เปิดโฉม5ธุรกิจสุดฮอตปี 56 ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่"ความงาม-3จี-กีฬา"มาแรง

31 ธ.ค. 2555 เวลา 10:23:27 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์  



ขณะเดียวกันเทรนด์การรักษาสุขภาพปลุกกระแสให้ธุรกิจกีฬามีความโดดเด่นและคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะ "ฟุตบอล" ซึ่งล้อไปตามกระแสความนิยมของ "ไทยพรีเมียร์ลีก" ที่ทวีความร้อนแรง และสร้างกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่นขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นขุมทรัพย์ให้ธุรกิจอีกมากมาย นอกจากนี้ กีฬา "มวยไทย" กับ "จักรยาน" ก็กำลังเป็นที่สนใจแพร่หลาย

ไม่แพ้ธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ผลจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พลังงานจากฟอสซิลกำลังลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการจากหลากหลายภาคธุรกิจ โดดเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนอย่าง "พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม" มากขึ้น สอดรับกับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ

ขณะที่ 3 ยักษ์ผู้ให้บริการมือถือเตรียมเปิดให้บริการ 3G ช่วงกลางปี 2556 นี้ นอกจากธุรกิจมือถือจะก้าวถึงจุดเปลี่ยนแล้ว ยังจุดพลุให้กับธุรกิจพัฒนาแอปและคอนเทนต์รูปแบบต่าง ๆ คึกคักและเติบโตแบบก้าวกระโดด นำเสนอสินค้าและบริการหลากหลายรูปแบบขึ้นมาอยู่บนสมาร์ทโฟน

ไม่ต่างไปจากธุรกิจทีวีดาวเทียม ที่ปี 2556 นี้จะเป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญของผู้ประกอบการ หลังจาก กสทช.ได้เปิดให้ยื่นขอใบอนุญาตพร้อมกับการออกประกาศกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมา ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้วงการโฆษณาประชาสัมพันธ์พลิกโฉมหน้า มีการเปลี่ยนขั้วการใช้เม็ดเงินโฆษณาจาก "ฟรีทีวี" มาลง "ทีวีดาวเทียม" ระดับหมื่นล้านบาท ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้น่าจับตามองอย่างยิ่ง

คลินิกความงามฮอตข้ามปี

แม้จะเติบโตในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ถึงนาทีนี้ "คลินิกความงาม" ก็ยังเป็นหนึ่งธุรกิจที่อยู่ในช่วง "ขาขึ้น"

และยิ่งแพร่ขยายออกไปในวงกว้างมากขึ้นทุกขณะ ทั้งที่เป็นการเดินหน้าขยายการลงทุนเปิดสาขาของรายเดิม ขณะเดียวกันก็มีรายใหม่กระโดดเข้ามาในตลาดเป็นระยะ ๆ

ไม่เพียงการเปิดให้บริการตามศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์เท่านั้น วันนี้คลินิกความงามได้รุกคืบมากขึ้น ชนิดว่าแทบจะเข้าไปเปิดให้บริการถึงหัวบันไดบ้านเลยทีเดียว แทบทุกตรอกซอกซอย มีคลินิกความงามผุด (สาขา) ขึ้นราวกับดอกเห็ด

การเติบใหญ่ของธุรกิจความงาม อีกมุมหนึ่งอาจสะท้อนได้จากยอดขายของธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีหลายค่ายที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนไปขยายสาขาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ อาทิ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) ร้านจำหน่ายสินค้าความงาม ภายใต้แบรนด์ "Karmart" และบริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านค้าปลีกสินค้าความงาม ภายใต้แบรนด์ Beauty Buffet, Beauty Cottage

จึงไม่น่าแปลกใจที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังจัดให้ธุรกิจการแพทย์และความงาม เป็นอันดับ 1 ใน 10 ธุรกิจเด่นในปี 2556 ด้วย

"ณกรณ์ กรณ์หิรัญ" คีย์แมน วุฒิ-ศักดิ์ คลินิก ให้ข้อมูลว่า ปรากฏการณ์ฟีเวอร์ของธุรกิจความงามที่เติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น หลาย ๆ ประเทศในแถบอาเซียนก็เติบโตไม่แพ้กัน

