Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
[ชนชั้นกับการศึกษา] คุณกล้าให้ลูกของคุณ “เรียนที่ๆ ไม่ดัง” หรือเปล่า? vote ติดต่อทีมงาน

[ชนชั้นกับการศึกษา] คุณกล้าให้ลูกของคุณ “เรียนที่ๆ ไม่ดัง” หรือเปล่า?


E-Mail : siam_shinsengumi@hotmail.com
FaceBook : Siam Shinsengumi

สายลมหนาวมาเยือนแล้วครับ เมื่อเช้ามืด ก่อนผมจะเริ่มเขียนบทความของสัปดาห์นี้ ด้วยความที่เป็นคนตื่นเช้า แม้จะนอนดึกประจำก็ตาม (ปกติผมนอนเฉลี่ย 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน และตื่นเฉลี่ยตี 5 ครับ บางครั้งนอนไม่หลับ ลุกมาตั้งแต่ตี 4 ก็มี) งานอดิเรกช่วงเช้าผมคือต้องออกกำลังกาย วิดพื้นบ้าง วิ่งบ้าง อะไรประมาณนั้น และเมื่อเช้า ผมออกวิ่งไปเรื่อยเปื่อยตามถนน พบว่าอากาศเริ่มเย็น สายลมจากทิศเหนือพัดผ่านร่างของผมเป็นระยะๆ ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกร้อนแหละเหนื่อยเท่าไรครับ ซึ่งหวังว่าปีนี้ชาว กทม. จะได้อวดเสื้อกันหนาวกันเสียที

กลับมาเรื่องที่ผมขึ้นหัวเอาไว้ดีกว่า จริงๆ เป็นหัวข้อที่คุยกันเล่นๆ ในวงสรวลเสเฮฮา สุราปาร์ตี้ ประจำฤดูหนาว คือเรื่อง “ลูก” ครับ ไม่ผิดหรอก พวกผมบางคนมันก็แต่งงานแล้ว บางคนก็เพิ่งจะมีลูก ซึ่งก็เหมาะสมดี ทั้งอายุ การพ้นภาระทางการศึกษา การมีงานมีอาชีพที่พอจะเลี้ยงมนุษย์ที่ลืมตาดูโลกขึ้นมาใหม่ได้อย่างไม่เป็นภาระบุพการีของพวกเขามากนัก เว้นแต่ภาระในการเลี้ยงเท่านั้น ที่ยังไงก็ต้องรบกวนพ่อแม่อยู่ดี เพราะสมัยนี้ทั้งสามีภรรยาต้องทำงานทั้งคู่ ไม่งั้นอยู่ไม่รอด ถ้าคุณเป็นแค่รากหญ้าหรือชนชั้นกลาง ไม่ใช่เศรษฐีมีเงินเก็บมีมรดกพันล้านหมื่นล้านครับ ซึ่งเพื่อนคนนี้มันก็บอกว่ามันไม่ห่วงอะไรแล้ว ก็ทำงานเก็บเงินเพื่อลูกไป

จนมาสะดุดที่คำๆ หนึ่งที่หมอนี่หลุดปากพูดออกมา จนผมต้องเอามาเขียนในสัปดาห์นี้ “คอยดูนะ จะไม่ให้ลูกเรียนโรงเรียนวัด แบบที่เคยเรียนเด็ดขาด เพราะลูกมันต้องได้ดีกว่าเรา” และมันก็เล่าแผนที่จะเลี้ยงลูกไว้คร่าวๆ ครับ ที่แน่ๆ คือยังไงก็ตาม ก็ต้องพยายามให้เข้า ร.ร.เอกชน หรือ ร.ร.รัฐที่มีชื่อเสียง ที่บางคนไปตั้งระดับว่า A หรือ S Class ให้ได้ ซึ่งมันก็ดันไปสอดคล้องกับ Drama เล็กๆ ในห้องสมุด @ Pantip.com อีก ระหว่างคนที่เชื่อว่ามหา’ลัยราชภัฎ ไม่มีคนเก่ง หรือไม่สามารถสร้างคนเก่งระดับแนวหน้าได้ กับคนอีกพวกที่เชื่อว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ถ้าคนเรียนมันใส่ใจจริงๆ

