Zatoichi
ซาโตอิจิ ไอ้บอดซามูไร
Official website (Japan)
Official website (France)
Official website (Russia)
more info. from IMDB
แนว : แอ็คชั่น / ดราม่า
ความยาว : 116 นาที
กำหนดฉาย : 5 มีนาคม 2547

ณ ประเทศญี่ปุ่น ราวศตวรรษที่ 19...

ซาโตอิจิ (ทาเคชิ คิทาโน่) ชายตาบอดผู้เดินทางร่่อนเร่ หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นหมอนวด และการพนันเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้รูปร่างและท่าทางที่อ่อนน้อม ซาโตอิจิคือปรมาจารย์แห่งเพลงดาบของญี่ปุ่น ผู้มีพรสวรรค์อย่างหาใครเทียบได้ยาก ด้วยเสี้ยววินาทีที่ดาบถูกชักออกมาจากฝัก มันก็ได้ฟาดฟันลงบนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

ซาโตอิจิ ได้เดินทางรอนแรม มาจนถึงหมู่บ้านในหุบเขาอันห่างไกลแห่งหนึ่ง ด้วยความบังเอิญ เขาก็พบเข้ากลุ่มของ กินโซ่ (อิตโตกุ คิชิเบะ) อันธพาลที่พร้อมที่จะไร้ความปราณี ต่อผู้ที่เข้ามาขวางแนวทางของตนอย่างเลือดเย็น และนับตั้งแต่ที่กลุ่มได้ว่าจ้าง ฮัตโตริ (ทาดาโนบุ อาซาโน่) ซามูไรรับจ้างมาเข้าพวก พวกมันก็ยิ่งกำเริบเสิบสานมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่ ซาโตอิจิ และ ชินกิจิ (กัวดาลคาแนล ทากะ) เพื่อนที่ไว้ใจได้ กำลังง่วนอยู่ในวงพนันลูกเต๋า พวกเขาก็มีโอกาสได้พบกับสองสาวเกอิชา โอกินุ (ยูโกะ ไดเกะ) และ โอเซอิ (ไดโกโร่ ทาชิบานะ) สองสาวผู้มีพิษสง มากพอกับความงามของพวกเธอ ทั้งสองเดินทางมายังเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เพื่อจัดการล้างแค้นให้กับพ่อและแม่ที่ถูกฆ่าตาย โดยชายปริศนาที่พวกเธอรู้เพียงแต่ชื่อว่า คูจินาว่า

กลุ่มอันพาลเริ่มออกไล่ล่าซาโตอิจิ ด้วยดาบเคียงกาย และเส้นทางแห่งโชคชะตา เขาจำต้องเดินหน้าสู่การประลองครั้งยิ่งใหญ่แห่งชีวิต...


เป็นเวลากว่า 6 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่ผู้กำกับคนเก่ง ทาเคชิ คิทาโน่ (Kikujiro, Dolls) ได้จุดประกายความสว่างไสว ให้กับวงการภาพยนตร์ ทั้งในญี่ปุ่นและนานาชาติ ด้วยผลงานอย่าง Hana-Bi (Firework) ในปี 1997 ซึ่งผลงานดังกล่าว ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้กำกับที่มีแนวทางเฉพาะตัว ที่ทั่วโลกต้องหันมาสนใจมากที่สุดคนหนึ่ง

กับผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุด ที่เป็นแนวย้อนยุค Zatoichi เรื่องราวเกี่ยวของปรมาจารย์ซามูไร ที่ซ่อนอยู่ใต้ภาพของหมอนวด-เซียนพนัน และที่สำคัญ เขายังเป็นชายตาบอด ซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นไอคอนบทบาทหนึ่ง ของวงการภาพยนตร์ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับคิทาโน่เป็นอย่างมาก ด้วยการเดินตามรอยของนักแสดงมากประการณ์อย่าง ชินทาโร่ คัทสึ ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีของยุค 60-70 รวมแล้วมีผลงานที่เกี่ยวกับปรมาจารย์ซามูไรตาบอด ออกมาถึง 27 เรื่อง และคัทสึก็เป็นหนึ่งนักแสดงที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่น จากบทบาทดังกล่าว ซึ่งผลงานในปี 1989 ก่อนหน้าฉบับของคิทาโน่ในปี 2003 นั้นก็เป็นผลงานของคัทสึด้วยเช่นกัน

Zatoichi เป็นอีกหนึ่งผลงานของคิทาโน่ ที่สามารถประสบความสำเร็จ กับกลุ่มอาร์ตเฮ้าส์ในต่างประเทศ ซึ่งพิสูจน์ได้จากรางวัล Silver Lion Award for Director จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส ปี 2003 ซึ่งที่เวทีเดียวกันนี้เอง ที่เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Golden Lion Award ในปี 1997 และก็เป็นเพียงวันเดียวเท่านั้น ก่อนคว้ารางวัล People’s Choice Audience Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เมืองโตรอนโต้ครั้งที่ 28 มาครองอีกหนึ่งรางวัล

ดูเหมือนว่ากระแสของภาพยนตร์ Jidai-Gekei (ดราม่าย้อนยุค) ได้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Twilight Samurai (Tasogare Seibei, 2002) ของโยจิ ยามาดะ และ Last Sword is Dawn (Mibugishiden, 2003) ของ โยจิโร่ ทากิตะ แม้ว่าจะไม่ได้รับความนิยมมากนักจากผู้ชมสมัยใหม่

