บริษัท รับจ้างหลอน (ไม่)จำกัด
เบื้องหลังการสร้างสรรค์ Monsters, Inc. ได้นำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่น ที่ทันสมัยที่สุดของพิกซาร์มาใช้ โดยตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้พลังงานคอมพิวเตอร์ไปถึง 2.5 ล้านเรนเดอร์มาร์ก (เป็นหน่วยวัดพลังงานคอมพิวเตอร์) ซึ่งแต่เดิม ภาพยนตร์แอนิเมชั่นอย่าง Toy Story 2 ใช้ไปแค่เกือบๆ 1.1 ล้านเรนเดอร์มาร์ก หนึ่งในความสำเร็จทางด้านเทคนิค ที่น่าประทับใจของภาพยนตร์เรื่อง Monsters, Inc. ก็คือ การสร้างเส้นขนและเส้นผม ซึ่งมีแสงเงา ความหนาแน่น การให้แสง และการเคลื่อนไหวที่ประกอบกันเป็นภาพที่สมจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานนำมาใช้ได้เกิดประโยชน์ที่สุด ในการสร้างขนของซัลลีย์ที่มีเกือบๆ 3 ล้านเส้น และในการสร้างผมและหางเปียของบูด้วย โปรแกรมที่เรียกกันว่า "ดีพ ชาโดว์อิ้ง" (Deep Shadowing) ถูกคิดสร้างขึ้นที่พิกซาร์ เพื่อให้เส้นขนเกือบทุกเส้นมีความเงาในตัวมันเอง และช่วยเพิ่มภาพให้มีความสมจริงมากขึ้นด้วย ไมเคิล ฟ่ง และ สตีฟ เมย์ คือผู้นำช่างเทคนิคที่รับผิดชอบในการค้นคว้า และสร้างสรรค์โปรแกรมการสร้างเส้นขนและเส้นผม นักวิทยาศาสตร์อาวุโส เดวิด บารัฟฟ์ และ แอนดี้ วิตกิ้น ได้สร้างระบบไดนามิคส์ ซิสเต็ม (ซึ่งประกอบไปด้วยรหัสคอมพิวเตอร์เป็นพันๆ เส้น) เพื่อสร้างการพลิ้วไหวของเส้นผมแต่ละเส้น แอนิเมเตอร์จะต้องทำงานควบคู่ไปกับโมเดลตัวละคร ที่อาจจะมีขนไม่มากนัก ซึ่งเส้นขนจะถูกสร้างเพิ่มเติมเข้าไปภายหลัง ควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวที่เหมือนจริง โดยฝีมือของเทคนิคัล ไดเร็กเตอร์ โปรแกรมซีมูเลเตอร์อีกโปรแกรมหนึ่ง ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างการสะบัดไหวของเสื้อยืดที่บูใส่ เมื่อทางแอนิเมเตอร์ สร้างการเคลื่อนไหวเรือนร่างของบูจนเสร็จแล้ว โปรแกรมดังกล่าว จะคำนวณการเคลื่อนไหว และสร้างการสะบัดไหวของเสื้อผ้า ให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของตัวละครโดยอัตโนมัติ ซึ่งนับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของสื่อชนิดนี้ นอกจากนี้ โปรแกรมดังกล่าว ยังถือเป็นการปลดปล่อยให้แอนิเมเตอร์ หลุดพ้นจากความกังวล ในงานสร้างเสื้อผ้าของตัวละคร และหันไปทุ่มเทให้กับการแสดงของตัวละครได้ การสร้างโปรแกรมนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของพิกซาร์ ที่ได้ทดลองผลิตโปรแกรมสร้างเสื้อผ้าในแอนิเมชั่นสั้นเรื่อง Geri's Game มาแล้ว (แอนิเมชั่นสั้นเรื่องนี้ ได้รับรางวัลออสการ์แอนิเมชั่นสั้นยอดเยี่ยมในปี 1998 และได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ พร้อมกับแอนิเมชั่นเรื่อง A Bug's Life) ที่เข้ามาช่วยสร้างเทคโนโลยี ด้านคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นให้กับพิกซาร์ ก็คือ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค กับภาพยนตร์เรื่อง Monsters, Inc. นี้ ทอม พอร์เตอร์ ผู้เคยคว้ารางวัลออสการ์มาแล้วสองครั้ง ทำหน้าที่เป็นซูเปอร์ไวซิ่ง เทคนิคัลไดเร็กเตอร์ โดยมีหน้าที่ดูแลการทำโมเดล