Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"บ้านกุดเสถียร" โรงเรียนแนวใหม่ หลักสูตรการศึกษาโดยชุมชน...เพื่อชุมชน vote ติดต่อทีมงาน

ปัจจุบัน...เราคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของมนุษย์ เพราะสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ หลายครั้งเด็กคนหนึ่งอาจเกิดในครอบครัวยากจน แต่เมื่อได้รับการศึกษาที่ดีก็อาจจะเติบโตไปเป็นเศรษฐี เป็นผู้มีอำนาจบารมีในสังคมได้เช่นกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระบบการศึกษาที่เน้นป้อนคนเข้าสู่ความเป็นเลิศในโลกทุนนิยม เด็กทุกคนต้องแข่งกันเป็นที่หนึ่งเพื่อเข้าไปเรียนในสถาบันชั้นสูงของประเทศ เมื่อจบออกมาก็เข้าทำงานในองค์กรใหญ่ๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน สิ่งเหล่านี้พบว่ากำลังเป็นปัญหาอย่างมาก

ดังจะเห็นว่าเด็กในเมืองใหญ่ต้องเครียดกับการเรียนทั้งวัน ตามด้วยการเรียนกวดวิชาอย่างต่อเนื่องในวันหยุด ขณะที่อีกด้านหนึ่ง โรงเรียนเล็กๆ ในชนบทห่างไกลกำลังถูกยุบลงเรื่อยๆ เนื่องจากขาดแคลนทั้งนักเรียนและครู โดยผู้ปกครองเองนิยมส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองแม้จะเสียค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม ส่วนครูและผู้บริหารก็อยากไปสอนโรงเรียนใหญ่ๆ มีแต่เด็กเก่งๆ เพื่อที่จะได้ชื่อว่าเป็นครูของเด็กเก่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มห่างไกลชุมชนและธรรมชาติ แต่กลับไปหลงแสงสีแห่งวัตถุนิยม วันนี้สกู๊ปหน้า 5 จะพาไปรู้จักโรงเรียนที่ครั้งหนึ่งเคยถูกยุบ แต่ชาวบ้านและผู้บริหารกลับช่วยกันฟื้นฟู จนวันนี้กลายเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่...หลักสูตรจากชุมชน...โดยชุมชน...เพื่อชุมชน

เมื่อชุมชนลุกขึ้นมาทวงคืนโรงเรียน

“ผมมาอยู่ที่นี่ปี 2550 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เคยถูกยุบมาก่อน เป็นโรงเรียนที่กระทรวงศึกษาเขายุบทิ้ง เขาถือว่าเป็นโรงเรียนที่มีเด็กต่ำกว่า 60 คน เขาก็เลยจะยุบแล้วให้ไปเรียนโรงเรียนใกล้เคียง ซึ่งเป็นการยุบโดยนโยบาย แต่มันขัดความรู้สึกของชุมชน เขายุบปี 2543 พอปี 2545 ชาวบ้านจึงรวมตัวประท้วง ตอนนั้นเหลือครูเพียงคนเดียวเท่านั้น”

เป็นคำบอกเล่าจาก นายจำรัส ช่วงชิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกุดเสถียร ต.สร้างมิ่ง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ถึงอดีตของโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งนี้ที่เคยถูกยุบ ทำให้เกิดการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งต่างก็มีความผูกพันกับโรงเรียนดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนสื่อการเรียนการสอนแทบทุกชนิดที่ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านทั้งสิ้น

“ค่านิยมของผู้บริหารทั่วๆ ไป มองว่าการได้ไปอยู่โรงเรียนใหญ่ๆ ครูมากๆ นักเรียนมากๆ งบมากๆ คือความสำเร็จของผู้บริหาร ผมเลยลองคิดมุมกลับ โรงเรียนในเมือง ใครก็ทำได้ บุคลากรพร้อมงบพร้อม เลยมาอยู่ที่นี่ มันท้าทายดี”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่โรงเรียนแห่งนี้ซึ่งหากเปรียบเป็นคนคงเข้าข่าย “อาการปางตาย” จะกลับฟื้นคืนมาได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในตอนแรกที่คุณจำรัสเข้ามาประจำการที่นี่ใหม่ๆ พบว่าชาวบ้านไม่เชื่อถือในตัวคนของทางการ เนื่องจากค่านิยมเดิมๆ ของข้าราชการโดยเฉพาะครูและผู้บริหารโรงเรียน ที่มองโรงเรียนเล็กๆ เป็นเพียงทางผ่านไปสู่โรงเรียนใหญ่ๆ เท่านั้น

