CafeTech-ExchangePantip MarketChatTrendyMobilePantown


    "อักษรานุสรณ์"บันทึกหลังความตาย หมายเลข 2

    กลับมาอีกครั้งทั้งที่ยังไม่มีใครเรียกหา เพราะคิดว่าอย่างไรเสีย ก็ถือเป็นการขุดคุ้ยความหลังครั้งอดีตทั้งหลายมาเผยแผ่แชร์ชมกัน ครั้นเมื่อจะหยิบยกโยงยืมมาใช้งานอ้างอิง จะได้ไม่ต้องวิ่งหากันให้ขาขวิดหงุดหงิดใจ

    หันมองไปบนชั้นวางหนังสือ “อักษรานุสรณ์” เหล่านี้ยังคงนอนนิ่งซ้อนทับอับแอบ รอบันทึกแห่งชีวิตเล่มใหม่ของใครๆอีกหลายท่านมาร่วมสมทบ

    วานวันไม่เคยหวนย้อนคืน ความตายย่อมถูกหยิบยื่นแก่สัตว์โลกทุกผู้ จะต่างกันอยู่ที่เมื่อจากไป เราเหลืออะไรให้ใครๆข้างหลังได้จดจำ และเรียนรู้บ้าง

    อารมณ์นี้จึงแจงจัดคัดเลือก หนังสือที่ระลึกฯ เพื่อเป็นบรรณาการแด่ท่าน ตามที่พลั้งปากไว้ ในตอนที่แล้วให้ได้อ่าน สัก 4 เล่ม

    ส่วนท่านผู้ใดที่หยิบยืมหนังสือไป ทั้งที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ก่อน หรือกระทำด้วยถือวิสาสะว่าใกล้ชิดสนิทสนม อันตัวกระผมเองนั้น ไม่ขอถือโทษโกรธเคืองใดๆ ทั้งนี้ได้ทำบุญกรวดน้ำอโหสิให้หมดแล้ว เพียงขอให้กรุณานำมาส่งคืนกันบ้าง จักถือเป็นทานบารมียิ่งใหญ่ ที่ต้องระลึกๆไว้เป็นอย่างยิ่ง



    4.สมพงษ์ นุชพิจารณ์ (1 สิงหาคม 2475-24 พฤศจิกายน 2535)

    “ตำราตะโพน” ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มล โกมลรัตน์) พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสมพงษ์ นุชพิจารณ์ ณ เมรุวัดตรีทศเทพ วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2535,64 หน้า

    โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ 947 ถ.อรุนอมรินทร์ เขต บางกอกน้อย กทม.10700 โทร.4111523,4126552

    หนังสือเล่มเล็ก ปกสีดำ ใต้คำ “ตำราตะโพน” ตัวเขื่องสีขาว ปรากฏภาพถ่ายขาวดำฝีมือ อ.อานันท์ นาคคง บรรจงบันทึก อิริยาบทงดงามของ ครูสมพงษ์ นุชพิจารย์ ที่นั่งองอาจผึ่งผายวาดลวดลายเชิงกลอง ในงานไหว้ครูที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพฯ

    พลิกดูข้างใน เป็นบันทึกเรื่องราวต่างๆ ของศิลปินผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือในความสามารถ และคุณงามความดี เป็นที่ประจักษ์ เริ่มด้วยกล่าวถึงเทือกเถาเหล่ากอมีจากพ่อแม่เป็นชาวนา เมืองกรุงเก่า แล้วได้อพยพย้ายเข้ามาลงหลักปักฐานที่บางกอก และได้ให้กำเนิดเกิดชีวิตของครูที่บ้านข้างวัดสระเกศ อีกเหตุที่ต้องหัดดนตรีที่บ้านครูพริ้ง ผ่านฟ้า เข้าฝึกปรือวิชาที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กระทั่งเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ จวบจนวันที่สิ้นชีวิต ทั้งหมดถูกร้อยเรียงน่าอ่านอยู่ในบทความ เรื่อง “ตำนานครูกลองคนเก่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ยี่สิบห้า ครูสมพงษ์ นุชพิจารณ์” งานเขียนปัจจุบันทันด่วนของ อ.อานันท์ นาคคง ซึ่งได้เก็บคำจำความจากการสัมภาษณ์ครูสมพงษ์ ในปี พ.ศ.2532 และอีกวาระหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2535 ขณะที่ ครูนอนป่วย อยู่ที่บ้านดนตรีรส ร่วมกับ เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ นักเขียนคารมคำคมคาย ผู้มากมายผลงาน

