สมรภูมิคอนวีเนี่ยน"56เดือด รายใหม่ดาหน้าบุก-เปิดศึกชิงทำเลทอง

31 ธ.ค. 2555 เวลา 09:19:23 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



ธุรกิจ "คอนวีเนี่ยนสโตร์" ปี 2556 จะเป็นอีกสมรภูมิที่มีความร้อนแรงทะลุจุดเดือด โดยมีตัวแปรสำคัญ คือ การเข้ามาเปิดเกมรุกเต็มรูปแบบของ "แฟมิลี่มาร์ท" ภายใต้การบริหารของกลุ่มเซ็นทรัล ที่จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น บวกกับรายใหม่ ๆ ที่จะกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้ ที่น่าจับตามองที่สุดคือ "ลอว์สัน" ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เป็นอันดับ 2 จากญี่ปุ่น

แนวโน้มดังกล่าวทำให้รายเดิมที่อยู่ในตลาดต้องลุกขึ้นมารักษาส่วนแบ่งของตัวเองอย่างเต็มที่ และทำให้ภาพการแข่งขันปีนี้เข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ

ผุดสาขาใหม่ทะลุพัน ปี"56

"ทศ จิราธิวัฒน์" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่นจำกัด ระบุสาเหตุที่สมรภูมิปี 2556 จะดุเดือดมาก ด้วย 1.จำนวนผู้เล่นที่มีหลายราย 2.ผู้นำตลาดมีความแข็งแรงกว่ารายอื่น และ 3.รายใหม่ ๆ สนใจเข้ามาต่อเนื่อง


สอดคล้องกับ "สุวิทย์ กิ่งแก้ว" นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ที่ระบุว่า ค้าปลีกที่มีการเติบโตมากที่สุดในปี 2555 คือร้านสะดวกซื้อสูงถึง 15% และในปี 2556 จะเห็นการขยายตัวของจำนวนสาขามากขึ้น คาดว่าจะมีสาขาเปิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 1,000 สาขา จากปกติขยายอยู่ปีละ 700-800 สาขา

"ร้านสะดวกซื้อเป็นเซ็กเมนต์ที่ใช้เงินลงทุนน้อย และตอบโจทย์ความสะดวกใกล้บ้าน จึงได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภค ดึงดูดให้ผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาลงทุน"

ไม่แปลกที่วันนี้ผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ จะพยายามกระโดดเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดนี้ แม้จะมียักษ์ใหญ่อย่าง "เซเว่นอีเลฟเว่น" ที่ปักธงไปในทุกมุมเมืองของประเทศไทย แต่ทุกค่ายต่างก็ประเมินว่าตลาดยังมีช่องว่าง เมื่อเทียบจำนวนร้านสะดวกซื้อกว่า 10,000 สาขากับประชากรในไทยกว่า 66 ล้านคน เชื่อว่าร้านสะดวกซื้อยังสามารถเพิ่มจำนวนไปได้ถึง 30,000 สาขา

ยักษ์ค้าปลีกแห่รุกร้านใกล้บ้าน

จากข้อมูลธุรกิจค้าปลีกระบุว่า ปัจจุบันอัตราเฉลี่ยร้านสะดวกซื้อของไทยอยู่ที่ 6,800 คนต่อ 1 สาขา ถือว่าค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ที่มีอัตราเฉลี่ย 2,800 คนต่อ 1 สาขา

วันนี้ผู้เล่นที่เข้ามาในค้าปลีกล้วนเปี่ยมด้วยศักยภาพทั้งเงินทุนและเครือข่าย มากกว่านั้นแต่ละค่ายยังใช้กลยุทธ์ "เซ็กเมนเตชั่น" คือการมีค้าปลีกในหลากหลายโมเดล เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม ซึ่งรวมถึงการปรับรูปแบบของร้านและสินค้าที่มีความยืดหยุ่นไปตามทำเลและพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อหวังกินรวบทุกตลาด

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต โมเดลใหม่ที่ผสมระหว่าง "คอนวีเนี่ยน-ซูเปอร์มาร์เก็ต" ทำให้วันนี้ซีพีมีค้าปลีกในเครือครอบคลุมเกือบทุกโมเดล ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่น, ซีพี เฟรชมาร์ท และซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต เป็นเจ้าตลาดของร้านค้าใกล้บ้าน โดย "เซเว่นฯ" ครองผู้นำตลาดด้วย 6,800 สาขา คิดเป็นส่วนแบ่ง 50% ของร้านสะดวกซื้อที่มีสาขารวมกว่า 12,000 สาขา

ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลก็รุกคืบร้านไซซ์เล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นท็อปส์ เดลี่, มินิ บิ๊กซี และล่าสุด แฟมิลี่มาร์ท ขณะที่รายอื่นๆ ยังเดินหน้าขยายสาขา อาทิ โลตัส เอ็กซ์เพรส, เก็ทอิทของตั้งฮั่วเส็ง, แม็กซ์แวลู ทันใจ ค่ายอิออน (ไทยแลนด์) และ 108 ช็อปของสหพัฒน์ ที่ปีหน้าจะมี "ลอว์สัน" เข้ามาเสริมเพื่อรุกตลาดอีกแรง

เซเว่นฯชู "ครบเครื่อง" ย้ำผู้นำ

"ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ระบุว่า ปี 2555 ส่วนแบ่งตลาดคอนวีเนี่ยนสโตร์เติบโตกว่าทุกปีคิดเป็น 21% ของตลาดค้าปลีกโดยรวมมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเซเว่นฯมีส่วนแบ่ง 15% ของค้าปลีกโดยรวม

เขาเชื่อว่า ปี 2556 จะเป็นจุดเปลี่ยนของคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่จะเข้าสู่การแข่งขันแบบสมบูรณ์ ด้วยจำนวนแบรนด์ที่เพิ่มขึ้นจากรายใหม่และรายเดิม ในฐานะผู้นำตลาด เซเว่นฯจึงต้องปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น สภาพเศรษฐกิจ ลูกค้าและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโต

"เมืองมีการขยายตัว ดิสเคานต์สโตร์และซูเปอร์มาร์เก็ตก็ขยายธุรกิจโมเดลขนาดเล็กออกไปชานเมืองและต่างจังหวัดมากขึ้น, ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ไม่ทำอาหารเอง, ลูกค้าไม่มีเวลารอคอย ความจงรักภักดีต่อแบรนด์ลดลง ถ้าที่ไหนตอบโจทย์ข้อจำกัดด้านเวลาได้ก็จะไปใช้บริการที่นั่น"

"ปิยะวัฒน์" ระบุว่า กลยุทธ์ที่ "เซเว่นฯ" จะมุ่งไปคือสร้างความแตกต่างทั้งสินค้าและบริการ ภายใต้แนวคิด "วันสต็อปเซอร์วิส" ซึ่งวันนี้ครบเครื่องทั้งร้านสุขภาพและความงามเอ็กซ์ต้า, มุมเครื่องดื่มและเบเกอรี่คัดสรร, ร้านหนังสือบุ๊คสไมล์ และจุดขายหลักในเรื่องของอาหารพร้อมทาน ส่วนปี 2556 ต้องการเพิ่มน้ำหนักสินค้าเฮาส์แบรนด์และธุรกิจอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาโมเดลใหม่ ๆ อาทิ การเปิดร้านขนาดใหญ่เริ่มต้นที่ 3 คูหา สูงสุด 4-5 คูหา เพื่อรองรับการเติมธุรกิจใหม่ ๆ ในแง่สินค้าและบริการที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต

ตั้งแต่ปี 2556 บริษัทตั้งเป้าเปิดสาขา ปีละ 540 สาขา เพิ่มจากที่เปิดปีละ 500 สาขา เพื่อไปสู่เป้าหมาย 1 หมื่นสาขาในปี 2561 พร้อมลงทุนศูนย์กระจายสินค้า รองรับการขยายสาขาทั่วประเทศ

"7-11 ไปทุกจังหวัดแล้ว ก็จะขยายไปตามอำเภอที่มีศักยภาพ ไทยมี 928 อำเภอ เราขยายไปแล้ว 691 อำเภอ คิดเป็น 75% ของทั้งหมด" ผู้บริหารเซเว่นฯระบุ

เฟ้นทำเล-ปั้นสินค้าสร้างจุดต่าง

สิ่งที่เห็นชัดเจนในปี 2556 คือ แต่ละค่ายจะเน้นเปิดโมเดลใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับลูกค้าในแต่ละทำเล และการขยายตัวตามแนวรถไฟฟ้า คอนโดฯ และต่างจังหวัด