การสร้างเงา การจัดแสง และการแสดง ภายใต้การดูแลของพอร์เตอร์ก็คือ องค์กรใหม่ที่ชื่อ ชอตส์ ดีพาร์ตเม้นต์ โดยทีมงานแผนกนี้ จะมอบหมายหน้าที่สร้างภาพ 1,500 ชอต ให้กับผู้ดูแลฉากแต่ละฉาก และเทคนิคัลไดเร็กเตอร์ ซึ่งจะคอยติดตามดูแลแต่ละชอต ตลอดทุกขั้นตอนในงานสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ กาลิน ซัสแมน ทำหน้าที่ดูแลแผนกชอตนี้อีกที เอเบน ออสต์บี้ คือซูเปอร์ไวเซอร์ที่ทำหน้าที่ดูแลแผนกโมเดล โดยในแผนกนี้ จะมีการปั้นดินออกมาเป็นใบหน้าต่างๆ ก่อนจะนำไปสู่การสร้างภาพตัวละครหลักๆ ในคอมพิวเตอร์ ในขณะที่สัตว์ประหลาดหน้าตาประหลาดอีกเกือบๆ 50 ตัว จะถูกสร้างขึ้นในคอมพิวเตอร์ จากการประกอบส่วนต่างๆ ของร่างกายเข้าด้วยกัน หลังจากได้เรียนรู้จากประสบการณ์งานสร้างภาพยนตร์เรื่อง Toy Story ทั้งสองภาค และ A Bug's Life นักทำโมเดลได้ใช้โปรแกรมที่เรียกกันว่า "เจพเพ็ตโต้" (Geppetto) เพื่อให้แอนิเมเตอร์ สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวปลีกย่อยได้มากขึ้น ในเรื่องของความซับซ้อน ออสต์บี้คาดการณ์ว่า ตัวละครอย่างซัลลี่, ไมค์ และบู น่าจะมีความซับซ้อนกว่าบัซกับวู้ดี้ และน่าจะมีการควบคุมได้สูงกว่าตัวละครที่เป็นคนอย่าง อัล (จาก Al's Toy Barn) จาก Toy Story 2 ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้ามาช่วยสร้างภาพที่มีสไตล์ให้กับ Monsters, Inc. ก็คือ โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ฮาร์ลีย์ เจสซัพ และ บ็อบ พอลลีย์ ในขั้นตอนการออกแบบระยะแรกให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็รวมถึงการเดินทางไปยังเมืองอุตสาหกรรมและโรงงานใกล้ๆ หลายแห่ง เพื่อทำการค้นคว้าด้วย ด้วยคำแนะนำจากด็อคเตอร์ พวกเขาเริ่มต้นสร้างภาพ และความเป็นเหตุเป็นผลให้กับเมืองมอนสโทรโพลิส นั่นหมายถึงการสร้างงานภายในโรงงาน Monster, Inc. ตั้งแต่ชั้นแห่งความน่ากลัว ไปจนถึงท่อที่นำไปสู่ประตู (ซึ่งก็รวมถึงประตูตู้เสื้อผ้ากว่า 5.7 ล้านประตู ที่เหล่าสัตว์ประหลาดจะเดินทาง ผ่านสายพานทางเดินนับร้อยๆ เส้น) ตัวโรงงานเองจะให้ความรู้สึกแบบยุค 60 โดยทีมงานจงใจสร้างมันให้ออกมาดูเชยๆ ทีมงานต้องออกแบบฉากขึ้นมากว่า 22 ฉาก ตั้งแต่ห้องนอนของบู ไปจนถึงร้านซูชิ ร้านแฮร์รี่ฮาวเซ่น และบ้านของเยติที่อยู่ห่างไกล ผู้กำกับศิลป์ เทีย แคร็ตเตอร์ และ โดมินิค หลุยส์ ใช้ความสามารถของพวกเขาในการสร้างโทนสี การจัดแสง และการสร้างเงาให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ แคร็ตเตอร์ ซึ่งเป็นมือวาดภาพแบ็คกราวน์ ที่ผ่านการฝึกฝนมานาน ทำงานควบคู่ไปกับทีมนักวาดภาพด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อกำหนดโทนสี และรายละเอียดของภาพ การค้นคว้าของเธอนั้น รวมไปถึงการศึกษาลักษณะขนของตัวลามา ตัวจามรี แพะ และแกะ รวมไปถึงการเดินทางไปที่โรงเก็บขยะ เพื่อวิเคราะห์โลหะแบบต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในฉากโรงงาน เธอยังช่วยกำหนดสีของตัวละคร (ตัวอย่างเช่น เธอเป็นคนตัดสินใจ ที่จะเปลี่ยนสีตัวของไมค์จากสีส้ม