 |
ความคิดเห็นที่ 7 |
|
"วิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกเป็นมากกว่าเครื่องมือมากนัก เพราะวิทยาศาสตร์คือวิธีมองความจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งสมัยก่อนเชื่อว่าเหนือกว่าวิธีมองความจริงอื่นๆ แม้สมัยหลังยอมรับข้อจำกัดของวิธีมองอย่างนี้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรแก่นแท้ของวิทยาศาสตร์คือวิธีมองความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง"
---------------------------------------------------------------------------------
ฐานทางสังคมของวิทยาศาสตร์
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9516
สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีในการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในปีนี้ เป็นมากกว่าสุนทรกถาสำหรับเปิดงานประชุมแห่งชาติโดยทั่วไป ไม่ว่าท่านจะเตรียมเองหรือผู้อื่นเตรียมให้ ก็ถือว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ดี
ดีที่มีการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะของวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย (ซึ่งเคยมีผู้วิจัย มีรายงาน และมีการจัดพิมพ์จำหน่ายแล้ว) และเลือกหยิบตัวเลขที่เกี่ยวข้องออกมาชี้ให้เห็นประเด็นได้ชัดและเข้าใจง่าย ในขณะเดียวกันก็มีการวางเป้าหมายเชิงนโยบายและการบริหารวิทยาศาสตร์ที่รัฐบาลต้องการให้เห็นได้ชัด พอเหมาะพอควรสำหรับสุนทรพจน์สั้นๆ สำหรับเปิดงาน
แต่การนำเสนอที่ดีไม่ได้แปลว่าต้องเห็นด้วยไปหมด และหลายคนคงทำหน้าเมื่อยๆ กับบางข้อความในสุนทรพจน์นั้น เช่นกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะต้องทำงานซึ่งเคยทำกันมาถึง 25 ปีแล้วให้บรรลุผลให้ได้ภายใน 3 ปี (ท่านนายกฯพูดว่าชอบใช้ทางลัด)
หรือการใช้คลัสเตอร์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดว่า จะลงทุนกันในวิทยาศาสตร์แขนงใด ก็คงเป็นเรื่องที่เถียงกันได้มาก เพราะปัญหาว่าอะไรควรเป็นตัวนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ระหว่างกำไรและการสร้างสรรค์ความรู้ - เพื่อความรู้หรือเพื่อประชาชนก็ตาม - เป็นปัญหาที่เถียงกันมานานแล้ว
ด้วยความบังเอิญบางอย่างในชีวิต ทำให้ผมได้รับรู้ความบกพร่องในสถานะ และสภาวะของวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยอยู่บ่อยๆ (เมืองไทยมีนักวิจัย 2 ต่อ 10,000 เทียบกับสิงคโปร์มี 48 และญี่ปุ่นมี 73, ครูวิทยาศาสตร์ไทยทั้งขาดแคลนและไม่มีคุณภาพ, ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานให้นักวิทยาศาสตร์, มีการจดสิทธิบัตรสิ่งที่ค้นพบใหม่น้อย ฯลฯ) ความบกพร่องเหล่านี้ก็ปรากฏในสุนทรพจน์ของท่านนายกฯเช่นกัน
ทางแก้เท่าที่ผมเคยได้ยินมาก็มักจะซ้ำๆ กัน และไม่ค่อยชัดเจนในทางปฏิบัติว่าจะทำได้อย่างไร ถ้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็จะเสนอทางแก้ให้เพิ่มเงินลงไป ดังที่คุณไพรัช ธัชยพงศ์ ผอ.สำนักงานวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ เสนอว่า ควรเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จาก 0.26% ของงบประมาณแผ่นดินเป็น 1% เป็นต้น ถ้าเป็นนักธุรกิจก็เสนอว่าควรปรับให้เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) ซึ่งจะทำได้อย่างไร ก็ไม่ค่อยชัดเจนนัก
ผมต้องยอมรับว่า คุณทักษิณเสนอทางแก้ที่เป็นรูปธรรมที่สุด และอาจสรุปได้ดังนี้
