Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทอฝันเป็นรุ้งสวย : ทำนาบนสระน้ำ vote ติดต่อทีมงาน

ทอฝันเป็นรุ้งสวย: ทำนาในสระน้ำ

“ขึ้นเหนือไปเรื่อย ๆก่อน   ดูแม่น้ำ ลำธาร ป่าเขา ไปเรื่อย ๆ     จนถึงเชียงใหม่หยุดรับประทานอาหารกลางวันที่”ร้านไส้อั่ว”เสร็จแล้วกลับไปดูต้นน้ำยมที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา  แล้วแวะเยี่ยมคุณอุรุชาที่แพร่     จากนั่นไปเยี่ยมคุณวิชัยที่โรงสี  ”ไทยรุ่งเรือง”  แล้วก็กลับ    ความเร็วเดินทาง ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง    โอเคนะ”
เลขาสาวสวยผงกศีรษะรับ  เปิดแผนที่จิ้มโน่นจิ้มนี่บนจอสักพักเป็นอันเสร็จสิ้นการตั้งตารางการเดินทาง

             เราบินไปเหนือลำน้ำปิงที่ไหลคดเคี้ยวราวกับงูยักษ์  ผ่านเขื่อนภูมิพลที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องล่าง  เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุด  เก่าแก่ที่สุดของประเทศ  กั้นแม่น้ำปิงอยู่ที่อำเภอสามเงา จังหวัดตาก     รองรับน้ำจำนวนมหาศาลจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบนตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ลงมา      แม้ว่าจะมีความจุมาก   แต่บางปีที่ปริมาณน้ำฝนมีจำนวนมากและการพยากรณ์ปริมาณน้ำ  การกักเก็บน้ำผิดพลาดก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้
ที่เชียงใหม่   ดอยสุเทพยังตั้งทะมึนเสียบฟ้า    มีกลุ่มเมฆคิวมูลัสหรือเมฆปุยฝ้ายลอยฟ่องอยู่เบื้องบน      ตัวเมืองเชียงใหม่เต็มไปด้วยต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์  มีบ้านเรือนบ้างแต่ไม่หนาแน่นนัก  เพราะอาคารส่วนใหญ่ลงอยู่ใต้ดินเกือบหมดหมด
             พอรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ  เราก็เดินทางต่อขึ้นเหนือไปทางเชียงรายและพะเยา  โดยเริ่มต้นที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา  เขาชี้ให้ดูแม่น้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกัน

“นั่นไงครับ ต้นแม่น้ำยม  เห็นไหม  แม่น้ำที่ไหลมาบรรจบกันทั้งสองสาย  สายหนึ่งชื่อ”แม่น้ำควน”อีกสายหนึ่งชื่อ”แม่น้ำงิม” ทั้งสองสายไหลมาบรรจบกันที่หน้าที่ทำการอำเภอปงนี่เองแหละ
หลังจากนั้นเราก็เลี้ยวล่องตามแม่น้ำยม  แม่น้ำสาขาสำคัญสายหนึ่งที่เคยสร้างปัญหาน้ำท่วมทุกปี ซ้ำซาก เพราะไม่มีเขื่อนกั้นเหมือนแม่น้ำสาขาสายอื่น   จะสร้างเขื่อนที่แก่งเสือเต้นก็มีปัญหาหลายประการ เลยสร้างไม่ได้  แต่ตลอดระยะทางที่ล่องมาลงเราพบเห็นฝายน้ำล้นกั้นแม่น้ำแทนเขื่อน     มีถึงสามฝายเพื่อกักน้ำไม่ให้น้ำนองไหลบ่าไปท่วมเรือกสวนไร่นาจนสร้างความเดือดร้อนเหมือนเมื่อก่อน  เราล่องเรื่อยไปจนถึงที่นาแปลงหนึ่ง  ที่ศจ.พริน บอกว่าเป็นที่นาของคุณอุรุชา  ชาวนาดีเด่นเมื่อปีกลาย
