เบื้องหลังงานสร้าง
เฉินหลงและคริส ทัคเกอร์ สองดาราดังจากสองซีกโลก ได้กลับมาสร้างเสียงฮาอีกครั้ง ในภาพยนตร์ภาคต่อที่ทำรายได้ถล่มทลายในปี 1998 เรื่อง Rush Hour 2 โดยนักแสดงทั้งสองหวังว่า ภาคสองนี้ผู้ชมจะต้องประทับใจมากขึ้นกว่าเดิม
"เราพยายามมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ชม" ชานกล่าวด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงแปร่งๆ "แต่เราก็มีกฎประจำตัวของเรา นั่นคือ ต้องให้ลดความสำคัญของเทคนิคพิเศษและฉากรุนแรงลง และต้องเพิ่มฉากแสดงสดให้มากขึ้น ที่สำคัญที่สุด ต้องสร้างรักษาสูตรหลักๆ จากภาคหนึ่งไม่ให้ตกหล่น โดยเฉพาะอารมณ์ขัน, ฉากแอ็คชั่น และความรุนแรงที่ไม่มากเกินไป รวมถึงไม่มีอะไรที่สร้างความรู้สึกแสลงด้วย"
หากย้อนรำลึกกลับไปใน Rush Hour ภาคแรก จะพบว่ากว่าได้มีโอกาสทำภาคสองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่คิด เพราะก่อนหน้าที่ Rush Hour จะตกมาอยู่ในมือของบริษัทนิวไลน์นั้น อาร์เธอร์ ซาคิสเซียน เคยนำบทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ไปเสนอที่สตูดิโอยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์มาก่อน แต่กลับได้รับการปฏิเสธอย่างไม่ใยดี "สาเหตุที่ดิสนีย์ไม่ต้องการโปรเจ็กต์นี้เพราะเขาไม่เชื่อในตัวแจ็กกี้" ซาร์คิสเซียนกล่าว เมื่อเป็นดังนั้น เขาจึงหันหน้าเข้าหาบริษัท นิวไลน์ ซึ่งในขณะนั้น ไมค์ เดอ ลูก้า เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตพอดี ซึ่งคำตอบที่พวกเขาได้รับก็คือ "อนุมัติ" ทั้งหมดทั้งมวล ซาร์คิสเซียนได้ยกความดีให้กับผู้อยู่เบื้องหลังกล้องอย่าง เบร้ท แร้ทเนอร์เต็มที่ "ผมขอยกความดีให้กับเบร้ท มันไม่ใช่เพียงแค่เขาอยากทำหนังยี่ห้อเฉินหลงหรอกนะ แต่เขาอยากทำหนังแอ็คชั่นอเมริกันที่มีเฉินหลงแสดงนำต่างหาก และไม่ใช่แบบที่เฉินเคยแสดงในฮ่องกง เขาต้องการผสมผสานการทำหนังแบบอเมริกันลงไปในนั้น"
กุญแจสำเร็จของหนังเรื่องเห็นเห็นจะอยู่ที่แนวทางของหนังแบบ "บัดดี้ฟิล์ม" ที่เฉินหลงสามารถแสดงคู่กับนักแสดงปากเป็นไฟอย่าง คริส ทัคเกอร์ ที่เคยร่วมงานกับผู้กำกับแร้ทเนอร์ใน Money Talk อย่างลงตัว "คริส ทัคเกอร์ คือ เอ็ดดี้ เมอร์ฟีย์ ของปัจจุบัน" แร้ทเนอร์เปรยถึงหนังคลาสสิค เรื่อง 48 Hrs. และ Beverly Hills Cop ในฐานะแรงบันดาลใจของหนังชุดนี้ "สิ่งสำคัญที่หนังดังจำเป็นต้องมีคือ ความลงตัว" เขาเสริม "และชายสองคนนี้มีความลงตัวอย่างมาก"
