The Hours
Official website
more info. from IMDB
แนว : ดราม่า / รัก
ความยาว : 114 นาที
กำหนดฉาย : 21 มีนาคม 2546

ขอบข่ายของกาลเวลา คือเงื่อนงำแห่งความรู้สึก

เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1923 ในวังวนแห่งความเป็นความตายของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (รับบทโดย นิโคล คิดแมน) นักเขียนที่ฝังลึกกับความปวดร้าวในใจ เธอระลึกถึงความหลัง ช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ และตัวละครในนิยายสุดคลาสสิคอย่าง คาร์ริสซา ดัลโลเวย์... หลังจากนั้น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ฆ่าตัวตายในปี 1941

ในทศวรรษที่ 1950 ลอร์ร่า บราวน์ (รับบทโดย จูลี่แอนน์ มัวร์) แม่บ้านสาวชานเมืองแคลิฟอร์เนีย ผู้ปวดร้าวจากชีวิตคู่ เธอมีภาระที่ต้องดูแลลูกชาย และสามีที่เธอไม่ได้รักเขา ในวันหนึ่ง ขณะที่เธอพยายามที่จะเตรียมจัดงานวันเกิด ให้แก่สามีของเธออยู่นั้น เธอกลับรู้สึกว่า เธอต้องการที่จะอ่านหนังสือ Mrs. Dalloway มากกว่า

ในแมนฮัตตันยุคปัจจุบัน คลาริสซ่า วอแกน (รับบทโดย เมอรีล สตรีพ) เลสเบี้ยนสาว ที่อาศัยอยู่กับคนรักของเธอ แซลลี่ เลสเตอร์ (อลิสัน แจนนีย์) และลูกสาว จูเลีย (แคลร์ เดนซ์) กำลังจัดปาร์ตี้ให้กับสามีเก่า ริชาร์ด บราวน์ (เอ็ด แฮร์ริส) ผู้ติดเชื้อเอดส์

ภาพยนตร์เรื่อง The Hours ใช้ตัวละครอย่าง Mrs. Dalloway ตัวละครในนิยายสุดคลาสสิคของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เป็นศูนย์กลางของเรื่องราว ที่เชื่อมต่อช่วงเวลา 3 ยุคสมัย ใน 3 แห่งที่ที่แตกต่างกัน ในวันวันหนึ่ง โดยบอกเล่าภาพชีวิตของผู้หญิง 3 คน ที่มีความหดหู่ ความปวดร้าว และไขว่คว้าค้นหาความรัก...


Miramax และ มงคลเมเจอร์ ภูมิใจเสนอ The Hours ผลงานภาพยนตร์โดย สตีเฟ่น ดัลดรี ผู้กำกับคนดังจากภาพยนตร์เรื่อง Billy Elliot สร้างจากนวนิยายรางวัลพูลิตเซอร์ของ ไมเคิล คันนิ่งแฮม เมื่อปี 1998 ดัลดรี้สะดุดใจกับการนำเรื่องราว 3 เรื่อง กับความสัมพันธ์ของผู้หญิง 3 คน มาเกี่ยวเนื่องกัน เขาคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ท้าทาย ที่จะสร้างเรื่องราวเหล่านี้ ให้สัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว ในที่สุด เขาเลือกใช้ความเหลื่อมล้ำแห่งช่วงเวลา มาซ้อนต่อกันได้อย่างงดงาม ด้วยฝีมือของมือเขียนบทอย่าง เดวิด แฮร์ (Damage) ด้วยการเรียบเรียงเรื่องราวขึ้นมาใหม่ ให้เหมาะกับสไตล์ของภาพยนตร์ แต่อนุรักษ์ถึงอรรถรสแห่งนิยายเอาไว้

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ นิโคล คิดแมน กับบทบาทใหม่ ที่พลิกคาแร็กเตอร์ของเธอ รับบท เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนที่ฝังลึกกับความปวดร้าวในใจ และฆ่าตัวตายในปี 1941 เธอใช้เวลาในการเตรียมตัวอย่างมาก ที่จะรับบทเป็น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ งานหนักที่จะต้องทำนั้นก็คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตและงานของ เวอร์จิเนีย จนเข้าใจถึงแก่นแท้แห่งตัวตนของเธอ เหมือนกับที่ ไมเคิล คันนิ่งแฮม ทำในหนังสือของเขา นอกจากนั้น เธอยังยอมเปลี่ยนโฉมตัวเอง เพื่อให้คลายกับ เวอร์จิเนีย วูลฟ์ โดยการสวมวิกผมปลอม และเสริมจมูกขึ้นมา

ผู้แสดงสมทบคนอื่นๆ นอกจาก จูลี่แอนน์ มัวร์ (Hannibal, The End of the Affair, Boogie Nights) และ เมอรีล สตรีพ (Sophie's Choice, The Bride of Madison County, Kramer VS.Kramer) ก็คือ เอ๊ด แฮร์ริส (The Truman Show, Apollo 13), สตีเฟ่น ดิลเลน (Spy Game, Hamlet), มิรันดา ริชาร์ดสัน (Sleepy Hollow, The Apostle), แคลร์ เดนซ์ (Terminator 3, Brokedown Palace, Romeo + Juliet), อลิสัน แจนนีย์ (Nurse Betty, American Beauty, Primary Colors), จอห์น ซี.ไรลีย์ (Chicago, Gangs of New York, The Perfect Storm, Magnolia, Boogie Nights), โทนี คอลเลตต์ (About a Boy, Changing Lanes, The Sixth Sense)

ในการสร้างสรรค์ The Hours สตีเฟ่น ดัลดรี เลือกใช้บริการ ของนักออกแบบงานสร้างอย่าง มาเรีย ดุกโควิค (Billy Elliot, Sliding Doors), คอสตูมดีไซด์เนอร์ แอนน์ ร็อท (เข้าชิงรางวัลออสการ์จาก The Talented Mr. Ripley หลังจากที่ไปคว้ามาได้จาก The English Patient) และผู้กำกับภาพ ซีมัส แม็คกาวี่ (Enigma, High Fidelity, The Big Tease) ที่จะร่วมกันสรรค์สร้างความเป็นหนึ่งเดียว ให้กับเรื่องราวทั้งสาม ร็อท ตั้งใจแน่วแน่ ที่จะถ่ายทอดถึงสิ่งที่เห็น ในพิพิธภัณฑ์สถานของกรุงลอนดอน "มันเป็นแหล่งรวมของฝูงชน ที่พิพิธภัณฑ์จะมีรูปวาดของ วาเนสซ่า และ ดันแคน แกรนท์ พวกเธอให้สีดึงดูด มันเป็นสีที่แสดงถึงละอองแห่งชีวิต สีเขียวและฟ้าหม่น ผมต้องการที่จะนำมันมาใช้ ถ้าคุณได้ดูหนังแล้วคุณจะพบว่า ตลอดทั้งเรื่องทุกๆ สิ่งจะผูกพันอยู่กับสีเหล่านี้ จูลี่แอนน์ มัวร์ จะใส่เสื้อสีเดียวกับ เมอรีล ซึ่งก็จะเป็นเสื้อสีเดียวกับที่ นิโคล คิดแมน ใส่"

นิโคล คิดแมน คือต้นแบบ ในการออกแบบเสื้อผ้าของ แอนน์ ร็อท รูปร่างของเธอก็คือตัวตนของ เวอร์จิเนีย รองเท้า, ผ้าที่เลือกมาใช้ หรือแม้แต่ผ้าเช็ดหน้า การแสดงออกของคิดแมน จะต้องทำให้เห็นภาพของช่วงเวลาที่แท้จริง หรือบางทีก็คือการแสดงให้เห็นถึงตัวตนของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ

อย่างไรก็ดี ดัลดรี มุ่งมั่นที่จะขจัดข้อผิดพลาดทั้งหมด ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นเขาจึงให้ความสำคัญทุกขั้นตอน กับรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสีในภาพยนตร์ เพราะมันเป็นสิ่งที่แสดงถึงความแตกต่าง ของเรื่องราวหนึ่งไปสู่เรื่องราวหนึ่ง แต่ในความแตกต่างนั้น จะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ของแต่ละเรื่องราว รายละเอียดของสี การเคลื่อนที่ และเทคนิคของกล้อง จากเรื่องราวหนึ่ง ไปสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง แต่เขาก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยง ที่จะใช้การเคลื่อนไหวของกล้องอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะการเคลื่อนไหวของกล้องนั้น จะสามารถถ่ายทอดถึงอารมณ์ ของตัวละครผ่านมุมมองของกล้องได้

ฟิลิปป์ กลาส (The Truman Show, Kundun, Hamburger Hill) ผู้ประพันธ์ดนตรี ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ในการเรียบเรียง เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของภาพยนตร์อย่าง The Hours โดยเขาต้องการที่จะใช้ดนตรี เป็นสะพานที่แสดงถึงเรื่องราว และใช้มันในการแยกส่วนต่างๆ ออกจากกัน กลาสตัดสินใจ ที่จะใช้สไตล์ของนักเขียนนิยายต้นฉบับ ไมเคิล คันนิ่งแฮม และคนเขียนบท เดวิด แฮร์ ผสมผสานในรายละเอียดต่างๆ สร้างเป็น เวลา และจังหวะในเรื่องราวทั้งสาม ดนตรีประกอบนั้นจะไม่แยกเรื่องราวทั้งสามออกจากกัน แต่จะบอกถึงสิ่งที่เชื่อมถึงกัน ในแต่ละเรื่องราว สื่อสารถึงมุมมองแห่งอารมณ์ เรื่องราวทั้งสามที่ต้องการสื่อถึง การทำลายล้างตัวตน การรอดชีวิต การเผชิญหน้าระหว่างคนทั้ง 3 ช่วงเวลา

ภาพยนตร์เรื่อง The Hours ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก National Board of Review, ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ 2 สาขาคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่า และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (นิโคล คิดแมน), ได้รับรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงจาก Writers Guild of America และรางวัลระดับโลกอีกมากมาย รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อ เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 9 สาขา