พอยานบินชะลอตัวลงจอดที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง  เจ้าบ้านเดินโบกมือไหว ๆ ยิ้มร่า เดินเข้ามาหาพร้อมกับยกมือไหว้
“สวัสดีครับอาจารย์ สวัสดีครับคุณนาย”  
“สวัสดีครับคุณอุรุชา”   รับไหว้แล้วหันมาทางเราทั้งสอง
“นี่คุณปู่ธนันท์” พร้อมกับผายมือมาที่ผมแล้วต่อไป”นี่คุณปู่มนัสครับ”  คุณอุรุชาอ้าปากค้างพร้อมกับยกมือไหว้
              “เอาละ  ไม่ต้องตกใจเรื่องมันยาวจะเล่าให้ฟังทีหลัง”    ชิงตัดบท
            เจ้าบ้านพาพวกเราไปนั่งที่แคร่ไม้เทียมที่มีลวดลายสวยงาม ใต้ต้นตะขบใหญ่   ที่แผ่กิ่งก้านเป็นรูปวงกลม  เป็นร่มเงาบริเวณกว้าง      ออกลูกสีแดงเล็ก ๆเต็มต้นเป็นที่ชื่นชอบของนกปรอดหัวโขนและนกเอี้ยงเป็นอย่างยิ่ง      
            “ผมมีที่ดิน ๑๕ ไร่แบ่งไว้สร้างบ้านและเลี้ยงสัตว์เสีย ๕ ไร่  ที่เหลือก็ขุดสระทำเป็นนาทั้งหมด” เขาตอบคำถามของผมขณะที่พาพวกเราเดินตามขั้นบันไดดินที่เวียนลงสู่ผืนนาลอยน้ำที่อยู่เบื้องล่างลึกลงไปประมาณสิบกว่าเมตร   เพื่อชมท้องนาที่ข้าวแตกกอแลดูเขียวขจีไปทั่วท้องนา
                “ช่วงนี้อุตุนิยมวิทยาประกาศว่า ไต้ฝุ่น”มรกต”กำลังเคลื่อนตัวอยู่ในทะเลจีนใต้     จะเข้าสู่ประเทศไทยในสามวันนี้  จึงต้องพร่องน้ำในนาไว้รอครับ  ท้องนาก็เลยอยู่ลึกไปหน่อย” เขาพูดออกตัว
           “ผืนนาทั้งผืนนี้ปลูกบนเรือที่ลอยลำอยู่ในสระ   คล้ายเรือท้องแบนขนาดใหญ่และมีอยู่หลายลำ   แต่ละลำสามารถลอยตัวขึ้นหรือลดตัวลงตามระดับของน้ำได้  กล่าวคือนาทั้งผืนลอยตัวอยู่ในสระใหญ่ขนาด  เกือบ ๑๐ ไร่ ลึก ๑๕ เมตรจึงจุน้ำได้ถึง ๑,๖๐๐ -/- ๑๐ -/- ๑๕ = ๒๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร    หักค่าความลาดชันและค่าเรือกินน้ำลึกออกออกร้อยละ ๑๐  ก็น่าจะเหลือประมาณ ๒๒๐,๐๐๐  ลูกบาศก์เมตร  หรือไร่ละ ๒๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร   ทีนี้  โดยวัตถุประสงค์  เราต้องการแก้มลิงไว้เพื่อกักเก็บไม่ให้ไหลหลากลงเบื้องล่าง  และให้มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง  จึงจำต้องจัดระบบการพร่องน้ำไว้รอรับน้ำฝนจากพายุที่จะพัดผ่านตามคำพยากรณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวช้อง  สมมติว่ามีการพร่องน้ำให้เหลือครึ่งหนึ่งของสระ  ก็จะเหลือปริมาตรไว้รอรับน้ำเพิ่มประมาณไร่ละ ๑๐,๐๐๐      ลูกบาศก์เมตร  ถ้าต้องการกักน้ำให้ได้  ๕,๐๐๐  ล้านลูกบาศก์เมตร  ก็คงจะต้องใช้พื้นที่ประมาณ ๕๐๐,๐๐๐  ไร่ “  ศจ.พริน อธิบาย