กับ Rush Hour 2 นิวไลน์ต้องเผชิญกับภาวะสงครามยึดหัวหาดหนังซัมเมอร์อีกครั้ง หลังจากที่เคยมาแล้วเมื่อสองปีก่อน หากสามปีที่แล้ว Rush Hour ต้องเผชิญคู่แข่งอย่างหนังตลกเรื่อง There's Something About Mary, หนังของบรัคไฮเมอร์เรื่อง Armageddon และของสปิลเบิร์ก เรื่อง Saving Private Ryan ไม่รวม Godzilla และ Lethal Weapon 4 มาในปีนี้ นิวไลน์ต้องเจอคู่ปรับเก่าอีกครั้ง โดยเฉพาะ Pearl Harbor ของ ไมเคิล เบย์, A.I. ของสปิลเบิร์ก ไม่นับรวมถึง Planet of the Apes และ Tomb Raider
"ถ้าหนังยิ่งดี ก็ยิ่งส่งผลต่อธุรกิจของทุกฝ่าย" ซาร์คิสเซียนให้เหตุผล "ผมไม่กังวลเรื่องการแข่งขันแม้แต่น้อย เพราะผมรู้ดีว่าหนังของเรานั้นมีดีอยู่แล้ว ผมรู้ว่ามันจะต้องดีกว่าภาคที่แล้ว แล้วผมก็รู้ว่า ไม่มีใครได้เห็นคริส ทัคเกอร์ปรากฎตัวบนจอเงินมาเป็นเวลากว่าสามปีแล้ว มันจึงเปรียบเสมือนโชคสองต่อ"
เพื่อทำให้หนังมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น Rush Hour 2 จึงหยิบเอาเนื้อหาที่ไม่ได้ใส่ไว้ในภาคแรกมาขยายให้สมบูรณ์ โดยในภาคนี้ ตัวละครทั้งสองต้องเดินทางจากแอลเอ อันเป็นเมืองของคริส มาสู่ฮ่องกง อันเป็นถิ่นของเฉินหลงบ้าง ซึ่งพวกเขาต้องจับมือกัน เพื่อปราบหัวหน้าแก๊งค์มาเฟียจอมโหดที่แสดงโดยดาราดังจาก The Last Emperor นามว่า จอห์น โลน
"มันเหมือนกับเป็นมุมกลับของ Rush Hour ภาคแรก" แร้ทเนอร์กล่าว "หลังจากเฉินหลงได้กลายเป็นคนแปลกแยกในแอลเอมาแล้ว ถึงคราวที่คริสจะต้องกลายมาเป็นคนแปลกถิ่นในฮ่องกงบ้าง" ไอเดียส่วนใหญ่ของภาคสองเกิดขึ้นภายหลังจากที่ แร้ทเนอร์และทัคเกอร์ ได้เดินทางมาร่วมโปรโมทหนังภาคแรกในฮ่องกง แร้ทเนอร์กล่าวรำลึกว่า "ตอนนั้นเราได้เดินอยู่บนท้องถนน และคริส พยายามที่จะคุยกับคนทั่วไป แต่ไม่มีใครเข้าใจเข้าสักคน พวกเขาเมินเฉยเขา หลังจากนั้นเขาก็ไปร้องคาราโอเกะที่บาร์แห่งหนึ่ง ระหว่างที่กำลังร้องเพลงของไมเคิล แจ็คสันอยู่นั้น คนส่วนใหญ่ก็หาว่าเขาเป็นบ้าไปแล้วแน่ๆ ผมจึงเกิดความคิดและบอกกับเขาไปว่า 'คริส เราถ่ายภาคสองที่นี่กันเถอะ' "
เหตุผลส่วนหนึ่ง ที่ทำให้แร้ทเนอร์เดินทางไปถ่ายทำที่ฮ่องกง ค่อนข้างแปลกไม่น้อย โดยเขาต้องการไปถ่ายทำในโลเคชั่นแปลกๆ ที่แม้แต่ตัวเฉินหลงก็ไม่คุ้นเคย "ผมเลือกโลเคชั่นที่อยู่ในพื้นที่ที่แปลกตาที่สุด ซึ่งคุณสามรถเห็นตึกโทรมๆ โดยมีแบ็คกราวน์เป็นตึกทันสมัยอย่างถนัดตา เราถ่ายกันที่ตลาดขายปลาและตลาดขายเนื้อ เราจะเห็นหมูถูกเชือดอย่างชัดเจน จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายกันในสถานที่แบบนั้น เราไม่มีรถเทรลเลอร์ ไม่มีเก้าอี้ให้นักแสดงนั่งพัก แต่อย่างที่ผมได้บอกกับเฉินหลงว่า คนอเมริกันไม่มีโอกาสได้เห็นบรรยากาศอย่างนี้หรอก การได้เห็นคริสเดินผ่านตลาดสด แล้วเห็นพวกเขากำลังสับหัวไก่นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพียงแค่เห็นคริสเดินในสถานที่แบบนั้น ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกได้แล้ว"