กลับมาที่วงสนทนาของผมกันต่อ เกือบทุกคนในกลุ่มเห็นด้วยกับความคิดเช่นนี้ เพราะถ้าจะพูดกันตรงๆ พรรคพวกในกลุ่มผมที่โตมาด้วยกัน ส่วนใหญ่เรียน ร.ร.วัดครับ ทั้งประถมและมัธยม และไม่ใช่ ร.ร.ดัง ระดับ A หรือ S Class เป็นได้อย่างดีแค่ B หรือ C Class เท่านั้น ซึ่งสมัยนั้น อย่างน้อยๆ กว่าจะเรียนภาษาอังกฤษก็ต้องเข้า ป.4 (ขณะที่ผมเรียน ร.ร.เอกชน เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่อนุบาล 2) ทั้งนี้ยังไม่นับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้รอบด้าน ทั้งกีฬา ดนตรี วิชาการ (ครูเก่งๆ ถ้าไม่อยู่ ร.ร.รัฐที่เป็น Rank A หรือ S ก็จะอยู่เอกชนนี่แหละครับ แถมยังมีสระว่ายน้ำ โรงยิมเทควันโด้ ฯลฯ บลาๆๆ) และถ้าเป็นระดับมัธยม ร.ร.ดังๆ ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน จะเต็มไปด้วยลูกคนมีเงิน ผสมกับเด็กเรียนเก่งจากทั่วแผ่นดินมารวมกัน แน่นอนว่า พวกสิ่งแวดล้อมแย่ๆ ที่คนเป็นพ่อเป็นแม่เคยเจอใน ร.ร.ระดับ B หรือ C Class (ประเภทไล่ยิง ไล่ตีกัน ที่มีกันทั้งขาสั้นขายาว คือทั้งเด็กมัธยมและอาชีวะทั่วไป) จะไม่มีใน ร.ร. ประเภทนี้แน่นอน ดังนั้นการันตีได้ถึงอนาคตที่สดใสรุ่งโรจน์ของลูกหลานได้แน่นอน ไหนจะกระตุ้นให้เรียนเก่ง ไหนจะมี Connection เพื่อเลื่อนชนชั้นจาก “ไพร่” ไปเป็น “อำมาตย์” ได้อีกในอนาคต (เย้..ปรบมือๆ)

ผมฟังแล้วก็ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ครับ ไม่งั้นเดี๋ยววงแตก แต่ในใจก็รู้สึกแปลกๆ พิกล เพราะจำได้เมื่อผมยังเป็นเด็ก ตอนจบ ป.6 จาก ร.ร.เอกชน และมาเข้า ร.ร.รัฐใกล้บ้าน (ซึ่งเป็น ร.ร. ระดับ Rank B) ก็เรียนๆ ไป ไม่ได้คิดอะไรมากมายว่าจะต้องไปเข้า S Class A Class จบ ม.ปลายมาก็ไป ม.เปิดทันที โดยที่ไม่เคยคิดเรื่องไป Entrance เลย ถามว่าชีวิตปกติดีไหม ก็ปกติดีนะครับ ผมยังมีความสุขดีกับงานที่ทำและชีวิตที่เป็น แต่วันนี้ผมต้องมาคิด “แล้วอนาคตละ?”

เพราะในสังคมแห่งการแข่งขัน คนที่มี Profile ดี (ตั้งแต่ระดับการศึกษา ชื่อสถาบันที่จบ เกรดเฉลี่ย ไปจนถึงนามสกุลบุพการี) ถือว่ามีแต้มต่อในการอยู่รอดและเจริญก้าวหน้า พูดแบบนี้ ไม่ใช่หมายความว่าคนที่ด้อย ยากจน จะไม่สามารถถีบตัวสูงขึ้นได้เลย หากแต่คนที่มีแต้มต่อน้อย หรือไม่มีเลย ก็ต้องพยายามมากกว่า เหนื่อยกว่า หรือ “ลำบาก” กว่านั่นเอง ซึ่งตรงนี้ ถ้ามองในสายตาพ่อแม่แล้ว คงเป็นความเจ็บปวดมาก ที่ต้องเห็นลูกไปตกระกำลำบาก เพื่อถีบตัวเองให้มีฐานะ มีเกียรติยศในสังคมสูงขึ้น (แน่นอนว่าลูกหลายคนก็ต้องการทำเช่นนี้ด้วย เพื่อตอบแทนที่พ่อแม่เลี้ยงดูพวกเขามา เป็นความกตัญญูครับ รากฐานของชาวเอเชียทุกชาติจริงๆ)

