Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เมื่อ “ความฝัน” ส่งผลต่อชะตากรรมทั้งชีวิต? vote ติดต่อทีมงาน

เมื่อ “ความฝัน” ส่งผลต่อชะตากรรมทั้งชีวิต?


E-Mail : siam_shinsengumi@hotmail.com
FaceBook : Siam Shinsengumi

“คุณมีความฝันไหม?”

บ่ายแก่ๆ ของวันหนึ่ง ขณะที่พวกผมทำงานของวันนั้นจนเสร็จ กำลังเก็บข้าวเก็บของ รอนาฬิกาบนเครื่องตอกบัตรส่งสัญญาณเตือน เมื่อถึงเวลา 17.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานตามปกติ ซึ่งในช่วงเวลาที่นั่งรอกันนี้ ก็จะเป็นเวลานั่งคุย นั่งเล่นกันไปเรื่อยเปื่อย ขณะที่บางคนที่กำลังเรียนอยู่ อาจจะเอาการบ้านมานั่งทำ หรือเอาชีทสรุปมาทบทวน (หากเป็นช่วงใกล้สอบ) ทั้งนี้ในที่ๆ ผมทำงานอยู่ มีเด็กจบใหม่ในระดับอาชีวศึกษาบ้าง ม.6 บ้างเข้ามาทำงาน และเป็นการทำงานครั้งแรกในชีวิต คนเหล่านื้ทำงานพร้อมกับเรียนต่อไปด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง (เยาวชนควรเอาเป็นแบบอย่างนะครับ ไม่ใช่วันๆ แบมือขอพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างเดียว) เว้นเสียแต่ครั้งนี้ ที่อยู่ดีๆ เด็กพวกนี้ก็มาให้ผมช่วยงานบางอย่าง

“พี่..ช่วยผม (หนู) คิดหน่อยดิ อาจารย์มีคำถามให้เขียนแสดงความคิดเห็น ว่าเป้าหมายในอนาคตคืออะไร?” (อธิบายประโยคเล็กน้อย ในที่ทำงานผม เด็กที่เรียนต่อมีทั้งชายและหญิงครับ และประชากรทั้ง 2 เพศ ดันถามผมคำถามเดียวกันทั้งคู่ เพราะมีอย่างน้อย 3 คน ที่เรียนในสถานศึกษาเดียวกัน)

ผมฟังคำขอร้องจากเขาและเธอเหล่านี้ ด้วยความอึ้งปนงง ว่าทำไมอยู่ดีๆ จะมาให้ผมคิดการบ้านข้อนี้ ก็เลยบอกน้องๆ เขาไปว่าอนาคตของพวกคุณ พวกคุณต้องคิดเอง คนอื่นไม่สามารถไปคิด ไปกำหนดให้ได้ และผมขอปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือในการบ้านข้อนี้ ซึ่งเด็กพวกนี้ก็ทำหน้างอนๆ พร้อมกับคะยั้นคะยอให้ผมช่วยคิดให้ได้ แน่นอนผมยังคงยืนยันที่จะไม่ช่วยคิดให้ (ปกติแล้วถ้าเป็นวิชาทั่วไปที่อาศัยความรู้รอบตัว ไม่ใช่ความรู้เฉพาะด้าน เช่นวิชาช่างหรือบัญชี อันเป็นวิชาหลักในสาขาที่เด็กพวกนี้เรียนอยู่ พวกเขาจะมาขอให้ผมช่วยติว ช่วยอธิบายอยู่หลายหนครับ)

“พี่..ผมไม่รู้จริงๆ ว่าอนาคตจะทำอะไร” น้องผู้ชายยังคงพยายามจะให้ผมช่วยคิดให้ได้ ขณะที่น้องผู้หญิงให้เหตุผลที่ยาวกว่านั้น “หนูไม่อยากคิด ไม่อยากฝัน เพราะถ้าฝันแล้วผิดหวัง มันก็เจ็บปวดเปล่าๆ”

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดผมก็ไม่ได้ช่วย และนาฬิกาก็ตี 5 โมงเย็นพอดี พวกผมแยกย้ายกันกลับบ้าน แต่ระหว่างที่ผมเดินอยู่นั้น เรื่องนี้ยังคงอยู่ในความคิดของผม ว่าทำไมแค่ความฝันของตน ก็ยังไม่รู้ หรือไม่มั่นใจ เรียกว่ายังไม่ต้องถึงขั้นลงมือทำ แต่แค่คิด ก็ไม่กล้าคิดเสียแล้ว ซึ่งนี่ไม่ใช่หนแรกที่ผมเจอคำตอบดังกล่าว ก่อนหน้านี้ผมเจอวัยรุ่นหลายคน หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่วัยทำงานที่อายุไม่มาก ประสบกับปัญหาดังกล่าวหลายราย และบางรายในจำนวนนี้ ตลอดชีวิตอาจไม่เคยรู้เลยว่า “อะไรคือความใฝ่ฝัน อะไรคือความชอบ” ของตน