ส่วนการแข่งขันในประเทศ เขายอมรับว่า "ดุเดือดไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันมีคลินิกความงามขนาดเล็กเกิดขึ้นตามตรอกซอกซอยเป็นจำนวนมาก"

ที่น่าสนใจคือธุรกิจนี้มีปัจจัยสนับสนุนหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นกระแสการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพและการดูแลความงามมีมากขึ้น และการบริการทางการแพทย์และความงามของประเทศไทยมีคุณภาพดีและราคาไม่แพง รวมทั้งเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้นก็จะดูแลสุขภาพและความงามมากขึ้น

ที่ผ่านมา คลินิกหน้าเด้ง หน้าใส แบรนด์ใหญ่ได้ทยอยออกไปปักธงในประเทศเพื่อนบ้านมาบ้างแล้วในเวียงจันทน์และพนมเปญ แต่ดูเหมือนว่าจากนี้ไปหลายค่ายจะเพิ่มดีกรีในการบุกต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ "วุฒิ-ศักดิ์" หลังจากที่ทุ่มงบฯกว่า 50 ล้านบาท เปิดสาขาที่โฮจิมินห์ซิตี ประเทศเวียดนาม และนับเป็นสาขาที่ 6 ในต่างประเทศของค่ายนี้ ขณะเดียวกันก็ยังตั้งเป้าจะเปิดสาขาในเวียดนามให้ได้ 20 แห่ง ภายในปี 2558

ส่วน "นิติพล คลินิก" คู่แข่งคนสำคัญ นายแพทย์นิติพล ชัยสกุลชัย แม่ทัพใหญ่ระบุว่า การเปิดเออีซีในปี 2558 จะเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของธุรกิจความงามของไทย เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ของไทยถือว่าเป็นผู้นำ และได้รับการยอมรับ ซึ่งนิติพลอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล รวมทั้งติดต่อนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อจะขยายสาขาในอาเซียน

ขณะที่แบรนด์เล็ก ๆ ก็ไม่น้อยหน้า ก่อนหน้านี้ "ณรงค์ พรธนาชัย" บริษัท แพทย์ปริญญา เอสเธติก คลินิก เฮลท์ จำกัด ยอมรับว่า มีนโยบายจะขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งยังมีผู้เล่นไม่กี่ราย การแข่งขันไม่สูงมาก ตั้งเป้าเปิด 3-4 สาขาต่อปี โดยมุ่งไปที่ลาว และพม่า

เช่นเดียวกับ น.พ.เศรษฐกานต์ อัตถากรพันธ์ ประธานกลุ่มพฤกษาคลินิก กล่าวว่า อยู่ระหว่างศึกษาและหาพันธมิตร โดยประเทศที่สนใจคือ พม่า กัมพูชา ลาว คาดว่าเบื้องต้นจะเปิดสาขาในลาวเป็นที่แรก

หรือ "แพน คลีนิก" คลินิกความงามที่มีอายุเกือบ 3 ทศวรรษ นอกจากจะลุกขึ้นมาปรับภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยงบฯกว่า 200 ล้านบาท โดยทายาทมือวาง "อัจฉิมา

เหลืองไพฑูรย์" ขึ้นมาย้ำว่า ต้องการจะสร้างการรับรู้ในแบรนด์เพิ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหวังว่าเมื่อเปิดเออีซี ในปี 2558 แพนฯจะอาศัยความพร้อมในแง่ของโรงงานในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไป

อย่างไรก็ตามหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การที่มีคลินิกความงามผุดขึ้นจำนวนมากจะกระทบกับศัลยกรรมความงามหรือไม่

ในมุมมองของนายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี มองว่า หลายคนอาจมองว่าโรงพยาบาลที่ให้บริการนี้อาจถูกแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดไป แต่ส่วนตัวมองว่าคลินิกความงามจะช่วยเสริมยันฮีมากกว่า เพราะศัลยกรรมความงามนั้นครอบคลุมตั้งแต่ศีรษะจดเท้า แต่คลินิกความงามรายเล็กจะทำได้เพียงระดับหนึ่ง บางคลินิกผ่าตัดไม่ได้เลย รักษาได้แต่ผิวหนัง

นี่คือปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงามยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 ก็จะยิ่งทำให้ตลาดนี้ขยายตัวมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

3G จุดพลุธุรกิจคอนเทนต์

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เดินหน้าออกใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์

มือถือระบบ 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz แก่ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตทั้ง 3 ราย ในเครือเอไอเอส, ดีแทค และทรูไปแล้วเรียบร้อย เมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับกดปุ่มนับถอยหลังให้ค่ายมือถือในการ

เตรียมเปิดศึกแข่งขันชิงลูกค้าอีกครั้ง

ขณะที่ความต้องการในตลาดรอท่าอยู่แล้ว ดูได้จากความนิยมในการใช้สมาร์ทดีไวซ์ทั้งหลายที่เติบโตก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเลต ซึ่งส่งผลดี

ต่อธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ อีกมากด้วย

นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมตลาดแอปพลิเคชั่นในประเทศไทยในแง่มูลค่าธุรกิจคอนเทนต์ รวมเพลง, ข่าว และแอปพลิเคชั่นในปี 2555 ยังมีมูลค่าสูงถึง 8,000 ล้านบาท และที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% แม้จะมียอดการขายแอปพลิเคชั่นทั้งในบ้านเรา และทั่วโลกแค่ 10% จากทั้งหมด ซึ่งการมาถึงของบริการ 3G และจำนวนสมาร์ทโฟนที่จะเพิ่มมากขึ้น จะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือแพร่หลายขึ้นอีก ถือเป็นโอกาสโดยตรงสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม จุดที่ท้าทายคือปัจจุบันหากนำจำนวนแอปพลิเคชั่นที่อยู่บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอสทั้งหมดมารวมกัน จะพบว่ามีเกินกว่า 1 ล้านแอปพลิเคชั่น ทำให้แอปพลิเคชั่นหลายตัวซ้ำกัน ดังนั้นนักพัฒนาจึงต้องคิดต่อว่า แอปพลิเคชั่นของตนเองมีความแตกต่างหรือไม่ เมื่อทำออกมาแล้วตอบโจทย์การใช้งานผู้บริโภคได้หรือเปล่า

"แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามาทดแทนคอนเทนต์ประเภทอื่น มูลค่าธุรกิจคอนเทนต์ในไทยโตต่อเนื่อง ยอดดาวน์โหลดแอปสำหรับสมาร์ทโฟนในไทยอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านครั้งต่อเดือน และยังมีแนวโน้มโตขึ้นพร้อม ๆ กับการเติบโตของสมาร์ทโฟน โดยใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมามีการเติบโตในแง่ยอดขาย 50% หากเทียบปี 2554 ปัจจุบันแอปที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือแอปเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก เช่น เฟซบุ๊ก รองลงมาเป็นแอปประเภทเกม"

นายปรัธนากล่าวต่อว่า ในปี 2556 บริษัทจะพยายามร่วมกับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้ผลิตแอปพลิเคชั่นเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ตอบโจทย์การใช้งานลูกค้า โดยในปี 2555 เปิดโอกาสให้บริษัทหน้าใหม่ทั้งที่เป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น, กราฟิกดีไซเนอร์ รวมไปถึงแคแร็กเตอร์ดีไซเนอร์เข้ามาร่วมงานกับเอไอเอส ปัจจุบันมีมากกว่า 500 ราย และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต มีจุดประสงค์เพื่อนำนวัตกรรมแอปพลิเคชั่นที่หลากหลายจากผู้ผลิตมายังลูกค้า หากแอปตัวใดประสบความสำเร็จอาจต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคตได้ด้วยผ่าน

โอเปอเรเตอร์ในกลุ่มสิงเทล

ด้าน "นายพิชิต ธันโยดม" หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านสารสนเทศ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทวิจัยการ์ดเนอร์ระบุว่า การดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น

ทั่วโลกในปีนี้มี 45 ล้านครั้ง เป็นฟรีแอป 90% เติบโตจากปีที่ผ่านมาเท่าตัว ส่วนในประเทศไทยไม่ถึง 1% แต่เติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน และคาดว่าในปีหน้าจะเติบโตในระดับเดียวกับปีนี้จากราคาสมาร์ทโฟนที่ปรับราคาลงมาจนผู้บริโภคทุกกลุ่มเอื้อมถึง

