เปิดบันทึก"ดีเอสไอ" เช็กบิล"บิ๊ก กทม."ปม"บีทีเอส"

เปิดบันทึก"ดีเอสไอ" เช็กบิล"บิ๊ก กทม."ปม"บีทีเอส"
ที่มา - คณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำบันทึกรายงานผลความคืบหน้าคดีพิเศษที่ 166/2555 พร้อมขอความเห็นชอบแจ้งข้อหาหรือออกหมายจับผู้ต้องหา กรณีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เห็นชอบดำเนินการตามเสนอ

ตามที่คณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ข้อ 4 และข้อ 16 กล่าวคือ ได้รับหนังสือร้องเรียนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเพื่อรับคดีความผิดทางอาญา เรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการบริหารงานของส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยขอให้ตรวจสอบและกล่าวโทษให้เอาผิดกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และคณะผู้บริหาร กทม. กรณี กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม. ลงนามในสัญญาว่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสาธารณชน อันอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

จากการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปว่า (1) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535 กทม. โดย นายทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา ปลัด กทม. ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผู้ว่าฯกทม. ลงนามในสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ระหว่าง กทม. กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด ในสัญญาสัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร สัญญามีกำหนด 30 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2552-5 ธันวาคม 2572 เส้นทางสัมปทานรวมระยะทาง 23.5 กิโลเมตร ตั้งแต่สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และเส้นทางตั้งแต่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ถึงสถานีวงเวียนใหญ่

โดยความเห็นชอบอนุมัติสัมปทานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้แต่งตั้งผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ที่ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายเป็นพนักงานดูแลการดำเนินการตามสัญญาสัมปทาน ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ มท. 1101/5607 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2535

ต่อมาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 กทม. โดย นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม.ขณะนั้นปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯลงนามสัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน กทม. กับบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม.

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 กทม. โดยบริษัท กรุงเทพธนาคมฯ กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ Bangkok Mass Transit System Public Company Limited (BTSC) ร่วมกันลงนามในสัญญาใช้ชื่อว่า สัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ฝ่ายแรกในฐานะเป็น "ผู้บริหารระบบ" และฝ่ายหลังในฐานะเป็น "ผู้ให้บริการ" มีสาระสำคัญของสัญญาฉบับนี้ คือ 1.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร มี 4 เส้นทาง ประกอบด้วย เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีสะพานตากสินถึงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร เส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 จากซอยสุขุมวิท 85 ถึงซอยสุขุมวิท 107 ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร เส้นทางส่วนต่อขยายสายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) จากสถานีวงเวียนใหญ่ (S8) ถึงสถานีตลาดพลู ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร และเส้นทางสัมปทาน ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร

โดยให้สัญญานี้มีอายุ 30 ปี และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2555-2 พฤษภาคม 2585

ในการทำสัญญาดังกล่าวมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการกระทำที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายกำหนด

ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทย โดย รมว.มหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท. 0100/3959 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 แจ้งต่อดีเอสไอ ยืนยันพอสรุปได้ว่า รมว.มหาดไทย เคยอนุมัติให้สัมปทานไว้ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท. 1101/5607 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2535 และไม่ได้มอบอำนาจในการอนุมัติสัมปทานให้กับ กทม.แต่อย่างใด อำนาจในการอนุมัติให้สัมปทานระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 แม้ รมว.มหาดไทย จะเคยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท. 1101/5607 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2535 แต่งตั้งผู้ว่าฯกทม. หรือผู้ที่ผู้ว่าฯกทม.มอบหมายเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็เพียงมีหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติกิจการควบคุมดูแลให้เป็นไปตามกรอบกำหนดของสัญญาสัมปทานที่ รมว.มหาดไทยได้อนุมัติไว้เท่านั้น

ดังนั้น การที่ กทม.ลงนามสัญญาทั้งสองสัญญา ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อสัญญาดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงมหาดไทย ยังได้ยืนยันเพิ่มเติมอีกว่าสัญญาบริหารโครงการระบบขนส่งกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 เป็นผลมาจากการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยาย ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ชนิดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าวิ่งบนรางคู่ยกระดับสูงจากพื้นดิน มีลักษณะเป็นรถราง ย่อมส่งผลให้สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นกิจการการรถราง และเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย ตามข้อ 3 และข้อ 11 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58