“มาถึงแรกๆ ชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือหรอกครับ เพราะแรกๆ ใครมาก็ไม่มีใครบอกหรอกว่าจะไม่ทำงาน มาถึงก็บอกว่าจะทำงานร่วมกับชุมชนอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ไม่ถึง 3 เดือนก็หนีแล้ว” คุณจำรัส กล่าว

“วิชาการ” ผสานกับ “สำนึกอนุรักษ์”

เมื่อเราถามถึงจุดเด่นของโรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งนี้ สิ่งที่ ผอ.จำรัส ดูจะภูมิใจเป็นพิเศษ คือการผสมผสานวิชาสามัญเข้ากับสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ที่ผลการทดสอบ O-Net ที่ผ่านมา นักเรียนจากที่นี่หลายคนทำได้ 80-90 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งเคล็ดลับที่น่าทึ่งอยู่ที่การสอนเด็กโดยผ่านวิถีชุมชน ทำให้เด็กเห็นภาพที่มากกว่าในตำรา ที่สำคัญยังไม่เครียดอีกด้วย

“ที่นี่เราสอนทั้งทักษะชีวิตและวิชาการ ผมพยายามนำวีถีชีวิตชุมชนมาให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ การเรียนวิชาการจะเรียนพร้อมกับปฏิบัติ อย่างคณิตศาสตร์กับการทอผ้าพื้นเมือง ชาวบ้านหรือครูภูมิปัญญาก็จะบอกว่าใช้ผ้าเท่านี้ ด้ายเท่านี้ ส่วนครูคณิตศาสตร์จะเป็นตัวเชื่อม สอนเรื่องคำนวณ เรื่องการบวก ลบ คูณ หาร แทรกเข้าไป เด็กที่เรียนก็ไม่เครียด เพราะเหมือนไม่ได้มาเรียน แต่มาฝึกทอผ้า”

ไม่เพียงแต่คณิตศาสตร์เท่านั้น แต่วิชาวิทยาศาสตร์ก็เป็นวิชาหนึ่งที่ถูกประยุกต์เข้ากับการทอผ้าได้อย่างดี โดยกระบวนการทำสีย้อมผ้าจากวัสดุธรรมชาตินั้น การหมักที่จำนวนวันไม่เท่ากัน สัดส่วนผสมของวัสดุไม่เท่ากัน ความเข้มของสีก็จะไม่เท่ากัน เช่นว่า 5 วันบ้าง 10 วันบ้าง 15 วันบ้าง เด็กๆ ก็จะได้สังเกต จดบันทึกและทำการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นทักษะพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์ในการทำงานวิจัย และที่น่าสนใจกว่านั้น ที่นี่สอนให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า เช่นการนำเปลือกไม้มาหมักทำสี จะใช้เปลือกไม้จากต้นไม้ขนาดไหน เก็บจำนวนเท่าใด ในช่วงเวลาใดจึงจะไม่ทำให้ต้นไม้ตาย เป็นการสอนให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในตัว

“ผมยอมรับว่าเราเสียอย่างเดียว เราไม่มีห้องแล็บ ใช้การสังเกตและประมาณการเท่านั้น ซึ่งความละเอียดสู้ห้องแล็บไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะเราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้กระบวนการเหล่านี้ เด็กก็เรียนแล้วสนุก คุณรู้ไหมว่าใบไม้แบบเดียวกัน แต่เก็บคนละเวลา คนละฤดูกาล สีที่ได้ยังต่างกันเลยครับ นอกจากนี้ครูยังบอกเด็กๆ เสมอว่าให้ลองหาต้นไม้ที่ชาวบ้าน ที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังไม่เคยไปทำ ให้เด็กไปทดลองดูสิว่าจะเกิดสีอะไรขึ้นมา เด็กก็จะไปเรียนรู้ครับ”

คุณจำรัส เล่าพร้อมกับยกตัวอย่างการทดลองนำยางจากต้นกล้วยมาเป็นส่วนผสมในการย้อมผ้า ซึ่งผลที่ได้คือสีบนผ้านั้นจะมีความคงทนมากกว่าเดิมจากที่ชาวบ้านใช้น้ำปูนใสเป็นส่วนผสม โดยโครงงานนี้เป็นความบังเอิญที่ชาวบ้านไปเห็นเสื้อของเด็กนักเรียนเปื้อนยางกล้วยแล้วซักไม่ออก จึงเกิดความคิดดังกล่าวขึ้น