สำหรับกลุ่มทรูกำลังเร่งพัฒนาแอปเพื่อตอบโจทย์นี้เช่นกัน โดยปีที่ผ่านมาพัฒนาแอปให้บริษัทประกันใช้เคลมประกันผ่านโทรศัพท์มือถือ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวก ขณะที่บริษัทประกันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเอกสาร เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเดิมเทคโนโลยีในการสร้างแอปพลิเคชั่นไม่เอื้ออำนวย บุคลากรที่มีก็มีความรู้น้อย ทำให้กว่าแอปตัวหนึ่งจะออกมาต้องใช้เวลานาน แต่ตอนนี้ทุกอย่างง่ายจนเด็กจบใหม่ทุกคนทำได้ ตลาดจึงอุดมไปด้วยคนที่ต้องการความสำเร็จผ่านการขายแอปพลิเคชั่น และเมื่อคู่แข่งเยอะ ความยากในการทำตลาดจึงเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก

"นักพัฒนาทุกคนหวังที่จะสำเร็จ แม้จะเป็น 1 ใน 100 ถ้าแอปพลิเคชั่นที่ให้ดาวน์โหลดบนแอปสโตร์ของระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ได้รับความนิยมขึ้นมา เช่น Whatsapp หรือ Line ก็จะมีรายได้มหาศาล เมื่อฐานผู้ใช้เยอะยังต่อยอดไปสู่การทำ In-App Purchase หรือการซื้อบริการภายในแอป เช่น สติ๊กเกอร์ หรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ อย่างที่ Line ทำอยู่ได้ ถ้าสำเร็จก็เหมือนได้แจ็กพอต แต่โอกาสก็ยาก ก่อนทำจึงต้องคิดให้แตกต่าง คาดว่าปีหน้าแอปที่มาแรง น่าจะอยู่ในรูปแบบ Social Game"

5 กีฬามาแรงเทรนปี 56

หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดที่ได้รับความนิยมจากองค์กรธุรกิจทั่วฟ้าเมืองไทยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา คือ "สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง" การทำตลาดด้วยการใช้ "กีฬา" เข้ามาเสริมสร้างภาพลักษณ์ สร้างจุดยืนให้แบรนด์มีความแข็งแกร่ง พร้อมต่อสู้ชิงไหวชิงพริบแข่งขันในสนามธุรกิจ

ปี 2555 หลายองค์กรธุรกิจพยายามจัดหนักรุกเข้าใส่สปอร์ตมาร์เก็ตติ้งกันอย่างเต็มสูบ ไม่ว่าจะเป็นการอัดแคมเปญโปรโมชั่นขนาดใหญ่ จัดอีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง เรียกแขก หรือแม้กระทั่งกระโดดเข้าสู่สงครามแย่งชิงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬา ก็นับว่าเป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

แน่นอนว่าสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งย่อมส่งผลกระทบทางธุรกิจให้กับองค์กรธุรกิจโดยตรง ขณะเดียวกัน ในทางอ้อมนั้นยังช่วยส่งเสริม "กระแสนิยมกีฬา" ให้กับชาวไทยไปในตัว อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่ากระแสดังกล่าวจะเติบโตขึ้นไปอย่างต่อเนื่องในหลายชนิดกีฬา เพียงแต่กีฬาที่จะกลายมาเป็น "เทรนด์ฮิต" ของคนไทยในปีหน้า "ประชาชาติธุรกิจ" ได้รวมรวบแนวโน้มกระแสนิยมกีฬาแห่งปี 2556 มานำเสนอกันในวันนี้

เริ่มต้นด้วยกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง "ฟุตบอล" ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเติบโตไปตามกระแสความนิยมของ "ไทยแลนด์ พรีเมียร์ลีก"

คำถามคือ "อะไรที่กระตุ้นให้ไทยลีกได้รับความนิยมมากมายถึงระดับนี้ ?"