นอกจากอารมณ์ขันที่เป็นหัวใจของหนังแล้ว ฉากแอ็คชั่นก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ผู้กำกับและผู้สร้างให้ความสำคัญไม่แพ้กัน
"ผมพยายามทำให้หนังเรื่องนี้ออกมาได้อารมณ์ ระทึกขวัญ" แร้ทเนอร์อธิบาย "ทุกอย่างจะต้องแสดงให้เห็นถึงแรงกระตุ้น ในทุกฉากการต่อสู้ ในทุกหมัด นั่นเป็นเหตุผลทำไมหนังเรื่อง 48 Hours จึงได้ผล แต่หนังเรื่องนั้นเป็นหนังซีเรียส เพราะตัวโกงในหนังเรื่องนั้นชั่วร้ายมาก เช่นเดียวกับในหนังของเรา"
แร้ทเนอร์ชื่นชมจอห์น โลน และ จางซื่อยี่ ที่มารับบทเป็นวายร้ายในหนังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของความเป็นมืออาชีพ และความสมจริงที่ถ่ายทอดออกมา โดยเฉพาะกับสาวจาง
เบร้ทเซ็นสัญญากับเธอก่อนที่ Crouching Tiger, Hidden Dragon จะมาดังในอเมริกาเสียอีก "จริงๆ แล้วบทของเธอถูกกำหนดให้ผู้ชายเล่น" เขากล่าว "แต่ตอนที่ผมเห็นเธอ ผมบอกเลยว่า 'ผมจะแก้บทให้เป็นผู้หญิง' เราจึงเพิ่มบทบาทให้เธออีกสิบห้าซีน"
"แร้ทเนอร์ใส่ใจกับทุกสิ่งตลอดเวลา" ทัคเกอร์กล่าว "เขาจึงรู้ถึงทุกสิ่งเกิดขึ้น รู้ว่าใครเป็นดาราที่กำลังพุ่งแรง ใครเป็นหน้าใหม่ที่น่าสนใจ ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่าเขาฉลาดมากที่เลือกเธอมารับบทนี้ แล้วเราก็พบว่า ระหว่างเธอกับผมมีอารมณ์ขันที่คุณไม่มีวันพบในหนังเรื่อง อื่นๆ ยกเว้นหนังเจมส์ บอนด์"
สิ่งหนึ่งที่ไม่พบบ่อยนักในกองถ่าย Rush Hour 2 ก็คือกองทัพเด็กๆ ที่ยั้วเยี้ยไปหมด ส่วนใหญ่ที่มาจากการเชิญชวนของเพื่อน หรือครอบครัวที่ทำงานในส่วนของการผลิต แต่กระนั้นพวกเขาก็รู้จักทั้งคริส ทัคเกอร์ และ เฉินหลงเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะหนังเรื่อง Rush Hour เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มผู้ชมก่อนวัยรุ่นเป็นอย่างมาก หลังจากที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้สองเรื่องคือ The Big Brawl (1980) และ The Protector (1985) ซึ่งเฉินหลงตั้งใจว่า จะใช้มันเป็นใบเบิกทางสู่ฮอลลีวู้ด หลายคนอาจคิดว่าเฉินหลงคงรู้สึกภูมิใจ ที่ได้เข้าไปอยู่ในใจของนักดูหนังอเมริกันเสียที ซึ่งก็ถูก แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาเป็นขวัญใจของคนดูทุกวัยนั่นเอง