“ภาษาอังกฤษ” จุดอ่อนที่รอการแก้ไข

แม้ที่นี่จะได้คะแนนในระดับดีถึงดีเยี่ยมในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาไทย แต่คุณจำรัสยอมรับว่าสำหรับภาษาอังกฤษยังเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของที่นี่ เนื่องด้วยยังขาดครูที่จบการศึกษาเอกภาษาอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันแน่นอนว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากโดยเฉพาะการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่ถึงกระนั้น...ผอ.คนเก่งของเราได้คิดวิธีแก้ปัญหาที่น่าสนใจ นั่นคือการเรียนภาษาอาจไม่ต้องใช้ครูประจำการ แต่ให้ผู้ที่ใช้ภาษานั้นๆ ได้คล่องมาสอนแทน

“ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีวุฒิครูหรอก แต่ไปเล่นดนตรีที่พัทยา โรงแรมที่แกเล่นนี่มีแต่ฝรั่ง คนนี้เก่งนะ เล่นดนตรีสากลได้ แต่งเพลงได้ ตัดต่อวีดีโอก็ได้ เจรจากันอยู่พักใหญ่ ตอนนี้สอนมาเทอมนึงละ ก็ดีขึ้น ส่วนเทอมหน้า ตั้งใจจะทำค่ายภาษาอังกฤษ ให้เพื่อนผมคนนี้ไปชวนเพื่อนๆ ฝรั่งที่พัทยามาช่วยสอน ไม่แค่นั้น ถ้าเป็นไปได้จะไปชวนฝรั่งแถวๆ นี้ ที่มีลูกมีเมียเป็นคนไทยมาช่วยสอนด้วย เพราะเมียฝรั่งบางคนเป็นศิษย์เก่าที่นี่ Grammar ไม่เน้นมาก แต่ต้องให้สื่อสารได้เป็นหลัก เมียฝรั่งจบ ป.3 ป.4 ยังคุยกับผัวมันรู้เรื่องเลย ทำไมเราจะทำไม่ได้” ผอ.ของเรากล่าวพลางหัวเราะ

ปัญหาการศึกษาเมืองไทย

เกี่ยวกับปัญหาการศึกษาไทย คุณจำรัสกล่าวว่านโยบายบางอย่างจากส่วนกลาง ทำให้เกิดปัญหาและภาระทั้งต่อครูและนักเรียน โดยเฉพาะงานเอกสารที่ล้นมือ ทำให้ครูไม่มีเวลาสอนหนังสือ หลายโรงเรียนครูจึงเลือกที่จะฝากเด็กไว้กับการสอนผ่านดาวเทียม ทำให้หลายครั้งเด็กเรียนไม่ทันแต่ไม่รู้จะถามใคร เด็กหลายรายจึงจบการศึกษาไปแบบอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

“ตอนนี้มีเรื่องตลกอย่างหนึ่ง บริษัทเอกชนเขาทำแผนสำเร็จรูปมาขาย ครบทุกวิชาในแผ่นเดียวด้วยนะ ครูแค่ไปซื้อมาแล้วมาเปลี่ยนโน่นนี่นั่นก่อนส่ง ผอ. ถามว่าได้อะไร ? ได้ความเครียดของครู แถมแพงด้วย กระดาษก็ต้องดี ปกก็ต้องสวยๆ พอสิ้นปีมาก็ได้ขยะไปชั่งกิโลขาย ที่สำคัญมีการลอกกันอีกต่างหาก เอกสารไม่ได้ทำให้เด็กมีพัฒนาการดีขึ้น มันอยู่ที่ครูต้องให้ความรัก ความอบอุ่น และลงมือทำงานพร้อมกับเด็ก อย่างที่นี่ห้องเรียนเราอยู่ในธรรมชาติ มีฐานการเรียนรู้ในป่าหลังโรงเรียน บรรยากาศลมพลิ้ววิวสวย เด็กก็สนุก ครูก็ไม่เครียด เพราะห้องเรียนในอาคาร ให้ตกแต่งสีสวยขนาดไหน มันก็เป็นห้องเรียนที่ตายแล้ว” ผอ.คนเก่งของเรากล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านกุดเสถียร กลายเป็นโรงเรียนดีเด่นและโรงเรียนนำร่องในการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแต่สอนวิชาการเท่านั้น แต่ยังปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย แม้ว่าจะยังขาดอะไรอีกหลายๆ อย่างด้วยข้อจำกัดของงบประมาณและบุคลากร

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ที่นี่อยู่รอดและค่อยๆ เติบโตได้ คือความตั้งใจของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

SCOOP@NAEWNA.COM

ืัที่มา :

http://www.naewna.com/scoop/35479

จากคุณ : Siam Shinsengumi
เขียนเมื่อ : 27 ธ.ค. 55 16:40:11 A:204.45.133.74 X: TicketID:383906




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com