    ส่วนที่สอง เป็นคำไว้อาลัย จากเหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ มี ครูจำเนียร ศรีไทยพันธ์,ผศ.สงบศึก ธรรมวิหาร,อ.สมบัติ สังเวียนทอง,ครูกัญญา โรหิตาจล,ครูพัฒน์ บัวทั่ง,อ.ไพฑูรย์ เฉยเจริญ,ครูศักดิ์ชัย ลัดดาอ่อน,ม.ล.สุรักษ์ สวัสดิกุล,จ.ส.อ.สมชาย ดุริยประณีต,คุณนิเวศ ฤาวิชา,ครูสุพจน์ โตสง่า,ครูบุญยัง เกตุคง,คุณสำเริง สอนเสนาะ,อ.ศิลปี ตราโมท และ ครูแจ้ง คล้ายสีทอง

    ส่วนสุดท้าย เป็น บันทึก “ตำราตะโพน” เขียนโดย ขุนสำเนียงชั้นเชิง (มล โกมลรัตน์) ซึ่งเคยตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารศิลปากร ปีที่ 5 เล่มที่ 6 ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ.2495 ว่าด้วยลักษณะของตะโพน วิธีผสมข้าวกับขี้เถ้า การตีตามลำดับเสียงต่างๆ โดยมีภาพประกอบ แถมท้ายด้วย ประวัติของ ขุนสำเนียงชั้นเชิง และโน้ตสากลแบบฝึกหัดต่างๆ ทั้ง มือตะโพนเพลงสาธุการ

    นอกจากหนังสือ “ตำราตะโพน” ที่เป็นอนุสรณ์คำนึงถึงครูสมพงษ์ แล้ว ในงานพระราชทานเพลิงศพ ยังมีเทปบันทึกเสียงกลองของครูในหลายวาระจ่ายแจกให้หวนระลึกถึง
    หน้าแรก เป็น ฝีมือของ “สมพงษ์คู่” (สมพงษ์ นุชพิจารย์,สมพงษ์ โรหิตาจล) ในเพลงนางหงส์ 3 ชั้น หน้าที่ 2 เป็นเพลง ทยอยเดี่ยว,ทะแย (กลองสองหน้า),แขกมอญ,โยนดาบ,ลงสรง,สระหม่าแขก (กลองแขก),บัวลอย (กลองมลายู)



    5.สังเวียน เกิดผล (24 มิถุนายน 2450-2 มกราคม 2532)

    ที่ระลึกในวโรกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทางเพลิงศพ นายสังเวียน เกิดผล วันเสาร์ที่ 22 เมษายน 2532 ณ เมรุวัดบำรุงธรรม ตำบลบ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศริอยุธยา

    รักษ์สิปป์ จัดพิมพ์ โทร.2414634,เรือนแก้ว พิมพ์ออฟเซ็ท โทร.4111523,กรุงเทพโฟโต้ เรียงคอมพิวฯ โทร.4113581,76 หน้า

