“ซีพีเอฟ” โมเดล 3 ผสาน ขอใบอนุญาตสังคม เบิกทางธุรกิจ..(เราจะโตอย่างต่อเนื่อง)

“อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตนเอง และดินน้ำป่าคงอยู่” คือ กลยุทธ์ซีเอสอาร์ 3 ประสาน ของ ซีพีเอฟ หลังเปิดโรดแมพ 5 ปี สู่เป้าหมายครัวของโลก

“การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรือการทำซีเอสอาร์ที่ยั่งยืน คือ ใบอนุญาตจากสังคม”

“วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บอกถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ปฏิเสธไม่ได้ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม

เพราะนี่ไม่ต่างจาก “ใบอนุญาต” ที่สังคมมอบให้กับกิจการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เพื่อที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน

“ถ้ายังอยู่กับที่ ขีดความสามารถเราสู้ใครไม่ได้แน่ เพราะว่ากระแสทั่วโลกบีบเราอยู่ วันนี้ในอาเซียนหลักๆ ที่เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว คือ ที่สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีมาตรฐานสูงในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคม การที่บริษัทเราจะไปแข่งขัน ไปลงทุน เพิ่มทุน หรือขยายธุรกิจที่ใดก็ตามในอนาคต ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ถ้าคุณเคยทำไม่ดีไว้ แล้วประชาชนเขาไม่ยอมรับ คุณก็ทำอะไรไม่ได้”

การเดินเกมธุรกิจ ที่ต้องมาพร้อมความชัดเจนด้านนโยบายเพื่อสังคม ไม่ทิ้งน้ำหนักด้านใดด้านหนึ่ง สอดรับปรัชญาการทำงานแบบซีพีเอฟ ที่ต้องตอบ 3 ประโยชน์ คือ เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กร เพราะสนามแข่งของพวกเขาตีวงกว้างไปในตลาดโลก ในฐานะธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่ครอบคลุม 10 ประเทศทั่วโลก ส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และอาหารกึ่งปรุงสุกและปรุงสุก ไปมากกว่า 40 ประเทศ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานใต้ตราสินค้า “CP” ทั้งในและส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

“เราเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารป้อนประชากรกว่าครึ่งโลก จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้มีความรู้ เชี่ยวชาญ เป็นมืออาชีพ มีความสุขในการทำงานและรับผิดชอบต่อสังคม มองว่าหัวใจในการดำเนินงาน คือ การมีส่วนร่วม ซึ่งไม่เฉพาะมีส่วนร่วมในบริษัทเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กร ชุมชน และสังคม”

ในบ้านเราอาจยังเฉยๆ กับการตรวจสอบธุรกิจ ยังคงทุ่มน้ำหนักไปกับแค่ราคาของสินค้า เรียกว่าถ้าพอใจก็ยินดีควักกระเป๋า แต่กับในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างยุโรปและอเมริกา ประชาชนของเขาอยู่เหนือผู้ประกอบการ ฉะนั้นถ้าบริษัทไหนทำไม่ดีไว้ ผู้บริโภคก็จะต่อต้านสินค้านั้น วิธีนี้จะเป็นการบีบให้ผู้ผลิตต้องเร่งปรับตัว และคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

"บ้านเราอาจยังสนใจเรื่องนี้น้อย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังมองเรื่องของราคาเป็นหลัก ซึ่งถ้าจะทำให้เกิดได้เร็วขึ้น ก็ต้องเริ่มที่ “ผู้ผลิต” นี่แหละ แล้วส่งผ่านไปยังผู้บริโภค แล้วเราก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคได้เร็วขึ้น” เขาบอกวิธีคิด ที่ไม่เพียงแต่ซีพีเอฟคิด

ทว่าแนวโน้มของธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น ดูได้จากผู้ซื้อสินค้ารายใหญ่อย่าง เทสโก้โลตัส ที่เริ่มเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานในทุกจุด เรียกว่าตั้งแต่ต้นทางของสินค้า ว่ามีอะไรที่ไปกระทบต่อ ผู้บริโภค สังคมและสิ่งแวดล้อมบ้าง หันมาดูแลเรื่องพวกนี้อย่างใกล้ชิดและจริงจังมากขึ้น

