|
แร่ใยหินอันตรายจริง ๆ ลองอ่านดูจากบทความได้ครับ หาอ่านเองในเน็ตก็ได้มีเยอะครับ
http://thaipublica.org/2012/09/asbestos-has-been-banned/
เลิกใช้แร่ใยหินยื้ออีกยาว ศาลปกครองชี้สคบ. มีอำนาจลงโทษ – ผู้บริโภคตรวจสอบกระเบื้องมุงหลังคา-เบรก-คลัทช์ -ฉนวนกันความร้อน
17 กันยายน 2012
นับเป็นเวลาถึง 1 ปี 6 เดือนแล้ว ที่มาตรการผลักดันให้ “สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 มีผลบังคับใช้ เพื่อคุ้มครองผลกระทบทางสุขภาพต่อผู้บริโภค ชุมชน และผู้ใช้แรงงานระดับล่าง ที่ต้องสูดดมสาร “ไครโซไทล์” ในแร่ใยหิน ซึ่งฟุ้งกระจายอยู่ในผลิตภัณฑ์พวกกระเบื้องทนไฟ, กระเบื้องมุงหลังคา, ท่อซีเมนต์, เบรก, คลัทช์, ฉนวนกันความร้อน, กระเบื้องยางปูพื้น, ภาชนะพลาสติก, กระดาษลูกฟูก
ผลการศึกษาทั้งจากนักวิชาการในประเทศและองค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่า แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยมีโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสแร่ใยหินที่สำคัญ ได้แก่ โรคแอสเบสโตสิส, มะเร็งปอด, มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และเยื่อบุช่องท้อง รวมถึงภาวะเยื่อหุ้มปอดหนา เป็นต้น โดยมีระยะฟักตัวยาวนาน 30-40 ปี
คนที่เสี่ยงต่อโรคมี 2 กลุ่ม หนึ่ง คือผู้ทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน และ สอง คือผู้ที่นำแร่ใยหินไปใช้ประโยชน์ ซึ่งอันตรายส่วนใหญ่เป็นเรื่องของฝุ่นที่เกิดจากกรติดตั้งเพื่อใช้งาน หรือมีการเสื่อมสภาพเมื่อใช้งานไปแล้ว เช่น การตัดกระเบื้อง การรื้อถอนอาคารสิ่งก่อสร้าง จนเกิดปริมาณฝุ่นฟุ้งกระจาย การเปลี่ยนเบรก คลัทช์ รวมถึงการใช้เครื่องเป่าผมที่มีแร่ใยหินเป็นฉนวน เป็นต้น
สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ประกาศ เรื่องให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุม ฉลาก (ฉบับที่2)
มาตรการยกเลิกนำเข้าแร่ใยหิน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องในประเทศไทยนับหมื่นล้านบาท แม้ว่าขณะนี้ทางบริษัทกระเบื้องรายใหญ่ โดยเฉพาะบริษัท เอสซีจี ได้ยกเลิกการผลิตกระเบื้องที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบไปแล้ว และมีการใช้สารทดแทนอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคแทน แต่ยังเหลือบริษัท “รายใหญ่” อีกแห่ง ที่ยังคงนำเข้าแร่ใยหินหลักๆ มาจากประเทศรัสเซีย คือกลุ่มของบริษัทกระเบื้องโอฬาร ที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้แบบเต็มๆ
โดยเฉพาะเมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศให้สินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากจำนวน 2 ฉบับ โดยเฉพาะในฉบับที่ 2 เมื่อปี 2553 มีการระบุในฉลากว่า “ระวังอันตราย สินค้านี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดมะเร็งและโรคปอด”
ส่งผลให้ผู้ประกอบการ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด, บริษัท โอฬารกระเบื้องซีเมนต์ จำกัด และ บริษัท กฤษณ์ไฟเบอร์ซีเมนต์ จำกัด ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดง ที่ 1299/2555 ให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ให้เหตุผลว่าเป็นการออกประกาศฯ ของ สคบ. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีอำนาจ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการออกประกาศฯ มีความคลาดเคลื่อนในเรื่องข้อมูลของแร่ใยหิน โดยไม่มีข้อมูลทางวิชาการและทางการแพทย์มาสนับสนุน การกำหนดให้ระบุคำเตือนทำให้ประชาชนเข้าใจว่าสินค้ามีอันตราย ทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้
ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 ให้ “ยกฟ้อง” โดยให้เหตุผลประกอบคำพิพากษา คือ
1. การออกประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ไม่เป็นการกระทำที่ซ้ำหรือขัดกับ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เนื่องจากได้มีการหารือประเด็นข้อกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว
2. การออกประกาศมีการรับฟังข้อมูลทางวิชาการ ตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับอันตรายของแร่ใยหินจากนักวิชาการ องค์การอนามัยโลก และจากรายงานทางการแพทย์ที่พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้น เมื่อดูประวัติย้อนหลังพบว่า เคยทำงานในโรงงานผลิตกระเบื้องมาเป็นระยะเวลานาน และมีหลักฐานว่าผู้ป่วยได้รับสารก่อมะเร็ง จึงพอคาดการณ์ได้ว่าเป็นผลมาจากการทำงาน
3. การกำหนดให้ระบุข้อความและคำเตือนนั้น เพื่อมุ่งที่จะคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ที่ใช้สินค้าหรือมีความเกี่ยวข้องกับตัวสินค้า ซึ่งกำหนดฉลากของสินค้าและจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค ไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสินค้า จึงถือไม่ได้ว่าประกาศดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสในการแข่งขันในระบบธุรกิจแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO มีจุดยืนที่ชัดเจนว่าแร่ใยหินทุกชนิดรวมถึงแร่ใยหินไครโซไทล์ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ทั้งสิ้น และสนับสนุนให้มีการใช้สารทดแทนที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดย WHO ได้จับมือแสดงจุดยืนเรื่องนี้ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมถึงประชาสังคมต่างๆ เรียกร้องให้ผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว
WHO ได้ประมาณว่า ในแต่ละปีมีประชากรมากกว่า 107,000 คน เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดที่เกิดจากแร่ใยหิน (cancer of the lung) มะเร็งเยื่อหุ้มปอดเมโสธีลิโอมา (mesothelioma) แอสเบสโตลิส (asbestosis) จากการประกอบอาชีพ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็ง ที่เกิดจากการประกอบอาชีพ เป็นมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหิน และในแต่ละปีมีคนจำนวนนับพันที่เสียชีวิตจากการได้รับสัมผัสแร่ใยหินในครัวเรือน
ด้านจุดยืนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในการประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 95 ระบุให้แร่ใยหินทุกรูปแบบ รวมทั้งชนิดไครโซไทล์ ซึ่งองค์กรวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer) ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และได้มีการแสดงความกังวลถึงคนงานที่ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างรุนแรงจากการสัมผัสแร่ใยหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดแร่ใยหิน การรื้อถอน การบำรุงรักษาอาคาร การทุบทำลายเรือ และการกำจัดขยะ ซึ่งจำเป็นต้องมีการขจัดการใช้แร่ใยหินในอนาคต และมีการบ่งชี้และการจัดการที่เหมาะสมต่อแร่ใยหินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ด้วยวิธีการที่ได้ผลมากที่สุด เพื่อคุ้มครองคนงานจากการสัมผัสแร่ใยหิน และการป้องกันการเกิดโรคและการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับแร่ใยหิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง นำข้อมูลของ WHO ไปทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด โดยนำข้อความไปสกรีนใส่ในเสื้อที่แจกให้กับตัวแทนจำหน่ายกระเบื้องเพื่อประชาสัมพันธ์ โดยอ้างว่า “WHO รับรองว่าไครโซไทล์ปลอดภัยกว่าสารทดแทน” ทำให้ WHO มีข้อห่วงกังวลในประเด็นดังกล่าว เกรงว่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องความปลอดภัยจากไครโซไทล์ WHO จึงมีหนังสือถึง สคบ. ให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนั้น WHOได้มีการให้ข้อมูลจุดยืนของ WHO ต่อแร่ใยหินผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในเว็บไซต์ของ WHO เอง
