|
'พุหางนาค'แห่งเมืองอู่ทอง 'พุหางนาค'แห่งเมืองอู่ทอง ความงดงามบนปากเหวแห่ง 'หายนะ' จากสัมปทานระเบิดหิน : คอลัมน์ชวนเที่ยว
ชื่อของ “พุหางนาค” สวนหินล้านปีแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงปีที่ผ่านมา ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวบุกเบิกใหม่ที่มีความงดงามโดดเด่น มีความหลากหลายทางธรรมชาติ มีแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ บนเทือกเขาเตี้ยๆ ใกล้กับตัวเมืองอู่ทองทางทิศตะวันตก
พุหางนาค เป็นพื้นที่ภูเขาในเขตการดูแลของวนอุทยานพุม่วง เริ่มมีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยกลุ่มผู้คนในท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญ ต้องการอนุรักษ์ผืนป่าและปกป้องพรรณไม้หายากที่พบดาษดื่นอย่างจันผา ปรง กระเจียวป่า สลัดได ผกากรอง สุพรรณิการ์ มะค่า สมุนไพรพื้นเมือง รวมไปถึงสัตว์ขนาดเล็กที่ถูกไล่ล่าจนเกือบจะสูญพันธุ์อย่างไก่ป่ามิให้ถูกทำลายไป โดยมีคุณภาคภูมิ จิตต์โสภณ และสำนักสงฆ์พุหางนาคเป็นแกนนำสำคัญ
ในช่วงแรกของการเริ่มต้นอนุรักษ์ อาสาสมัครที่เป็นคนในพื้นที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม ”ชมรมอาสาสมัครนำเที่ยวสำนักสงฆ์ถ้ำพุหางนาค” จัดเวรยามออกเดินเท้าเป็นหูเป็นตาขับไล่คนมักง่ายที่แอบลักลอบขึ้นมาตัดพรรณไม้หายาก ล่าสัตว์และเก็บหินที่มีความสวยงามลงไปขาย แต่ผลพลอยได้จากความตั้งใจเดิม ได้ขยายมาเป็นการสำรวจเส้นทางเดินเพื่อสร้างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และความต้องการที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมบนเขาพุหางนาคที่แปลกตาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของท้องถิ่นอู่ทองในอนาคต
ความโดดเด่นของพุหางนาค นอกจากความหลากหลายของพันธุ์ไม้หายาก ยังมีโขดหินรูปร่างแปลกตาของภูเขา “หินปูนโดโลไมต์” ที่มีอายุราว 450-500 ล้านปี ในยุคออร์โดวิเชียน พื้นผิวบนสุดของภูเขาเป็นชั้นหินแปร เรียกว่า “หินแคลซิลิเกต” มีลักษณะของเนื้อหินดูเป็นริ้วแนว (Foliation) คดโค้ง (Fold) คล้ายเปลือกไม้ และลายแถบเป็นชั้นแผ่นบาง (Lamina) สีอ่อนสลับสีเข้มในชั้นหิน
เมื่อกระบวนการทางธรณีวิทยาของเปลือกโลกได้ยกเค้นดันให้เกิดเป็นเทือกเขาสูงขึ้นจากที่เคยอยู่ใต้ทะเล เกิดการกัดเซาะและการแปรสภาพเป็นสนิมหินผุพังจากน้ำฝน ลมพายุ รวมไปถึงการชอนไชของรากไม้และการสะสมของกรดตะกอนดิน ได้ก่อให้เกิดสวนหินรูปร่างแปลกตา ที่กลายมาเป็นจินตนาการของผู้คนที่มาเยือน ทั้ง เต่ายักษ์ ปลาวาฬ และลูก จระเข้ หินรูปหัวใจ ในสวนหินพุหางนาค
ในช่วงปีแรกของการ “ปกป้องและพัฒนา” ที่เริ่มต้นโดย “ภาคประชาชน” ในท้องถิ่น หน่วยงานรัฐหลายแห่งก็ได้ช่วยอำนวยความสะดวกและให้แนวทางการพัฒนาแก่กลุ่มผู้นำในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา วนอุทยานพุม่วง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หน่วยงานราชการผู้ดูแลพื้นที่ ได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มอาสาสมัคร ให้มีการสำรวจขยายพื้นที่เส้นทางท่องเที่ยวจากสวนหินของพุหางนาคเดิมออกไปทางเขารางกระปิด เขาทำเทียมและเขาคอก ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กลุ่มอาสาสมัครได้มีการพบสิ่งก่อสร้างเก่าแก่บนยอดเขามากกว่า 15-20 จุด เป็น “อาคารหินเทิน” สัณฐานรูปทรงกลมที่มีการนำหินแคลซิลิเกตสกัดเป็นก้อน ขนาดที่แรงมนุษย์สามารถยกได้เพียงคนเดียวมาเรียงซ้อนขึ้นเป็นอาคารรูปทรงกระบอก หากสมบูรณ์จะมีความสูงประมาณ 3-4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร ด้านหลังอาคารถูกปรับพื้นที่เป็นลานดินราบเสมอ เฉพาะอาคารหินบนยอดเขาสูงสุด 2 ยอดของเทือกเขา ก็พบอาคารหินที่มีการปรับพื้นด้านหลังเป็นลานกว้าง ชิ้นส่วนของหินศิลาแลงที่มีลวดลายปูนปั้นทำเป็นยอดสถูปและเศษอิฐแบบวัฒนธรรมทวารวดีที่มีการผสมแกลบข้าวอ้วนป้อมอยู่ในเนื้อ ถูกขุดรื้อเพื่อหาวัตถุโบราณกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณยอดเขา
