กรณีกระทู้ที่ห้องโทรโข่ง หมายเลข C1775177 อันมีใจความดังนี้

อุทาหรณ์ โรงพยาบาลศรีสยาม

มีเรื่องจริงที่เกิดกับครอบครัว ๆ เราอยากจะฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ ให้กับคนอีกหลาย ๆ คน จะได้ไม่เกิดความสูญเสียเหมือนกับครอบครัว ๆ นี้ และช่วยกันส่งต่อไป เพื่อเป็นบทเรียนให้กับครอบครัวอื่น

เรื่องมีอยู่ว่า คุณแม่ของข้าพเจ้าป่วย และได้เดินทางไปที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ในวันที่ 19 กรกฏาคม 2545 แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่า ไม่สามารถให้คุณแม่นอนรักษาตัวที่นี่ได้ เนื่องจากห้องไม่มี เตียงไม่ว่าง ถ้าต้องการนอน ก็ต้องนอนรออยู่ที่ห้องฉุกเฉิน ญาติก็นั่งตบยุงรออยู่ที่ข้างนอก (นี่เป็นคำพูดของหมอคนหนึ่ง ขนาดเขาทราบว่า น้องชายของข้าพเจ้ารับราชการ มีตำแหน่งพอสมควร ยังได้รับคำตอบเช่นนี้ แล้วตาสีตาสาจะเป็นอย่างไร) ซึ่งสภาพในห้องนั้น แม้แต่คนธรรมดายังแย่เลย อย่าว่าแต่คนไข้ที่ป่วยหนักเลย ดังนั้น เราจึงตัดสินใจนำคุณแม่กลับบ้านก่อน (เนื่องจากไปที่โรงพยาบาล ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. กว่าจะเสร็จปาเข้าไปตั้ง 18.00 น.) แล้วตั้งใจว่าพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่ และในวันที่รุ่งขึ้นคือวันที่ 20 กค.45 คุณแม่มีอาการชักและปัสสาวะราด สักครู่ก็มีถ่ายออกมา ลักษณะคล้ายยางมะตูม เหมือนมีเลือดปนออกมาด้วย และเริ่มไม่รู้สึกตัว ข้าพเจ้าและคุณพ่อตกใจมาก จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุด คือโรงพยาบาลศรีสยาม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน อยู่บนถนนสุขาภิบาล 1 เมื่อเข้าไปก็เข้าแบบฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลก็ได้ตรวจเช็คเบื้องต้นแล้ว แจ้งว่าต้องทำการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง ซึ่งทางเราก็ยินดี

เมื่อทำครั้งแรกแจ้งว่าพบก้อนเนื้อ แต่มองเห็นไม่ชัดเจน จึงขออนุญาตให้ฉีดสีเข้าไป เพื่อจะได้มองเห็นก้อนเนื้อนั้นชัดยิ่งขึ้น เราก็เซ็นยอมไป แล้วรอหมอถึง 20.30 น เมื่อหมอใหญ่ของโรงพยาบาล (ขอสงวนนาม) มาตรวจ แล้วเรียกญาติเข้าไป เมื่อได้คุยกับหมอจึงทราบว่า มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่สมองน้อยของแม่ ประมาณ 2 ซ.ม . (แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย) ก้อนเนื้อนี้ไปเบียดท่อระบายน้ำที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้ถุงน้ำโปร่งไปดันเส้นประสาท เลยทำให้ไม่สามารถขยับแขน และ ขาข้างซ้าย ในขณะนั้น แม่ได้หมดสติไป หมอแจ้งว่าถ้าจะให้ช่วยชีวิต ในขั้นแรกคือผ่าตัดสมอง เพื่อใส่ท่อช่วยระบายน้ำ เพื่อให้ถุงน้ำยุบตัว ไม่ไปดันเส้นประสาท พวกลูก ๆ จึงปรึกษากัน แล้วมีความเห็นตรงกัน คือตกลงให้ผ่าตัด หมอปรับเลือดแม่อยู่ถึงเวลา 22.00 น. จึงได้นำเข้าห้องผ่าตัดเสร็จก็ประมาณ 00.20 น. ของวันใหม่ หลังผ่าตัดแม่มีอาการดีขึ้น แต่ยังไม่ค่อยรู้ตัว จะมีอาการไอ ตอบสนองอยู่ตลอดเวลา เราจึงกลับก่อนเพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน เนื่องจากต้องอยู่ในห้อง ICU