หนึ่งในทำเลทองที่ทุกค่ายมุ่งไปคือ "สถานีบริการน้ำมัน" ซึ่งตลอดปี 2555 เราเห็นความเคลื่อนไหวของร้านสะดวกซื้อทุกค่ายที่พยายามเข้าไปจับมือกับปั๊มน้ำมัน อาทิ ซีพี ฟู้ด มาร์เก็ต ที่เข้าไปขยายสาขาในปั๊มเชลล์ จากเดิมที่มีร้านเซเว่นฯที่จับคู่ไปกับ ปตท.อยู่แล้ว ด้าน "แฟมิลี่มาร์ท" ก็เข้าไปเปิดสาขาในปั๊มเป็นครั้งแรก โดยร่วมกับคาลเท็กซ์, เชลล์, เอสโซ่ ก่อนหน้านี้ท็อปส์ เดลี่ ก็เข้าไปอวดโฉมอยู่ในคาลเท็กซ์ตั้งแต่ต้นปี

ส่วนโลตัส เอ็กซ์เพรส ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 900 สาขา แบ่งเป็นในเอสโซ่ 45 สาขา ปีหน้าก็จะขยายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ขณะที่ "แม็กซ์แวลู" ก็เพิ่มน้ำหนักขยายสาขาไปตามตึกแถวซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีก่อน จากเดิมที่เน้นขยายไปตามคอมมิวนิตี้มอลล์

ด้านแฟมิลี่มาร์ทก็จะเพิ่มสัดส่วนรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มจำนวนสาขาแบบก้าวกระโดด

"ทศ" มองว่า ตลาดยังมีช่องว่างให้ขยายสาขาอีกมาก โดยเฉพาะรูปแบบ "แฟรนไชส์" ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโชห่วยที่มีความต้องการปรับร้านไปสู่รูปแบบคอนวีเนี่ยนมากขึ้น โดยตั้งเป้าปรับสัดส่วนแฟรนไชส์เป็น 30% จาก 15% โดยเป้าหมายคือขยายสาขาให้ครบ 1,500 แห่งใน 5 ปี และขยับเป็น 3,000 สาขาใน 10 ปี จากปัจจุบันมีสาขา 746 สาขา

"ต้องยอมรับว่า วันนี้เบอร์ 1 นำไปไกล ตอนนี้คงไม่ได้เน้นเป็นที่ 1 ด้านยอดขายหรือสาขา แต่เน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก"

แนวรบอีกอย่างที่จะเกิดขึ้นคือ แต่ละค่ายจะเน้นสร้างความต่างด้านตัวสินค้า โดยจะมี "อาหารพร้อมทาน" เป็นไม้เด็ดไม่ว่าจะเป็นแม็กซ์แวลูฯ, แฟมิลี่มาร์ท, 108 ช็อป เพราะตอบโจทย์ความสะดวก ซึ่งเป็นจุดแข็งของคอนวีเนี่ยนสโตร์ได้เป็นอย่างดี

ขณะที่เซเว่นฯที่มีจุดแข็งตรงนี้อยู่ ก็มีแผนต่อยอดด้านอาหารให้ทิ้งห่างคู่แข่งมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อทุกค่ายต่างลุกขึ้นมาปรับแผนรับมือการแข่งขัน ค้าปลีกร้านสะดวกซื้อในปี 2556 จึงเป็นปีที่ร้อนแรงและน่าจับตามอง เต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบระหว่างกัน แต่ละค่ายจะมีกลยุทธ์อะไรออกมามัดใจลูกค้า และชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างไรต้องติดตาม

จากคุณ : Wild Rabbit [วันสิ้นปี 55 12:03:29 ]
ความเห็นที่ 1

ถือCPALLมา4ปีเต็ม และก็จะถือต่อไป จนกว่าจะมองว่าไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อno.1แล้ว

จากคุณ : baby_naked [วันสิ้นปี 55 14:15:36 ]
ความเห็นที่ 2

ผมก็จะถือจนกว่่่าจะถูกคนอื่นแซงครับ

จากคุณ : Wild Rabbit [วันสิ้นปี 55 15:48:54 ]