The Passion of the Christ
Official website
more info. from IMDB
แนว : ดราม่า
ความยาว : 127 นาที
กำหนดฉาย : 22 เมษายน 2547

ภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้าย แห่งชีวิตของ เยซู (รับบทโดย จิม คาวิเซล) แห่งนาซาเร็ธ (Nazareth) หนังเปิดฉากที่ สวนมะกอก (เกทเสมนี - Gethsemane) ซึ่งเป็นสถานที่ๆ พระเยซูคริสต์ใช้เวลาสวดภาวนา หลังจากเสร็จสิ้นอาหารค่ำมื้อสุดท้ายไปแล้ว พระองค์ปฏิเสธการล่อลวงของปีศาจ จากการทรยศของ ยูดาส อิสคาริโอท (รับบทโดย ลูก้า ลิโอเนลโล) พระเยซูคริสต์ถูกจับกุม และนำกลับเข้าไปในเขตเมืองเยรูซาเล็ม ซึ่งพวกหัวหน้าของพวกฟาริสีทั้งหลายเผชิญหน้ากับพระองค์ และกล่าวหาพระองค์ว่าเป็นพวกดูหมิ่นศาสนา และผลจากการสอบสวน พระองค์ถูกตัดสินด้วยโทษประหารชีวิต

พระเยซูคริสต์ได้ถูกนำมาอยู่ต่อหน้าของ ปีลาส (รับบทโดย ริสโต้ โนวมอฟ โชวพอฟ) ผู้นำโรมันแห่งสภาสูงของปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับฟังข้อกล่าวหาจากพวกฟาริสี ปีลาสตระหนักว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญ คือความขัดแย้งทางการเมือง เขาจึงผัดผ่อนโดยการให้ กษัตริย์เฮโรด พิจารณา กษัตริย์เฮโรดส่งพระเยซูคริสต์กลับคืนให้กับปีลาส ซึ่งมอบให้ฝูงชนเป็นผู้เลือก ระหว่างพระเยซูคริสต์กับนักโทษอุกฉกรรจ์อย่าง บาราบัส ฝูงชนเลือกที่จะปลดปล่อยบาราบัสเป็นอิสระ และเอาโทษกับพระเยซูคริสต์

พระเยซูคริสต์ได้ถูกส่งตัวให้กับทหารโรมัน และถูกโบยตีทรมาน ทั้งที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ พระเยซูคริสต์ได้ถูกนำกลับมาอยู่ต่อหน้าปีลาส ผู้นำพระองค์ไปต่อหน้าฝูงชน เหมือนกับจะประกาศว่า “ยังไม่เป็นการเพียงพอกันอีกหรือ?” มันยังไม่พอ ปิลาสจึงล้างมือของเขา เพื่อประกาศถอนตัวจากเหตุการณ์นี้ และมีคำสั่งให้ทหารทำตามคำเรียกร้องของฝูงชน

พระเยซูคริสต์ได้ถูกสั่งให้แบกไม้กางเขน ไปตามถนนในกรุงเยรูซาเล็ม และแบกขึ้นภูเขากัลโกธา และบนยอดเขากัลโกธานั้นเอง พระองค์ได้ถูกตรึงไว้กับไม้กางเขน และเผชิญกับการทดสอบครั้งสุดท้าย – ความกลัวที่ว่าพระองค์จะถูกทอดทิ้งจากพระบิดา – พระเยซูคริสต์ได้พิชิตความหวาดกลัวนั้น ทรงมองไปที่ พระนางมารี (รับบทโดย ไมอา มอร์เกนสเติร์น) พระมารดาผู้ศักดิ์สิทธ์ของพระองค์ และเปล่งเสียงเป็นข้อความ ที่มีแต่พระนางเท่านั้นที่จะเข้าใจว่า “มันได้บรรลุผลแล้ว” และพระเยซูคริสต์ทรงสิ้นพระชนม์ : “ข้าพเจ้าขอมอบจิตวิญญาณของข้าพเจ้า ไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์”

และในขณะที่สิ้นพระชนม์นั้นเอง ธรรมชาติก็เกิดอาเพศ..!


ภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ กำกับโดย เมล กิบสัน (Braveheart, The Man Without a Face) และสร้างโดย บรู๊ซ เดวีย์, เมล กิบสัน และ สตีฟ แม๊คอีวีตี โดยมี เอนโซ่ ซิสตี้ เป็นผู้อำนวยการบริหาร และในทีมงานผู้สร้างที่มีความสามารถนั้นยังมี คาเล็บ เดสชาเนล ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลออสการ์ถึง 4 ครั้งจาก The Patriot, The Right Stuff, Fly Away Home, The Natural มาร่วมงานอยู่ด้วยในฐานะผู้กำกับภาพ อีกทั้ง ฟรานเชสโก้ ฟริเกอรี่ ผู้ออกแบบฉากซึ่งได้รับรางวัลจาก The Legend of 1900 และผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย ที่เคยได้รับการเสนอชื่อ เข้าชิงรางวัลออสการ์สองครั้ง มอริซิโน่ มิเนโนตติ (Malena, The Legend of 1900, Hamlet, The Importance of Being Earnest), ทีมงานสเปเชี่ยลเอฟเฟค และทีมงานแต่งหน้าของ คีธ แวนเดอแลน (Pirates of the Caribbean: The Curse of the Black Pearl, Van Helsing, Hannibal) และ เกร็ก แคนนอม (A Beautiful Mind, Hook, Titanic และเป็นเจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Mrs. Doubtfire, Dracula) รวมทั้ง จอห์น ไรท์ (X-Men, Speed, The Hunt for Red October) ซึ่งได้รับการเสนอชื่อ เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงสองครั้ง ทำหน้าที่เป็นผู้ลำดับภาพ

บทภาพยนตร์ของเรื่อง The Passion of the Christ นี้ ได้รับการดัดแปลงโดย เมล กิบสัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งผู้สร้างและผู้กำกับ โดยร่วมมือกับ เบนเนดิค ฟิทสเจอรัล (ผู้เขียนบทเรื่อง Wise Blood, In Cold Blood, Heart of Darkness, Zelda) เพื่อบรรยายช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้าย ของการมีชีวิตบนโลกมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ เป็นการดัดแปลงและประมวลขึ้น จากหลายเหตุการณ์ของเรื่อง The Passion ซึ่งเรียบเรียงมาจากพระคัมภีร์สี่เล่มของ มัทธิว, มาร์ค, ลูกา และ ยอห์น

คำว่า The Passion ในภาษาละติน หมายถึงความทรมาน และในอีกแง่ความหมายหนึ่ง คือกิเลสและความลุ่มหลง กล่าวถึงเหตุการณ์ของความรวดร้าวทรมาน เพื่อไถ่บาปในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงสุดท้ายของชีวิตพระเยซูคริสต์ ซึ่งมาจากการเล่าเรื่องสี่แบบ จากหนังสือพระคัมภีร์ใหม่ และตำนานที่เล่าขานกันมากว่า 2000 ปี จินตนาการอันแรงกล้าเกี่ยวกับเรื่อง The Passion ได้ทรงอิทธิพลกับจินตนาการของศิลปินมาเป็นเวลายาวนาน จากภาพเขียนของชนชาติตะวันตก และยังเป็นอิทธิพลให้เกิดจินตนาการ ในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องในศตวรรษที่ผ่านมา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมจะได้ยินตัวละครทั้งหมดในเรื่อง พูดสนทนากันหลายภาษาที่ใช้กันในสมัยนั้น ได้แก่ ภาษาอาราแมค (Aramaic) สำหรับตัวละครที่เป็นคนยิว ซึ่งรวมทั้งตัวพระเยซูคริสต์ และอัครสาวกทั้งหลายด้วย รวมทั้งภาษาลาตินพื้นๆ สำหรับตัวละครโรมัน แต่จะไม่ค่อยได้ยินภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารสำหรับนักปราชญ์ในสมัยนั้น ในภาพยนตร์เรื่องนี้มากนัก

ภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ ถ่ายกันในประเทศอิตาลีตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งใช้สถานที่หลักๆ สองแห่งด้วยกันคือ ฉากตรึงกางเขน ถ่ายทำที่เมืองมาเทอร่า (Matera) ซึ่งอยู่ในเขตบาซิลีกาต้า (Basilicata) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี เป็นสถานที่ใกล้กับที่ เปีย เปาโล ปาโซลินี ถ่ายทำเรื่อง The Gospel According to St. Mathew เมื่อปี ค.ศ. 1965 ส่วนฉากในเมืองเยรูซาเล็ม เป็นฉากที่สร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในสตูดิโออันเลื่องชื่ออย่าง ซิเนซิตต้า ซึ่งตั้งอยู่ชานกรุงโรม โดยทีมงานสร้างฉากที่มีชื่อเสียงของ ฟรานเชสโก้ ฟริเกอรี่ และฝีมือตกแต่งฉากของ คาร์โล เจอวาซี่ (Titus) นอกจากนั้นก็มีฉากสิ่งปลูกสร้างอันอลังการ ได้แก่ฉากโบสถ์ซึ่งใช้เป็นที่ชำระความของพระเยซูคริสต์, ฉากลานหน้าวังของปีลาต ซึ่งใช้เป็นที่ฟังคำพิพากษาของพระเยซูคริสต์ และยังมีฉากบริเวณกำแพง ซึ่งพระองค์ถูกทรมานและโบยตีอีกด้วย

กิบสันขอให้ทางตากล้อง คาเล็บ เดสชาเนล ใช้โทนสีของภาพยนตร์ให้ออกมาดูแล้ว เหมือนภาพวาดของศิลปินบาร็อคชาวอิตาเลียน คาราวาจิโอ ซึ่งภาพวาดของเขานั้น เป็นที่รู้จักกันดีในแง่ความมีชีวิตชีวา ของภาพจากความขัดแย้งกัน ของแสงสว่างและเงามืด ส่วนเครื่องแต่งกายก็ผ่านการค้นคว้าอย่างพิถีพิถัน และจัดทำขึ้นด้วยงานฝีมือโดยดีไซน์เนอร์ ฝีมือระดับรางวัลอย่าง มอริชิโอ มิลเลนโนติ ซึ่งกิบสันอยากให้ความรู้สึกออกมาในทำนองเดียวกัน กับภาพวาดของ คาราวาจิโอ เช่นกัน โดยอยู่ในโทนสีน้ำตาล สีดำและสีเบจ ทางด้านงานแต่งหน้าพิเศษและช่างผม ก็อยู่ภายใต้ความควบคุมของ คีธ แวนเดอแลน และ เกรก แคนนอม

ภาพยนตร์เรื่อง The Passion of the Christ นำแสดงโดย จิม คาวิเซล (Frequency, Pay It Forward, The Count of Monte Cristo) รับบทองค์พระเยซู ส่วนบทของพระนางมารี มารดาของพระเยซูคริสต์นั้น ไมอา มอร์เกนสเติร์น นักแสดงชาวโรมาเนียเชื้อสาวยิว ผู้มีชื่อเสียงจาก Balanta ส่วนดาราดังอย่าง โมนิก้า เบลุคชี่ (The Matrix Reloaded, The Matrix Revolutions, Tears of the Sun, Irreversible, Malena) รับบทเป็น มารี มัคดารีนา ที่พระเยซูคริสต์ช่วยชีวิตไว้