เสียยืดยาว
           “เอ! ถ้าเราสร้างเป็นแพลอยอยู่บนน้ำ  แล้วปลูกข้าวโดยใช้น้ำจากสระเลยน่าจะประหยัดและง่ายกว่านะครับ”
            “แต่จะมีปัญหาเรื่องการใส่ปุ๋ยนะครับ  เพราะน้ำในสระมันเยอะ  คงต้องจ่ายค่าปุ๋ยกันมากพอดู”  ผมถึงได้ถึงบางอ้อ ครับ
            “ทำไมต้องทำให้พิลึกยากเย็นอย่างนี้    น่าจะสิ้นเปลืองอย่างมโหฬาร   แล้วมันจะคุ้มหรือครับ”   คราวนี้เป็นคราวของเพื่อนผมที่ติงออกไปบ้าง    มิหนำซ้ำยังหันหน้าไปมองหน้าคุณอุรุชา              
            “ใช่ครับ  ใช้เงินมากกว่าปรกติอยู่บ้าง  แต่ก็น้อยกว่าโครงการอภิมหาโปรเจ็คอื่น ๆมาก  แล้วผลประโยชน์ที่ได้กลับมามันก็มหาศาลทีเดียว   ถึงกลับเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวไร่ชาวนาจน ๆที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้เชียวนะครับ  ยิ่งกว่านั้นยังไม่ต้องเสียค่าที่ดินเพื่อขุดเป็นสระเป็นจำนวนมากอีกด้วย และการสร้างนาลอยในสระยังช่วยลดการระเหยของน้ำได้มากทีเดียว   ถ้าท่านปู่ไม่เชื่อก็ทดลองโดยหาแก้วน้ำมาใบหนึ่ง  หาจานข้าวที่โตเท่ากันมาสองใบ   ตักน้ำใส่แก้วเทลงในจานใบที่หนึ่ง    ส่วนใบที่สองก็เทน้ำปริมาณเท่า ๆกันลงไปแล้วหาฝาหม้อที่มีขนาดย่อมกว่าขอบจานเล็กน้อยมาปิดไว้    สุดท้ายก็ใส่น้ำจำนวนเท่ากันนั้นลงในแก้วใบเดิม  ตั้งภาชนะทั้งสามทิ้งไว้สักสี่ห้าวัน   กลับมาดูแล้วคุณปู่จะทราบผลเองครับว่าภาชนะใดปล่อยให้น้ำระเหยมากที่สุด  ใบไหนระเหยน้อยที่สุด” เขากล่าวอย่างมีเลศนัยอย่างน่าหมั่นไส้  แล้วกล่าวต่อไปว่า
             “โดยรัฐบาลช่วยลงทุนส่วนหนึ่งในเบื้องต้นให้   เพราะเป็นนโยบายสร้างแก้มลิงกักเก็บน้ำไว้ใช้ทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายไปอยู่แล้ว  ผมคิดว่ามันน่าจะคุ้มนะ  ถึงไม่คุ้มก็ใกล้เคียงล่ะ  ยิ่งกว่านั้นคือไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำท่วมฝนแล้งอีก  มันน่าจะยิ่งกว่าคุ้มอีกนั่นแหละ” ดูดวงตาของเขาแล้วคิดว่าเขาพอใจอย่างนั้นจริง
             “ผมคิดว่า  มันไม่ต่างกับการผลิตทางอุตสาหกรรมหรอกคุณปู่”  ศาสตราจารย์พรินเสริมขึ้น  
             “โดยที่จะต้องมีการควบคุมปัจจัยการผลิตต่าง ๆให้ได้  ถึงจะดำเนินการได้เจริญก้าวหน้า มีผลกำไรและอยู่อย่างสุขสบาย “  เขาอธิบายเพิ่มเติม