อีกทั้งโครงการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพ มหานครที่ได้ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2535 ก็เป็นกิจการเกี่ยวกับรถรางซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เคยอนุมัติให้สัมปทานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เช่นกัน

ดังนั้น การที่กรุงเทพมหานครทำสัญญาจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด บริหารโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 และต่อมาบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ตามสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

จึงเป็นการดำเนินการที่มีลักษณะเป็นกิจการการรถรางซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย   การดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงต้องได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

จากการตรวจสอบยังไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เคยอนุญาตหรือให้สัมปทานในการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด

ส่วน กทม.ยืนยันว่า ทำสัญญาโดยอาศัยอำนาจตามข้อบัญญัติของ กทม.ที่ใช้บังคับหรือก่อให้เกิดสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ระหว่างบริษัทระบบขนส่งมวลชนฯ และบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ คือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องก่อตั้งหรือถือหุ้น พ.ศ.2552 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการพัสดุที่เกี่ยวกับการจัดจ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ นอกจากนั้นเป็นกรณีที่ กทม.บริหารจัดการทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม.โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 89(8) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 281 ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 18 ที่บัญญัติให้ กทม.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง

ดังนั้น การต่ออายุสัญญาสัมปทานต้องได้รับอนุมัติจาก รมว.มหาดไทยนั้น เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งหากจะขยายอายุสัมปทานในขณะนี้ โดย กทม.ได้แสดงหลักฐานหลายอย่างประกอบ อาทิ สัญญาสัมปทาน สัญญาจ้างและสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เป็นต้น รวมถึงข้อกฎหมายที่ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำบริการสาธารณะและ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เป็นต้น

หลังได้พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายพนักงานสอบสวนมีข้อพิจารณาว่า การประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรถราง) กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นสาธารณูปโภคที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยและความผาสุกของประชาชนโดยรวม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหรือ กทม.จึงไม่อาจกระทำโดยลำพังได้

ดังนั้น ไม่ว่า กทม.จะระบุข้อความในสัญญาว่าเป็นสัญญาประเภทใดๆ ก็ตาม หากในสัญญาเป็นการแก้ไข หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในสัญญา อันมีผลกระทบให้สัมปทานเดิมมีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งการต่ออายุสัญญา จากสัมปทานเดิมไปอีกเกือบ 13 ปี (4 ธันวาคม 2572-

4 ธันวาคม 2585) และทำสัญญาส่วนต่อขยายสายสีลมและส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทไปอีกรวมระยะเวลา 30 ปี โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ลักษณะสัญญาที่ทำขึ้นใหม่ก็เพื่อให้มีผลเป็นการให้สัมปทานล่วงหน้า ในการให้สิทธิขาดระยะยาวในการครอบครองหรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหรือทรัพย์สินใดๆ ของรัฐบาลที่ต้องการจัดสรรให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยอาจมีค่าใช้จ่าย อื่นๆ ตามแต่ตกลง

กล่าวโดยสรุป แม้จะกล่าวอ้างว่าเป็นสัญญาว่าจ้างโครงการบริหารระบบขนส่งมวลชน กทม.หรือสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงก็ตาม ก็เป็นการอ้างชื่อสัญญาดังกล่าวบังหน้าแต่เนื้อหาของสัญญาเป็นการอนุญาตหรือให้สัมปทานกับเอกชนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายนั้นเอง

การกระทำของผู้เกี่ยวข้องในการเสนอโครงการฯ หรือผู้เห็นชอบหรืออนุมัติโครงการตลอดทั้งผู้ลงนามในสัญญาดังกล่าวโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ จึงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่มีหน้าที่กระทำตามกฎหมายโดยไม่ ต้องพิจารณาว่าจะเป็นความผิดฐานอื่นอีกหรือไม่ เพราะไม่ว่าความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552, เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2552 นั้นเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเกือบทั้งสิ้น