"ยรรยง อัครจินดานนท์" นักการตลาดผู้คลุกคลีในวงการลูกหนังมองปรากฏการณ์ "ไทยลีกบูมเบอร์" ว่า ฟุตบอลเป็นกีฬายอดนิยมของผู้คนทั่วโลก และคนไทยก็คลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อหลายสโมสรในไทยลีกเริ่มได้รับการสนับสนุนจากบรรดาสปอนเซอร์น้อยใหญ่ จนมีเงินถุงเงินถังมากพอสำหรับการดึงโค้ชและนักเตะชั้นยอดจากต่างชาติมาร่วมทีม ทำให้เกมการแข่งขันในไทยลีกฤดูกาลที่ผ่านมามีความสนุกมากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่าน ๆ มา

"สำหรับฤดูกาลแข่งขันหน้า ไทยลีกจะเติบโตมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน ทั้งในเรื่องของสปอนเซอร์และคนดูที่น่าจะเพิ่มขึ้นราวหนึ่งเท่าตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงการเติบโตตามธรรมชาติของไทยลีกเท่านั้น ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยลีกดังจนถึงขีดสุดในปีหน้า แต่ถ้าหากมีทีมงานจัดการแข่งขันมีระบบการจัดการที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นการเติบโตแบบพิเศษอย่างแน่นอน"

ถัดมาเป็นคิวของ "มวยไทย" ศิลปะการต่อสู้แห่งแดนสยาม ที่เริ่มลืมตาอ้าปากขึ้นมาอีกครั้งหลังการแจ้งเกิดของสุดยอดมวยไทยอย่าง "บัวขาว บัญชาเมฆ" เมื่อหลายปีก่อน จนกระทั่งฟื้นตื่นอย่างเต็มตัวเมื่อ "ไทยไฟต์" การแข่งขันมวยไทยระดับโลกตัดสินใจดึงบัวขาวมาเข้าร่วมแข่งขันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบนดินแดนบ้านเกิดของตัวเอง

สร้างกระแสความคลั่งไคล้ "บัวขาว-ไทยไฟต์-มวยไทย" ไปทั่วบ้านทั่วเมือง และมีหลายคนที่เริ่มหันหน้ามาเรียนมวยไทยกันมากขึ้น

นอกจากฟุตบอลและมวยแล้ว "มอเตอร์สปอร์ต" ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน

เพราะนับตั้งแต่มีข่าวคราวว่าประเทศไทยได้รับไฟเขียวให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอฟวันในปี 2557 และล่าสุดเพิ่งจะมีการจัดแข่งขัน "เรซ ออฟ แชมเปี้ยนส์ 2012" ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน เปิดโอกาสให้แฟนรถซิ่งเมืองไทยได้มีโอกาสเห็นเทคนิคการขับรถชั้นเลิศจากนักขับระดับโลกกันไปหมาด ๆ ดูเหมือนวงการท้าความเร็วจะเริ่มคึกคักขึ้นมาหลายเท่าตัวเลยทีเดียว จนตอนนี้สนามโกคาร์ททั่วประเทศไทยเริ่มวุ่นวายกับการต้อนรับขาซิ่งชอบท้าประลองความเร็วในสนามขนาดย่อมกันแล้ว

ปิดท้ายด้วยกีฬาน่าจะรุ่ง 2 ล้ออย่าง "จักรยาน" ที่ตอนนี้เริ่มมีคนหันมาปั่นกันมากขึ้นในระดับที่น่าตกใจหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น เสือหมอบ หรือเสือภูเขา แต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็น "ฟิกเกียร์" หนึ่งในประเภทจักรยานที่ได้รับความนิยมมากในหมู่วัยรุ่นเมืองไทย

"พลโทเดชา เหมกระศรี" เลขาธิการสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงความน่าเสียดายของการแข่งขันจักรยานประเภทนี้ ว่า ฟิกเกียร์ไม่ได้รับการรองรับจากทาง "สหพันธ์จักรยานแห่งนานาชาติ (ยูซีไอ)" ดังนั้น นักแข่งฟิกเกียร์จึงทำได้เพียงแค่แข่งขันกันอย่างสนุก ๆ ภายในประเทศ หรืออาจจะขยับขยายไปต่างแดนบ้างหากมีโอกาส

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวโน้มที่คาดการณ์ว่า ปีหน้ากระแสความนิยมคงมาแรงต่อเนื่อง ส่วนกีฬาประเภทไหนจะขึ้นท็อปฮิตก็ต้องรอลุ้นกันยาว ๆ อีกยก

ยุคทองทีวีดาวเทียม

กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดธุรกิจหนึ่งสำหรับ "ทีวีดาวเทียม" ซึ่งมีความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในปี 2555 และต่อเนื่องมาถึงจนวันนี้มูลค่ารวมของธุรกิจทีวีดาวเทียมที่คาดการณ์ในปี 2556 จากการเปลี่ยนขั้วของการใช้เม็ดเงินโฆษณาฟรีทีวี จะทำให้เม็ดเงินทีวีดาวเทียมก้าวกระโดดไปถึง "หมื่นล้าน"