ให้เป็นสีเขียวมะนาว) ทางด้านหลุยส์จะเป็นคนกำหนดสภาพแวดล้อมและแสง ให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการสร้างภาพวาดที่ใช้สีพาสเทล เพื่อสร้างอารมณ์ให้กับภาพยนตร์ จากภาพวาดเหล่านี้ หลุยส์สามารถจะสื่อสารอารมณ์ของเขา ออกมาผ่านทางการใช้สี จากนั้น ภาพสีเหล่านั้น จะถูกส่งต่อไปให้แผนกจัดแสง ซึ่งจะใช้ภาพเหล่านี้ เป็นแม่แบบในการสร้างชอตสุดท้าย ทีมผู้กำกับศิลป์ยังต้องประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ ฌอน-คล็อด คาลาชี่ ผู้ดูแลการจัดแสง และ ริค เซย์รี่ ผู้ดูแลการจัดเงา เพื่อให้ได้ภาพและสภาพแวดล้อมที่ทีมงานสรางสรรค์จะนำไปใช้ เซย์รี่และทีมจัดเงาของภาพได้สร้างเชดเงาเป็นพันๆ เชดเพื่อให้โลกของเหล่าสัตว์ประหลาดมีสไตล์และมีความละเอียด สมาชิกคนสำคัญอีกคนหนึ่งของทีมสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็คือ ผู้ดูแลการวางเลย์เอ้าต์ อีวาน จอห์นสัน ผู้สืบสานความพยายาม พัฒนาความก้าวหน้าให้กับพิกซาร์ เพื่อให้สามารถครอบคลุมตามข้อเรียกร้อง ที่ทางผู้กำกับต้องการให้มีในแต่ละฉาก โซฟี วินเซเลตต์ ทำหน้าที่ดูแลแผนกการตกแต่งฉาก ซึ่งเป็นแผนกที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้ดูแลรับผิดชอบในการสร้างสิ่งของจากคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบฉาก คอรี่ เร ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างประสานงานให้กับ Monsters, Inc. จิม สจ๊วร์ต ทำหน้าที่เป็นผู้ลำดับภาพ ทีมงานเก่าแก่ของพิกซาร์อย่าง เกลนน์ แม็คควีน และ ริช เคว็ด มารับหน้าที่เป็นซูเปอร์ไวเซอร์ เมื่อไม่นานมานี้ แม็คควีนก็คือผู้ทำหน้าที่เป็นซูเปอร์ไวซิ่ง แอนิเมเตอร์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Toy Story 2 ในขณะที่เคว็ดทำหน้าที่เป็นซูเปอร์ไวซิ่ง แอนิเมเตอร์ให้กับทั้ง A Bug's Life และ Toy Story ภาคแรก ทีมงานที่ประกอบไปด้วยแอนิเมเตอร์กว่า 35 ชีวิต ที่ทำงานให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็รวมถึงบรรดาผู้รับผิดชอบวาดตัวแอนิเมชั่นตัวหลักๆ อย่าง แอนดรูว์ กอร์ดอน (ผู้ดูแลงานวาดแอนิเมชั่น ไมค์ วาโซว์สกี้), จอห์น คาห์รส์ (ซัลลีย์) และ เดฟ เดอแวน (บู) ตัวแอนิเมชั่นหลายตัว มีความซับซ้อนในการวาดแตกต่างกันไป ตั้งแต่เจ้ากิ้งก่าแปดขาที่ชื่อว่า แรนดัลล์ ไปจนถึง ไมค์ วาโซว์สกี้ ที่มีตาเดียว แต่เป็นตัวแอนิเมชั่นที่ทางแอนิเมเตอร์พบว่า วาดยากกว่าที่คิดเอาไว้ Monsters, Inc. มีความโดดเด่นในแง่ของการเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ที่ถูกสร้างขึ้นที่โรงงานแห่งใหม่ของ พิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ ในเอเมอรี่วิลล์, แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านใหม่ของแอนิเมเตอร์ และช่างเทคนิคชั้นแนวหน้าของวงการกว่า 550 ชีวิต นับแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2000 เป็นต้นมา และการเปิดตัวฉายของภาพยนตร์เรื่อง Monsters, Inc. จะตรงกับปีที่พิกซาร์เปิดดำเนินการมาครบ 15 ปีพอดี สตีฟ จ็อบส์ ซื้อบริษัทแห่งนี้มาจากลูคัสฟิล์ม ในปี 1986 และดำเนินการมาในฐานะบริษัทอิสระ |