พอตอนเช้าของวันที่ 21 กค.45 พวกเราก็รีบมาเยี่ยมคุณแม่ อาการของคุณแม่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พูดได้เหมือนปกติ แขนขา ข้างซ้ายสามารถขยับได้ตามปกติ พวกเรารู้สึกดีใจมาก และคิดว่าการตัดสินใจผ่าตัดในครั้งนี้ถูกต้อง และดีที่สุดสำหรับคุณแม่แล้ว และในวันนั้นประมาณเที่ยงวัน คุณหมอก็ได้อนุญาตให้คุณแม่ ไปพักอยู่ในห้องปกติได้ คุณแม่ทานข้าวได้ แต่ความจำยังสับสนอยู่ ในวันที่ 22 กค.45 คุณแม่ก็ยังมีอาการเหมือนเดิม คือทานข้าวได้ ความจำยังสับสนอยู่ พอคุณหมอมาตรวจ เราได้สอบถามคุณหมอ เกี่ยวกับอาการของคุณแม่ ที่มีถ่ายเป็นเลือด ซึ่งคุณหมอไม่ได้ให้ความสนใจในจุดนี้มากนัก วันที่ 23 กค.45 คุณแม่เริ่มทานข้าวได้น้อยลง ซึมลง ไม่ค่อยพูด แต่คุณหมอก็ยังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบอะไรเพิ่มเติม และในตอนกลางคืน คืนนั้นคุณแม่ไม่นอน จนกระทั้งถึงประมาณตี 3 พยาบาลจึงมาฉีดยานอนหลับให้ ก็ยังไม่หลับจนถึงเช้าวันที่ 24 กค.45 คุณแม่นอนตลอดวัน เรียกก็ไม่ตื่น ลืมตาแล้วก็หลับต่อ ทานข้าวไม่ได้เลย จนกระทั่งบ่ายเราก็เริ่มสงสัย ทำไมคุณแม่ทานข้าวไม่ได้ ไม่ตื่นเลย จนเวลาประมาณ 18.00 น. คุณหมอมาตรวจ บอกว่าอาการไม่ค่อยดี ขอให้ลงไปอยู่ที่ ICU ดีกว่า พวกเราพยายามสอบถามคุณหมอว่า ให้ยานอนหลับแรงไปหรือเปล่า คุณหมอก็บอกว่าให้ขนาดปกติ แต่คนไข้แต่ละคนมีปฏิกริยาตอบรับไม่เท่ากัน

เมื่อลงมาจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น. คุณหมอก็ออกมาบอกพวกเราว่าอาการไม่ดี เนื่องจากคนไข้ติดเชื้อในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ คนไข้หัวใจเต้นช้าลง คงต้องทำการปั๊มหัวใจ ซึ่งพวกเราก็รออยู่อย่างกะวนกะวายใจ จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. คุณหมอบอกว่าคนไข้หยุดหายใจไปแล้ว ประมาณ 15- 20 นาที แต่สามารถปั๊มขึ้นมาได้ พวกเรารีบเข้าไปดูคุณแม่ แต่ท่านไม่มีอาการตอบสนอง ได้แต่นอนนิ่ง ๆ อย่างเดียว สายระโยงระยางเต็มตัวของคุณแม่ พวกเรารู้สึกสงสารคุณแม่มาก แต่ก็ต้องกลับบ้าน เพราะโรงพยาบาลไม่ให้เฝ้า (ห้อง ICU)