อาจารย์วรณัย พงศาชลากร นักวิชาการอิสระทางมานุษยวิทยา ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า รูปแบบของอาคารหินใกล้พุหางนาคในครั้งแรกสร้างนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อและศาสนาพื้นเมือง แบบที่เรียกว่า “หินตั้ง” ที่จะปรากฏหินรูปแบบต่างๆ ล้อมรอบพื้นที่หรือศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นอาคารหอคอยหิน หรือ “หอหินเทิน” (Stone Tower) ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ ในการ “ตามไฟ” (Illuminations) จากหลักฐานที่จะพบจุดที่ตั้งของหอหินเทินบนยอดเนินเขาลดหลั่น เฉพาะทางฝั่งทิศตะวันออกของเทือกเขาที่หันหน้าไปทางแม่น้ำจระเข้สามพัน และแนวฝั่งทะเลตมโบราณ (ป่าโกงกาง) ของเมืองอู่ทองในยุค 1,800-2,000 ปี ก่อนการเกิดของเมืองรูปวงกลมในยุคทวารวดีเท่านั้น
การสร้างหอหินตามไฟ เฉพาะทางฝั่งเขาทิศตะวันออกที่รับกับแนวฝั่งทะเลโบราณ ก็เพื่อใช้เป็นจุดสังเกต (Landmark) ของการเดินทางโดยทางน้ำเข้าสู่ที่ตั้งของชุมชนโบราณในยุคแรกเริ่มที่เทคโนโลยียังต้องพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน จากป่าโกงกางที่มีคลองซับซ้อนห่างไกล เมื่อมองมายังแนวเขาทอดตัวยาว กลางวันก็จะเห็นควัน กลางคืนจะเห็นไฟ เป็นหลักฐานสำคัญในช่วงแรกแห่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมในภูมิภาค (ชนพื้นเมือง) กับวัฒนธรรม-ผู้คนภายนอก (จากอินเดีย) ก่อนจะพัฒนาเข้าสู่วัฒนธรรมทวารวดีในช่วงต่อมา
จนเมื่อน้ำทะเลงวดลงในหลายร้อยปีต่อมา เส้นการเดินทางทั้งทางน้ำและทางบกเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หอหินเทินบนยอดเขาจึงหมดความสำคัญลง จนผู้คนในยุควัฒนธรรมทวารวดีในช่วง 1,100-1,300 ปีที่แล้ว ได้กลับขึ้นมาบนยอดเขาและได้ดัดแปลงส่วนบนของหอหินเทิน ให้กลายมาเป็นสถูปเจดีย์บน “พระสุเมรุ” สมมุติ สถาปนาให้เป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในยุคนั้น
การสำรวจพบหอหินเทิน บนเทือกเขาที่มีความงดงามทางธรรมชาติและความหลากหลายของพืชพรรณที่เขาพุหางนาค ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวให้กับเมืองอู่ทอง ที่มีทั้งแหล่งโบราณคดีเก่าแก่มากมาย พืชพันธุ์สมุนไพรที่น่าสนใจอย่าง กำลังวัวเฉลิม, ว่านสามสิบ (สาวร้อยผัว), จันผาป่าปรง และสวนหิน 500 ล้านปี แถมยังมีการจัดการท่องเที่ยวแบบมี “จิตสำนึก” โดยภาคประชาชนที่เข้มแข็งในท้องถิ่น
ถึงในวันนี้จะได้หมดอายุสัมปทานไปแล้ว แต่ร่องรอยแนวหน้าผาหินสีขาวสะดุดตาที่เกิดจากการระเบิดหินก็ยังคงเป็นความกังวลใจของผู้คนในท้องถิ่น เกรงว่าผู้มีอำนาจรัฐหันจะกลับไปต่อสัมปทานบัตรให้อีก ซึ่งนั้นก็หมายความว่า หลักฐานของอาคารหินยุคเริ่มแรกแห่งสุวรรณภูมิ ที่ในวันนี้หลายแห่งก็ตั้งชิดติดกับปากเหวของหน้าผา และหลายแห่งก็ได้อันตรธานหายไปแล้วกับการระเบิดหินในอดีต
หากในวันใดช่วงก่อนเที่ยง ชาวเมืองอู่ทองยังคงได้ยินเสียง “ตูม” ขึ้นอีกเพียงครั้ง เท่ากับหายนะมาเยือนสถานที่แห่งนี้อีกครั้ง และนั่นก็แสดงว่า ความงดงาม ความหลากหลายและหลักฐานเก่าแก่บนเทือกเขาและที่พุหางนาค ไม่ได้มีความสำคัญใดๆ กับเมืองสุพรรณบุรีเลย
การเดินทาง : จากวงเวียนหอนาฬิกา อ.อู่ทอง เลี้ยวไปตามเส้นทางไปวัดเขาพระ แยกซ้ายมีป้ายเล็กๆ บอกทางไปสำนักสงฆ์ถ้ำพุหางนาค เลี้ยวไปตามเส้นทางจะมีป้ายบอกทางตลอด จนไปสิ้นสุดที่สำนักสงฆ์
........................................... ('พุหางนาค'แห่งเมืองอู่ทอง ความงดงามบนปากเหวแห่ง 'หายนะ' จากสัมปทานระเบิดหิน : คอลัมน์ชวนเที่ยว) http://www.komchadluek.net/detail/20120819/137977/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87.html#.UHI1Ia6ECb8
แก้ไขเมื่อ 08 ต.ค. 55 09:12:33
จากคุณ |
:
ดา ดา
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ต.ค. 55 11:57:43
|
|
|
|
|