ทำให้ผมต้องมองย้อนกลับไปในวัยเด็ก จำได้อยู่เสมอว่าตั้งแต่ประถมจนมาถึงมัธยม หลายครั้งในชั้นเรียน ครูบาอาจารย์มักจะถามนักเรียนเสมอว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แล้วเด็กก็จะตอบไปตามประสา หมอบ้าง ครูบ้าง ทหาร ตำรวจบ้าง ฯลฯ บลาๆๆ... แล้วก็จบลงแค่นั้น โดยไม่มีการตั้งคำถาม ในเชิงที่เป็นการเชื้อเชิญให้ขบคิดต่อว่า “แล้วคุณจะต้องทำอย่างไร จึงจะมีโอกาสได้เป็น ในสิ่งที่คุณฝัน”

ในกลุ่มผม มีบางคนวาสนาและโอกาสดีมาก ที่ได้มีโอกาสไปเรียนและใช้ชีวิตอยู่ในซีกโลกตะวันตก (น่าอิจฉาชะมัด พวกนี้ก่อนไปภาษาอังกฤษไม่กระดิก ทำข้อสอบต้องมาให้ผมติวให้แต่พอได้ไปปุ๊บ 1 ปีผ่านไปมันกลับมา ผมกลับต้องไปขอให้มันสอนภาษาให้ซะงั้น - -!) คนพวกนี้เล่าว่า โรงเรียนของบ้านเมืองฝรั่งเขา มีการตั้งคำถามนี้ให้นักเรียนได้คิด ว่าสิ่งที่คุณฝัน อาชีพที่คุณอยากเป็น ต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องเจอกับอะไร หนักหนาแค่ไหน กว่าคนในอาชีพนั้นจะประสบความสำเร็จ และไม่เพียงแค่ตั้งคำถามชวนให้หาคำตอบเท่านั้น หากเป็นเด็กโตพอรู้ความในระดับหนึ่ง (ชั้นมัธยม) ก็มักจะมีโอกาสได้เข้าศึกษาดูงาน หรือร่วมทำ Workshop ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายกับตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นงานของตำรวจ ทหาร แพทย์ ทนายความ ฯลฯ ซึ่งการได้ไปดูการทำงานจริงๆ จะช่วยให้เด็กได้คิด ว่าตกลงยังยืนยันที่จะสู้เพื่อความฝันหรือไม่ หรือจะถอดใจ และไปหาความฝันอื่นๆ ที่เหมาะสมกับตัวของเขาต่อไป

หันกลับมาประเทศไทย ทุกวันนี้เราพบเด็กที่เรียนแบบไม่รู้จุดหมายเยอะมาก และไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เรียนดีในสาขานั้นๆ จะเป็นเด็กที่ใจรัก หรือชอบในวิชานั้นจริงๆ แต่อย่างใด บางคนอาจจะหัวดี IQ สูง ชนิดที่ไปเรียนอะไรก็ได้ดีหมด แต่ที่ทนๆ เรียนกันไป เพราะพ่อแม่กำหนดบ้าง หรือไม่รู้ นึกไม่ออกว่าจะเรียนอะไรบ้าง ผลคือเรียนแบบไม่มีความสุข จบไปทำงานก็ไม่มีความสุข ทำงานไปเครียดไป กลับบ้าน หน้าบูดบึ้ง ระบายกับลูก ผัว เมีย เป็นปัญหาครอบครัวอีก

ที่แย่กว่านั้น ถ้าเป็นเด็กหัวกลางๆ ไม่ใช่อัจฉริยะแบบย่อหน้าบน แล้วดันไม่รู้ตัวเอง ไปเลือกเรียนคณะยอดนิยม หรือไปเลือกเรียนเพราะตามๆ เพื่อนไป ถึงแม้จะเรียนจบ แต่ก็มักจะจบมาอย่างกลางๆ หรือถึงเกรดสูง ก็เป็นเกรดสูงแบบกลวงๆ (เป็นที่รู้กันดีว่าสถาบันการศึกษาบางแห่ง ขึ้นชื่อเรื่องเรียนง่าย จบง่าย ด้วยการปล่อยเกรด) ผลคือเมื่อไปทำงาน ก็สู้เขาไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องออก แล้วถ้าออกมาแล้วจะไปทำอะไร?

เพราะในอดีตที่ผ่านมา คนที่เรียนจบมาทางหนึ่ง แต่เป็นพวกที่ “รู้ตัวช้า” ว่าชอบงานอีกทางหนึ่ง ยังมีโอกาสหางานทำโดยไม่ตรงกับสายการเรียนได้ ด้วยการลดตัว ยอมไปทำงานในระดับล่างสุดของสายงานนั้นๆ หรือยอมทำงานในตำแหน่งที่ต้องการ แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าปกติเนื่องจากไม่ได้จบมาทางสายตรง เพื่อแลกกับการเรียนรู้งาน บางคนที่เป็นคนเมืองหลวง ถึงขนาดยอมออกไปสมัครงานที่ต้องการ ในองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ที่แม้ค่าแรงจะน้อยกว่าใน กทม. แต่ค่าครองชีพก็ต่ำกว่า กทม.ไปด้วย ซึ่งหลายคนที่ใช้วิธีแบบนี้ ท้ายที่สุดก็สามารถถีบตัวเองขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ และประสบความสำเร็จในสายงานนั้นๆ ได้ไม่ต่างจากผู้ที่จบสายตรงเช่นกัน