             “ผลิตกรรมทางการเกษตรก็เช่นกัน   น้ำนับว่าเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอย่างยิ่ง  นี่แหละคือเหตุผลหลักประการหนึ่งของการปฏิวัติเขียวในครั้งนั้น  ส่วนเรื่องของปุ๋ยและพันธุ์ข้าวจะเป็นเรื่องที่จะต้องมีการพัฒนาตามมา
             ยกตัวอย่างเช่น    ถ้าเราจะประกอบธุรกิจเส้นหมี่แห้ง  หากใช้วิธีการของการทำนาในปัจจุบันก็คือการอาศัยลมฟ้า อากาศ  ด้วยการตากแดดให้แห้ง  ถ้าวันใดฝนตกก็คงจะต้องหยุดการผลิต  การผลิตก็จะไม่ต่อเนื่อง  ทีนี้ ถ้าเรานำวิถีการผลิตแบบอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย   โดยมีการสร้างโรงเรือนและเตาอบ  แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในเบื้องต้นก็น่าจะมีผลดีในระยะยาว  ภายหลังจากจุดคุ้มทุนแล้ว  ผู้ประกอบการก็จะสบาย
            นี่ เป็นคำตอบว่า  ทำไมต้องมีการขุดสระน้ำแล้วทำนาในสระดังกล่าวมาแล้ว  
           ต่อจากนั้น   พวกเราพากันเดินลงไปในท้องนาที่ปลูกข้าวไว้เต็มพื้นที่       เพราะไม่มีคันนาแต่มีกำแพงสูงประมาณหนึ่งเมตรล้อมไว้โดยรอบ  พื้นท้องนาถูกยกเป็นคันเล็ก ๆและเตี้ย มีร่องรอยของไส้เดือนและหนอนแมลงที่มีคุณค่าเต็มไปหมด   ตามท้องร่องมีน้ำหล่อเลี้ยงประมาณหนึ่งฝ่ามือ    ตามต้นข้าวจะมีแตนเบียนและตัวห้ำอื่น ๆเกาะเต็มไปหมด   ผมมองดูแล้วอดทึ่งทึ่งไม่ได้เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน
               “แมลงเหล่านี้มีไว้ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชครับ   สมัยนี้เราไม่ใช้สารอนินทรีเคมีใด ๆ  แม้แต่อินทรีย์เคมีก็แทบไม่ใช้กันเลย  เราใช้ตัวห้ำตัวเบียนเหล่านี้ใช้ร่วมกับจุลินทรีทำลายศัตรูพืชเท่านั้น” ศจ.พรินไขข้อข้องใจ  หลังจากสังเกตเห็นผมสนใจแมลงเหล่านั้น
                 “จุลินทรีทำลายศัตรูพืชหรือครับ”
                 “ครับ เป็นแบคทีเรียที่เราคัดสายพันธุ์ขึ้นมาเพื่อทำลายไข่และตัวหนอนของเพลี้ยต่าง ๆโดยเฉพาะ”  แต่ก่อนที่ผมจะทันกล่าวความใดขึ้นมา  มนัสก็โพล่งขึ้นก่อนว่า
                “แต่ เอ  คุณอุรุชาขุดลึกอย่างนี้ไม่กลัวดินปากบ่อถล่มหรือครับ”
               “ครับเรื่องนี้เราคิดหนักเหมือนกัน   แต่ทางการเขาส่งวิศวกรมาช่วยออกแบบให้   เขาให้ใช้ชิปพายเจาะรูให้น้ำใต้ดินไหลผ่านได้บ้างมากั้นตลิ่งไว้  แล้วเสริมด้วยหญ้าแฝกโดยรอบก็เลยแก้ปัญหากันไปได้ “     ทั้งมนัสและผมได้แต่พยักหน้า   ถึงว่า  โดยรอบขอบสระเห็นมีหญ้าแฝกขึ้นเต็มไปหมด
