 |
ประวัติและผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๔ เป็นบุตรคนสุดท้องของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบและหม่อมแดง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๔ คน ได้แก่ ม.ร.ว. หญิง บุญรับ พินิจชนคดี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว. หญิง อุไรวรรณ ปราโมช ม.ร.ว. ถ้วนเท่านึก ปราโมช ชื่อคึกฤทธิ์ เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จประพาสพิษณุโลก หม่อมแดงได้พาเข้าเฝ้าฯ ขณะเพิ่งเกิดเพียงไม่กี่วัน ท่านก็สำแดงเดชร้องไห้จ้า จึงเป็นที่มาของนามนี้ พร้อมกับพระราชทานเงิน ๔๘ ชั่ง (๓,๘๔๐ บาท) เป็นของขวัญ ท่านสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ เข้ารับราชการที่กองภาษีประเมิน กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ต่อมาลาออกจากราชการไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสมุหบัญชีที่สำนักงานกลางของแบงค์สยามกัมมาจล และย้ายไปเป็นผู้จัดการแบงค์สยามกัมมาจล สาขาลำปางถึง ๘ ปี จากนั้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ และลาออกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหลายด้าน ด้านการเมือง เป็นผู้มีบทบาททางการเมือง เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๓ ของไทย โดยเฉพาะดำเนินการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน หลังจากที่ขาดความสัมพันธ์กันมานานถึง ๒๐ ปี ได้รับฉายา เสาหลักประชาธิปไตย ด้านเศรษฐกิจ เป็นนักการธนาคาร มีบทบาทในการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์เอกชน คือ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ ธนาคารแหลมทอง เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของนโยบาย เงินผัน ซึ่งเป็นที่รู้จักเลื่องลือในสมัยนั้น ด้านวรรณกรรม เป็นนักเขียน นักประพันธ์ มีงานเขียนมากมายทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล เรื่องศาสนา วิจารณ์การเมือง เช่น สี่แผ่นดิน ไผ่แดง ซูสีไทเฮา โครงกระดูกในตู้ ฝรั่งศักดินา สงครามเย็น สัพเพเหระคดี กาเหว่าที่บางเพลง เป็นต้น ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๒๘ ด้านศิลปวัฒนธรรม ให้ความสนใจ สนับสนุนส่งเสริมนาฏศิลป์ ดนตรี โดยเฉพาะโขนธรรมศาสตร์ เป็นผู้ก่อตั้ง ผู้อุปถัมภ์ ผู้อำนวยการฝึกซ้อม ผู้คัดบทและประชาสัมพันธ์ ทำให้โขนธรรมศาสตร์ยืนยงมาจนทุกวันนี้ ด้านสื่อสารมวลชน เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ประจำคอลัมน์ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งท่านเป็นทั้งเจ้าของ ผู้อำนวยการและบรรณาธิการ นอกจากนี้ยังเป็นนักแสดง เคยแสดงภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ ด้านการศึกษาและการสอน เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง รวมทั้งวิทยาลัยนาฏศิลปทั่วประเทศ
๑๐๐ ปี ชาตกาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช บุคคลสำคัญของโลก ในการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ครั้งที่ ๓๕ ระหว่างวันที่ ๖-๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ณ สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ประชุมของประเทศสมาชิกกว่า ๑๙๐ ประเทศ ได้มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลอง วาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ ในฐานะบุคคลสำคัญด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน นับเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทยอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วท่านเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับยกย่องจากคนไทยให้เป็น ปราชญ์ของเมืองไทย มานานแล้ว เนื่องจากมีความรู้ความสามารถหลายด้านเป็นที่ประจักษ์ชัด และเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีคุณูปการแก่บ้านเมืองหลายประการ การได้รับการเชิดชูเกียรติจากยูเนสโก จึงเป็นการสมควรยิ่งแล้ว ถือเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทย เกียรติภูมิแก่วงศ์ตระกูล และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติตราบชั่วกาลนาน
เอกสารของยูเนสโก ประกาศเกียรติคุณ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาล
จากคุณ |
:
เช้านี้ยังมีเธอ
|
เขียนเมื่อ |
:
17 มี.ค. 54 12:01:27
|
|
|
|
 |