    ถ้าได้ชื่อว่าเป็นนักดนตรีไทยโดยเฉพาะทางสายปี่พาทย์แล้ว คงต้องได้ยินชื่อเสียงของวง “พาทยรัตน์” วงดนตรีปี่พาทย์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบราราชกุมารี ทรงพระราชทานชื่อให้แทนชื่อวงเดิม เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2530 มาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะเป็นวงปี่พาทย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือในเขต บ้านใหม่ อยุธยา มาเนิ่นนาน ด้วยนายวงเช่น ครูสังเวียน เกิดผล ที่เป็นเสาหลักหนักแน่นทั้งด้านฝีมือ และความรู้ ที่ได้ร่ำเรียน มาจาก ครูผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ ครูเพชร จรรย์นาฏย์ คนระนาดยุคแรกเริ่มของวังบูรพา อีกทั้งวิชา ตะโพนกลอง จากพระพาทย์บรรเลงรมย์

    “ครูสังเวียน เกิดผล” จึงเสมือนผู้ที่เชื่อมโยงประสานรอยต่อภูมิปัญญาแห่งยุคสมัย ที่ได้นำความรู้จากอดีต ทำให้ “ผลเกิด” แก่วงการดนตรีไทยในปัจจุบันมิใช่น้อย

    ในหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะมีประวัติของครูสังเวียน เกิดผล อีกคำไว้อาลัย จากบุคคลหลายๆท่าน เช่น พล.อ.สายหยุด เกิดผล,พระสมบุญ ปุญญวโส (พร ภิรมย์)และครูสำราญ เกิดผล แล้ว ยังมีรูปและประวัตินักดนตรีผู้ใหญ่ที่มีคุณานุปการต่อสำนักดนตรีเกิดผล อีก 4 ท่าน คือ ครูเพชร จรรย์นาฏย์,ครูอาจ สุนทร,ครูช่อ สุนทรวาทิน,ครูฉัตร สุนทรวาทิน ตามด้วย บทความ “งานบรรเลงเพลงไทยของนายสังเวียน เกิดผล ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่ง “อาจารย์หมอ” นพ.พูนพิศ อมาตยกุล ได้เคยเขียนไว้ใน “สยามสังคีต” หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้จัดมาเสนออีกวาระ

    ส่วนท้ายเล่ม เป็นการรวบรวมงานเพลงราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพฯ ที่พระราชทาน ให้ ครูสังเวียน เกิดผล และวงปี่พาทย์บ้านใหม่ อยุธยา บรรเลง ขับร้องในโอกาสต่างๆ ซึ่งได้บันทึกไว้ ทั้งประวัติ บทร้อง และโน้ตสากล เช่นเพลง ตับชมสวนขวัญ,วิหคเหิร เถา,ลอยประทีป เถา,อนงค์สุชาดา เถา,ไอยราชูงวง เถา
    ผนวกด้วยผลโน้ตและประวัติเพลงสำคัญ ที่วงพาทยรัตน์ได้สืบทอดรักษาไว้ เช่น ตระโหมโรง ตัวที่ 12-16 ,กำศรวลสุรางค์ เถา,ครวญหา เถา,จีนเข้าโบสถ์ เถา,จีนเข้าห้อง เถา,มังกรเล่นคลื่นสมิงทองเทศ เถา,สุรางค์จำเรียง เถา,อัปสรสำอางค์ เถา ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นครูสังเวียน เกิดผล ได้นำวงพาทยรัตน์ ทำการบันทึกเสียง ผลงานของ “ทูลกระหม่อมบริพตร” จัดเก็บรักษาไว้ ในโอกาส ครบรอบ 100 ปี สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อครั้ง พ.ศ.2524



    6.เรืออากาศเอกโองการ กลีบชื่น (30 มิถุนายน 2455 –25 ธันวาคม 2520)

    ที่ระลึกในการพระราชทานเพลงศพ ณ สุสานหลวง เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 14 มีนาคม 2521

    ปกอ่อนสีขาว พิมพ์รูปกุญแจซอล สีทองวางพาดบรรทัดห้าเส้น ,รองปกด้านใน ระบุว่าจัดทำโดยสานุศิษย์ของ ครูทองต่อ ,ไม่มีเลขหน้ากำกับ นับได้ประมาณ 50 หน้า