               “เข้าใจแล้วใช่ไหมครับ  เอาอย่างนี้ดีกว่า เราไปดูการทำปุ๋ยของคุณอุรุชากันต่อจะดีกว่า”  ศจ.พรินแทรกเข้ามา  พอถูกชวนก็เกิดความสนใจขึ้นมาทันที  คาดว่าคงจะได้เห็นกระบวนการทำปุ๋ยที่ทันสมัย   ที่ไหนได้การทำปุ๋ยของเขาโบราณมาก  เพราะมันคือบ่อหมักปุ๋ยหมักที่เห็นอยู่ทั่วไปนั่นเอง  โดยอาศัยขี้วัวที่เลี้ยงไว้ผสมกับเศษหญ้าและผลไม้สุกหลายชนิด   พอคุณอุรุชาเห็นผมทำท่าผิดหวังเขารีบอธิบายว่า
               “แต่ก่อนเราเคยใช้ปุ๋ยเม็ดที่ผลิตขึ้นตามหลักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร  แต่พอใช้นานเข้ากลับพบว่า  รายจ่ายสูงจนแทบจะไม่เหลือกำไรเลย     รายได้คิดเป็นตัวเลขวัดโดยค่า จี.ดี.พี สูงก็จริง       แต่ค่าดัชนีความสุขกลับต่ำมาก  รวมถึงสุขภาพอนามัยก็เลวลงทุกทีเช่นกัน    จึงได้มาวิเคราะห์เหตุผลต่าง ๆแล้วสรุปได้ว่า    มนุษย์เราเป็นเพียงธุลีหนึ่งของโลกที่ถูกควบคุมด้วยกลไกทางธรรมชาติของจักรวาล     เราย่อมจะไม่สามารถทำตัวเก่งไปฝ่าฝืนหรือบิดเบือนธรรมชาติได้   เช่น เราพบว่าอาหารหลักของพืชมีสามตัวคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแตสเซียม แล้วมีอาหารรองอีกสี่ห้าตัว  ก็พากันผลิตปุ๋ยเคมี(อนินทรีเคมี)กันยกใหญ่  เนื่องจากใช้ได้สะดวก ใช้แรงงานน้อย    แต่พอใช้นานไปกลับพบว่ามีผลเสียมาก  ดินแข็งกระด้าง พืชอ่อนแอต่อโรค  และสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดีก็จริง      มีการผลิตขึ้นมาและยุยงส่งเสริมให้ใช้กันยกใหญ่      ก็พบว่านอกจากมันจะกำจัดศัตรูพืชแล้วมันยังกำจัดผู้ใช้ไปด้วย    ยิ่งกว่านั้นการที่นักเทคโนโลยีเน้นหลักความสะดวกสบาย     แต่ไปขัดกับกฎ  ”การใช้และไม่ใช้”   ของ ลามาร์ก๔   ที่กล่าวว่า   “ หากอวัยวะใดที่มีการใช้งานมากในการดำรงชีวิต    จะมีขนาดใหญ่     ส่วนอวัยวะใดไม่ถูกใช้จะค่อย ๆลดขนาดและอ่อนแอลง    และเสื่อมไปในที่สุด”      ตามนัยนี้           เราที่เป็นชาวนาจะมัวแต่ใช้ระบบอัตโนมัติทำงานให้อย่างเดียวก็คงจะไม่ได้   อีกประการหนึ่งการปลูกข้าวในนานี่ เป็นกระบวนการหมักที่อาศัยการทำงานของจุลินทรีและสัตว์เล็ก ๆที่อาศัยอยู่ในดินอึกด้วย     เช่น    ตัวหนอน  แมลง       ตลอดจนไส้เดือนที่ขับถ่ายฮอร์โมนออกมา      และยังพบต่อไปอีกว่าปุ๋ยอินทรีย์เอื้อต่อจุลชีพเหล่านี้     นับเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล  นี่แหละครับที่เป็นที่มาที่ไปของเรื่องนี้ “  แล้วกล่าวต่ออีกว่า
