 |
มาต่อกับความเห็นของคุณเอเธนา ในความเห็นที่ ๑๘๗ คุณเอเธนากล่าวว่า #182 สมัยนั้นระบบราชการมีวัฒนธรรมเรื่องการฝากตัวกันเป็นขั้นๆ ผู้น้อยต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ไปตามลำดับ และลำดับสูงสุดทรงไว้ซึ่งอำนาจเด็ดขาดคือ พระมหากษัตริย์ ภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้ ข้าราชการก็ต้องฟังว่า นายจะคิดอย่างไร สั่งอย่างไรแล้วทำตาม ขืนขัดใจ ก็จะไม่มีวันเติบโต นี่เองเป็นสาเหตุที่ทำให้การทดลองเลือกตั้งเทศบาล ในดุสิตธานีนั้นล้มเหลว เหมือนเล่นตุ๊กตา
แต่ในความเห็นที่ ๑๘๖ คุณเอเธนากลับนำเสนอว่า เท่าที่จำได้ มีคดีที่ในหลวง ร. 7 ถูกฟ้องร้อง อยู่ 3 คดี คนงานรถไฟ ฟ้อง ร. 7 เรื่องขัดขวางการปกครองมั๊ง? ศาลยกฟ้อง ญาติของพระสนม ร. 6 ฟ้อง ร. 7 เรื่องไม่จัดการตามพินัยกรรมของ ร. 6 ศาลให้ ร. 7 แพ้คดี และรัฐบาลโดย จอมพล ป. ฟ้อง ร. 7 เรื่องเงินหลวงหายไป อย่างที่เล่าไว้แล้วนั่นแหละ
ถ้าคิดว่า คดีสุดท้ายไม่ยุติธรรม โดนกลั่นแกล้ง ก็แสดงว่า 2 คดีก่อนหน้านั้น ก็ไม่ยุติธรรมด้วย อย่างคดีที่ 2 พระองค์ก็ยังทรงอยู่แก้ข้อกล่าวหาแล้ว แต่ศาลยังติดสินให้แพ้เลยค่ะ
ความเห็น ๒ ความเห็นนี้ดูขัดกันอยู่ ความเห็น ๑ บอกว่า ในหลวงสามารถชี้นำข้าราชการได้ทุกเรื่อง แต่อีกความเห็นกลับบอกว่า ในหลวงถูกราษฎรฟ้องจนต้องแพ้คดี
แต่เพื่อให้เห็นภาพการบริหารงานแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมอบหมายให้เสนาบดีไปปฏิบัติราชการต่างพระเนตรพระกรรณแล้ว ก็มิได้ทรงใช้พระราชอำนาจก้าวก่ายการบริหารราชการแผ่นดินอย่างที่คุณเอเธนาเข้าใจ คือ ความจากเอกสารจดหมายเหตุชุด ร.๖ ค.๘.๓/๒ เรื่องหนังสือราชการเรื่องเงินเสด็จประพาศที่ต่างๆ ปีกที่ ๒ (๑ เมษายน ๒๔๖๕ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๖๗). ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
ในท้ายจดหมายของเธอๆ กล่าวแสดงข้อวิตกถึงเหตุอันตรายแก่การเงิน ซึ่งฉันขอกล่าวมาในฐานเป็นญาติแลเป็นนายว่าในเรื่องนี้พอกันด้วยเงินเพียง ๒๐๐๐๐ บาทเศษ ไม่ควรเลยที่จะเป็นใหญ่เป็นโตราวกับเกี่ยวข้องด้วยเงินตั้งล้าน ไม่ควรริอ่านพูดขยายความเล็กน้อยกระพือให้เป็นใหญ่ สำนวนที่เธอใช้มาถึงฉันถ้าเป็นลายพระหัดถ์กรมพระจันทบุรี ฉันจำเป็นต้องฟังโดยความเคารพ เพราะประการหนึ่งกรมพระจันทบุรีเป็นพี่ชายใหญ่ของฉัน แหละได้ชื่อว่าเป็นเสนาบดีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงจะสอนฉันบ้างก็อภัยถวาย แท้จริงมิใช่ว่าฉันเป็นเด็กหรือเป็นคนใหม่ในราชการ ฉันก็เคยได้รับราชการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕ หลายปีก่อนที่สวรรคต และฉันเป็นพระเจ้าแผ่นดินมาเองก็ตั้ง ๑๒ ปีแล้ว ควรต้องนับว่าฉันเป็นผู้ใหญ่กว่าเธอในทางราชการ ฉะนั้นพูดอะไรก็พูดกันดีๆ ไม่ต้องสอนกันก็ได้ นี่เป็นคำเตือนส่วนตัวของฉันซึ่งเป็นผู้เลือกชุบเลี้ยงเธอขึ้นเป็นใหญ่ ฉะนั้นอย่าเข้าใจผิด แลอย่าถือว่าฉันกริ้ว จงถือเสียว่า ฉันเตือนด้วยไมตรีเท่านั้น
