14 ตุลา สงครามประชาชน
Official website
more info. from IMDB
แนว : ดราม่า
ความยาว : - นาที
กำหนดฉาย : 12 ตุลาคม 2544
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากพลังแรงกล้า ของการใฝ่หาเสรีภาพ โดยการนำของนิสิตนักศึกษา ได้สร้างภาพยิ่งใหญ่ตราไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงตลอดแนวถนนราชดำเนิน จากผู้คนเรือนล้านที่ออกจากบ้านและสถานศึกษา มาด้วยวิญญาณประชาธิปไตย ถึงร่างเปื้อนเลือด ซึ่งนอนทอดนิ่งอยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ท่ามกลางควันปืน และเสียงร่ำไห้ของเพื่อนพ้องผู้ใกล้ชิด ขณะประชาธิปไตยเริ่มผลิบานอีกครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (รับบทโดย ภาณุ สุวรรณโณ) หนึ่งในผู้นำนักศึกษา ซึ่งยืนหยัดเป็นศูนย์กลางของฝูงชน ตลอดวันคืนอันยาวนานของเดือนตุลาฯ กลับพบว่าสภาพรอบตัวของเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว อันตราย และเต็มไปด้วยความขัดแย้งคุกคาม หลังจากเพื่อนพ้องคนรู้จักโดนลอบสังหารต่อเนื่อง เขาตัดสินใจชวน จิระนันท์ พิตรปรีชา (รับบทโดย พิมพ์พรรณ จันทะ) คนรักซึ่งเป็นดาวจุฬาฯ หันหลังให้กับกิจกรรมความงาม มาเข้าร่วมอยู่ในขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม พากันหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งก็เหมือนเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก ทั้งเดินทางเข้าไปก่อนหน้า และติดตามไปภายหลัง ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างอยากลำเค็ญ ท่ามกลางป่าเขาบนภูร่องกล้า เฝ้าฝันว่าสักวันจะได้กลับเมือง พร้อมชัยชนะตามอุดมการณ์ที่ตั้งหวัง แต่แล้วเขากับจีระนันท์ก็เริ่มพบว่า สภาพแบบที่ทำให้เข้าต้องหนีออกจากเมือง ได้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ต้องเผชิญอีกครั้งในป่า ความขัดแย้งทางความคิด การขาดความเป็นประชาธิปไตยและการยอมรับ ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ระบบญาติมิตรอุปถัมภ์ ตลอดจนการทำตัวเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ สิ่งเหล่านี้ดำรงอยู่ในป่า เหมือนๆ กับที่มันมีอยู่ในเมือง เขาพยายามเพื่อหาแนวทางเพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่ไม่รับการสนองตอบ ในทางตรงข้ามเขากลับถูกจับตามองโดยฝ่ายนำจำนวนหนึ่ง และถูกวิพากษ์ว่าเป็นพวกค้านพรรค ชีวิตของเขาและเธอ ต้องเร่ร่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยการบงการของพรรค ซึ่งเฝ้าติดตามดูพฤติกรรม ในที่สุด ความอดกลั้นของเสกสรรค์ก็ระเบิดออก เขารวบรวมเพื่อนนักศึกษา เตรียมประกาศสงครามกับฝ่ายนำ ก่อนจะพบว่า มันคือสงครามที่ไม่มีวันได้รับชัยชนะ เสกสรรค์ จิระนันท์ และเพื่อนๆ ตัดสินใจทยอยกันออกจากป่า ขณะฝ่ายนำส่งมือสังหารตามล่า ทว่าโดยการคุ้มกันของเพื่อนๆ เขาสามารถพาคนรักข้ามสะพาน ไต่เหนือสายน้ำเชี่ยว หนีรอดออกมาได้อย่างจวนเจียน... ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น ร่วมกับ บีอีซี เทโร ภูมิใจเสนอ 14 ตุลา สงครามประชาชน เหตุการณ์อันเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่คงยังฝังตรึงในความทรงจำ นับเป็นการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชน ที่ได้รับชัยชนะเป็นครั้งแรกของโลก หนึ่งในแกนนำของการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยนี้ก็คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และนิสิตสาวดาวจุฬาฯ จีระนันท์ พิตรปรีชา คู่รักนักประชาธิปไตย ที่ต้องพลิกผันชีวิตตัวเองหนีเข้าสู่ป่า ไปร่วมกับพรรคคอมมูนิสต์แห่งประเทศไทย เหมือนกับเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน บอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จีระนันท์ พิตรปรีชา ผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วง 14 ตุลาคม 2516 กำกับภาพยนตร์โดย บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือเยี่ยม ที่เคยมีผลงานที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านรายได้ และด้านคุณภาพ มาแล้วหลายเรื่อง อาทิ คาดเชือก, ด้วยเกล้า, บุญชู, ส.อ.ว. ห้อง 2 รุ่น 44, อนึ่ง คิดถึงพอสังเขป, กาลครั้งหนึ่ง..เมื่อเช้านี้, สตางค์ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ลงมือเขียนบทภาพยนตร์ด้วยตนเอง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองในยุคนั้น และเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริงของชีวิตทั้งคู่ ทำให้ ผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล ใช้เวลาเฟ้นหานักแสดงนำที่มีรูปร่าง หน้าตาเหมือน เสกสรรค์-จีระนันท์ มากที่สุด ทำให้ขั้นตอนในการคัดเลือกนักแสดง ในของภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน ต้องใช้เวลาในการคัดเลือกกว่า 6 เดือน ซึ่งในที่สุด ก็ได้สองนักแสดงหน้าใหม่ ที่ได้รับการลงความเห็นจากทุกฝ่ายว่า มีความเหมือน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และ จีระนันท์ พิตรปรีชา มากที่สุด ผู้รับบทเป็น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คือ ภาณุ สุวรรณโณ หนุ่มวิศวะฯ ผู้ไม่เคยผ่านงานแสดงหนัง และละครเรื่องใดมาก่อน โดยทุกคนลงความเห็นว่า ภาณุ มีหน้าตาและบุคคลิกท่าทาง คล้ายคลึงกับ อ.เสกสรรค์ เป็นอย่างมาก ส่วนผู้ที่รับบทเป็น จีระนันท์ พิตรปรีชา คือ พิมพ์พรรณ จันทะ สาวหน้าใส นักเรียนการแสดงของบางกอกการละคร เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของครูงัด สุรพล วิเชียรฉาย ได้รับยืนยันจากคุณจีรนันท์ตัวจริงว่า มีความเหมือนตัวจีระนันท์มากจนแทบแยกไม่ออก ภาพยนตร์เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน อำนวยการสร้างโดย เจริญ เอี่ยมพึ่งพร, อำนวยการผลิตโดย ธนิตย์ จิตนุกูล, กฤษณพงษ์ นาคธน ทำหน้าที่ประสานงาน และร่วมอำนวยถ่ายทำ, กิตติพงษ์ ปัญญาทวีทรัพย์, ธเรศ มานนท์ และ วัลลภ แสงจ้อย เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ, กำกับภาพโดย ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, ควบคุมการผลิต และงานเบื้องหลังถ่ายทำโดย สืบศักดิ์ ฉลองธรรม, ฑีฆายุ ธรรมนิตยกุล เป็นผู้กำกับศิลป์, เกรียงศักดิ์ สุขพันธ์ ทำหน้าที่ช่วยกำกับภาพ และถ่ายทำกล้อง 2, กำกับแสงโดย ดนัย นิ่มเจริญพงษ์, ลำดับภาพโดย สุนิตย์ อัศวินิกุล และ ธานินทร์ เทียนแก้ว, ควบคุมการบันทึกเสียงโดย ชาย คงศีลวัต, ควบคุมความต่อเนื่องโดย นิรมล เลขะวรรณ และ ปิติมา จุ่งรุ่งเรื่อง, ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย นิรชา วรรณาลัย และ เขมศิต นิลพันธ์, ควบคุมการแต่งกายโดย สิทธิพร รัตนางกูร และ สุนันท์ ศิริปรุ |