วันที่ 25 กค.45 อาการของคุณแม่ก็ยังเหมือนเดิม คือกราฟหัวใจเต้น ความดันเลือดขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่มีอาการตอบสนองอื่นๆ เช่น ไอ แต่ทางโรงพยาบาลบอกคุณแม่ซีดมาก จำเป็นต้องให้เลือดและเกล็ดเลือด พวกเรามาเยี่ยมคุณแม่เป็นระยะๆ ตามเวลาที่เขาให้เยี่ยมได้ แต่เรามีความรู้สึกว่าคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย สังเกตเห็นว่าขาแม่เย็นมาก มือแม่ก็เย็น ตามลำตัวของแม่เริ่มบวมและเริ่มซีด หมอบอกว่าเป็นปฎิกริยาของยาที่ให้ แล้วก็นำเลือดมาให้แม่อีก 2 ถุง เราเฝ้ากันจนหมดเวลาเยี่ยมจึงกลับบ้าน จึงคิดที่จะย้ายไปโรงพยาบาลรัฐบาล แต่ติดตรงที่เป็นวันหยุดยาว (24 กค.วันอาสาฬหบูชา, 25 กค.วันเข้าพรรษา) เราจึงตั้งใจกันไว้ว่า วันที่ 26 กค.45 ต้องย้ายโรงพยาบาลให้ได้ วันที่ 26 กค.45 ทุกคนวิ่งเต้น เพื่อหาที่ย้ายโรงพยาบาลให้คุณแม่ ทั้งโรงพยาบาลจุฬา ,เลิดสิน, ศิริราช แต่คำตอบคือเป็นวันหยุดยาว หมอไปสัมมนาหมด จะกลับมาในวันที่ 27 กค.45 เราเริ่มหมดหวัง แต่แล้วที่ โรงพยาบาลจุฬาแจ้งว่าได้เตียงที่ ICU แล้ว แต่ไม่มีหมอเจ้าของไข้ สรุปย้ายไม่ได้ เพราะหาหมอเจ้าของไข้ไม่ได้ แม่เริ่มมีอาการไม่ดี ตัวบวมมากขึ้น พวกเรากังวลมาก

วันที่ 27 กค.45 เราก็ยังไม่เลิกคิดที่จะย้ายคุณแม่ แต่อาการคุณแม่ไม่ดีขึ้นเลย ทางโรงพยาบาลได้เชิญหมอโรคไต มาจากโรงพยาบาลชลประทาน เข้ามาตรวจเวลา 11.00 น. เราเข้าไปถามหมอ ๆ บอกว่าปอดติดเชื้อ ความดันโลหิตต่ำ และไตวายเฉียบพลัน ต่อไปคือน้ำท่วมปอด ระบบการไหลเวียนของเลือดล้มเหลว ความดันโลหิตไม่สามารถจะวัดได้ เลือดเริ่มสร้างกรดขึ้นมาต่อต้าน ตัวคุณแม่เย็นมาก ไม่มีการตอบสนองใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ลูก ๆ ทำใจได้ไม่น่าเกินคืนนี้ เมื่อหมอออกไป คุณหมอที่โรงพยาบาลศรีสยาม กลับบอกเราว่าไม่มีปัญหา สามารถที่จะอยู่ต่อไปได้อีกเป็นอาทิตย์ มีความหวัง 20 % พวกเราก็เลยไม่แน่ใจ ตกลงมันยังไง พอดีที่โรงพยาบาลเลิดสิน แจ้งมาว่าได้เตียงที่ ICU แล้ว แต่ยังขาดหมอเจ้าของไข้ ก็พยายามกันจนหาหมอรับเป็นเจ้าของไข้ได้ เราก็ได้ติดต่อกับที่โรงพยาบาลศรีสยาม ตอนแรกบอกย้ายไม่ได้ พอเราบอกว่าเราไม่มีเงินจ่าย เขาก็รีบเขียนส่งให้ย้ายได้ เราบอกให้รถไปก่อนเลย จะมีคนอยู่คอยเคลียร์เรื่องเงินให้ เขาก็ไม่ให้รถออกไป จนเราเคลียร์เรื่องเงินเสร็จแล้ว เขาโทรฯ มาถามที่การเงิน พอดีเราได้ยินเขาบอกให้รถออกได้เลย เวลาตอนนั้นประมาณ 17.00 น พวกเราดีใจมากที่ได้ย้าย เพราะไม่รู้ว่าหมอคนไหนพูดจริงหรือหลอก เมื่อไปถึงที่เลิดสิน คุณหมอที่รับเป็นเจ้าของไข้ ก็บอกคนไข้อาการหนักมาก กระเพราะติดเชื้อแล้ว ไตวาย ความดันเลือดไม่สามารถวัดได้เลย ทำไมให้ย้าย แล้วใบสรุปที่เขียนส่งมา ไม่ตรงกับอาการของคนไข้เลย คุณหมอแจ้งว่า ปกติคนไข้ที่ปั๊มหัวใจ 15 –20 นาที โอกาสรอดน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย แล้วทำไมที่โรงพยาบาลศรีสยาม ถึงให้ยากระตุ้นหัวใจที่แรงมาก

