ผลเสวนา นำเสนออย่างไร (สื่อ) จึงไม่ผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศ

สังคมที่เปิดกว้างและแข่งขันกันตลอดเวลา ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการเผยแพร่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมจึงมีอิสระเสรีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จนบางครั้งทำให้ผู้ทำหน้าที่ “สื่อ” นำเสนอข่าวสารที่รุนแรง เกินเลย มีอคติและมุมมองที่จำกัด จนลืมนึกถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับสารและผู้ได้รับความเสียหาย    จากข่าว

มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมีเดียมอนิเตอร์ จัดงานเสวนานำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศ” ที่ปรากฏผ่านละครซิทคอม และข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ ต่อด้วยการเสวนาเรื่อง นำเสนออย่างไร (สื่อ) จึงไม่ผลิตซ้ำความรุนแรงและอคติทางเพศ โดยมี รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ (สสส.) และ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ เข้าร่วมเสวนา

จากผลการศึกษาข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมติชนรายวัน ในช่วงวันที่ 1 พ.ค.–31 ต.ค. 2555 พบข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเพศ โดย ข่าวความรุนแรงในชีวิตคู่ มีจำนวนมากที่สุด รองลงมาเป็นข่าวการข่มขืน ข่าวภาพลักษณ์ความงาม ตามมาด้วยข่าวล่อลวงเพื่อทำอนาจาร ข่าวความหลากหลายทางเพศ ข่าวการท้องไม่พร้อม ทำแท้ง และการทิ้งเด็กทารก ข่าวการละเมิดทางเพศเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และข่าวการล่อลวงเพื่อค้าประเวณี

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงความคิดเห็นต่อผลการศึกษาการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ว่า แม้เวลาผ่านไป 5 ปี 10 ปี แต่สื่อกระแสหลักที่ศึกษายังนำเสนอในเรื่อง ความรุนแรงและอคติทางเพศไม่เปลี่ยนแปลงนัก โดยมีการนำเสนอข่าวแบบสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบเนื้อหาข่าว ภาพข่าว หรือแม้กระทั่งภาพการ์ตูนล้อเลียน ก็นำเสนอและเน้นเรื่องอคติทางเพศมากเกินไป ส่วนการผลิตซ้ำและการสืบทอดของระบบความคิด ภาษา สัญลักษณ์ และพฤติกรรม ที่ทำให้เกิด “วงจรอคติทางเพศ” ในสังคมไทย โดยรากฐานของความรุนแรงทางเพศนั้นเกิดจากการส่งผ่านความรุนแรงทางวัฒนธรรม ทางโครงสร้าง และไปสู่ความรุนแรงทางตรงต่อเพศนั่นเอง

“อยากฝากให้สื่อมวลชนทำหน้าที่ในการ นำเสนอเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อเป็นการสะท้อนภาพความเป็นจริงออกมาให้มากที่สุด ควรให้ความสำคัญกับเรื่องอคติและความรุนแรงทางเพศไม่ว่าจะเป็นการทำสกู๊ปข่าว หรืออื่น ๆ หากสื่อมวลชนทำแบบนี้ ย่อมส่งผลให้ประชาชนได้มองเห็นปัญหาและเกิดความเห็นใจมากขึ้น ถือว่าเป็นการช่วยกันกระตุ้นสังคมได้ดีอีกทางหนึ่ง” รศ.ดร.กฤตยา เสนอแนวทาง

“ประเทศไทยควรมีการกำกับดูแลร่วม หรือที่เรียกว่า Co–Regulation ซึ่งปัจจุบันเรามีแต่ระบบการกำกับโดยรัฐ และการกำกับดูแลกันเอง และให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและสะท้อนกลับมายังสื่อ รวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีการติดตามศึกษาของทุกเพศ ในทุกนโยบายของสื่อและสังคมว่ามีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เกี่ยวข้องหรือไม่ สำหรับผู้บริโภคนั้น ควรปรับความคิด ทัศนคติ ความเชื่อและมุมมองใหม่ ที่มีต่อเพศหญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย” รศ.ดร.วิลาสินีเสนอแนวทางทิ้งท้าย

ไม่ใช่เพียงแค่สื่อเท่านั้น ที่ต้องหันกลับมามอง และทำความเข้าใจในเรื่องการนำเสนอเรื่องค่านิยมทางเพศอย่างถูกต้อง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมถึงผู้บริโภคเองควรให้ความสำคัญและเปิดรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณ เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือเพศใด ๆ ก็ตาม อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม.


http://www.dailynews.co.th/article/728/173916


ทำไมนสพ. ต้องลงแต่ข่าวร้ายๆ พาดหัวใช้แต่คำแรงๆ

การดูแต่ละครอิจฉาริษยากันหรืออ่านข่าวที่พาดหัวแรงๆ ทุกวันส่งผลต่อสภาพจิตใจและพฤติกรรมของคนในสังคมแค่ไหน

จากคุณ : หมาป่าดำ [23 ธ.ค. 55 10:25:52 ]
ความเห็นที่ 1

ขอบพระคุณสำหรับข่าวสารดีดีครับ
น่าเศร้าใจที่กระทู้ดีดี ไม่ค่อยมีใครมาโพสต์

ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเป็นปรากฏการณ์ผลิตซ้ำอาจเนื่องจากคนไทยเองก็ชอบเสพข่าวประเภทนี้ครับ

จากคุณ : MisterTon [24 ธ.ค. 55 14:22:28 ]