การเคลื่อนที่ของเม็ดเงินโฆษณาสู่ทีวีดาวเทียม เป็นการตอบโจทย์สิ่งที่ผู้เล่นในสมรภูมินี้มองเห็น "ขุมทอง" สำคัญ และตัดสินใจกระโดดเข้ามาสู้ศึกในสมรภูมินี้อย่างห้ำหั่นในช่วงที่ผ่านมา

จะเห็นได้จากแพลตฟอร์มหลายรูปแบบที่บิ๊กเนมอย่าง แกรมมี่, อาร์เอส และเจ้าตลาดเดิม เข็นทั้งกล่องและแพ็กเกจรูปแบบต่าง ๆ ออกมาโปรโมชั่น ดัมพ์ราคากันสนั่น ทำให้เจ้าตลาดบอกรับสมาชิกอย่าง "ทรูวิชั่นส์" แอบร้อน ๆ หนาว ๆ

ศึกร้อนเริ่มอุณหภูมิเดือดหลังค่ายแกรมมี่ปั้นกล่อง "จีเอ็มเอ็ม แซท" ที่เป็นเสมือนผู้จุดพลุให้ทีวีดาวเทียมคึกคัก พร้อมใช้คอนเทนต์ฟุตบอลยูโรเป็นตัวดันกล่องเข้าสู่ใจผู้บริโภค ตั้งเป้ายอดขายไว้ถึง 2 ล้านกล่อง แต่ก็ไปไม่ถึงฝัน ปิดยอดขายได้เพียง 1.5 ล้านกล่องเท่านั้น

ฝั่งทรูวิชั่นส์ก็ไม่รอช้า ไม่นานนักก็ออกมาจับมือกับพีเอสไอ ขายกล่องราคาถูก 890 บาท เจาะตลาดแมสที่เป็นฐานใหญ่ของตลาด ก่อนพ่ายเสียคอนเทนต์พรีเมียร์ลีก อังกฤษให้แก่ "ซีทีเอช" หรือสมาคมเคเบิ้ลทีวีแห่งประเทศไทย ทำให้เจ้าตลาดอย่างทรูวิชั่นส์ต้องพลิกเกมสู่คอนเทนต์โพรไวเดอร์ พร้อมจับมือกับผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่น

เรียกได้ว่าตลอดปี 2555 ทุกค่ายแข่งกันสร้างแพลตฟอร์ม หวังสร้างฐานสมาชิกเพื่อขยายต่อตลาดเพย์ทีวี ซึ่งแม้ว่ายอดขายจะไม่เคลื่อนไหวตามเป้าหมาย แต่แรงกระเพื่อมที่อุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมตื่นตัวครั้งใหญ่นี้ได้ส่งผลมาถึงภาพการแข่งขันในปี 2556

เป็นปีที่ศึกอุตสาหกรรมโทรทัศน์จะไม่จำกัดแค่การแข่งขันกันระหว่างแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่หมายถึงการแข่งขันกันข้ามแพลตฟอร์ม ที่ผู้ประกอบการทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีต้องฟาดฟันกันอยู่ในสนามนี้ โดยมีเดิมพันคือการ "มัดใจฐานผู้ชม"

รวมถึงทีวีดิจิทัล ที่จะชัดเจนและเริ่มเปิดประมูลในปี 2556 ซึ่งจะทำให้จำนวนช่องฟรีทีวีที่ไม่จำกัดอยู่แค่ 6 ช่อง แต่ขยายถึง 48 ช่อง นั่นก็หมายความว่าเม็ดเงินโฆษณาถูกแบ่งย่อยออกไปมากขึ้น

นับจากนี้จะได้เห็นผู้ประกอบการฟรีทีวีเร่งปรับตัว นำเสนอรูปแบบคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายและตรงใจผู้ชม และเตรียมยื่นประมูลขอใบอนุญาต "ทีวีดิจิทัล" เพื่อรักษาตลาด