เมื่อหมอตรวจอย่างถี่ถ้วนแล้ว จึงลงความเห็นว่าที่หัวใจเต้น เพราะว่าหมอที่ศรีสยาม ใช้ยากระตุ้นหัวใจอย่างแรง และให้ตลอดเวลา เพื่อให้หัวใจเต้น และที่เห็นหายใจ เพราะเครื่องช่วยหมอเปิดไว้สุด เพื่อให้เห็นว่ายังหายใจอยู่ หมอแจ้งว่านี่ถ้ายังอยู่ที่เก่าอีก 2 – 3 วันข้างในก็เน่าแล้ว แม่ของคุณเสียตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 45 แล้วตอนนี้หมอไม่สามารถช่วยได้ เลยปรึกษากันแล้ว ให้หมอตัดสินใจ หมอตัดสินใจเอายากระตุ้นหัวใจออก แล้วคุณหมออธิบายว่า ถ้าคุณเอาชิ้นเนื้อหมูมา แล้วฉีดยาตัวนี้เข้าไป เนื้อจะเต้นตุบ ๆ ก็แสดงว่าคุณแม่ของพวกเรา ได้จากพวกเราไปตั้งแต่ วันที่ 24 กค.45 แล้ว แต่เราถูกโรงพยาบาลศรีสยามหลอก เพื่อเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหนึ่ง คุณหมอที่เลิดสิน จึงแจ้งกับพวกเราว่า จะเปลี่ยนยาเป็นตัวปกติที่ใช้กัน พวกเราก็ตกลง ตอนนั้นเวลาประมาณ 20.30 น. แล้วคุณแม่ก็จากเราไปอย่างสงบ ทั้งร่างกาย วิญญาณ และจิตใจ เมื่อเวลาประมาณ 21.02 น. หลังจากให้ยาปกติ

พวกเรารู้สึกสงสารคุณแม่มาก ท่านเสียแล้วร่างกายของท่าน ยังถูกโรงพยาบาลเอาร่างกายของท่านมาเป็นเครื่องมือ ในการหาเงินเข้าโรงพยาบาล โดยไม่ได้นึกถึงคุณธรรม คิดถึงแต่ความอยู่รอดของโรงพยาบาล แล้วคิดถึงลูกหลานคนไข้บ้างหรือเปล่า สภาพจิตใจเป็นอย่างไร เรานำคุณแม่มาสวดอภิธรรมศพที่วัดบางเตย และขอพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 3 สิงหาคม 2545 เวลา 16.00 น. พวกเราขอไว้อาลัย กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของคุณแม่

อ่านแล้วช่วยส่งต่อๆ ไป เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้อื่นด้วย


เรียน สาธารณชนทุกท่าน เกี่ยวกับเรื่องอุทาหรณ์ โรงพยาบาลศรีสยาม

ข้าพเจ้าเป็นข้าราชการผู้มีตำแหน่งพอสมควร ได้อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกว่า เป็นกรณีมารดาของข้าพเจ้าเอง และอยากจะเขียนให้สาธารณชนเข้าใจว่า ความจริงแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงอยู่ ซึ่งอาจจะเกิดจากการสื่อสาร ที่ญาติของคนไข้กับทางโรงพยาบาลศรีสยาม เข้าใจไม่ตรงกันและข้อมูลที่สับสน ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอเรียนว่า ข้าพเจ้าไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการส่ง E-MAIL ครั้งนี้เลย และไม่ทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็ขอขอบคุณผู้ส่งที่หวังดี การปั้มหัวใจมารดาของข้าพเจ้านั้น ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะทำให้หัวใจกลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมีปฏิกิริยาโต้ตอบ กล่าวคือ เมื่อขยับท่อช่วยหายใจ มารดาของข้าพเจ้าจะลืมตาและขยับศีรษะ แพทย์โรงพยาบาลศรีสยาม จึงมีความจำเป็น ที่จะต้องให้ยากระตุ้นหัวใจอย่างแรงช่วยเสริมด้วย และที่แพทย์บอกว่ามีความหวัง 20 % กับสามารถยังอยู่ได้อีกเป็นสัปดาห์นั้น หมายถึงในกรณีที่ไม่มีภาวะโรคแทรกซ้อน สำหรับในประเด็นที่แพทย์โรงพยาบาลศรีสยาม ไม่ยอมให้ย้ายโรงพยาบาล แต่พอญาติแจ้งว่าไม่มีเงิน จึงยอมอนุญาตให้ย้ายได้นั้น ข้าพเจ้าขอเรียนว่า ในตอนแรกแพทย์ได้ลงความเห็นว่าย้ายไม่ได้ แต่เมื่อญาติคนไข้ยืนยันที่จะย้าย ทาง รพ.ศรีสยาม จึงต้องยอมอนุญาต ซึ่งในกรณีนี้ เหตุที่ต้องใช้เวลาดำเนินการนาน ก็เนื่องมาจากต้องรอพยาบาลที่มีความสามารถสูง ช่วยเดินทางไปพร้อมกับคนไข้ด้วย