ดังนั้นพ่อแม่ส่วนใหญ่ จึงไม่ยอมให้ลูกลำบากแน่นอน ต้องทำให้ลูกสบายทุกอย่าง เพื่อเอื้ออำนวยให้ทุ่มเทกับการอ่านตำรับตำรา เรียนหนังสือในสถานศึกษาที่ดีที่สุดให้จบให้ได้ (บ้านผมก็เหมือนกัน สมัยเด็กๆ ผมแทบไม่ต้องทำอะไรเลย อ่านหนังสือเป็นหลัก ทั้งหนังสือเรียน และอื่นๆ ทั่วไป) ทั้งที่หัวอกพ่อแม่รู้ละว่าพวกตนลำบากมาก่อน ทำให้เข้มแข็ง อดทน จนประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใจแข็งพอที่จะให้ลูกลำบากอย่างที่ตัวเองเคยเป็น ถึงขนาดในวัฒนธรรมจีน มีคำกล่าวว่า “ปู่สร้าง พ่อรักษา ลูกทำลาย” (หมายถึงรุ่นปู่สร้างตัวจากไม่มีอะไรเลย รุ่นพ่อรักษาให้อยู่รอด แต่รุ่นลูก ซึ่งนับเป็นรุ่นสาม มักจะไม่สามารถรักษาอาณาจักรที่บรรพชนสร้างเอาไว้ได้ เพราะเกิดมาก็สบาย ไม่ต้องลำบาก ไม่ต้องเผชิญความจริงตั้งแต่เด็กๆ โตขึ้นมาจึงไม่มีภูมิคุ้มกัน)

เมื่อเป็นเช่นนี้ สูตรสำเร็จของพ่อแม่ชาว “ไพร่” ที่มีปัญญาฝันถึงอนาคตการเป็น “อำมาตย์” ของลูก ก็จะต้องลากเส้นวางแปลนไว้เลย ว่าเข้าประถมเรียนที่นี่ ต้องเรียนพิเศษสถาบันนี้เสริม พอมัธยมก็ต้องเข้า 4+1 จตุรเทพให้ได้ เพื่อที่จะได้การันตีการเข้ามหา’ลัย ไปรับ Aura สีชมพู หรือสีเหลืองคาดแดงให้ได้ เพื่อการันตีว่าต้องได้เข้าไปทำงานในที่ดีๆ องค์กรระดับหัวกะทิของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด การันตีได้ว่า หากได้ Aura จาก 2 ที่นี้แล้ว ไม่มีวันตกงานแน่นอน ดังนั้น ก่อนจะไปถึงมหา’ลัย ในอนุบาล ประถม มัธยม เราจะต้องทำทุกอย่าง จะให้ทุ่มเงินเท่าไร ใช้วิธีพิเศษ สีเทาๆ แค่ไหนก็ช่าง แต่ลูกต้องมี profile ที่ดีตามนี้ให้ได้ หรือถ้าพลาดหวังจริงๆ เอาวะ เอกชนระดับ 5 ดาว ก็ยังดี เข้า A , B และ U (3 มหา’ลัยนี้ ไปเดากันเอง เป็นเอกชนระดับหัวกะทิของบ้านเรา) ไปเลย เทอมเท่าไร กุ้เท่าไร ดอกเบี้ยสามสี่ชาติ ช่างมัน ตายแล้วก็จบ