วิทยาศาสตร์ต้องเชื่อมโยงกับธุรกิจ โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับภาคการผลิต 12 คลัสเตอร์ซึ่งรัฐบาลได้วางเป้าเอาไว้ เช่นความเป็นครัวของโลก, ศูนย์กลางผลิตรถยนตร์แห่งเอเชีย, พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้, ฯลฯ นอกจากนี้การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของไทย ก็จะจดทะเบียนสิทธิบัตร เพื่อให้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำเงินเข้าประเทศ
จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องมีนักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถและพอเพียง ฉะนั้นจึงสนับสนุนโครงการของ สวทช.เกี่ยวกับนักเรียนอัจฉริยะ และควรหาหนทางประสานงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเพื่อฝึกนักวิจัยไทย เช่นดอกเตอร์ไทยสัก 200 คนร่วมกันสร้างเครือข่ายกับศาสตราจารย์ต่างประเทศ
เมื่อพิจารณาทางแก้ของท่านนายกฯแล้ว รู้สึกบ้างไหมครับว่า ประชาชนคนธรรมดาหายไปไหน ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของไทย ถ้าจะมีในสามปีข้างหน้านั้น ประชาชนคนธรรมดาจะได้ผลประโยชน์ในทางใด ผมเข้าใจว่าคำตอบก็คือ ก็ถ้าคลัสเตอร์ในภาคการผลิตนั้นขยายตัวไปได้ดี ก็จะมีการจ้างงานมากขึ้น และประชาชนคนธรรมดาก็จะได้ประโยชน์จากธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นนี่เอง
ไม่ต่างจากการวางโครงการพัฒนาด้านธุรกิจอื่นๆ ของรัฐบาลทักษิณ (และที่จริงก็ไม่ต่างอะไรจากแนวทางการพัฒนาของสภาพัฒน์ที่ทำมาหลายสิบปีแล้วด้วย) นั่นก็คือสนับสนุนให้คนบางกลุ่มได้เป็นอภิมหาเสี่ย แล้วคนอื่นๆ ก็จะได้เป็นลูกน้องของเสี่ย แล้วรวยขึ้นไปเอง
ที่น่าสงสัยยิ่งไปกว่านี้ก็คือ การผลิตของประชาชนคนธรรมดาซึ่งอยู่นอกภาคการผลิตของ 12 คลัสเตอร์นั้น ไม่ต้องการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มาช่วยบ้างเลยหรือ เช่นถ้าพบวิธีการขยายพื้นที่ป่าชายเลนอย่างรวดเร็ว และราคาถูกกว่าวิธีที่ใช้ในปัจจุบัน จะไม่ทำให้การผลิตของประมงชายฝั่งดีขึ้นหรอกหรือ การทดกำลังของซาเล้งล่ะครับ ถ้าปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่านี้ ก็จะช่วยการขนส่งระยะสั้นของคนเล็กๆ ได้อีกมากทีเดียว รวมทั้งเปิดทางทำมาหากินให้แก่ผู้คนได้มากไม่น้อยไปกว่าแฟชั่น
อีกด้านหนึ่งคือการสร้างนักวิทยาศาสตร์และคำนวณ ถ้าเลือกแต่เด็กอัจฉริยะ ก็จะมีนักวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเพียง 200 คน (เอาตัวเลขนี้ไปเพิ่มตัวเลขเดิมแล้วก็ไม่ทำให้สถิติทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นดีขึ้นตรงไหน) เพราะในทุกสังคม อัจฉริยะย่อมมีจำนวนน้อยเสมอ (เพราะยีน หรือเพราะเราเลี้ยงเด็กไม่เป็นก็ตาม) และในจำนวนน้อยนั้น ก็ยังเป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะและไทเกอร์ วู้ด ไปเสียจำนวนหนึ่งด้วย ไม่เกี่ยวอะไรกับวิทยาศาสตร์เลย
ผมคิดว่ามันเหมือนกับการกีฬานะครับ เราจะมีนักฟุตบอลระดับโลกได้ ไม่ใช่เพราะเป็นเจ้าของสโมสรอังกฤษ แต่เพราะเด็กไทยมีโอกาสเล่นฟุตบอลจำนวนมาก(เหมือนละตินอเมริกา) และในจำนวนมากมายเหลือคณานับนั้น ก็จะมีดาราที่เก่งจริงเกิดขึ้นตามมามากมาย
นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งจริงจำนวนมากก็เกิดทางเดียวกัน คือทำให้การศึกษาวิทยาศาสตร์อย่างมีคุณภาพ เป็นสิ่งที่เด็กไทย(และผู้ใหญ่ไทยที่สนใจ) เข้าถึงได้โดยสะดวก ถ้าจะมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง กับองค์กรที่ทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก เครือข่ายนั้นก็เปิดกว้างแก่นักวิทยาศาสตร์ไทยทั่วไป อันที่จริงควรเปิดไปถึงนักเรียนนักศึกษาด้วยซ้ำ เพียงแต่อาจเชื่อมกันคนละลักษณะกับนักวิจัย
ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถจำนวนมากซึ่งเกิดตามมานี้ (โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยบุคคล) ภาคการผลิตใน 12 คลัสเตอร์มีกำลังที่จะใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด จึงไม่น่าห่วงเท่ากับภาคการผลิตที่ไม่มีกำลัง สิ่งที่น่าคิดไว้แต่เนิ่นๆ มากกว่าก็คือ จะจัดการโดยผ่านสถาบันหรือกระบวนการใด ที่จะกระจายผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นจากความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์นี้ไปอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม
อันที่จริงวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยนั้นมีความอาภัพมาตั้งแต่เริ่มนำเข้าจนถึงทุกวันนี้ เพราะวิทยาศาสตร์ถูกถือว่าเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ไม่เป็นเครื่องมือของการปกครอง, การทหาร, การเก็บภาษี, ก็เป็นเครื่องมือของเศรษฐกิจ จุดยืนของคุณทักษิณต่อวิทยาศาสตร์จึงไม่ได้แตกต่างจากปัญญาชนไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ลงมา
วิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตกเป็นมากกว่าเครื่องมือมากนัก เพราะวิทยาศาสตร์คือวิธีมองความจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งสมัยก่อนเชื่อว่าเหนือกว่าวิธีมองความจริงอื่นๆ แม้สมัยหลังยอมรับข้อจำกัดของวิธีมองอย่างนี้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรแก่นแท้ของวิทยาศาสตร์คือวิธีมองความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง
ฉะนั้นวิทยาศาสตร์ในสังคมตะวันตกจึงมีผลให้เกิดการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ ส่งผลอย่างกว้างขวางไปทุกแง่มุมของชีวิต จากศาสนาไปถึงการถ่ายอุจจาระ พูดอีกอย่างหนึ่งคือมีฐานทางสังคมที่เอื้อต่อการเฟื่องฟูของวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพราะนโยบายของรัฐเพียงอย่างเดียว แท้ที่จริงตัวนโยบายเองมีขึ้นเพื่อตอบสนองฐานทางสังคมดังกล่าวต่างหาก
คำถามที่ควรสนใจก็คือ การเด็ดยอดเอาเพียงบางส่วนของวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ จะทำให้วิทยาศาสตร์ ก้าวหน้าขึ้นในสังคมนั้นได้หรือไม่? ถ้าดูจากกรณีประเทศไทยนับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ลงมา คำตอบคือไม่ได้ เพราะขาดฐานทางสังคม จึงทำให้การศึกษาวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาเทคนิควิธี เสียมากกว่าการฝึกปรือการมองความจริง ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์
ความสนใจที่จะใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น ดังที่ปรากฏในสุนทรพจน์ของท่านนายกฯ ก็คงให้ผลอย่างเดียวกับที่ผ่านมา คือไม่มีทางที่จะเกิดฐานทางสังคมของวิทยาศาสตร์ขึ้นได้ ความเข้มข้นอาจทำให้รูปลักษณ์ภายนอก ดูแตกต่างจากที่ผ่านมา แต่เนื้อแท้ของวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยก็จะยังเหมือนเดิม
จากคุณ |
:
Knowledge Flooder
|
เขียนเมื่อ |
:
4 พ.ย. 52 21:43:14
A:113.53.21.156 X: TicketID:240531
|
|
|
|
 |