Official website
แนว : ตลก / ดราม่า / ประวัติศาสตร์
กำหนดฉาย : 30 มีนาคม 2549
เมื่อฝรั่งยกกองมาถ่ายหนังใหญ่... นักเลงไทยมีหรือจะยอม บางกอก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ ลิเกกำลังเสื่อมความนิยม มหรสพใหม่ที่เรียกกันว่า "ภาพยนตร์" หรือ "หนัง" กำลังเป็นที่จับตามอง แม้ในแง่กลุ่มคนดูจะไม่ได้แย่งกันอย่างเด่นชัด แต่ในแง่ศักดิ์ศรีของความเป็นมหรสพพื้นบ้าน ที่สืบสานต่อกันมาจนเป็นมรดกของชาติ บัดนี้ กลับถูกมหรสพต่างชาติรุกราน เมื่อวิกลิเกต้นไทร ท้ายวัดสระเกษ วิกลิเกที่ยอมรับกันว่ามีคนดูอยู่ในอันดับต้นๆ ของบางกอก เพราะติดใจในเรื่องราวที่ผูกขึ้นมาไม่ซ้ำใคร และลีลาของ บุญเท่ง (เท่ง เทิดเถิง) กับ ลิ้นจี่ (ฝ้าย - อิสรีย์ สงฆ์เจริญ) คู่พระนางสายเลือดแท้ๆ ของ นายแดง (ดม ชวนชื่น) เจ้าของวิก ทำให้วิกลิเกแห่งนี้ยังคงสร้างความสำราญอยู่ได้ จนมีจดหมายจากทางการ ขอความร่วมมืออำนวยความสะดวก ให้กองถ่ายภาพฉายหนังเรื่อง "นางสาวสุวรรณ" กำลังจะมาใช้สถานที่ ซึ่งมีต้นไทรและภูเขาทองมองเห็นเป็นเบื้องหลัง โดยจำเป็นต้องรื้อวิก บุญเท่งและชาวคณะ (นุ้ย เชิญยิ้ม, กิ๊บ โคกคูน) ไม่ยอมถึงกับประกาศกร้าวให้ "สยามต้องเลือกว่า ถ้ามีนางสาวสุวรรณ ต้องไม่มีลิเกต้นไทร" แน่นอน... สยามเลือก "นางสาวสุวรรณ" การต่อต้านขัดขวางทุกรูปแบบจึงได้เริ่มขึ้น โดยมี น้อยโหน่ง (โหน่ง ชะชะช่า) นักเลงคุมถิ่น ที่มาติดพันลิ้นจี่น้องสาวบุญเท่งเข้าร่วมด้วย เรื่องราวคงจบลงโดยง่าย ถ้านางเอกที่แสดงเป็นนางสาวสุวรรณ ไม่ใช่คนเดียวคนนั้นที่บุญเท่งเฝ้าฝันถึง ...เธอชื่อ นวลจันทร์ (นิกัลยา ดุลยา) บุญเท่ง ต้องเลือกระหว่างชาวคณะลิเกกับนวลจันทร์ ส่วนน้อยโหน่ง ยังไงก็เลือกลิ้นจี่อยู่แล้ว แต่ถ้าการขัดขวางนี้ไม่สำเร็จ ความรักของเขาก็หมดอนาคตด้วย เรื่องราวของความรัก บนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นศิลปิน บุญเท่งและน้อยโหน่ง จำต้องทำตัวเป็นนักเลง! เมื่อ เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ยักษ์ใหญ่ในวงการทีวี แท็คทีมกับ สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล ยักษ์ใหญ่ในวงการภาพยนตร์ เตรียมสร้างปรากฏการณ์ใหม่บนแผ่นฟิล์ม ด้วยการจับเอา โหน่ง ชะชะช่า หรือ ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข และ เท่ง เถิดเทิง หรือ พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ มาประชันบทบาทสุดครื้นเครง เชือดเฉือนความสนุกสนานด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เป็นครั้งแรกบนโลกภาพยนตร์ กับ โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง สุดยอดภาพยนตร์ เฮฮาสนุกสนานขำขันคอมิดี้ต้อนรับศักราชใหม่ ๒๕๔๙ ในนาม หัวฟิล์มท้ายฟิล์ม บริษัทผลิตภาพยนตร์น้องใหม่ล่าสุดของเมืองไทย จากผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ พาณิชย์ สดสี ผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นความสำเร็จและความโด่งดังให้ หม่ำ จ๊กมก, เท่ง เถิดเทิง, โหน่ง ชะชะช่า ไปจนถึงอารมณ์ยียวนกวนขากรรไกร ของแต่ละปฏิบัติการของเหล่า แก๊งค์ ๓ ช่า (จากรายการ 'ชิงร้อยชิงล้าน') ก่อนจะไปสร้างความเกรียวกราว ในรายการยอดนิยมต่างๆ ของเวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ มานานกว่าทศวรรษ ผนึกกำลังสร้างสรรค์ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ภายใต้ปฏิบัติการปกป้องเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และความรักชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ที่รับประกันว่าฮากระจายของ เสือน้อยโหน่ง ผู้มาพร้อมปืนลูกโม่คู่ใจ และ บุญเท่ง พระเอกยี่เกขวัญใจยายยก (เพราะแก่กว่าแม่) ๒ นักเลงชื่อก้องแห่งภูเขาทอง มาในบรรยากาศย้อนยุคกลับไปยังบางกอก ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ กว่า๘๐ ปีที่แล้ว งานนี้สร้างเซอร์ไพรส์อย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน เมื่อโหน่งและเท่ง แปลงโฉมเป็นครั้งแรก ให้กลายเป็น ๒ นักเลงแห่งภูเขาทองตั้งแต่ศรีษะจรดปลายเท้า โดย เท่ง เถิดเทิง ลงทุนให้ช่างผมใช้บัตเตอร์เลี่ยนเบอร์ ๑ ตัดให้ผมสั้นกุดชนิดติดหนังศรีษะเลยทีเดียว ให้สอดคล้องกับทรงผมของผู้คนในบางกอกยุคนั้น ผลที่ได้ก็คือ ผมทรงมหาดไทย หรือ ทรงกะลา สำหรับเท่งเป็นรางวัลติดตัวไปตลอดการถ่ายทำ แต่ยังต้องกลับมาไถอีกเป็นระยะๆ เหลือเส้นผมเพียง ๑ กระจุกกลางศรีษะให้พอหวีเป๋ได้ ส่วนพื้นที่รอบศรีษะทั้ง ๓ ด้านไม่ต้องพูดถึง รับประกันว่าเขียวอี๋ชนิดได้ใจ ขณะที่ตัว โหน่ง ชะชะช่า ก็ไม่ยอมแพ้ ลงทุนบอกเลิกผมทรงไม่มีหัว (หัวโล้น) กลับมายอมเลี้ยงผมให้ยาวเป็นครั้งแรก พร้อมกับพยายามไว้หนวด แต่ที่รู้กันว่า โหน่งชะชะช่าเป็นคนไม่ค่อยมีผมหรือขน เพราะฉะนั้น การเป็น 'นักเลงภูเขาทอง' ของโหน่งครั้งนี้ สร้างความหนักใจให้เกิดกับโหน่งพอสมควร เส้นผมขึ้นได้เพียง ๒ ซม.ด้วยระยะเวลาเลี้ยงนานถึง ๒-๓ เดือน แต่ก็อุตสาห์ไปหาหนวดแบบต่างๆ มานำเสนอ ผกก. โอ๋ - พาณิชย์ สดสี เอง นึกไปถึง คาล์ก เกเบิ้ล และ ลือชัย นฤนาท ซึ่งมีเอกลักษณ์อยู่ที่หนวด แต่พอเห็นหนวดดีไซน์เองของโหน่งมาเสนอ กลับชื่นชอบในไอเดีย จนท้ายที่สุด กลายเป็นหนวดประจำตัวของ เสือน้อยโหน่ง ที่รับประกันว่าน่าจะถูกใจใครต่อใครอีกหลายคน ขณะที่เสื้อผ้าที่นักแสดงต้องสวมใส่ ก็จะเป็นการประยุกต์ หรืออ้างอิงจากเสื้อผ้าของผู้คนในยุคนั้น ในส่วนของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง น่าจะเป็นที่ถูกใจแฟนๆ แก๊งค์สามช่าไม่ยาก ทุกองค์ประกอบล้วนอัดแน่นไปด้วยรสชาติแห่งความสุข สนุกสนานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการได้ ๒ ตัวแสดงระดับแม่เหล็ก อย่าง โหน่ง-เท่ง ที่ต่างฝ่ายต่างระดมปล่อยมุขกันไม่มียั้ง พร้อมเสริมทัพนักแสดงระดับฝีมือทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ มาร่วมสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์ โดยเฉพาะกลุ่ม นุ้ย เชิญยิ้ม, ดม ชวนชื่น และ กิ๊บ โคกคูน ที่ต่างเคยร่วมงานกันมาก่อนหน้า และรู้ทางกันเป็นอย่างดี ขณะที่องค์ประกอบสำคัญๆ ทางเทคนิค อย่างงานกำกับภาพ ซึ่งได้ วินัย ปฐมบูรณ์ ผู้กำกับภาพมือดีจากวงการโฆษณา, ละคร รวมทั้งงานภาพยนตร์อย่าง ๒๔๙๙ อันธพาลครองเมือง มารับผิดชอบ รวมไปถึงการออกแบบงานสร้าง ที่ได้ ศรีรุ้ง กิจเดช (ผงวิเศษ) โปรดักชั่นดีไซนเนอร์มือดี ซึ่งผ่านการยอมรับ ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบฉากรายการต่างๆ ของเวิร์คพอยท์มาตลอด มาร่วมเนรมิตบางกอก ในพุทธศักราช ๒๔๖๖ ให้คืนกลับมาโลดแล่นมีชีวิตอีกครั้งบนจอภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ได้นักเขียนบทอารมณ์ดีอย่าง บัวไร ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ในการดึงเอาเสน่ห์และความสามารถทางการแสดง ของเหล่านักร้องลูกทุ่งทั่วฟ้าเมืองไทย มาถ่ายทอดลงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก จนคนไทยทั้งประเทศฮาขากรรไกรค้างมาแล้วจาก มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม อีกหนึ่งความสำเร็จของภาพยนตร์ไทย ที่สามารถกวาดรายได้อย่างสูงสุดกว่า ๘๐ ล้านบาทมาแล้ว แต่ที่มองข้ามไปไม่ได้เลย คือการได้ผู้กำกับที่ผ่านการร่วมงานกันมาก่อนหน้าชนิด "มองตาก็รู้ใจ" หรือ "อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่" กับ โหน่ง-เท่ง มาแล้ว กับละครแก๊งค์สามช่ากว่า ๔๐๐-๕๐๐ ตอน อย่าง โอ๋ - พาณิชย์ สดสี ซึ่งเข้าใจธรรมชาติของนักแสดงทั้งสองเป็นอย่างดี และรู้วิธีที่จะรับมือ หรือดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวโหน่ง-เท่ง มาถ่ายทอดลงบนจอภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่ เพราะอารมณ์ขันและเสียงหัวเราะที่ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง ผ่านรูปแบบและวิธีการทำงานที่สอดรับกันเป็นอย่างดี ระหว่างนักแสดงและผู้กำกับ ซึ่งมีทั้งตามบท หรือแสดงสดพร้อมเซอร์ไพรส์ที่กิดขึ้นได้ทุกวินาที อาทิ โหน่ง-เท่ง เตี๊ยมมุขกันเอง เพื่อหักหลังทีมงานและผู้กำกับ หรือ ผกก.