    พิมพ์ที่ ศ.ส.การพิมพ์ 260 ถนนพิบูลสงคราม บางซื่อ ดุสิต กรุงเทพฯ โทร. 5855072,5852417

    ครูโองการ กลีบชื่อ หรือที่ มักคุ้นในชื่อเดิม ว่า “ครูทองต่อ” นั้นท่านเป็นนักดนตรีที่มีเคารพนบไหว้มากมาย ด้วยเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ขนาดเรียกได้ว่าเป็นที่ศิษย์โปรดของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) กระนั้นเทียว

    ครูโองการ เริ่มเรียนดนตรีกับบิดา ก่อนจะถูกพาไปฝากไว้กับ ครูปริก โตสง่า เมื่ออายุ 8 ปี จากนี้จึงเข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบุรีอินทราชัยกระทั่งสิ้นพระชนม์ จึงมาฝากตัวฝึกตนที่สำนักบ้านบาตรของท่านครูหลวงประดิษฐไพเราะ ประจวบเหมาะกับการก่อตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางค์ คุณหญิงชิ้น ศิลปบรรเลง จึงได้นำตัวไปเป็นครูปี่พาทย์รุ่นแรกของที่นั่น กระทั่งเข้าทำงานที่แผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ก่อนโอนไปประจำกองดุริยางค์ ทหารอากาศ ย่านดอนเมือง ทั้งยังได้เป็นธุระเรื่องจัดหาเครื่องดนตรีให้ร้านดุริยบรรณ แต่เมื่อครั้งก่อตั้ง

    ภายในเล่ม มีภาพครูโองการแต่งเครื่องแบบนายเรืออากาศเอกหล่อสมาร์ท อีกนั่งตีระนาดบรรเลงถวายสมเด็จพระเทพฯ ครั้งเสด็จฯเยี่ยมชม ร้านดุริยบรรณ (สี่แยกคอกวัว) จากนั้นก็เป็นบทความต่างๆ เช่น ประวัติชีวิต,”เด็กชายเปีย” เกร็ดเก่า เล่าสนุก เขียนโดยครูมนตรี ตราโมท ,คำไว้อาลัย ของคุณหญิงประภาพรรณ วิจิตรวาทการ และศิษย์เก่าศิลปากรนาฏดุริยางค์

    ท้ายเล่มเป็นการรวบรวมงานเพลงครูต่อ โดยคุณหมอสุพจน์ อ่างแก้ว ร่ายคำนำแถลงการณ์ไว้ว่าได้อาศัยไหว้วานให้ครูศิริ นักดนตรี ซึ่งก็ได้มีใจมาช่วยจัดทำโน้ต แบบ “เลขาสังคีต” พร้อมอรรถาธิบายรายละเอียดวิธีอ่านโน้ต อีกประวัติ และบทร้องขอมกล่อมลูก เถา คู่มอญรำดาบ เถา พระยาสี่เสา เถา แขกกล่อมเจ้า เถา นางนาค 3 ชั้น โหมโรงกราวนอก 3 ชั้น โหมโรงช้อนแท่น 3 ชั้น ทั้งหมดเพื่อเป็นแสดงคาราวะระลึกถึงครูโองการ กลีบชื่น ในครั้งนั้น



    7.สวัสดิ์ นิลสกุล (15 เมษายน 2471-22พฤศจิกายน 2543)

    ที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ ณ เมรุวัดลานนานบุญ จ.นนทบุรี วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม 2543

    ปกสีน้ำตาล รูปหน้าตรงครูสวัสดิ์ ลอยเด่นอยู่เหนือรางระนาด ปกหลัง รูปผ้าแขวนกระจังโหม่ง “คณะครูสวัสดิ์ นิลสกุล ศิษย์หลวงประดิษฐไพเราะ (จางวางศร)” ,ไม่มีเลขหน้ากำกับ นับได้ประมาณ 64 หน้า

