ปรารถนา ไฟสงคราม และความอยู่รอด
more info. from IMDB
แนว : ดราม่า / สงคราม
ความยาว : 98 นาที
กำหนดฉาย : 23 มิถุนายน 2548
Turtles Can Fly บอกเล่าเรื่องของเด็กชาย Satellite (Soran Ebrahim) ผู้รับมือกับสงครามได้ดี มีความมั่นใจ และเป็นผู้นำกลุ่มเด็กๆ เขามีผู้ช่วย 2 คนคือ Pasheo (Saddam Hossein Feysal) ผู้ร่าเริง และต้องอาศัยไม้พยุงเดิน เพราะเสียขาข้างหนึ่งให้กับระเบิด และ Shirko (Ajil Zibari) คนขี้แย Satellite ได้ชื่อนี้จากความสามารถของเขา ในการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแลกซื้อจานดาวเทียม และนำมาติดตั้งเพื่อรับข่าว แต่ข่าวที่ได้มาไม่มีประโยชน์กับพวกเขาเท่าไหร่ เพราะไม่มีใครฟังรู้เรื่อง เนื่องจากเป็นภาษาอังกฤษ ภาพยนตร์เรื่องนี้ ยังบอกเล่าถึงสาวน้อยคนสวยที่ Satellite หลงรัก ที่มีชื่อว่า Agrin (Avaz Latif) กับพี่ชายของเธอ Hangao (Hiresh Feysal Rahman) และเด็กน้อยนาม Rega (Abdol Rahman Karim) พวกเขามาจากเมือง Halabcheh ซึ่งเป็นเมืองเคิร์ดในอิรัก ใกล้กับชายแดนอิหร่านที่ถูก Saddam Hussein โจมตีด้วยอาวุธเคมีในสงครามอิหร่าน-อิรัก Hangao เสียแขนทั้ง 2 ข้าง และมีญาณพิเศษเห็นอนาคต ส่วน Rega ตาบอด และมีบุคลิกที่คลุมเครือ เรื่องราวของ Turtles Can Fly ให้ความสำคัญไปที่กลุ่มของเด็กๆ ที่พยายามจะเอาชีวิตรอดจากสภาวะวิกฤต ภายในแคมป์ผู้อพยพชาวเคิร์ด บริเวณชายแดนระหว่างตุรกีกับอิรัก หนังเผยให้เราเห็นภาพ 1 วันก่อนสงครามที่เริ่มโดยประธานาธิบดี George W. Bush ภายใต้ฟ้าสีคราม ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยเต้นท์ที่พักและรั้วหนาม เด็กชายนาม Satellite ได้ดูแลกลุ่มเด็กๆ เข้าไปทำงานเก็บกู้ทุ่นระเบิด เด็กชายวัยรุ่นคนนี้ทำการต่อรองราคา รับใบสั่ง และติดตั้งจานดาวเทียม ที่เพื่อรับข่าวสารเกี่ยวกับสงครามในประเทศเขาจากโลกภายนอก อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีช่องทางอื่นที่จะรับข่าวได้อีก นั่นคือการมาถึงของ Hengov ผู้อพยพผู้เสียแขนทั้งสองข้างไป น้องสาวของเขา Agrin และเด็กชายตัวน้อยอีกหนึ่งคน Hengov ผู้มีสายตาเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง แต่ในสายตาของ Agrin นั้นกลับว่างเปล่า เพราะสงครามได้พรากความหวังนั้นไปจากเธอ Turtles Can Fly หรือ Lakposhtha ham parvaz mikonand คือภาพยนตร์ที่กล่าวถึงการต่อต้านสงครามอย่างเข้มข้น หนึ่งในภาพยนตร์เรื่องแรกๆ ที่พูดถึงภาวะหลังสงครามอิรัก เรื่องราวของเด็กๆ ในสงคราม 6 ชีวิตที่อาศัยในค่ายผู้อพยพชาวเคิร์ด ใกล้ชายแดนอิรักและตุรกี เหตุการณ์ในปี 2003 ไม่กี่สัปดาห์ก่อนเกิดสงครามอิรัก ตัวแสดงที่ไม่มีประสบการณ์การแสดง ผู้สูญเสียครอบครัว และต้องหาเลี้ยงตัวเอง ส่วนใหญ่ต้องทนทรมานกับอาการบาดเจ็บ ทั้งทางจิตใจและร่างกายจากสงคราม หนังเรื่องนี้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา หลังการรุกรานของอเมริกา และมันส่งผลถึงพวกเขาอย่างไร มุมมองของเด็กๆ ต่อสงคราม ทำให้หนังเรื่องนี้ต่างไปจากหนังสงครามเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้เอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มเด็กๆ และสถานที่ถ่ายทำ ก็สร้างความพิเศษให้กับหนังเรื่องนี้ นี่คือหนังที่เป็นตัวแทนของอิหร่าน บนเวทีออสการ์ ปี 2005 ในสาขาภาษาต่างประเทศ โดยฝีมือของ Bahman Ghobadi ผู้สร้าง Marooned in Iraq (2003) และ A Time for Drunken Horses (2000) หนังของผู้กำกับชาวอิหร่าน Bahman Ghobadi คนนี้ มักจะทิ้งอารมณ์เหนือจริงให้คาใจอยู่เสมอ ด้วยการเล่าเรื่องอย่างสงบเสงี่ยม หนังของเขาแสดงให้เห็นถึงโลกที่ชาวตะวันตกไม่คุ้นเคย และไม่อยากเชื่อว่าเป็นจริง แน่นอนว่ามันมีทั้งความสวยงาม ความจริงอันน่าสะพรึง ภาพฝันและมายา รวมเข้าเป็นกันอย่างแยกไม่ออก เช่นเดียวกับสารคดีเรื่องแรกของเขา A Time for Drunken Horses |