เตี๊ยมกับนักแสดง ตลอดจนการวางรูปแบบของสารพัดมุขฮาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามสถานการณ์ต่างๆ จากสูตรการทำงานเฉพาะของทั้ง ๓ คนนี้ที่ไม่เหมือนใคร นอกจากรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ทางผู้กำกับได้สอดแทรกแง่มุมทางศิลปะ และแนวคิดของวัฒนธรรม ผ่านเรื่องราวง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน แต่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "เราจะรับมือกับการไหล่บ่าของวัฒนธรรมตะวันตก ที่เข้าสู่ผืนแผ่นดินได้อย่างไร" ในขณะเดียวกัน "ศิลปะแต่ละแขนงไม่เคยทำร้ายกัน" แต่ขณะเดียวกัน ก็สอดแทรกเกร็ดบางส่วนทางหน้าประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของสยามประเทศ ที่มีชื่อว่า "นส.สุวรรณ" ถึงขนาดที่ว่า ในภาพยนตร์ได้มีการนำเอา เดล และ เฮนรี่ ๒ บุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์ มาถ่ายทอดลงบนภาพยนตร์ โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง ผลงานสร้างและจัดจำหน่ายโดย สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ผลิตโดย หัวฟิล์มท้ายฟิล์ม อำนวยการสร้าง โดย ปัญญา นิรันดร์กุล, สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ควบคุมงานสร้างและกำกับภาพยนตร์โดย พาณิชย์ สดสี ดำเนินการสร้างโดย สุรกริช ศรัทธาธรรม บทภาพยนตร์โดย พัลลภ สินธุ์เจริญ (หรือ 'บัวไร') กำกับภาพโดย วินัย ปฐมบูรณ์ ออกแบบงานสร้างโดย ศรีรุ้ง กิจเดช (ผงวิเศษ) กำกับศิลป์โดย สุดเขตร ล้วนเจริญ ลำดับภาพโดย สมิทธิ์ ทิมสวัสดิ์ เทคนิคพิเศษโดย ชัยพร พานิชรุทติวงศ์ ฟิล์มแลบส์โดย เดอะ โพสต์ บางกอก บันทึกเสียงโดย ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา เพลงประกอบภาพยนตร์โดย บอย โกสิยพงษ์ ดนตรีประกอบภาพยนตร์โดย จักรพัฒน์ เอี่ยมหนุน ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย รัติกานต์ สุขชาตะ และ ณภัษ สุทราภิรักษ์กุล ออกแบบทรงผมโดย อนุชิต ว่านเครือ แต่งหน้าโดย โชคชัย แพงาม ภาพยนตร์เรื่อง โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง นำแสดงโดย โหน่ง ชะชะช่า หรือ ชูศักดิ์ เอี่ยมสุข และ เท่ง เถิดเทิง หรือ พงษ์ศักดิ์ พงษ์สุวรรณ ร่วมด้วย นิกัลยา ดุลยา มิสไทยแลนด์เวิลด์ประจำปี ๒๐๐๔, อิสรีย์ สงฆ์เจริญ (ละคร 'นิราศสองภพ') พร้อมด้วยนักแสดงสมทบมากมาย ได้แก่ นุ้ย เชิญยิ้ม หรือ ชูเกียรติ เอี่ยมสุข, กิ๊บ โคกคูน หรือ สิริพงศ์ สุขสมนาค, สีเทา หรือ จรัญ เพ็ชรเจริญ, ดม ชวนชื่น หรือ อุดม ทรงแสง, อภิชาต ชูสกุล, ครรชิต ขวัญประชา, Simon Assaf, Anthony Donnelly, โทน ชวนชื่น, ชาติ ชวนชื่น ฯลฯ |