ล่าสุด สคบ. ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณาในคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2555 โดยคณะกรรมการฯ มีมติให้ สคบ. ทำหนังสือเชิญบริษัทดังกล่าวเข้าให้ข้อมูลต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในวันที่ 24 ก.ย. 2555 ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการเรื่องนี้จริง ก็จะถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ส่วนความคืบหน้าของแผนการยกเลิกการนำเข้าสารไครโซไทล์ตามมติ ครม. ถูกชะลออออกไป เนื่องจากทางกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม หวั่นเกรงถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ยังมีการใช้แร่ใยหินในการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งมีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในประเทศมานานและวงเงินลงทุนสูง รวมทั้งยังถูกบีบจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อประเทศรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกแร่ใยหินมายังประเทศไทย เพราะมีเหมืองแร่จำนวนมาก ได้เตือนว่าการยกเลิกนำเข้าอาจกระทบต่อความสัมพันธ์อันดี
โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ใช้วิธีว่าจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้แร่ใยหินและศึกษากระบวนการการยกเลิกอีกครั้ง โดยล่าสุดมีข้อเสนอเบื้องต้น ระบุให้กรมโรงงาน “ยืดเวลา” ยกเลิกการนำเข้าการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทั้งหมดภายใน 1 ปีครึ่งถึง 6 ปี ตามชนิดและประเภทของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากแร่ใยหิน ซึ่งทางกรมโรงงานจะต้องนำผลการศึกษานี้เข้าไปรายงานต่อ ครม. อีกครั้งเพื่อยืดเวลาออกไป
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระบวนการดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเป็นกลาง ยึดมั่นในหลักวิชาการอย่างถูกต้อง และมีการยืนยันผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้แร่ใยหินอย่างชัดเจนโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประชาสัมพันธ์ โดยการให้ความรู้และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ เช่น ด้านอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทราบถึงผลกระทบ การกำจัด และวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่ถูกต้อง
ด้านนายปิยะพร กลันทกพันธุ์ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้รับเหมาก่อสร้าง เพื่อสร้างความรู้ในการรื้อถอนและก่อสร้างอย่างปลอดภัยจากแร่ใยหิน ทั้งนี้สามารถทำได้โดยอาศัยเครือข่าย เช่น ในส่วนของผู้รับเหมาในตัวเมือง สามารถติดต่อผ่านสมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ซึ่งภาคีเครือข่ายเหล่านี้มีการติดต่อกับกลุ่มผู้รับเหมาเป็นประจำอยู่แล้ว
ขณะที่ช่างรับเหมาแบบชาวบ้าน ทางสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สามารถประสานงานได้จากร้านตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในทุกจังหวัด ซึ่งจะมีข้อมูลของผู้รับเหมาเพื่อให้บริการลูกค้าอยู่แล้ว จึงสามารถติดต่อได้ทันที
ขณะที่ น.ส.อรสุดา ไชยโพธิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการสังคมและความรับผิดชอบ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสภาหอการค้าฯ สามารถเป็นสื่อกลางในการกระจายข่าวให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกจำนวน 5 หมื่นรายทั่วประเทศ ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหิน นอกจากนั้น อยากเสนอให้ขยายความร่วมมือในการแนะนำความรู้ที่ถูกต้องแก่นักศึกษา ที่จะก้าวไปเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง เช่น กลุ่มวิศวกรโยธา กลุ่มอาชีวศึกษา โดยร่วมมือกับสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อดำเนินการร่วมมือในเรื่องนี้ เพราะอยากให้มองระยะยาวที่ต้องปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นพิษภัยของการใช้แร่ใยหินด้วย
กรมควบคุมโรคเผย ไทยนำเข้าแร่ใยหินปีละแสนตัน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูลต่อสื่อมวลชน หัวข้อ “แร่ใยหิน ข้อเท็จจริงที่คนไทยควรรู้” โดยระบุว่า แร่ใยหินเป็นวัตถุอันตรายที่ประเทศไทยนำเข้ามาใช้ในการผลิตอุตสาหกรรมมากมาย โดยนำเข้ามากว่า 30 ปี โดยเฉลี่ยปีละกว่าแสนตัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศรัสเซีย บราซิล แคนาดา คาซักสถาน ประเทศไทยนำเข้าแร่ใยหินมาใช้มากเป็นอันดับที่ 3 ในแถบเอเชีย รองจากจีนและอินเดีย และสูงเป็นอันดับที่ 5 หากจะเทียบกับทั่วโลก