หากแต่ต่อไปนี้ อาจจะไม่สามารถใช้วิธีดังกล่าวได้อีกต่อไป เพราะนโยบาย “300 บาททั้งแผ่นดิน” ที่วันนี้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดกำลังจะตาย (ส่วน บ.ใหญ่ๆ สายป่าน Connection หนาๆ ไม่ตายอยู่แล้ว) ซึ่งถ้านโยบาย “ป.ตรี หมื่นห้า” ออกมาอีก เชื่อได้เลยว่า คนที่อยากจะเปลี่ยนงาน ไปทำในสิ่งที่ไม่ตรงสายที่ตัวเองเรียนจบมา แต่ค้นพบว่าแล้วว่า “ชอบ” สิ่งนั้นจริงๆ อาจจะทำได้ยาก หรืออาจจะไม่ได้เลย อนึ่ง..มีการพูดกันเล่นๆ มาสักระยะหนึ่ง ตั้งแต่ 300 บาทถูกใช้เป็นนโยบายหาเสียงแล้วว่า ต่อไปนี้ฝ่ายบุคคลคงจะเลือกรับคนที่จบมาตรงสายกับตำแหน่งงานเป็นหลัก เพราะอย่างน้อยการจบมาตรงสาย ก็การันตีได้ระดับหนึ่งว่า คนๆ นั้นจะทำงานได้

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น คนที่หัวกลางๆ และเรียนไปโดยไม่รู้ความชอบตัวเอง นั่นคือ “หายนะ” ทั้งชีวิตแน่นอน เพราะเสียเวลา 4-5 ปีในมหา’ลัย แต่จบมาแล้วหางานทำไม่ได้ จะไปสู้กับคนในสาขาเดียวกัน ก็สู้ไม่ไหวเพราะไม่เก่งจริง ครั้นรู้ตัวว่าชอบอีกสาขาหนึ่ง ก็สายเกินไปเสียแล้ว เพราะจะลดตัวไปทำงานในตำแหน่งนั้น โดยยอมขอค่าแรงต่ำกว่าปกติก็ไม่ได้ เพราะติดเพดานค่าแรงขั้นต่ำ หรือแม้กระทั่งจะทำธุรกิจเอง ถ้าไม่รวย ไม่มีทุนหนาจาพบรรพชนสร้างไว้แล้ว ก็อาจทำไม่ได้ เพราะไม่ว่าคุณจะไปลงทุนที่ไหน คุณก็ต้องจ่ายค่าจ้างเท่ากันหมด โดยสนว่าพื้นที่นั้น มีฐานลูกค้า มีฐานการโตของเศรษฐกิจมากพอกับค่าแรงขั้นต่ำ ที่สมเหตุสมผลแค่ไหน

ท้ายที่สุด ผมคงไม่สามารถคัดค้านนโยบายนี้ของรัฐบาลได้อยู่แล้ว แม้แต่นักวิชาการเก่งๆ จำนวนมาก ก็ยังขวางกระแสนี้ไม่ได้ ดังนั้นที่ผมเขียนบทความนี้ในสัปดาห์นี้ เพื่อหวังว่าน้องๆ เยาวชนก็ดี พ่อแม่ผู้ปกครองก็ดี จะได้นำไปคิด และหาหนทางปรับตัว โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ผมต้องการจะบอก ก็คือทำอย่างไร ที่จะทำให้เด็กๆ เยาวชนนั้น “รู้จักตัวเอง” ให้เร็วที่สุด ในยุคสมัยที่การแข่งขันเข้มข้น ผู้ที่ชักช้า ลังเล ไม่รู้เขารู้เรา ไม่อาจมีชีวิตรอดอยู่ใน อย่างยุคนี้

ซึ่งบางที ผมอาจจะต้องใช้คำพูดของบางคนที่ว่า “รอให้คลอดออกมา..ก็สายเสียวแล้ว” ก็เป็นได้

พบกันใหม่โอกาสหน้าครับ

...................................................

ปล.กระทั่งตัวเอง ก็เป็นผลพวงจากการ “รู้ตัวช้า” เช่นกัน มีหลายคนเคยถามผมว่าชอบคิด ชอบเขียนอะไรแบบนี้ ทำไมไม่ไปเป็นนักข่าว เป็นคอลัมนิสต์ตาม นสพ. จริงๆ ซะเลย ผมก็ตอบว่า “อยากไปอะนะ เคยไปสมัครด้วย แต่เขาไม่รับ เพราะไม่ได้จบนิเทศน์หรือวารสารมา” ทุกวันนี้ก็เลยมานั่งบ่นไปวันๆ นี่ล่ะครับ

จากคุณ : Siam Shinsengumi
เขียนเมื่อ : 7 ธ.ค. 55 10:14:26 A:64.250.114.68 X: TicketID:383906




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com