ข้าพเจ้าขอเรียนต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่งว่า ในระหว่างทำการรักษาพยาบาล แพทย์เจ้าของไข้ของโรงพยาบาลศรีสยาม ได้ให้ข้อมูลแก่ข้าพเจ้ามาโดยตลอด และร่วมประชุมปรึกษาแผนการรักษากัน โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าเชื่อว่า แพทย์ได้ให้การรักษาพยาบาลมารดาของข้าพเจ้า อย่างดีที่สุดแล้ว ไม่มีพฤติการณ์ที่จะประวิงการรักษา หรือยัดเยียดการรักษาพยาบาล เพื่อหวังผลประโยชน์ในการรักษา โดยพิจารณาได้จากวันแรก ๆ เมื่อข้าพเจ้าแจ้งให้แพทย์ทราบว่าเป็นข้าราชการ และจะขอย้ายไปรักษาต่อที่รพ.ของรัฐ แพทย์ก็จัดเตรียมเอกสาร การย้ายให้แก่ข้าพเจ้าทันที

สุดท้ายข้าพเจ้าขอขอบพระคุณสาธารณชนทุกท่าน ที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในกรณีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม โปรดเข้าใจโรงพยาบาลศรีสยามให้ถูกต้องด้วย ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกเห็นใจโรงพยาบาล กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโรงพยาบาลอาจต้องเสียชื่อเสียงจากการนี้ และขอยืนยันว่า ข้าพเจ้าเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง เป็นบุตรของผู้ตายกรณีนี้จริง ไม่มีเหตุที่จะต้องเข้าข้างโรงพยาบาลศรีสยาม แต่ที่ต้องออกหนังสือฉบับนี้ เพราะต้องการให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุก ๆ ฝ่าย และขอขอบพระคุณแพทย์ ที่ทำการรักษาพยาบาลมารดาของข้าพเจ้าเป็นอย่างดี

ขอให้สาธารณชนเมื่ออ่านเสร็จช่วยกันส่งต่อ ๆ ไปด้วย เพื่อแก้ข่าวให้แก่โรงพยาบาล

หมายเหตุ

ต้นฉบับจดหมายชี้แจงข้อเท็จจริง
ส่วนที่ 1 | ส่วนที่ 2

(ขอสงวนนามผู้เขียนจดหมายชี้แจง)


  • พบเห็นความไม่ยุติธรรมในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ร้องเรียนได้ที่ห้องโทรโข่ง เว็บไซต์ Pantip.com
  • ต้องการชี้แจงข้อเท็จจริงของข่าวลือบนอินเทอร์เน็ต ส่ง E-mail มาที่ vorapoat@pantip.com หรือเบอร์โทรศัพท์ 0-2357-1960 ถึง 1 หรือโทรสาร 0-2357-1962 (กรุณาให้รายละเอียดของคำชี้แจงให้ครบถ้วน)



ส่ง E-mail ให้เพื่อน
ชื่อผู้ส่ง :
E-mail ผู้ส่ง :
E-mail ผู้รับ :
สามารถใส่ได้ถึง 5 E-mail โดยใช้เครื่องหมายจุลภาค (,) คั่นแต่ละ E-mail