    ถ้าเอ่ยชื่อครูสวัสดิ์ นิลสกุล นักดนตรีรุ่นใหม่คงไม่ใคร่รู้จัก แต่หากเป็นในย่าน ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรีแล้ว ชื่อเสียงของครูดูไม่สองเป็นรองใคร

    ครูเกิดที่สุพรรณบุรี เรียนดนตรีกับน้าไคลและครูไสว ได้วิชาความรู้มีชั้นเชิงระนาดพอตัว ครั้นอายุ 14 ก็ไปตีลิเก ละคร อยู่ที่เมืองพิจิตร และเข้ามาเป็นศิษย์ “บ้านบาตร” ในปี พ.ศ.2487 แต่ก็มีอันต้องระเห็จกลับสุพรรณ ก่อนกลับมาเป็นมือระนาดคนสำคัญในวง “ลุงหล่ำ” ที่ผักไห่ อยุธยา สุดท้ายย้ายมาอยู่ นนทบุรี ทำปี่พาทย์บ้าง ค้าขายบ้าง เมื่อว่างจึงได้เข้าไปสอนดนตรีที่ โรงเรียนต่างๆ เช่น สายน้ำผึ้ง หอวัง สามเสนวิทยาลัย วัดรางบัวภาษีเจริญ วัดบวรนิเวศ วัดสังเวช วัดราชาธิวาช เป็นอาทิ

    ภายในเล่มมีภาพถ่ายของครูในหลายอิริยาบท พร้อมบันทึกประสบการณ์ด้านดนตรีของครู ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเชิญไปเป็นพิธีกรไหว้ครู อีกทั้งรายชื่อคู่ประชันในชั้นเชิงระนาดหลายครั้ง ซึ้งทั้งหมดได้คัดลอกมาจากบันทึกส่วนตัวของครูเอง จากนั้นก็เป็นบทความไว้อาลัย “คิดถึงพ่อ” ที่เขียนโดยลูกหลาน

    ภาคผนวกท้ายเล่ม เป็นบทความที่คัดลอกจากหนังสือศิลปศึกษา วิชาเลือกดนตรีและขับร้อง ฟ้อนรำ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เรียบเรียงโดย สุดใจ ทศพร ว่าด้วยเรื่องราวต่างๆของดนตรี เช่น ประโยชน์ของดนตรี,การขับร้องและการดนตรีเกิดขึ้นจากธรรมชาติ,เครื่องดนตรีไทย(แบ่งประเภท หมวดหมู่ (มีรูปภาพลายเส้นประกอบ),ลักษณะของวงดนตรีไทย และเพลงไทย เป็นต้น



    คำโบราณกล่าวไว้ว่าให้แค่ “พอหอมปากหอมคอ” กำลังดี จึงขอรวบรัดตัดความแต่เพียงเท่านี้

    อย่าให้ถึงต้องหอมหัว..หอม “..ตรง…นี้…” กันเลย
    เดี๋ยวจะเป็นเรื่อง

    สวัสดีครับ

    จากคุณ : นายยางสน - [ 29 ธ.ค. 47 23:10:13 ]


 
 



คลิกเพื่ออ่านกติกามารยาท
คลิกเพื่ออ่านHelp & FAQ
ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่
ความคิดเห็น : คลิกที่นี่เพื่อใช้งาน icon
ชื่อ : ตรวจสอบสถานะของ member ที่นี่
ไฟล์ประกอบ : (ไม่เกิน 150 K / Member เท่านั้น / Preview ไม่ได้)
(gif, jpg, png, mid, wav, mp3, wma, swf)
Photo2Mobile : ยินดีให้นำไฟล์ประกอบนี้ (เฉพาะ gif, jpg, png) ไปให้บริการส่งรูปเข้ามือถือจอสี
(เพื่อป้องกันการถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ การอนุญาตควรมาจากเจ้าของรูปโดยแท้จริง)
ยินดี ไม่ยินดี
  : ไม่อนุญาตให้แสดงผลผ่านระบบมือถือ
 
(ส่งไฟล์ประกอบ Preview ไม่ได้) PANTIP Toys
 
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป