาพของเหล็กไหลทั้ง 2 ขั้ว ภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ชายหนุ่มอย่างฌาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์เหล็กไหล จะต้องรับมือ...


การนำเอาแนวคิดทางด้าน “พุทธปรัชญาแห่งเอเชีย” และ “เหล็กไหล” วัตถุธาตุที่เชื่อกันว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจอันทรงอานุภาพ และขุมพลังลึกลับ ที่เกิดจากการบ่มเพาะและหล่อหลอมอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาอันยาวนาน มาตีความใหม่ภายใต้แนวทาง ของภาพยนตร์แอ็คชั่นซุปเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกของเมืองไทย โดยได้ ปรัชญา ปิ่นแก้ว และ พันนา ฤทธิไกร ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง รับหน้าที่ควบคุมงานสร้างออกแบบ และกำกับคิวบู๊แอ็คชั่น และกำกับภาพยนตร์โดย บัณฑิต ทองดี ที่ทำให้ มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม และ เฮี้ยน เป็นภาพยนตร์ทำเงิน ที่กวาดรายได้อย่างสูงสุดของเมืองไทยมาแล้ว

ด้วยรูปแบบของภาพยนตร์ไลฟ์แอ็คชั่นที่เน้นความสมจริง ซึ่งถูกนำมาผสมผสานกับงานเทคนิคพิเศษทางด้านภาพ เพื่อถ่ายทอดพลานุภาพของเหล็กไหล ทั้งในส่วนของความแข็งแกร่ง การยืดหดตัว รวมไปถึงการผสมผสานระหว่างเหล็กไหล และเลือดเนื้อในตัวร่างกาย เป็นหนึ่งเดียวในตัวของ มนุษย์เหล็กไหล ให้สามารถโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มได้อย่างเหนือจริง

เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นฮีโร่ในแบบไทยๆ เอกลักษณ์และความโดดเด่นของ มนุษย์เหล็กไหล อยู่ที่การได้ ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ (ผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ ปังปอนด์อนิเมชั่น, และฉากอนิเมชั่นใน ต้มยำกุ้ง ผลงานภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณาหลายชิ้น) มารับผิดชอบในการดีไซน์คาแรคเตอร์ ซีจี ฉากเอนิเมชั่น สเปเชี่ยลเอฟเฟคต์ รวมไปถึงวิชวลของเรื่องโทนสี และการดีไซน์ช๊อตต่างๆ ในฐานะซุปเปอร์ไวเซอร์ของเรื่องนี้ด้วย

มนุษย์เหล็กไหล ถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไทย มีลักษณะของเหล็กไหลและสีดำ ขบวนการเริ่มต้นความคิดและการออกแบบ เต็มไปด้วยความพิถีพิถัน ซึ่งต้องเป็นความคิดที่ไม่ได้มีอยู่ไว้แค่ในเพียงจินตนาการเท่านั้น แต่ต้องสามารถที่จะออกแบบมา เพื่อให้มนุษย์ปรกติสามารถใส่ได้จริง การเคลื่อนไหว ความปราดเปรียว จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงที่สุด ในการออกแบบคาแรกเตอร์ซุปเปอร์ฮีโร่ ที่ใช้คนเป็นผู้แสดงภายใต้ชุดที่ลงตัวที่สุด

สีและสวดลายบนตัว มนุษย์เหล็กไหล เป็นสิ่งแรกที่จะทำให้คนดูมองเห็นภาพ จำได้ดีที่สุดไม่ว่าจะเห็นซุปเปอร์ฮีโร่ตัวนี้ที่ไหนก็ตาม ความโดดเด่นของลายที่เหมาะสมกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย และสามารถตอบโจทย์ของความเป็นไทย ผ่านการคิดและออกแบบมามากมายหลายแบบ จนในที่สุดลายสัก “ยันต์เก้ายอด” (ยันต์นวหรคุณ) ที่มีความหมายว่า ยันต์ที่มีคุณวิเศษของพระพุทธเจ้า 9 ประการ ป้องกันศาสตราวุธทั้งหลายได้ เป็นลวดลายที่ลงตัวที่สุดกับร่างกายและความคงกระพัน หนังเหนียวตามความเชื่อของไทย เฉกเช่นเดียวกับ "เหล็กไหล" วัตถุมหัศจรรย์ ล้ำค่าและลึกลับ ที่เชื่อว่าผู้ใดก็ตามที่ได้ครอบครอง มักจะแคล้วคลาดกับสิ่งเลวร้ายทั้งปวงไปได้ ไม่มีสิ่งใดมากล้ำกลายขจัดปัดเป่าเพทภัยอันตรายให้หายไป เปรียบเสมือนความคงกระพันจะอยู่คู่กับคนที่เป็นเจ้าของ

นอกจากการออกแบบลายนูนภายนอกที่เด่นชัดแล้ว ยังได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติอย่าง อ.ช่วง มูลพินิจ เป็นผู้ออกแบบลวดลายอักขระของยันต์เก้ายอด ลงบนผืนผ้าที่ใช้ในการตัดเย็บชุด มนุษย์เหล็กไหล เพื่อขับเน้นความเป็นไทย บนตัวซุปเปอร์ฮีโร่อย่าง มนุษย์เหล็กไหล ซึ่งการออกแบบครั้งนี้ ถือเป็นงานศิลปที่ผสมผสานความเป็นสากลและความเป็นไทย รวมไว้ผ่านซุปเปอร์ฮีโร่ของไทยอย่างแท้จริง

ด้วยทุนสร้างกว่า 60 ล้านบาท บวกกับความท้าทายในผลงานเรื่องที่ 3 ของผู้กำกับผู้ไม่ยอมหยุดนิ่งคนนี้ ใช้เวลาร่วม 2 ปีในการเตรียมบท โปรดักชั่น รวมทั้งการรังสรรค์ฉากการต่อสู้ คิวบู๊และแอ๊คชั่นในแนวใหม่ ที่เต็มไปด้วยจินตนาการอันสุดแฟนตาซี เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงพลังกำลังที่เหนือธรรมชาติของ “เหล็กไหล” ภายใต้ฉากหลังของสถานที่สำคัญ และสัญลักษณ์สำคัญของเมืองไทย รวมไปถึงการถ่ายทำในเมืองมะนัง ประเทศเนปาล ดินแดนที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของมนต์ขลัง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่เก็บเหล็กไหลอันศักดิ์สิทธิ์ที่หนึ่งของโลก เพื่อถ่ายทำฉากเปิดเรื่องที่กล่าวถึงที่มาของเหล็กไหล เพื่อให้ได้สัมผัสถึงความเชื่อ ความศรัทธาของผู้คนในดินแดนแห่งนั้นจริงๆ ซึ่งมีความสำคัญกับเนื้อหาของภาพยนตร์ ไม่น้อยไปกว่าฉากแอ๊คชั่นระดับ “บิ๊ก” สุดอลังการ ที่ส่วนใหญ่จะถ่ายทำกันในประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นฉากการต่อสู้เพื่อไล่ล่าเหล่ากลุ่มก่อร้าย ที่มีฉากเป็นสะพานพระราม 8 สะพานซึ่งมีโครงสร้างที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยที่มนุษย์เหล็กไหลต้องกระโดดลงมาจากสะพาน เพื่อช่วยกลุ่มตำรวจต่อสู้กับเหล่าร้าย และยังมีฉากการต่อสู้ระหว่างมนุษย์เหล็กไหลกับช้างพลาย (ช้าง “คชราช” กับ “นาทอง” ช้าง 2 เชือกตัวเอก ที่เคยร่วมเล่นภาพยนตร์ระดับฮอลลีวู๊ดเรื่อง Alexander และช้างที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ทางภาคใต้ของไทย) ที่ถือเป็นแอ๊คชั่นที่ยังไม่เคยปรากฏในภาพยนตร์เรื่องใด ฉากการต่อสู้ระหว่างอารีน่าและพูนิมา บนประภาคารที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีการดีไซน์มุมกล้องให้เกิดมุมมองที่แปลกขึ้น ด้วยการหมุนรอบตัวควง 180 องศา ตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า

และไฮไลท์สำคัญ ที่เป็นฉากการปะทะของพลานุภาพของเหล็กไหลทั้งสองชนิด ที่มีขีดพลังที่เท่ากัน หากแต่ต่างกันที่จิตในการควบคุมพลัง ระหว่างพลังของเหล็กไหลสุริยันที่อยู่ในตัวของมนุษย์เหล็กไหล และพลังจากเหล็กไหลจันทรา ที่จะเปลี่ยนคู่ปรับของมนุษย์เหล็กไหลให้กลายเป็น “มนุษย์น้ำแข็ง” ซึ่งฉากการปะทะกันครั้งนี้ จึงเป็นการระดมทีมงานทั้งทางด้านการออกแบบคิวแอ๊คชั่น และเอฟเฟคต์ต์ต่างๆ รวมไปถึงการเตรียมงานในการสร้างสรรค์ภาพ ด้วยเทคนิคหลังการถ่ายทำ และคอมพิวเตอร์กราฟฟิค ที่จะมาช่วยเสริมเพื่อให้ได้ภาพของการต่อสู้ อันทรงพลังและสมศักดิ์ศรี กับอานุภาพที่เหนือจินตนาการของตัวละครทั้งสอง

มนุษย์เหล็กไหล จึงถือเป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์แอ๊คชั่นระดับบล็อกบัสเตอร์ ด้วยแนวภาพยนตร์แอ๊คชั่นแฟนตาซี ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างฉากการต่อสู้อันสุดตระการตา บวกกับแนวคิดปรัชญา และหลักความเชื่ออันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทย เปรียบเสมือนความลงตัวของ "ความร้อน" และ "ความเย็น" ที่หลอมรวมเป็นความสนุก ความมัน อันน่าติดตาม...

มนุษย์เหล็กไหล อำนวยการสร้างโดย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ควบคุมงานสร้างโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว, สุกัญญา วงศ์สถาปัตย์ กำกับภาพยนตร์โดย บัณฑิต ทองดี (เฮี้ยน, มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม) บทภาพยนตร์โดย ทรงศักดิ์ มงคลทอง, บัณฑิต ทองดี, โจ วรรณพิณ กำกับภาพโดย สิทธิพงศ์ กองทอง กำกับศิลป์โดย โสภณ พูลสวัสดิ์ ออกแบบงานสร้างโดย ดุสิต เอี่ยมอ่วม ออกแบบคิวบู๊โดยทีมของ พันนา ฤทธิไกร

มนุษย์เหล็กไหล นำแสดงโดย ลูกเกด - เมทินี กิ่งโพยม, อานนท์ สายแสงจันทร์ หรือ ปู วงแบล็กเฮด, บอมเบย์ - วสันต์ กันทะอู, หนูจ๋า - จิณวิภา แก้วกัญญา, ดารุณี กฤตบุญญาลัย, ตุ้ม - ปริญญา เจริญผล