Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ยุคทอง!! แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน หลังเกิด 3G // ยุคทองทีวีดาวเทียมขายกล่องราคาถูก 890 บาท vote ติดต่อทีมงาน

ประเด็นหลัก


3G จุดพลุธุรกิจคอนเทนต์

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าออกใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์

มือถือระบบ 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz แก่ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตทั้ง 3 ราย ในเครือเอไอเอส, ดีแทค และทรูไปแล้วเรียบร้อย เมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับกดปุ่มนับถอยหลังให้ค่ายมือถือในการ

เตรียมเปิดศึกแข่งขันชิงลูกค้าอีกครั้ง


"แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามาทดแทนคอนเทนต์ประเภทอื่น มูลค่าธุรกิจคอนเทนต์ในไทยโตต่อเนื่อง ยอดดาวน์โหลดแอปสำหรับสมาร์ทโฟนในไทยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านครั้งต่อเดือน และยังมีแนวโน้มโตขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตของสมาร์ทโฟน โดยใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีการเติบโตในแง่ยอดขาย 50% หากเทียบปี 2554 ปัจจุบันแอปที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือแอปเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก รองลงมาเป็นแอปประเภทเกม"

นายปรัธนากล่าวต่อว่า ในปี 2556 บริษัทจะพยายามร่วมกับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ตอบโจทย์การใช้งานลูกค้า โดยในปี 2555 เปิดโอกาสให้บริษัทหน้าใหม่ทั้งที่เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น, กราฟิกดีไซเนอร์ รวมไปถึงแคแร็กเตอร์ดีไซเนอร์เข้ามาร่วมงานกับเอไอเอส ปัจจุบันมีมากกว่า 500 ราย และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต มีจุดประสงค์เพื่อนำนวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่หลากหลายจากผู้ผลิตมายังลูกค้า หากแอปตัวใดประสบความสำเร็จอาจต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคตได้ด้วยผ่าน

โอเปอเรเตอร์ในกลุ่มสิงเทล

ด้าน "นายพิชิต ธันโยดม" หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านสารสนเทศ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทวิจัยการ์ดเนอร์ระบุว่า การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น

ทั่วโลกในปีนี้มี 45 ล้านครั้ง เป็นฟรีแอป 90% เติบโตจากปีที่ผ่านมาเท่าตัว ส่วนในประเทศไทยไม่ถึง 1% แต่เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน และคาดว่าในปีหน้าจะเติบโตในระดับเดียวกับปีนี้จากราคาสมาร์ทโฟนที่ปรับราคาลงมาจนผู้บริโภคทุกกลุ่มเอื้อมถึง

สำหรับกลุ่มทรูกำลังเร่งพัฒนาแอปเพื่อตอบโจทย์นี้เช่นกัน โดยปีที่ผ่านมาพัฒนาแอปให้บริษัทประกันใช้เคลมประกันผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก ขณะที่บริษัทประกันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเอกสาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเดิมเทคโนโลยีในการสร้างแอปพลิเคชั่นไม่เอื้ออำนวย บุคลากรที่มีก็มีความรู้น้อย ทำให้กว่าแอปตัวหนึ่งจะออกมาต้องใช้เวลานาน แต่ตอนนี้ทุกอย่างง่ายจนเด็กจบใหม่ทุกคนทำได้ ตลาดจึงอุดมไปด้วยคนที่ต้องการความสำเร็จผ่านการขายแอปพลิเคชั่น และเมื่อคู่แข่งเยอะ ความยากในการทำตลาดจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก

"นักพัฒนาทุกคนหวังที่จะสำเร็จ แม้จะเป็น 1 ใน 100 ถ้าแอปพลิเคชั่นที่ให้ดาวน์โหลดบนแอปสโตร์ของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ได้รับความนิยมขึ้นมา เช่น Whatsapp หรือ Line ก็จะมีรายได้มหาศาล เมื่อฐานผู้ใช้เยอะยังต่อยอดไปสู่การทำ In-App Purchase หรือการซื้อบริการภายในแอป เช่น สติ๊กเกอร์ หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ อย่างที่ Line ทำอยู่ได้ ถ้าสำเร็จก็เหมือนได้แจ็กพอต แต่โอกาสก็ยาก ก่อนทำจึงต้องคิดให้แตกต่าง คาดว่าปีหน้าแอปที่มาแรง น่าจะอยู่ในรูปแบบ Social Game"


ยุคทองทีวีดาวเทียม

กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดธุรกิจหนึ่งสำหรับ "ทีวีดาวเทียม" ซึ่งมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในปี 2555 และต่อเนื่องมาถึงจนวันนี้มูลค่ารวมของธุรกิจทีวีดาวเทียมที่คาดการณ์ในปี 2556 จากการเปลี่ยนขั้วของการใช้เม็ดเงินโฆษณาฟรีทีวี จะทำให้เม็ดเงินทีวีดาวเทียมก้าวกระโดดไปถึง "หมื่นล้าน"

การเคลื่อนที่ของเม็ดเงินโฆษณาสู่ทีวีดาวเทียม เป็นการตอบโจทย์สิ่งที่ผู้เล่นในสมรภูมินี้มองเห็น "ขุมทอง" สำคัญ และตัดสินใจกระโดดเข้ามาสู้ศึกในสมรภูมินี้อย่างห้ำหั่นในช่วงที่ผ่านมา

จะเห็นได้จากแพลตฟอร์มหลายรูปแบบที่บิ๊กเนมอย่าง แกรมมี่, อาร์เอส และเจ้าตลาดเดิม เข็นทั้งกล่องและแพ็กเกจรูปแบบต่าง ๆ ออกมาโปรโมชั่น ดัมพ์ราคากันสนั่น ทำให้เจ้าตลาดบอกรับสมาชิกอย่าง "ทรูวิชั่นส์" แอบร้อน ๆ หนาว ๆ

ศึกร้อนเริ่มอุณหภูมิเดือดหลังค่ายแกรมมี่ปั้นกล่อง "จีเอ็มเอ็ม แซท" ที่เป็นเสมือนผู้จุดพลุให้ทีวีดาวเทียมคึกคัก พร้อมใช้คอนเทนต์ฟุตบอลยูโรเป็นตัวดันกล่องเข้าสู่ใจผู้บริโภค ตั้งเป้ายอดขายไว้ถึง 2 ล้านกล่อง แต่ก็ไปไม่ถึงฝัน ปิดยอดขายได้เพียง 1.5 ล้านกล่องเท่านั้น

ฝั่งทรูวิชั่นส์ก็ไม่รอช้า ไม่นานนักก็ออกมาจับมือกับพีเอสไอ ขายกล่องราคาถูก 890 บาท เจาะตลาดแมสที่เป็นฐานใหญ่ของตลาด ก่อนพ่ายเสียคอนเทนต์พรีเมียร์ลีก อังกฤษให้แก่ "ซีทีเอช" หรือสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย ทำให้เจ้าตลาดอย่างทรูวิชั่นส์ต้องพลิกเกมสู่คอนเทนต์โพรไวเดอร์ พร้อมจับมือกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น

เรียกได้ว่าตลอดปี 2555 ทุกค่ายแข่งกันสร้างแพลตฟอร์ม หวังสร้างฐานสมาชิกเพื่อขยายต่อตลาดเพย์ทีวี ซึ่งแม้ว่ายอดขายจะไม่เคลื่อนไหวตามเป้าหมาย แต่แรงกระเพื่อมที่อุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมตื่นตัวครั้งใหญ่นี้ได้ส่งผลมาถึงภาพการแข่งขันในปี 2556

เป็นปีที่ศึกอุตสาหกรรมโทรทัศน์จะไม่จำกัดแค่การแข่งขันกันระหว่างแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่หมายถึงการแข่งขันกันข้ามแพลตฟอร์ม ที่ผู้ประกอบการทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีต้องฟาดฟันกันอยู่ในสนามนี้ โดยมีเดิมพันคือการ "มัดใจฐานผู้ชม"