กว่าร้อยละ 90 ใช้ในอุตสาหกรรมและการผลิตซีเมนต์ใยหิน เช่น การผลิตกระเบื้องมุงหลังคา ท่อน้ำ นอกจากนี้ยังนำมาผลิตเบรค คลัทช์ กระเบื้องยางต่างๆ (ประมาณร้อยละ 7) นอกนั้นเป็นการผลิตอื่นๆ
แร่ใยหินจะทำอันตรายต่อมนุษย์ได้อย่างมาก หากถูกรบกวนโดยวิธีการที่จะทำให้เกิดฝุ่น เช่น การตัด เจาะ เลื่อยผลิตภัณฑ์ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทเบรก คลัทช์ ก็จะฟุ้งกระจายไปในอากาศ ฝุ่นเหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบที่เฉพาะ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นโรคทางระบบหายใจ อย่างไรก็ตาม แร่ใยหินสามารถเป็นอันตรายต่อโรคผิวหนังด้วย โดยจะทำให้เกิดอาการผื่นคัน โดยเฉพาะโรคทางระบบหายใจเหล่านี้ เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาอาการให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานมาจากการเจ็บป่วย
ปัจจุบันมีแร่ใยหินชนิดสีขาวเท่านั้น ที่ยังอนุญาตให้มีการใช้ แม่ว่าแร่ใยหินจะมีคุณอนันต์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่โทษของแร่ใยหินที่มีต่อสุขภาพนั้น ร้ายแรงเกินกว่าที่นักวิชาการหรือองค์กรสากลระหว่างประเทศจะยอมรับได้ ในแง่ของความปลอดภัยต่อสุขภาพ กว่า 50 ประเทศทั่วโลกจึงได้ยกเลิกการใช้อย่างสมบูรณ์ โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใช้สารที่ปลอดภัยกว่ามาทดแทน หรือแม้แต่การทดแทนด้วยผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค เห็นความสำคัญในการป้องกันอันตรายจากแร่ใยหิน จึงได้เสนอประเด็นการยกเลิกการใช้เพื่อการตัดต้นเหตุแห่งปัญหาโรค โดยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติก็เห็นชอบและเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีมติ ครม. แล้วเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 โดยรับรองยุทธศาสตร์ “การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญทั้งด้านการยกเลิกการใช้ และรับมือเพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้
ขณะที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เสียประโยชน์ ที่พยายามทุกวิถีทางที่จะสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือความคลาดเคลื่อนไปว่า แร่ใยหินมีความเป็นอันตรายน้อยกว่าการได้รับอันตรายจากเรื่องอื่นๆ หรือลักษณะการสื่อว่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ไม่สามารถปลดปล่อยเส้นใยออกมาได้ เนื่องจากมีซีเมนต์ที่ใช้ยึดจับกับแร่ใยหิน
เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ซีเมนต์ที่เป็นสารยึดใยหินนั้น ไม่ได้มีความสามารถในการเปลี่ยนโครงสร้างของแร่ใยหินหรือสามารถที่จะละลายใยหินให้เป็นสารผสมจนเป็นเนื้อเดียวกับซีเมนต์ได้ จากการตรวจวัดการฟุ้งกระจายขณะที่มีการตัดกระเบื้องใยหินนั้น สามารถพบได้ว่ามีฝุ่นใยหินที่จะหลุดออกมาสู่อากาศได้ในปริมาณที่เกินมาตรฐานความปลอดภัยซึ่งเกินกว่าจะยอมรับได้ถึงกว่า 10 เท่า
การใช้เบรก คลัทช์ ก็เช่นเดียวกัน การเหยียบเบรกทุกครั้ง ฝุ่นใยหินจะฟุ้งกระจายในอากาศ ยิ่งเบรก คลัทช์ เสื่อมสภาพเท่าใด ก็แปลว่าฝุ่นใยหินจะได้ฟุ้งกระจายในอากาศมากขึ้นเท่านั้น
ปัญหาการควบคุมการฟุ้งกระจายของฝุ่นให้อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย เป็นเรื่องทำยากและใช้เงินมหาศาล โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยให้คนงานได้สวมหน้ากากป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งระบบกำจัดฝุ่นก็ใช้เงินลงทุนสูงมาก ในขณะที่สารทดแทนใยหินก็มีประสิทธิภาพเพียงพอเหมาะต่อการใช้งานเช่นเดียวกับมาตรฐานต่างประเทศ ดังนั้น จึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่จะมีการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ที่ไทยเราสามารถผลิตได้เองแล้ว
จากคุณ |
:
เต่าน้อย/taonoi_@hotmail.com (เต่าน้อย)
|
เขียนเมื่อ |
:
วันรัฐธรรมนูญ 55 23:21:31
|
|
|
|
|