Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
แบงก์ชาติห่วงหนี้ครัวเรือนพุ่ง รายได้น้อย-ผิดนัดชำระเพิ่ม ′สศค.′จัดเป็นวาระเร่งด่วน vote ติดต่อทีมงาน

"ผู้ว่าการ ธปท." แจง หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น แถมเริ่มเห็นการผิดนัดชำระ เตรียมหารือนายแบงก์ เพื่อวางแนวทางป้องกัน ยันไม่ได้กีดกันรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงิน ด้าน สศค.รื้อปัญหาหนี้ "ครัวเรือน-นอกระบบ" เป็นวาระเร่งด่วน เตรียมเสนอ รมว.คลัง 1-2 สัปดาหนี้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนว่า ธปท.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มเห็นสัญญาณว่า ผู้มีรายได้น้อยมีระดับหนี้สูงและผิดชำระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการใดๆ ออกมาดูแลเป็นพิเศษ แต่ถ้าจะออกมาตรการใดๆ ก็เป็นไปได้ที่จะใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (แมโคร พรูเด็นเชียล) เพื่อแก้ไขปัญหาตรงจุด ซึ่ง ธปท.ยังต้องการให้ผู้ประกอบการรายเล็กและประชาชนรายย่อยเข้าถึงบริการการเงินได้มากขึ้น พร้อมกับการได้รับความรู้ทางการเงินควบคู่กันไป โดยจะมีการนำเรื่องนี้ หารือกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ในวันที่ 3 ธันวาคมนี้

"สินเชื่อภาคธุรกิจโตประมาณ 12% จากการลงทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ สินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านที่อยู่อาศัยก็สามารถอธิบายการขยายตัวได้ ด้านตลาดเครดิต บางส่วนไม่ได้มีปัญหา อยู่ในระดับที่ค่อนข้างพอดี แต่สินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่น ธปท.ก็ตามดูอยู่ และขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรในใจที่จะมากำกับดูแล" นายประสารกล่าว

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค.จะใช้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อจัดทำแนวทางการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและจริงจัง รวมถึงหนี้นอกระบบที่จะส่งเสริมพัฒนาให้เข้ามาเป็นหนี้ในระบบ โดยจะเสนอนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณา 1-2 สัปดาห์นี้ หลังจากที่เคยช่วยเหลือด้วยการขึ้นทะเบียนมาแล้ว แต่ที่ผ่านมา อาจจะเบาไปบ้าง และต้องยอมรับว่า ไม่สามารถกำจัดออกไปจากสังคมไทยได้ จึงต้องหาแนวทางกำกับดูแลให้ดี โดยอาจจะมีการออกพระราชบัญญัติ เพื่อดูแลและอนุญาตเจ้าหนี้นอกระบบให้คิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ได้ เพื่อจูงใจให้เข้ามาอยู่ในระบบ

นายสมชัยกล่าวต่อว่า ยอมรับว่านโยบายของรัฐบาลมีส่วนทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น จากนโยบายรถคันแรก หรือบ้านหลังแรก แต่หนี้ที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสินทรัพย์ด้วย และไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องตื่นตระหนก เพราะภาพรวมของสถาบันการเงินแล้ว ขณะนี้มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพียง 2.4% และถ้าหักกันสำรองออกก็จะเหลือเพียง 1.2% โดยที่หนี้ครัวเรือนก็จะอยู่ในส่วนนี้ด้วย เทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เอ็นพีแอลสูงถึง 50% ขณะที่กำไรของระบบสถาบันการเงินมีเป็นแสนล้านบาท และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ของระบบก็อยู่ที่ 15.9 เท่า เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท.ที่ 8.5 เท่า

"หากดูจากธนาคารรัฐที่มีการปล่อยกู้ให้กับผู้มีรายได้น้อย อย่างธนาคาร ออมสิน ระดับเอ็นพีแอลก็ 1% กว่าๆ ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เองก็ไม่ถึง 3% แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ที่มีการก่อหนี้เกินตัว ส่วนหนึ่งเพราะขาดความรู้ ซึ่ง สศค.กำลังดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นายสมชัยกล่าว

(ที่มา:มติชนรายวัน30พ.ย.2555)

จากคุณ : หมาป่าดำ
เขียนเมื่อ : 30 พ.ย. 55 12:34:39




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com