รวมถึงทีวีดิจิทัล ที่จะชัดเจนและเริ่มเปิดประมูลในปี 2556 ซึ่งจะทำให้จำนวนช่องฟรีทีวีที่ไม่จำกัดอยู่แค่ 6 ช่อง แต่ขยายถึง 48 ช่อง นั่นก็หมายความว่าเม็ดเงินโฆษณาถูกแบ่งย่อยออกไปมากขึ้น

นับจากนี้จะได้เห็นผู้ประกอบการฟรีทีวีเร่งปรับตัว นำเสนอรูปแบบคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายและตรงใจผู้ชม และเตรียมยื่นประมูลขอใบอนุญาต "ทีวีดิจิทัล" เพื่อรักษาตลาด

"สมพร ธีระโรจนพงษ์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด เชื่อว่า ทีวีดาวเทียมจะยังไปได้ แม้ว่า กสทช.จะผลักดันทีวีดิจิทัล เพราะต้นทุนถูกกว่า ทั้งการให้บริการและต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพื่อรับชม ขณะที่ระบบทีวีดิจิทัลยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งปี 2556 ถือเป็นปีทองของพีเอสไอ เพราะได้รับใบอนุญาตแล้ว พร้อมต่อยอดธุรกิจต่อไป ส่วนภาพรวมปี 2556 ผู้ให้บริการที่มี 200-300 ช่องจะพยายามรักษาฐานลูกค้า พร้อมหาช่องทางอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

สอดรับกับ "นิรันดร์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโฟแซท จำกัด กล่าวว่า ปี 2556 จะเป็นปีของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับทีวีดาวเทียมจะต้องปรับตัว ตามกฎกติกาของ กสทช.ที่พยายามจะตีกรอบให้ทีวีดาวเทียมกลายเป็นเพย์ทีวี และจะทำให้เวลาโฆษณาเหลือแค่ชั่วโมงละ 6 นาที ซึ่งจะต้องหาโมเดลใหม่เข้ามาเพิ่มเพื่อเรียกเม็ดเงิน

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าปี 2556 จะได้เห็นการทำงานของกลไกการตลาด ที่มีการจับคู่พันธมิตรมากขึ้นจนทำให้เหลือกล่องรับสัญญาณไม่กี่ราย และจำนวนช่องทีวีดาวเทียมอาจต้องปิดตัวลงเหลือ 150-100 ช่อง จาก 200 ช่อง เพราะกติกาของ กสทช.

"เดียว วรตั้งตระกูล" กรรมการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ชี้ว่า กว่าที่ฐานผู้ชมทีวีดาวเทียมจะเดินมาถึงจุดบูมที่สุดในวันนี้ ต้องฝ่ามรสุมต่าง ๆ มามากมาย โดยทีวีดาวเทียมเกิดจากความต้องการเฉพาะกลุ่มของผู้ชมที่รับชมช่องฟรีทีวีไม่ได้

ก่อนที่จะขยายตัวขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีดาวเทียมจะเริ่มไต่จากหลักพันสู่หลักหมื่น และไม่นานก็จะไต่สู่หลักแสน เทียบเท่ากับช่องฟรีทีวีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโทรทัศน์จากบทเรียนของปี 2555 ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมรู้แล้วว่า แพลตฟอร์มไม่ใช่โจทย์ที่สำคัญ แต่คอนเทนต์ที่ดีคือสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะถ้าคอนเทนต์ดี ตรงใจผู้ชม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผู้บริโภคก็พร้อมที่เทใจให้

นั่นก็หมายถึงเม็ดเงินโฆษณาจากสินค้าต่าง ๆ ก็จะพร้อมเทตามมาด้วยเช่นกัน



















































__________________________________


เปิดโฉม5ธุรกิจสุดฮอตปี′56 ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่"ความงาม-3จี-กีฬา"มาแรง