กับอีกฉบับหนึ่งมาจากเอกสารชุด ร.๖ บ..๑.๖๕/๓๓ เรื่อง พระราชนิยมเรื่องคลังจ่ายเงินแผ่นดินแลเรื่องข้าราชการกรมราชเลขาธิการ (๑๐ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๕). ซึ่งรัชกาลที่ ๖ ทรงตำหนิเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติว่า
ตามคำชี้แจงในเรื่องซื้อที่นี้ เข้าใจทุกประการแล้ว แต่เมื่อจะต้องจ่ายเงินทองเปนจำนวนมากจากเงินคงพระคลังเช่นนี้, ต่อไปฉันอยากให้เธอบอกมาให้ฉันทราบเสียก่อน, และการบอกเรื่องเช่นนี้ เมื่อเกรงว่ามีจดหมายมาทางราชการโดยปรกติจะมีทางรั่วรู้ไปก่อนเวลาอันควร, เธอจะหมายเหตุที่หลังซองว่า ราชการลับ เช่นนี้ก็คงจะเปนการพอแล้ว, เพราะที่กรมราชเลขาธิการก็คงจะระวังมิให้บุคคลชั้นผู้น้อยได้รู้เห็นเปนแน่แท้. แต่โดยที่เธอบางทีจะไม่คุ้นเคยกับกรมราชเลขาธิการ, ฉันขอรับรองว่าคนปากบอนหรือปากมากเขาไม่ใช้เลยในกรมนั้น, แลถ้าจับใครได้ว่าทำผิดกติกาในข้อนี้ ไม่เปนแต่เพียงไล่ออก, ถึงแก่ถอดเสียด้วย. ในกระทรวงอื่นจะเปนอย่างไรไม่ทราบ, แต่ในเรื่องซื้อที่รายนี้กิติศัพท์ได้มาเข้าหูฉันหลายวันแล้วก่อนที่ได้รับจดหมายของเธอ, ฉะนั้นเธอคอยมองๆไว้ในกระทรวงของเธอบ้างก็ดี.
ส่วนเรื่องซื้อที่, เมื่อเธอได้ทำความตกลงซื้อแล้วแลจ่ายเงินไปแล้ว ฉันก็ไม่มีทางอื่นนอกจากตอบว่าอนุญาต, แต่เมื่อมาคำนึงดูว่ากระทรวงอื่นๆ ทุกกระทรวง จะใช้เงินแม้สักเล็กน้อยก็ต้องให้กระทรวงพระคลังทราบและเห็นชอบด้วยก่อนฉนี้, ฉันเห็นว่ากระทรวงพระคลังจะยอมอนุญาตตนเองให้ใช้เงินได้ไม่ว่ามากน้อยเท่าใดโดยไม่ต้องบอกใครหรือ ปฤกษาใครเลย ดูเปนระเบียบการที่ไม่สู้เข้าทีนัก อย่างน้อยก็เปนช่องให้ผู้อื่นเขานินทาว่าคลังเอาเปรียบโลกเหลือเกินนัก. แต่ยังมีทางที่อาจถูกหาความร้ายกว่านั้น เพราะไม่ว่าท่านกิติหรือตัวเธอจะคงเปนเสนาบดีไปได้ชั่วกัลปาวสาน, อาจจะต้องเปลี่ยนตัวเสนาบดีคลังบ้างสักคราว ๑ ในเมื่อน่า, แลเสนาบดีคลังที่ทำงานยุ่งไม่เรียบร้อยก็เคยมีมากแล้ว และไม่มีผู้ใดจะหาญพอที่จะประกันได้ว่าจะไม่มีอีกต่อไป ฉนั้นขอให้วางลงเปนระเบียบเสียว่าถ้ากระทรวงพระคลังจะใช้เงินในการจรเปนจำนวนเกินกว่าเท่านั้นๆ ก็ต้องนำความกราบบังคมทูลก่อน. ถ้าทำเช่นนี้จะเปนการตัดครหานินทาได้ดีกว่าอย่างอื่น.
ที่ฉันทักท้วงแลขอให้วางระเบียบเช่นข้างบนี้ ไม่ใช่เพราะฉันไม่ไว้ใจเธอ. การที่กระทรวงพระคลังต้องให้เจ้ากระทรวงอื่นๆ ปฤกษาหาฤาและชี้แจงและขออนุญาตคลังก่อนใช้เงินการจร ก็คงจะไม่ใช่เพราะเห็นว่าเจ้ากระทรวงนั้นๆ จะจงใจฉ้อฉนอะไร, เปนแต่ปรารถนาจะป้องกันมิให้ใช้เงินแผ่นดินโดยสุรุ่ยสุร่ายเท่านั้นมิใช่ฤา? ความปรารถนาของฉันในส่วนกระทรวงพระคลังก็มีเพียงแต่ขอให้ฉันรู้เห็น แลเห็นชอบด้วยก่อนที่จะใช้เงินการจรมากๆ เพื่อหาทางป้องกันสุรุ่ยสุร่ายฉันเดียวกัน.
จากคุณ |
:
V_Mee
|
เขียนเมื่อ |
:
22 ธ.ค. 55 07:36:53
|
|
|
|
 |