 |
ความคิดเห็นที่ 10 |
|
วัตถุที่พบจัดเป็น "เครื่องมือหิน" (Stone tool) ชนิดที่เรียกว่า "ขวานหิน" (Stone Axe/Adze) ประเภท "ขวานหินขัด" (Polished Axe/Adze)
ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่คนในสมัยโบราณผลิตขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน รวมทั้งใช้เป็นวัตถุอุทิศในพิธีกรรมฝังศพ จึงจัดเป็นหลักฐานทางโบราณคดี (Artifact/Artefact) หรือโบราณวัตถุชนิดหนึ่ง
โดยทั่วไปเครื่องมือหินประเภทขวานหินขัดที่พบในแหล่งโบราณคดีตามภูมิภาคต่างๆของโลกรวมทั้งในประเทศไทยนั้น มักปรากฏขึ้นตั้งแต่ในช่วงทีสังคมมนุษย์เริ่มมีพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมแบบการเพาะปลูกหรือการเกษตรกรรมระยะแรกเริ่มเป็นต้นมา ซึ่งกำหนดอายุคร่าวๆ (จากผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ประมาณ 12,000 ปีมาแล้ว เป็นต้นมา) ซึ่งเป็นยุคที่เรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistory / Prehistoric Period) อันเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่รู้จักประดิษฐ์คิดค้น "ตัวอักษร" หรือ "ภาษาเขียน" ขึ้น
สำหรับกรณีประเทศไทยนั้น พบว่าปรากฎหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทขวานหินขัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น (ทวารวดี - ซึ่งนักวิชาการด้านโบราณคดีหลายคนจัดเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายกับสมัยประวัติศาสตร์ระยะแรกเริ่ม)
กระนั้นก็ดี อายุสมัยของเครื่องมือขวานหินขัดที่พบในประเทศไทยนั้น มีผลการกำหนดอายุเก่าแก่ที่สุดไม่ถึง 10,000 ปี เท่าที่มีรายงานผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิคที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน (เทคนิค AMS) นั้น อยู่ที่ช่วงเวลาตั้งแต่ประมาณ 5,000 - 6,000 ปีมาแล้ว เป็นต้นมาจนถึงสมัยทวารวดี (ประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว) ซึ่งก็ยังถือว่าเป็น "สมัยก่อนประวัติศาสตร์" โดยเป็นสังคมที่มีการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์แล้ว
(เหตุที่ผมเน้นเทียบกับพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมแบบการเพาะปลุกเลี้ยงสัตว์นั้น ก็เพราะว่าในบริบททางโบราณคดีสากลนั้น การเพาะปลุกเลี้ยงสัตวืหรือการเกษตรกรรมถือเป็น ISSUE สำคัญที่เป็นหัวข้อการศึกษาเกี่ยวกับแบบแผนพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมและระบบนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีในสังคมของมนุษยชาตินั่นเอง)
อย่างไรก็ตาม กรณีพื้นที่ จ.เลย นั้น เท่าที่มีรายงานผลการศึกษาค้นคว้าทางโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจ-ขุดค้น รวมทั้งผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์จากแหล่งที่พบเครื่องมือขวานหินขัดลักษณะเช่นนี้ บ่งชี้ว่าอายุสมัยของชุมชนโบราณในพื้นที่ดังกล่าวมีอายุประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่สัมพันธ์กับพัฒนาการด้านเทคโนโลยีโลหกรรม (Metallurgy) แล้ว
ผมและเพื่อนนักโบราณคดีหลายคนเคยทำงานสำรวจในพื้นที่ จ.เลย หลายอำเภอและพื้นที่ต่างๆในเขตภาคอีสานตอนบนและภาคกลาง/ภาคเหนือที่ติดต่อกับ จ.เลย ตลอดจนในพื้นที่ทางฝั่งประเทศ สปป.ลาว เราพบว่ามีเครื่องมือหินเช่นที่ จขกท นำมาแสดงแพร่กระจายทั่วไปครับ และผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่เก่าไปกว่า 2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นค่าอายุที่สอดคล้องกัน
อย่างไรก็ตาม จะเป็นประโยชน์มากครับ หาก จขกท . จะแจ้งข้อมูลแหล่งที่พบไปยัง สำนักศิลปากรที่ 9 ขอนแก่น ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมศิลปากรในภูมิภาค ที่ดูแลรับผิดชอบการศึกษาค้นคว้าและการดูแลจัดการแหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดภาคอีสานตอนบน รวมถึง จ.เลย ว่าพบที่หมู่บ้านไหน ตำบลใด ของ อ.ภูเรือ เพื่อให้นักโบราณคดีจาก สนง.ที่ขอนแก่น ออกไปตรวจสอบ และบันทึกไว้ในฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดี ซึ่งจะเป็นประโบชน์อย่างมากสำหรับการศึกษาค้นคว้าในโอกาสต่อไป
สามารถแจ้งไปได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 0-4324-2129 ครับ
จากคุณ |
:
กุมภีน
|
เขียนเมื่อ |
:
28 ต.ค. 52 08:08:48
|
|
|
|
 |