ขณะเดียวกันเทรนด์การรักษาสุขภาพปลุกกระแสให้ธุรกิจกีฬามีความโดดเด่นและคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะ "ฟุตบอล" ซึ่งล้อไปตามกระแสความนิยมของ "ไทยพรีเมียร์ลีก" ที่ทวีความร้อนแรง และสร้างกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่นขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นขุมทรัพย์ให้ธุรกิจอีกมากมาย นอกจากนี้ กีฬา "มวยไทย" กับ "จักรยาน" ก็กำลังเป็นที่สนใจแพร่หลาย

ไม่แพ้ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ผลจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พลังงานจากฟอสซิลกำลังลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากหลากหลายภาคธุรกิจ โดดเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนอย่าง "พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม" มากขึ้น สอดรับกับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ

ขณะที่ 3 ยักษ์ผู้ให้บริการมือถือเตรียมเปิดให้บริการ 3G ช่วงกลางปี 2556 นี้ นอกจากธุรกิจมือถือจะก้าวถึงจุดเปลี่ยนแล้ว ยังจุดพลุให้กับธุรกิจพัฒนาแอปและคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ คึกคักและเติบโตแบบก้าวกระโดด นำเสนอสินค้าและบริการหลากหลายรูปแบบขึ้นมาอยู่บนสมาร์ทโฟน

ไม่ต่างไปจากธุรกิจทีวีดาวเทียม ที่ปี 2556 นี้จะเป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของผู้ประกอบการ หลังจาก กสทช.ได้เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตพร้อมกับการออกประกาศกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้วงการโฆษณาประชาสัมพันธ์พลิกโฉมหน้า มีการเปลี่ยนขั้วการใช้เม็ดเงินโฆษณาจาก "ฟรีทีวี" มาลง "ทีวีดาวเทียม" ระดับหมื่นล้านบาท ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้น่าจับตามองอย่างยิ่ง

คลินิกความงามฮอตข้ามปี

แม้จะเติบโตในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงนาทีนี้ "คลินิกความงาม" ก็ยังเป็นหนึ่งธุรกิจที่อยู่ในช่วง "ขาขึ้น"

และยิ่งแพร่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ ทั้งที่เป็นการเดินหน้าขยายการลงทุนเปิดสาขาของรายเดิม ขณะเดียวกันก็มีรายใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดเป็นระยะ ๆ

ไม่เพียงการเปิดให้บริการตามศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์เท่านั้น วันนี้คลินิกความงามได้รุกคืบมากขึ้น ชนิดว่าแทบจะเข้าไปเปิดให้บริการถึงหัวบันไดบ้านเลยทีเดียว แทบทุกตรอกซอกซอย มีคลินิกความงามผุด (สาขา) ขึ้นราวกับดอกเห็ด

การเติบใหญ่ของธุรกิจความงาม อีกมุมหนึ่งอาจสะท้อนได้จากยอดขายของธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีหลายค่ายที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนไปขยายสาขาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ อาทิ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ร้านจำหน่ายสินค้าความงาม ภายใต้แบรนด์ "Karmart" และบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านค้าปลีกสินค้าความงาม ภายใต้แบรนด์ Beauty Buffet, Beauty Cottage

จึงไม่น่าแปลกใจที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังจัดให้ธุรกิจการแพทย์และความงาม เป็นอันดับ 1 ใน 10 ธุรกิจเด่นในปี 2556 ด้วย

"ณกรณ์ กรณ์หิรัญ" คีย์แมน วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ให้ข้อมูลว่า ปรากฏการณ์ฟีเวอร์ของธุรกิจความงามที่เติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น หลาย ๆ ประเทศในแถบอาเซียนก็เติบโตไม่แพ้กัน

ส่วนการแข่งขันในประเทศ เขายอมรับว่า "ดุเดือดไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันมีคลินิกความงามขนาดเล็กเกิดขึ้นตามตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมาก"

จากคุณ : So magawn
เขียนเมื่อ : วันสิ้นปี 55 20:41:38




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com