แต่มูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดของกลุ่มผู้ต้องหาที่ร่วมกันกระทำผิดในครั้งนี้ มีสาเหตุหลายประการคือ มาจากการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ประกอบกับผู้บริหาร กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งใกล้จะครบวาระในต้นปี 2556 นี้ จึงมีการรีบเร่งจัดให้มีการต่ออายุสัญญาสัมปทานเดิมไป อีก 17 ปี ทั้งๆ ที่ยังเหลืออายุสัญญาสัมปทานเดิมอีก 13 ปี และทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงฯ ในส่วนต่อขยายไปใน คราวเดียวกัน 3 เส้นทางในสัญญาเดียวกัน ให้มีผลในระยะยาวมีอายุสัญญาถึง 30 ปี และใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินจำนวนมหาศาล เป็นการสร้างความผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นคู่สัญญากับรัฐโดยมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรม

ที่อ้างว่า กทม.จะได้รับประโยชน์ต่างๆ เป็นการอ้างที่เลื่อนลอยในอนาคต เพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้รับสิทธิประโยชน์จากทางราชการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ตามวิสัยและพฤติการณ์ของคดีนี้จึงเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องในการกระทำผิดมีเจตนาร่วมกันฝ่าฝืนกฎหมายอย่างชัดเจน และสมควรต้องรับผิดชอบในผลการกระทำผิดทุกคน

ประกอบด้วย นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด, นายอมร กิจเชวงกุล ผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด, นายคีรี กาญจนพาสน์ ผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC), นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (BTSC), นายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ในฐานะผู้ขออนุมัติในหลักการโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2555

นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัด กทม. ในฐานะได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติและลงนามตามเสนอโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555, นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. ในฐานะเป็นผู้เห็นชอบและลงนามปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯกทม. ให้ความเห็นชอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2555, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ในฐานะผู้ควบคุม กำกับ ดูแลบริหาร กทม., นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม. (ขณะนั้น) ลงนามในสัญญาจ้างโครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน กทม. กับบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
ที่มา:มติชนออนไลน์มติชน 31 ธันวาคม 2555
................................................................

จากคุณ : หน๋มสายไหม [วันสิ้นปี 55 13:46:39 ]A:171.4.100.110 X:
ความเห็นที่ 1

สวัสดีปีใหม่ค่ะ  คุณ หน๋มสายไหม
แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจนะคะ

จากคุณ : ลมสบาย [วันสิ้นปี 55 14:01:10 ]A:110.168.125.44 X:
ความเห็นที่ 2

สวัสดีปีใหม่ครับคุณลมสบาย

จากคุณ : หน๋มสายไหม [วันสิ้นปี 55 14:04:16 ]A:171.4.100.110 X:
ความเห็นที่ 3

หลังปีใหม่ คงได้เห็นอะไรใหม่ๆที่ดีๆที่ไม่เคยคาดหวังเกิดขึ้นนะคะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ สุขใจ ไร้ทุกข์ค่ะ

จากคุณ : ทองรำไร [วันสิ้นปี 55 14:10:21 ]A:58.9.49.44 X:
ความเห็นที่ 4

พวกโหนเลยไม่กล้าออกมาทำนายฟันธงบ้างเลย มีแต่ปีที่แล้วต่างพากันออกมาทำลายด้วยคำทำนาย

จากคุณ : สัจจะธรรมคือความจริง [วันสิ้นปี 55 14:14:36 ]A:124.121.176.237 X:
ความเห็นที่ 5

Happy New Year 2556 krab

จากคุณ : Merati [วันสิ้นปี 55 15:17:08 ]A:124.121.132.205 X:
ความเห็นที่ 6

ใกล้ปีใหม่แล้วอีกไม่กี่ชั่วโมง  ดีใจที่อยู่จนเกือบถึงอีกปี โชคดีปีใหม่ครับพี่น้อง

จากคุณ : พี่ตุ้ม [วันสิ้นปี 55 16:29:24 ]A:49.48.22.22 X: