@@@ขายเทป ซีดี ของถูกลิขสิทธิ์ แต่เป็นมือสอง ผิดกฎหมายหรือครับ@@@

...ตามหัวข้อเลยครับ...

จากคุณ : เจ็บเพื่อเข้าใจ [8 ธ.ค. 55 14:03:27 ]
ความเห็นที่ 1

ที่คนจนๆเค้าโดนกัยเป็นแสนๆก็ไอ้คดีนี่แหละ
ห้ามดัดแปลงแก้ไขทำซ้ำและอะไรต่อมิอะไร
ถ้าจับจริงๆอะตัวใหญ่ๆรายย่อยๆเยอะแต่เหมือนแกล้งแจ้งให้ตำรวจจับแต่คนจนเก็บของเก่าไม่รู้หนังสือไม่ได้ดูข่าวไม่มีเส้นสาย

จากคุณ : via iPhone (ถึงน้ำจะเน่า) [8 ธ.ค. 55 14:27:47 ]
ความเห็นที่ 2

...กฎหมายแบบนี้ทำไมมันถึงออกมาได้ครับ ผมล่ะงง สินค้ามันก็เหมือนกับทุกๆ อย่างที่เป็นมือสอง
แต่ไหง ของพวกนี้พอมานำขายผิดกฎหมาย!!!

จากคุณ : เจ็บเพื่อเข้าใจ [8 ธ.ค. 55 14:31:06 ]
ความเห็นที่ 3

ผมพบคำถามคล้ายกัน (และคำอธิบาย) ที่นี่ครับ
http://www.htg2.net/index.php?topic=70864.15

จากคุณ : พุงป่องใส่แว่น [8 ธ.ค. 55 15:12:31 ]
ความเห็นที่ 4

อย่างนี้หนังสือมือสองก็ต้องโดนจับด้วยสิ

จากคุณ : asker2008 [8 ธ.ค. 55 16:06:20 ]
ความเห็นที่ 5

เป็นกฎหมายที่ควรแก้ไขโดยเร็วครับ

http://www.dailynews.co.th/article/358/168962
การบังคับใช้กฏหมายกับการขายแผ่นซีดีและดีวีดี

คดีที่คนฐานะยากจนและพนักงานเก็บขยะ กทม. ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหานำแผ่นซีดีภาพยนตร์เก่ามาขายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยกำลังมีปัญหา ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของกฎหมายฉบับนั้น เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เกิดจากการผลักดันของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิงของประเทศไทยที่เป็นทั้งผู้สร้างสรรค์งานและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เพื่อจะมีเครื่องมือจัดการกับขบวนการหรือกลุ่มบุคคลที่นำเอางานภาพยนตร์ ทั้งในรูปแบบซีดีและดีวีดีไม่ว่าจะมีลิขสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่ ทำการจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและรับผลประโยชน์เป็นล่ำเป็นสันมาเป็นเวลานาน แต่เมื่อกฎหมายฉบับนี้ถูกนำมาบังคับใช้จริง กลับกลายเป็นว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีคือผู้ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำเก็บของเก่าขายแทนที่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เจตนาจะทำผิดกฎหมายตามที่ตั้งใจไว้
 
จำเลยในคดีดังกล่าวไม่ได้ถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ เพราะแผ่นซีดีภาพยนตร์ที่นำมาวางขายนั้น แม้จะเป็นแผ่นเก่าที่เก็บมาจากกองขยะ แต่ถือเป็น “แผ่นแท้” ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ การดำเนินคดีตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้นั้น ต้องมีผู้เสียหายไปร้องทุกข์ก่อน ตำรวจจึงจะเริ่มดำเนินการจับกุมและสอบสวนได้ แต่ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 53 บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจร้านวีดิทัศน์ หรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ซึ่งการนำแผ่นซีดีหรือดีวีดีภาพยนตร์ไม่ว่าจะมีลิขสิทธิ์ถูกต้องหรือไม่มาตั้งแผงขายต่อ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ถือเป็นการประกอบกิจการขายซีดีหรือดีวีดีโดยผิดกฎหมายแล้ว หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นการทำความผิดก็สามารถเข้าควบคุมตัวได้ทันที และในมาตรา 82 ของกฎหมายฉบับเดียวกันบัญญัติว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 วรรคหนึ่ง หรือประกอบกิจการดังกล่าวระหว่างถูกพักใช้หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน
 
แม้โทษทางอาญาที่มีการบัญญัติไว้จะเป็นโทษปรับเพียงสถานเดียว แต่ถือเป็นอัตราโทษปรับที่สูง การนำบทกฎหมายนี้ไปบังคับใช้กับคนทำงานหาเช้ากินค่ำหรือผู้ที่มีรายได้น้อย แม้ผู้กระทำผิดจะรับสารภาพและศาลจะให้ความเมตตาลงโทษปรับในอัตราต่ำสุดที่ 100,000 บาท แต่ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่าผู้กระทำผิดโดยส่วนใหญ่ ย่อมไม่มีเงินที่จะนำไปชำระค่าปรับอัตราต่ำสุดดังกล่าวได้ ผลที่ตามมาจากการไม่สามารถชำระค่าปรับตามคำพิพากษาได้ก็คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 ได้กำหนดให้เปลี่ยนโทษปรับดังกล่าวไปเป็นโทษกักขังแทน โดยคิดในอัตราวันละ 200 บาท ดังนั้นแม้จะถูกปรับในอัตราต่ำสุด แต่หากไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องถูกกักขังโดยผลของกฎหมายเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 500 วัน สุดท้ายก็ต้องเดินเข้าเรือนจำกลายเป็นนักโทษชายหรือหญิงอยู่ดี
 
การจะแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ได้คงต้องเริ่มจากทั้งตำรวจและอัยการ ซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ต้องทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายว่า ควรจะนำกฎหมายฉบับนี้ไปบังคับใช้กับคนกลุ่มใด ก็จะทำให้การทำงานของตำรวจไม่หลงทางอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ หรือเมื่อสำนวนการสอบสวนถูกส่งขึ้นมาที่พนักงานอัยการแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดก็ต้องพิจารณาว่าการสั่งฟ้องในคดีที่ผู้กระทำผิดตามกฎหมายฉบับนี้ที่เป็นเพียงคนยากจนนำของเก่ามาขายเพื่อนำเงินไปเลี้ยงชีพในแต่ละวัน จะเป็นการฟ้องคดีที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ หากเห็นได้อย่างชัดเจนว่าฟ้องไปแล้วจะไม่เกิดประโยชน์ สำนักงานอัยการสูงสุดก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องได้ ซึ่งถือเป็นการยุติปัญหาเสียแต่ต้นทางโดยไม่จำเป็นต้องผลักภาระไปให้ศาลยุติธรรม ที่ผ่านมาเคยมีการกระทำผิดในลักษณะที่คล้ายกันเกิดขึ้นมาแล้ว และสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้ใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะเห็นว่าการฟ้องคดีจะไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น คดีที่พนักงานร้านสะดวกซื้อขโมยเอาซาลาเปาที่ขายไม่หมดในแต่ละวันไปให้ลูกของตนเองกิน และคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายศุลกากรบางคดี เป็นต้น
 
ในพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เองก็ควรจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย เช่น กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะของการยกเว้นความผิดสำหรับการกระทำบางอย่าง เช่น การจำหน่ายตามแผงลอย แบกะดิน หรือตามทางเท้า โดยมีเงื่อนไขว่าการขายซีดีหรือดีวีดีภาพยนตร์ที่จะได้รับการยกเว้นความผิดต้องเป็นการขายเฉพาะแผ่นที่ถูกต้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์เท่านั้น เพราะจากที่ผ่านมาปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากความไม่ชัดเจนของกฎหมายทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะเถรตรงจนกลายเป็นปัญหาในสังคมขึ้น นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้แม้จะบังคับใช้มาได้ระยะหนึ่ง แต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจกฎหมายนี้อย่างถูกต้อง กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ก็ควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และเผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เกิดความเข้าใจ หากทำได้ดังที่กล่าวมาก็อาจจะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นบรรเทาเบาบางลง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงได้ และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม.

รุจิระ บุนนาค
Rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter :@RujiraBunnag

จากคุณ : ไซโค เสก [8 ธ.ค. 55 17:26:27 ]
ความเห็นที่ 6

ถ้าจ่ายเงินตำรวจ จะไม่โดน ครับ  


ล้าน %  


พวกร้านขาย DVD ก๊อป ที่ตั้งแผงกันใหญ่โต  เพื่อน ๆ เคยสังเกตุมั้ยครับ ว่าจะมีป้ายเล็ก ๆ ประมาณกระดาษ A4 แปะอยู่  ซึ่งข้อความบนป้าย ก็ไม่ใช่ชื่อร้าน หรือโฆษณาอะไร มันคือป้ายจ่ายส่วยตำรวจไงครับ

เช่น  leo  ป  จ  

ไม่เพียงแต่ธุรกิจนี้อย่างเดียว  รถตู้ให้บริการ ก็เช่นกัน ... มีสติ๊กเกอร์ ... เท่านั้น ก็สามารถจอดตรงไหนก็ได้  .. จราจร ไม่จับ จ้าาาา  


ที่นี่แหละ ประเทศไทย ...

จากคุณ : กระบือหน้าหวาน (MR.Bigsu) [8 ธ.ค. 55 17:31:09 ]
ความเห็นที่ 7

ไม่ต้องยุ่งอะไรเกี่ยวกะแกรมมี่ ก้อจบครับ

จากคุณ : สุดโหดโคตรโรแมนติค [8 ธ.ค. 55 19:09:04 ]
ความเห็นที่ 8

...จริงๆ แล้ว กฎหมายนี้ควรแก้ไขจริงๆ เพราะมันเป็นช่องทางหากินของค่ายเพลงที่ไม่เป็นธรรม...

...เอาเปรียบมากๆ ของๆ เราแท้ๆ เอาไปขาย ผิดกฎหมาย กฎหมายเฮงซวย เอาเปรียบผู้บริโภค

จากคุณ : เจ็บเพื่อเข้าใจ [8 ธ.ค. 55 21:44:57 ]
ความเห็นที่ 9

ผิดเพราะไม่มีใบอนุญาตให้ขายค่ะ

จากคุณ : แลไกลไกล [9 ธ.ค. 55 00:40:26 ]
ความเห็นที่ 10

แผ่นมือสอง ขายได้ไม่ติด กม ลิขสิทธิื แต่ขายไม่ได้เพราะต้องมีใบอนุญาตขายครับ

จากคุณ : หอมมาก [9 ธ.ค. 55 19:24:11 ]
ความเห็นที่ 11

ขายได้ที่ร้านรับซื้อมือสอง

จากคุณ : เม่าน้อยสู่พญาปลวก [11 ธ.ค. 55 14:13:00 ]