"สมพร ธีระโรจนพงษ์" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด เชื่อว่า ทีวีดาวเทียมจะยังไปได้ แม้ว่า กสทช.จะผลักดันทีวีดิจิทัล เพราะต้นทุนถูกกว่า ทั้งการให้บริการและต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพื่อรับชม ขณะที่ระบบทีวีดิจิทัลยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งปี 2556 ถือเป็นปีทองของพีเอสไอ เพราะได้รับใบอนุญาตแล้ว พร้อมต่อยอดธุรกิจต่อไป ส่วนภาพรวมปี 2556 ผู้ให้บริการที่มี 200-300 ช่องจะพยายามรักษาฐานลูกค้า พร้อมหาช่องทางอยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

สอดรับกับ "นิรันดร์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโฟแซท จำกัด กล่าวว่า ปี 2556 จะเป็นปีของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับทีวีดาวเทียมจะต้องปรับตัว ตามกฎกติกาของ กสทช.ที่พยายามจะตีกรอบให้ทีวีดาวเทียมกลายเป็นเพย์ทีวี และจะทำให้เวลาโฆษณาเหลือแค่ชั่วโมงละ 6 นาที ซึ่งจะต้องหาโมเดลใหม่เข้ามาเพิ่มเพื่อเรียกเม็ดเงิน

ขณะเดียวกัน เชื่อว่าปี 2556 จะได้เห็นการทำงานของกลไกการตลาด ที่มีการจับคู่พันธมิตรมากขึ้นจนทำให้เหลือกล่องรับสัญญาณไม่กี่ราย และจำนวนช่องทีวีดาวเทียมอาจต้องปิดตัวลงเหลือ 150-100 ช่อง จาก 200 ช่อง เพราะกติกาของ กสทช.

"เดียว วรตั้งตระกูล" กรรมการผู้จัดการสายงาน Platform Strategy บริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ชี้ว่า กว่าที่ฐานผู้ชมทีวีดาวเทียมจะเดินมาถึงจุดบูมที่สุดในวันนี้ ต้องฝ่ามรสุมต่าง ๆ มามากมาย โดยทีวีดาวเทียมเกิดจากความต้องการเฉพาะกลุ่มของผู้ชมที่รับชมช่องฟรีทีวีไม่ได้

ก่อนที่จะขยายตัวขึ้นในวงกว้าง ซึ่งเชื่อว่าเม็ดเงินโฆษณาทีวีดาวเทียมจะเริ่มไต่จากหลักพันสู่หลักหมื่น และไม่นานก็จะไต่สู่หลักแสน เทียบเท่ากับช่องฟรีทีวีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมโทรทัศน์จากบทเรียนของปี 2555 ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมรู้แล้วว่า แพลตฟอร์มไม่ใช่โจทย์ที่สำคัญ แต่คอนเทนต์ที่ดีคือสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะถ้าคอนเทนต์ดี ตรงใจผู้ชม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ผู้บริโภคก็พร้อมที่เทใจให้

นั่นก็หมายถึงเม็ดเงินโฆษณาจากสินค้าต่าง ๆ ก็จะพร้อมเทตามมาด้วยเช่นกัน

พลังงานทดแทนโตต่อเนื่อง

ธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทน เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จัดเป็นดาวเด่นและมาแรงในปี 2556 นี้ จากความต้องการใช้พลังงานทั้งในแง่ของไฟฟ้าและเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีการคาดการณ์ว่าก๊าซธรรมชาติที่ขุดขึ้นมาจากอ่าวไทยมีแนวโน้มจะหมดลงในอีก 10 ปีข้างหน้า

กระทรวงพลังงาน จึงได้ให้การสนับสนุนนำ พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกเข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อลดผลกระทบจากการใช้เชื้อเพลิงจำพวกฟอสซิลมาผลิตพลังงานมากเกินไป รวมถึงความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงให้การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

พลังงานทดแทนที่ได้รับการสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ กับพลังงานลม โดยนายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า ปี 2556 จะเป็นปีที่พลังงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 300 เมกะวัตต์ พลังงานลมประมาณ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้มีกระแสไฟเข้าสู่ระบบรองรับการใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น

"ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี หรือ AEDP 2012-2021 ตั้งเป้าใช้พลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2,000 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 1,200 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีภาคเอกชนยื่นขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในปี 2556 นี้

คาดว่าจะได้เห็นพลังงานเหล่านี้สร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด" นายทวารัฐกล่าว

ส่วนเทคโนโลยีที่กระทรวงพลังงานโหมโรงสนับสนุนอยู่ขณะนี้ และสร้างความตื่นตัวในวงกว้างอีกอย่างหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพที่ได้จากหญ้าเลี้ยงช้าง โดยนำหญ้ามาหมักเชื้อจุลินทรีย์จนเกิดก๊าซชีวภาพ สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งในแง่ของการผลิตไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์และครัวเรือน ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ให้การสนับสนุนวิจัยและพัฒนา จนเกิดโรงงานผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ (CBG) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ UAE มีสัญญาจำหน่ายก๊าซให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กำลังการผลิต 6 ตัน/วัน นอกจากนี้ UAE ยังมีแผนขยายโรงงานผลิตในเขตภาคเหนืออีกประมาณ 10 แห่ง รวมถึงสนับสนุนรับซื้อหญ้าจากชุมชนใกล้เคียง

ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนก๊าซชีวภาพจากหญ้าเลี้ยงช้างอย่างจริงจัง เนื่องจากหญ้าชนิดนี้เป็นหญ้าที่ปลูก

ง่ายให้ผลผลิตสูง ประมาณ 36-80 ตัน/ไร่ มีราคาจำหน่าย 300 บาท/ตัน

หากมีการสนับสนุนให้เกษตรกรมาปลูกจะมีรายได้ดีกว่าการปลูกมันสำปะหลังเสียอีก

จากข้อมูลกระทรวงพลังงานรายงานว่า การปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง 1,000 ไร่ จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท กระทรวงพลังงานจึงวางแผนจัดตั้งกองทุนสนับสนุนด้านการเงินให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล สหกรณ์การเกษตร และเกษตรกรรายย่อย จับมือกับภาคเอกชนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ปลูกหญ้า และโรงไฟฟ้าจะเข้ามารับซื้อในราคาประกันรวมทั้งเป็นผู้เก็บเกี่ยวเอง ซึ่งจะเป็นการกระจายผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

เบื้องต้นคาดว่าจะส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าได้ที่ 7,000 เมกะวัตต์ จากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของการใช้พลังงานทดแทนทั้งประเทศ 20% โดยทางกระทรวงพลังงานมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย ใช้ต้นแบบประเทศเยอรมนีที่มีศักยภาพในการปลูกหญ้าต่ำกว่าไทย แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 7,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมกว่า จึงเชื่อว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า

รวมถึงจะให้การอุดหนุนค่ารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีดอินทารีฟ) ประมาณ 4.50 บาท/หน่วย ซึ่งต่ำกว่าการอุดหนุนพลังงานทดแทนชนิดอื่น ทำให้ไม่กระทบค่าไฟมากนัก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด และการตั้งกองทุนในการสนับสนุน คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรมภายในปี 2558

ขณะเดียวกันมาตรการยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 จะส่งผลให้ธุรกิจเอทานอลซึ่งเป็นพลังงานทดแทนอีกประเภทหนึ่งมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เนื่องจากเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่า ยอดการใช้เอทานอลจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันที่ 1.25-1.3 ล้านลิตร/วัน เป็น 2 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากยอดขายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ E20 จะมีเพิ่มขึ้นมาก จากการที่ผู้บริโภคให้การยอมรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น

การที่ตลาดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศมีความต้องการเอทานอลเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิต ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลได้ราคาที่ดีขึ้น ทั้งกากน้ำตาล (โมลาส)-มันสำปะหลัง ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเอทานอลได้ 3.4-3.5 ล้านลิตร/วัน การยกเลิกน้ำมันเบนซินออกเทน 91 จะช่วยเพิ่มความต้องการใช้เอทานอลผสมเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์อีก 2 ล้านลิตร/วัน เท่ากับปัญหาการผลิตเอทานอลล้นเกินก็จะหมดไปในที่สุด

จากคุณ : Wild Rabbit [วันสิ้นปี 55 11:38:58 ]
ความเห็นที่ 1

ขอบคุณ แต่ที่แน่ๆ ปีหน้า น้ำมันพุ่งกระฉูด

จากคุณ : หงส์ลายมังกร [วันสิ้นปี 55 20:45:37 ]