เพราะความจริงมันก็เป็นเช่นนั้นแหละครับ สถาบันฯ บางแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน แค่คุณมีชื่อว่า “จบจากที่นั่น” โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าจบมาคณะไหน เกรดเฉลี่ยเป็นอย่างไร (มหา’ลัย ส่วนใหญ่ จะมีคณะเด่นๆ ประจำสถาบันเสมอ แต่ก็ไม่กี่คณะหรอกครับต่อ 1 สถาบัน) ก็เป็นที่ต้องการขององค์กรแล้ว อย่างน้อยก็เอาไปคุยได้ว่า องค์กรของเรามีบุคลากรระดับเทพๆ จบจากสถาบันเทพๆ มานะครับ ยังไม่นับเรื่องสีขององค์กร รุ่นพี่รุ่นน้องอีกที่ยังมีอิทธิพลอยู่มากในสังคมไทย

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมพ่อแม่ที่รู้เรื่องนี้ และมีปัญญาพอ จะไม่ยอมให้ลูกไปเรียนในที่อื่น ที่ระดับรองๆ ลงไปเด็ดขาด หากไม่จำเป็นจริงๆ เพราะสิ่งแวดล้อมก็ไม่ดี (เด็กเรียนๆ โดดๆ เกเรๆ ไม่ตั้งใจเรียน ไม่แข่งกันเรียน) สมมติฐานที่ว่าสิ่งแวดล้อมกำหนดบุคคลจึงใช้ได้เสมอ เด็กที่โต ที่เรียนในสิ่งแวดล้อมไม่ดี โอกาสที่จะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำของบ้านเมือง นั้นยากพอๆ กับการส่งยานอวกาศให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลกเลยทีเดียว เท่ากับว่า พ่อแม่ต้องให้เวลา ให้ความอดทนสารพัดอย่าง โดยเฉพาะต้องทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี ส่งเสริมให้เด็กรักการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอให้มีใครมาป้อนไปเสียทุกครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และเห็นผลได้ช้า เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ไหนจะต้องเจอสิ่งเร้า ยั่วยุให้เฉไฉ แฉลบออกนอกลู่นอกทางได้ง่ายกว่า ร.ร.ดังๆ (แต่พ่อแม่สักกี่คนจะมีเวลา แค่ทำงานก็แย่แล้ว เอาลูกไปฝากครู ฝากโรงเรียนดีๆ จะง่ายกว่า?)

และถึงทำให้ลูกเป็นเด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้จริง แต่ก็อย่างที่กล่าวไป เรียนที่ไหนก็ได้ ตำราความรู้หาจากข้างนอกเอาก็ได้ (สมัยนี้ถ้าอยู่ในเมือง ร้านหนังสือมีเยอะแยะ + ถามอากุ๋ google กับน้ายู youtube ก็ได้) แต่แน่นอน Profile คุณมาจากที่ธรรมดาๆ ก็ต้องเหนื่อยกว่าปกติ หากจะหนีจากชนชั้นล่าง ไปสู่ชนชั้นที่สูงกว่าให้ได้จริงๆ ผมยังจำบรรยากาศตอนเรียนไปทำงานไปได้ ช่วงพักเที่ยงก็ดี ช่วงระหว่างเวลางานที่ยังไม่มีอะไรทำก็ดี คนอื่นในแผนกพักผ่อน แอบหลับ แต่ผมต้องเอาตำรา เอาชีทสรุปมานั่งอ่านนั่งท่อง บอกตรงๆ ว่าเหนื่อยจริงๆ ตลอด 4 ปีครึ่งช่วงนั้น

สรุป..ผมเขียนมาจนถึงตอนนี้ อยากถามสั้นๆ แหละครับ...คุณกล้าให้ลูกเรียนที่ๆ “ไม่ดัง” อย่างที่คุณเคยเป็น เคยต่อสู้ชีวิตมาหรือเปล่า?

……………………………..

ปล.ผมใช้คำว่า “ไพร่-อำมาตย์” ก็จริง แต่ไม่มีนัยยะทางการเมืองนะครับ เป็นแค่การเปรียบเทียบสถานะชนชั้นในสังคมเฉยๆ (กรุณาอย่าลากเข้าการเมืองนะครับ ไม่อยากให้กระทู้โดนลบ)

จากคุณ : Siam Shinsengumi
เขียนเมื่อ : 14 ธ.ค. 55 12:00:07 A:204.45.133.74 X: TicketID:383906




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com