Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ความคิดเห็นแต่ละร.ร. ที่จะเปลี่ยนเป็น ร.ร.นิติบุคคล vote ติดต่อทีมงาน

นายปรเมษฐ์ โมลี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ ให้สัมภาษณ์ กรณีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คัดเลือกโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็น 1 ใน 58 โรงเรียนทั่วประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคลว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังจากโรงเรียนเป็นนิติบุคคล คือโรงเรียนจะวางกลยุทธ์ในการพัฒนาผู้เรียนและครูให้เป็นรูปธรรมได้มากขึ้น โดยจัดหาครูให้เพียงพอ เพื่อให้ครูสอนได้เต็มที่ไม่ต้องไปทำงานด้านธุรการเหมือนในอดีต ส่วนการพัฒนานักเรียน นอกจากจะให้ความรู้ยังส่งเสริมให้เรียนนอกห้องเรียนมากขึ้น เน้นการปฏิบัติจริง ใช้องค์ความรู้เชื่อมโยงกับทักษะทางสังคม เพื่อทำให้นักเรียนของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นคนเก่ง คนดี มีประโยชน์ต่อสังคม ที่สำคัญจะฝึกความเป็นผู้นำ มีเวทีให้เด็กแสดงความสามารถมากขึ้น ในส่วนของผู้บริหารก็จะเพิ่มเรื่องนิเทศติดตามมากขึ้นด้วย

"ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นโรงเรียนนิติบุคคลแล้ว จะพัฒนาให้เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนดีที่สุด และมีระบบการบริหารจัดการที่ดีสุดในประเทศไทย จะรักษาความเป็นโรงเรียนชั้นนำอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ยืนยันว่านโยบายโรงเรียนนิติบุคคลไม่ได้ทำให้เกิดโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มมากขึ้นอย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า จะเป็นการแบ่งแยกโรงเรียนดีและโรงเรียนขนาดเล็กหรือไม่ ตรงกันข้ามจะเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก อีกทั้งในด้านผู้ปกครองนักเรียนก็มีหลายกลุ่ม คงไม่ได้มุ่งเข้าโรงเรียนนิติบุคคลทั้งหมด ที่สำคัญเมื่อเป็นโรงเรียนนิติบุคคลแล้ว จะดึงโรงเรียนอื่นมาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือด้วย" นายปรเมษฐ์กล่าว และว่า ตนยืนยันว่า จะไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนแน่นอน เพราะโรงเรียนมีสมาคมและมูลนิธิศิษย์เก่าที่เข้มแข็ง พร้อมให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นค่าเล่าเรียน

นายเชิดศักดิ์ ศุภโสภณ ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนสวนกุหลาบฯกำลังรอความชัดเจนเรื่องดังกล่าวจากทาง สพฐ. ซึ่งหลังจาก สพฐ.เป่านกหวีดให้เริ่มโครงการนี้แล้ว สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ การบริหารงบประมาณ ที่ต่อไปโรงเรียนจะได้รับจัดสรรเป็นก้อน และการบริหารงานบุคคล โดยโรงเรียนสวนกุหลาบฯจะตั้งคณะกรรมการขึ้น 1 ชุด เพื่อบริหารงบฯ คัดเลือกครูและบุคลากร นอกจากนี้จะทำหน้าที่พิจารณาให้ความดีความชอบหรือลงโทษครู ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้เป็นคนละชุดกับคณะกรรมการสถานศึกษา ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและจะได้ดึงผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ครูในโรงเรียนเริ่มวิตกกังวลเรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ว่า หลังจากโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ครูจะได้รับผลกระทบในเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งตนได้ให้คำตอบไปว่ายังไม่ต้องกังวล ใครมีหน้าที่ทำอะไรก็ทำให้ดีที่สุด เพราะขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังต้องรอความชัดเจนจาก สพฐ.

นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา กล่าวว่า การเป็นโรงเรียนนิติบุคคลในเบื้องต้นนี้คิดว่ายังไม่ได้อิสระ 100% ต้องรอดูกรอบแนวทางและขอบเขตของอำนาจว่า สพฐ.จะเปิดทางให้แต่ละโรงเรียนดำเนินการเรื่องอะไรได้บ้าง รวมถึงต้องศึกษาข้อกฎหมายด้วยว่าให้อำนาจโรงเรียนดำเนินการเรื่องใดได้บ้าง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องทำหลังจากเป็นโรงเรียนนิติบุคคล คือการจัดการเรื่องบุคลากรและครูผู้สอนให้แยกส่วนงานทั่วไปกับงานการเรียนการสอนออกจากกัน เพราะที่ผ่านมา ครูต้องทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่าง ทำให้สอนได้ไม่เต็มที่