               “ อันที่จริง     ความรู้ที่พวกเราใช้กันอยู่ทุกวันนี้นะครับ         ส่วนใหญ่ก็มาจากการพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ของท่านปู่นั่นแหละ  เช่นเรื่อง แก้มลิง ฝายชะลอน้ำ การปลูกและรักษาป่าไม้และเศรษฐกิจพอเพียง   เป็นต้น “
           “สาธุ”  ผมยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะ   ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน  แล้วถามว่า
             ”ไม่ได้หมายความว่า   ท่านจะหมักขี้วัวอย่างเดียวแล้วใช้เลยนะครับ”  ผมอดติงขึ้นมาไม่ได้    แต่กลายเป็นการขายความโง่เสียนี่
              “แน่นอนครับ       ต้องมีการวิเคราะห์ดินก่อน       แล้วจึงปรุงแต่งให้ต้นข้าวได้รับธาตุอาหารตามที่มันต้องการ”
              “ จนป่านนี้ท่านยังใช้แก๊สหุงต้มจากการหมักปุ๋ยอยู่อีกหรือ ”   เพราะผมสังเกตเห็นบ่อหมักปุ๋ยของเขามีถังและท่อเดินเข้าไปในบ้าน
              “อ๋อ   ที่เขาเรียกว่าการคืนกลับสู่สามัญยังไงล่ะครับ      เพราะมันเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญกันอยู่  เรื่องเล็ก ๆน้อย ๆเหล่านี้สามารถช่วยได้บ้าง  คือการหมักจากมูลสัตว์ จากเศษพืชหรือสัตว์   ล้วนแต่ทำให้เกิดก๊าซชีวภาพอันมีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก   ก๊าซมีเทนนี่แหละตัวร้าย    เพราะเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิอำนาจมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง  ๒๓  เท่า   คิดดูนะครับหากชาวไร่ชาวนาปล่อยให้มูลสัตว์หมักจนเกิดก๊าซดังกล่าวแล้วปล่อยทิ้งขึ้นสู่บรรยากาศ   แล้ว   อะไรจะเกิดขึ้น     นอกจากนี้เรายังได้พลังงานมาใช้ฟรีอีกนะครับ”   เขาทิ้งท้ายให้คิด   ผมจึงได้แต่ยิ้มและผงกศีรษะยอมรับด้วยความทึ่งในความคิดอ่านของเขา  
           พวกเรากล่าวลาเจ้าบ้านเดินทางกลับ  ระหว่างทางผมอดไม่ได้ที่จะถามขึ้นว่า
         “ผมลืมถามไปว่า   ถ้าเกิดน้ำท่วมสูงจนล้นขอบสระ   ผืนนาจะไม่ลอยเคว้งคว้างออกจากสระไปหรือครับ”
         “ดีละครับที่ถาม   เอาอย่างนี้ดีกว่า หลังจากไปเยี่ยมนาบนหลังคาตึกที่เรากำลังไปกันแล้วเราแวะไปชมของจริงกันเลยจะดีไหมครับ“  หันไปสั่งเลขาว่า  
         “เอลลี่  แวะชมนาของคุณพัดที่  อำเภอบางบาล อยุธยานะ”       หล่อนรับคำแล้วหันไปจัดตั้งโปรแกรมการเดินทางใหม่

จากคุณ : โนนิน
เขียนเมื่อ : 17 พ.ย. 55 20:27:31




[ต้องการแตกประเด็นจากกระทู้เดิมคลิกที่นี่] [กติกามารยาท] [Help & FAQ] 
ความคิดเห็น :
  PANTIP Toys
จัดรูปแบบ :
ไฟล์ประกอบ :
  Help
ชื่อ :
 

ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com