วันนี้เราเลยเห็นแผนงานซีเอสอาร์ สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ของคนที่ประกาศตัวเป็นครัวของโลก อย่างซีพีเอฟ โรดแมพ 5 ปี ที่มาพร้อมพันธกิจและกลยุทธ์ซีเอสอาร์ 3 ประสาน คือ “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตนเอง และดินน้ำป่าคงอยู่” ด้วยวิธีคิดที่ว่า…

เมื่อใดก็ตามที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงอยู่ ประชาชนยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ธุรกิจก็ย่อมสามารถเจริญเติบโตในระยะยาวได้อย่างมีเสถียรภาพ

“เมื่อก่อนอาจยังเห็นภาพไม่ค่อยชัด แต่วันนี้โรดแมพ 5 ปี จะทำให้ทุกอย่างชัดเจนขึ้น และมีผลกระทบต่อกระบวนการทางสังคมมากขึ้น ในวันนี้ธุรกิจอาหารเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เราจึงต้องมองถึงเรื่องความยั่งยืน และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้เกิดขึ้น”

การทำธุรกิจเพื่อไปสู่ความยั่งยืน นำมาซึ่งกลยุทธ์เชิงลึกและไม่ฉาบฉวย และไม่ใช่มีแต่สังคมที่ได้ แต่ธุรกิจก็ได้ด้วย อย่างการ เข้มงวดในการควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และรับผิดชอบตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ แปรรูอาหาร ไปจนการจัดจำหน่าย โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา และดำเนินธุรกิจตามระบบมาตรฐานสากล ทั้งด้านคุณภาพและความปลอดภัย

ควบคู่กันไปคือ ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยนโยบาย “CPF Go Green รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม” การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดธุรกิจสีเขียว (Green Business)

รวมถึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั้งองค์กร ด้วยการจัดตั้ง “สำนักนวัตกรรม” มีผู้เชี่ยวชาญร่วมวางกรอบการพัฒนานวัตกรรม เพื่อกำหนดแนวทางด้านนวัตกรรมของพวกเขา ตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ชุมชน เหล่านี้ เป็นต้น

นโยบายเพื่อสังคม จะดอกออกผลได้ก็ต้องมาจากหัวใจสำคัญคือ “พนักงาน” เขาสะท้อนหนึ่งการสร้างคนแบบซีพีเอฟ ที่มีการปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะ แนวคิดเพื่อสังคมไปพร้อมกับแผนการสร้างคน

“เรามีหลักสูตรอบรมตั้งแต่ ระดับผู้บริหารไปจนพนักงานทั่วไปในกระบวนการคิดเรื่องซีเอสอาร์ ขณะเดียวกันก็ไปสร้างจิตวิญญาณในการดูแลสังคมที่ดีให้กับผู้ปฏิบัติ การรับคนเข้าทำงาน เราก็ไม่ได้ดูว่าเขาเก่งที่สุด หรือจบเกียรตินิยมมาแต่ดูว่าเขาทำสาธารณะประโยชน์อะไรมาบ้าง วิธีนี้นอกจากจะดึงดูดคนดีๆ เข้ามาทำงานกับเรา ยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับพนักงานด้วย ที่ได้ทำงานในองค์กรซึ่งเขาเห็นว่าดีและมีประโยชน์ต่อสังคม”

นี่คือวิธีคิด และวิถีปฏิบัติแบบซีพีเอฟ ที่ทำให้พวกเขาคว้า รางวัล CSRI Recognition 2012 ด้าน Most Improved CSR : บริษัทจดทะเบียนที่มีพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จากสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม(CSRI)ภายใต้การดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันการเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

จากคุณ : หมูอวบ [20 ธ.ค. 55 19:01:54 ]
ความเห็นที่ 1

การพัฒนาต้องจาก ฐานสู่ด้านบน ... ผมทำงานอยู่ อืม... - -''

จากคุณ : ToonFx [20 ธ.ค. 55 20:34:08 ]
ความเห็นที่ 2

cpf มีแต่แรงโม้ ... แรงม้าไม่มี
ข่าวดีเต็มเหยียด ... แต่กำไรหดลงทุกวัน

จากคุณ : ion (จิ้งจกสายฟ้า) [20 ธ.ค. 55 21:30:42 ]
ความเห็นที่ 3

สาย Feed ผมกำไรเยอะนะครับ lml  >___<'' lml"
ยอดตอนนี้ ทั้ง 11 โรงงานแทบไม่ได้หยุด...

จากคุณ : ToonFx [20 ธ.ค. 55 23:14:49 ]