"ผู้ชมหนังเฉินหลงสามารถแบ่งได้ออกเป็นสองประเภท" เฉินหลงกล่าว "ประเภทแรก เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งติดตามดูหนังของผมมาเป็นเวลาหลายปี พวกเขารู้จักหนังแอ็คชั่นพันธุ์แท้ของผม ส่วนอีกพวกนึงเป็นผู้ชมกลุ่มใหม่ เป็นผู้ชมประเภทครอบครัว พวกเขาเพิ่งรู้จักผมจากภาพยนตร์เรื่อง Rush Hour แต่ตอนนี้พวกเขาก็เริ่มติดตามวีดีโอเก่าๆ ของผมบ้างแล้ว ดังนั้นเมื่อผมเล่นหนังอเมริกัน ผมจึงต้องทำตามกฎของหนังอเมริกัน อารมณ์ขันแบบอเมริกัน แต่ผู้ชมในเอเซียไม่มีทางเข้าใจหรอก ดังนั้นผมจึงยืนยันตลอดว่า โอเค ผมจะเล่นหนังสองประเภท ประเภทหนึ่งเป็นหนังอเมริกัน อีกประเภทหนึ่งเป็นหนังเอเซีย ผมจะทำอย่างนี้ต่อไป"
ส่วนคริส ทัคเกอร์ ก็ได้กล่าวถึงช่วงเวลาสามปีที่ได้หายไปว่า "ผมได้ลองหาหนังดีๆ เล่น" เขากล่าว "แต่ก็หาไม่เจอ จนกระทั่ง Rush Hour กลับมาอีกครั้ง ผมรู้สึกสนุกมากในครั้งแรกที่ได้รู้ว่าเราสามารถพาหนังเรื่องหนึ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง"
"แจ็คกี้ กับผม เราเข้ากันได้ดีในภาคแรก ดังนั้นมาในภาคนี้เราจึงสนิทกันมากขึ้น แถมคาแรคเตอร์ของเราทั้งคู่ยังพัฒนามากขึ้นอีก เพราะเราต่างเป็นคนที่มาจากโลกที่แตกต่างกัน และผู้ชมก็สามารถเข้าถึงหนังได้อย่างง่ายดาย เพราะพวกเขาไม่เพียงหัวเราะกับมันเท่านั้น แต่ยังเรียนรู้ถึงความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมอีกด้วย"
"ยิ่งมาในภาคนี้ ยิ่งดีไปใหญ่เพราะพวกเขารู้จักซึ่งกันและกัน" ซาร์คิสเซียนกล่าว "เมื่อคุณได้ดูพวกเขา เขาก็จะนึกถึงวิธีที่เขาทำความรู้จักกันใหม่ และคุณก็ยังคงพบว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาก็ยังไม่เข้าใจกันอยู่ดีนั่นแหละ คุณจะเห็นพวกเขาสื่อสารกันด้วยสายตา มันไม่ได้เป็นการฝืนนะ เพราะมันเป็นธรรมชาติของพวกเขาจริงๆ นั่นจึงเป็นเหตุผล ทำไมผมถึงรักเขาทั้งคู่มาก"
เมื่อพุดถึงอนาคต โอกาสในการทำ Rush Hour ภาคต่อไป ขึ้นอยู่กับชะตากรรมของ Rush Hour 2 เป็นสำคัญ "ผมบอกกับคริส และแบร้ทตลอดเวลา เราต้องทำหนังเรื่องนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราต้องการทำภาคสาม-ภาคสี่"
ส่วนทัคเกอร์ก็กล่าวแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้จะฟังดูมองโลกในแง่ร้ายนิดๆ ก็ตามว่า "ผมจะก้าวไปทีละก้าว มันขึ้นอยู่กับแฟนๆ ถ้าพวกเขาชอบภาคนี้ และต้องการเห็นอีกภาคหนึ่ง แล้วถ้าพวกเขาต้องการดูมากขนาดนั้นล่ะก็ พวกเขาไม่ผิดหวังแน่"