แม้ว่ากระแสของความนิยมในตัวของนักแสดง ชินทาโร่ คัทสึ จะมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคิทาโน่ก็ซึมซับมันมาบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจากผลงานตลกทางโทรทัศน์ในยุค 80 หรือภาพยนตร์อย่าง Getting Any? ทั้งนี้คิทาโน่ก็กล่าวว่า เขาไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของภาพยนตร์ Zatoichi แต่อย่างใด และเหตุผลเริ่มต้น ของโครงการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เกิดมาจาก ชิเอโกะ ไซโต้ ผู้เป็นเจ้าของโรงละครมากมายทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น ที่เข้ามาเสนอโอกาสให้กับเขา พร้อมทั้งยืนกรานให้เขา มารับบทปรมาจารย์ดาบตาบอดคนนี้ ด้วยตัวเธอเอง และเธอก็เป็นผู้ออกเงินลงทุน 15% ของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย

ด้วยการตีความใหม่ของ Zatoichi ในยุค 2003 ด้วยผมสีแพลตตินั่มบลอนด์ และส่วนผสมสมัยใหม่อื่นๆ ด้วยเนื้อเรื่องที่เรียบง่าย ที่บอกเล่าเรื่องราวของความยุติธรรมและการแก้แค้น ที่ตัวละครหลักของเรื่อง เดินทางตุปัดตุเป๋ไปยังเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ของเจ้าเมืองที่ฉ้อโกงและผู้มีอิทธิพล จอมอันธพาลโดยเจ้าพ่อ กินโซ ณ เมืองแห่งนี้ เขาเผชิญหน้าเข้ากับซามูไรร่อนเร่นาม ฮัตโตริ ที่ในที่สุด ก็กลายมาเป็นสมาชิกแก๊งมาเฟีย แลกกับการรักษาเมียที่กำลังป่วยของเขา นอกจากนี้ เขาบังเอิญเข้าร่วมทีมกับ 2 เกอิชาสาว ผู้เดินทางตามล้างแค้น ให้กับพ่อแม่ที่ถูกฆ่าตาย

งานของคิทาโน่ เป็นที่ยกย่องกันในประเทศทางตะวันตก ถึงความสวยงามของความเป็นมินิมัลลิซึ่มแบบญี่ปุ่น สำหรับ Zatoichi คิทาโน่ได้เน้นไปในเรื่องของวัฒนธรรม ที่ถ่ายทอดออกมาในฉากที่ถ่ายทำ และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งมันก็แผ่ซึมไปโดยทั่วของตัวภาพยนตร์ ด้วยจังหวะจะโคนที่มีสไตล์ ด้วยการแบ่งภาพที่ปรากฏออกมา ด้วยองค์ประกอบที่มีความสมดุล ของส่วนประกอบที่เป็นเรขาคณิตง่ายๆ เช่นพื้นผิว 2 มิติธรรมดาๆ กับรูปทรงกลม หรือทรงรีของร่มแบบญี่ปุ่น หรือหมวกของอาแปะ หรือจะเป็นภาพพัดที่พลิ้วไหว ที่ถูกถืออยู่หน้ากลุ่มคนที่มุงดู แต่ส่วนที่น่าประทับใจที่สุด น่าจะเป็นการเต้นระบำแบบพื้นเมือง “โอโดริ” ของสองสาวเกอิชา ซึ่งใช้การดำเนินตัดไปมาระหว่างการเต้น และเหตุการณ์ที่คล้ายกันในวัยเด็ก

นอกเหนือจากภาพของหนังที่ปรากฏออกสู่สายตาแล้ว มันก็ยังมีด้านอื่นๆ อีก ที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือในระดับปรมาจารย์ทางด้านภาพยนตร์ นอกเหนือจากการลำดับเรื่องราว ที่สอดประสานกันอย่างลงตัวแล้ว ความรุนแรงของเนื้อหาที่ปรากฏก็ดูเฉียบคม เลือดที่พวยพุ่ง มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกเข้ามาประกอบ ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นความต้องการของคิทาโน่ ที่อยากให้ภาพความโหดร้ายออกมาดูแล้วตลก มากกว่าน่ากลัว

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากผลงานก่อนๆ ของคิทาโน่ คือตำแหน่งผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ จากที่เคยเป็น โจ ฮิซาอิชิ มาเป็น เคอิจิ ซูซุกิ จากคณะ Moonriders ผู้ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์ Uzumaki และเขาก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี โดยท่วงทีของดนตรีของซูซุกินั้น ได้สร้างมิติใหม่ ให้กับภาพที่เคลื่อนไหวอยู่บนแผ่นฟิล์ม ผสมผสานเสียงปะทะกันของดาบที่โรมรัน อาวุธแห่งบุรุษบูชิโด เสียงชาวนากับน้ำที่แตกกระจาย เสียงห่าฝนที่ซัดสาดลงสู่พื้นโลก สรรพเสียงทั้งหมด ก่อตัวให้เกิดเป็นความรับรู้ทางโสตประสาท ที่เพิ่มทวีขึ้นจนถึงจุดสูงสุด ณ ฉากการเต้นแท็ป (โดยกลุ่ม The Stripes) ในตอนท้ายของเรื่อง

Zatoichi นำแสดงโดย ทาเคชิ คิทาโน่ ร่วมด้วย ทาดาโนบุ อาซาโน่ (จาก เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล) เขียนบท/กำกับ/ตัดต่อโดย ทาเคชิ คิทาโน่, จากเรื่องสั้นของ กัน ชิโมซาว่า, ออกแบบแสงโดย ฮิโตชิ ทาคายะ, ออกแบบงานสร้างโดย โนริอิโร่ อิโซดะ, ออกแบบเสียงโดย เซนจิ โฮริวจิ, กำกับภาพโดย คัทสึมิ ยานากิจิม่า, ดนตรีประกอบโดย เคอิจิ ซูซุกิ