"คิดว่าการเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนิติบุคคลคงไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายบางฉบับ ส่วนเรื่องหลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอน และวิธีการประเมินนั้น ยังคงยึดรูปแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีก รวมทั้งค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของนักเรียน ก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ซึ่งทราบว่าเวลานี้ผู้ปกครองหลายคนกังวลเรื่องนี้กันอยู่ จึงฝากบอกว่าไม่ต้องกังวล" นางจำนงค์กล่าว

ด้านนายชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 (สพป.นม.1) กล่าวกรณี สพฐ.คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมาเข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคลว่า ข้อดีของการกำหนดเป็นนิติบุคคลที่สามารถจับต้องได้เป็นรูปธรรม คือการบริหารจัดการจะเป็นอิสระคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการต่อ ยอดการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ผู้บริหารและกรรมการสถานศึกษาจะได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในการบริหารให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม หากทำไม่ดี ทำผิดพลาด หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน สังคมท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดจะตรวจสอบและจัดการทันที แต่ข้อสำคัญ ผู้บริหาร สพฐ. และนักการเมืองอย่าล้วงลูก สร้างเงื่อนไข ควรปลดปล่อยอำนาจอย่างแท้จริง ให้โรงเรียนนิติบุคคลได้บริหารจัดการกันเต็มที่

นายเกษม ศุภรานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา กล่าวว่า โรงเรียนมีความพร้อมที่จะเป็นโรงเรียนนิติบุคคล แต่ต้องรอให้ สพฐ.จัดทำคู่มือปฏิบัติออกมาก่อน ขณะนี้ยังตอบอะไรได้ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเป็นโรงเรียนนิติบุคคลจะทำให้มีความคล่องตัว สถานศึกษาจะได้พัฒนาการเรียนการสอนได้เร็วขึ้น เพราะมีอิสระในการบริหารจัดการ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำอะไรได้ทุกอย่างโดยอ้างเป็นมติโดยชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งผู้บริหารต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะเมื่อมีอิสระมากก็จะต้องถูกตรวจสอบเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้

นายวินัย ดิสสงค์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพิจิตร กล่าวว่า โรงเรียนอนุบาลพิจิตรเป็นอีกโรงเรียนที่ถูกคัดเลือกเข้าร่วมโครงการโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือการที่โรงเรียนหลุดจากระบบราชการ มีอิสระและเสรีภาพในการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยให้อำนาจผู้อำนวยการโรงเรียนทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และหาแหล่งทุน เป็นต้น ซึ่งตนเห็นด้วยที่จะให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล เพราะที่ผ่านมาการบริหารงานต่างๆ ต้องผ่านขั้นตอนของ สพฐ. ทำให้ล่าช้า เช่น โรงเรียนขาดแคลนครู ต่อไปหากมีเงินก็สามารถจ้างได้เลย

นางสุนทรี ทรงคัชชะ ผู้ปกครองนักเรียนใน จ.พิจิตร กล่าวว่า การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี เช่น คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลโรงเรียน แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งอาจจะมีช่องว่างให้คณะกรรมการสถานศึกษาเล่นพรรคเล่นพวกกันได้ ซึ่งหากมีระบบการคัดเลือกกรรมการสถานศึกษาที่ให้เขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการ น่าจะมีหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือมากกว่า นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรต้องเข้ามาควบคุมมาตรฐานเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากนักเรียนและผู้ปกครอง เพราะหากปล่อยให้เก็บค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจะเป็นปัญหาตามมาได้ ไม่ใช่ว่าจ่ายแพงแล้ว แต่คุณภาพไม่ดี

นายชุมพล รัตน์เลิศลบ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 1 กล่าวว่า สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่นำร่องเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะเป็นโรงเรียนที่มีมาตรฐานและความพร้อมสูง ต่อไปการพัฒนาโรงเรียนขึ้นอยู่กับผู้บริหารต้องวางแผนและเสนอโครงการ จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน พัฒนาบุคลากร บริหารจัดการงบประมาณและรายได้ โดยต้องให้คณะกรรมการสถานศึกษาเห็นชอบภายใต้กรอบระเบียบที่กำหนด

นายกมล หทัยดำรงวิทยา ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลพะเยา จ.พะเยา กล่าวว่า โรงเรียนอนุบาลพะเยาได้รับเลือกเป็นหนึ่งใน 58 โรงเรียน ให้เข้าโครงการโรงเรียนนิติบุคคล โดยเป็นสถานศึกษาที่ออกนอกระบบ แต่รัฐบาลยังให้การอุดหนุนงบประมาณตามปกติ ซึ่งแม้ที่ผ่านจะได้รับงบฯปีละ 3-4 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอกับการใช้บริหารทุกด้านในสถานศึกษา แต่จะไม่มีค่าแป๊ะเจี๊ยะอย่างเด็ดขาด


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355140127&grpid=&catid=19&subcatid=1903

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 11 ธ.ค. 55 09:00:59




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com