บันทึกคุณแม่

เรื่องเด่นประจำฉบับ
 
  • ปีใหม่ ปรับชีวิตใหม่ให้มีความสุข..ให้พรปีใหม่ที่แท้ ของชีวิตโดย ดร.แพง ชินพงษ์ นักการศึกษาด้านพัฒนาการเด็กปฐมวัย
กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วที่พอใกล้จะถึงปีใหม่ใครหลายคนก็จะตั้งเป้าหมายหรือคิดถึงสิ่งที่อยากจะทำเอาไว้ในใจว่า เมื่อถึงปีใหม่แล้วเราจะทำอย่างนั้นหรืออย่างนี้ และบางคนก็ทำได้สมความตั้งใจทุกอย่าง บางคนทำได้บางอย่าง แต่บางคนทำไม่ได้เลยสักอย่างเดียวแล้วก็ให้โอกาสตัวเองว่าเดี๋ยวปีหน้าค่อยเริ่มใหม่ก็ได้ วนเวียนไปอย่างนี้ทุกปี

แนวทางการสร้างความสุขได้แบบง่ายๆ และอย่างจีรังยั่งยืน เป็นพรแท้ มิใช่พรเทียม ที่จะเป็นของขวัญให้กับตัวของเราเอง พร้อมๆ กับเป็นพรสร้างความสุขให้คนรอบข้าง อาทิ การปรับเปลี่ยนตัวเองโดยการดีท็อกซ์นิสัยที่ไม่ดีของเราทิ้งไป พยายามปรับปรุงแก้ไขหรือลบความไม่ดีที่เคยทำนั้นไปเสียโดยเร็ว เปรียบเหมือนกับเราได้ดีทอกซ์สิ่งไม่ดีออกจากตัวเอง ซึ่งจะทำให้ชีวิตเราสะอาดขึ้นทั้งกายและใจ, การปลดทุกข์เอาพื้นที่ความสุขคืนกลับมาให้ชีวิต อะไรคือความทุกข์ก็ต้องค่อยๆปลดมันออกไปจากชีวิตของเรา
อย่าไปกลัวว่าต้องเสียมันไปเพราะมีบางคนจมอยู่กับความทุกข์มานานหลายปีจนไม่กล้าเอามันออกไปจากชีวิต
หยุดกลัวนั่นกลัวนี่สารพัด, สร้างความสุขแบบพอดี๊ พอดีให้ตัวเอง การหาความสุขคือหาความพอใจ
แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่าความพอใจมันต้องมีความพอดีประกอบอยู่ด้วย เพราะการหาความพอใจที่เกินพอดีก็คือหาความทุกข์ให้ตัวเอง

  • เช็คอินปีใหม่ที่ “ภูฏาน” เที่ยวสบายๆ สไตล์ครอบครัว โดยแม่มิต้า    
ถ้าคุณอยากรู้เรื่องภูฏานก็ไปคลิกถาม “พี่กู” ดู(Google) มีหมดทุกเว็บเหมือนกันบอกไว้ ลักษณะภูมิประเทศ ภาษา เครื่องแต่งกาย อาหารการกิน สถานที่ท่องเที่ยวฯลฯ แต่ไม่มีเว็บไหนบอกว่า ลำบากมั๊ยถ้าเอาเด็กไปด้วย? ภูฏานเป็นประเทศเหมาะพาเด็กไปมั๊ย? ขึ้นเครื่องมาทั้งลำไม่มีคนอายุต่ำกว่า 20 บนเครื่องเลย คิดไว้ว่าเป็นประเทศหินกลัวลูกมาลำบาก ขอบอกว่าถ้าลูกคุณไม่เป็นเด็กติดห้าง ไม่ไฮโซ ไม่กินตับห่าน ตับไก่ย่างหากินสบาย ไม่แพ้ขนวัวขนควาย แบกขึ้นเครื่องมาเลย ภูฏานสบายกว่าที่คุณคิด

ทุกอย่างที่มีในเว็บข้อมูลสำเร็จในพี่กู และโลนลี่แพลเนตเราจะไม่มาเล่าซ้ำ ตั้งแต่เครื่องร่อนลงเห็นโปสเตอร์ “GNH” ที่ดังไปทั่วโลก เลยอยากเอาเรื่อง “ไม่” แปลกๆ ในภูฏานมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

“ไม่สูบบุหรี่” ในหลายประเทศมีกฎหมายไม่ให้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ใครอยากอดบุหรี่ อยากเลิกบุหรี่ ตีตั๋วมาภูฏานเลยคะ ห้ามสูบทุกที่ทุกท่าทุกทาง ห้ามซื้อห้ามขาย ใครอยากให้คุณสามีเลิกบุหรี่ ให้ของขวัญเป็นตั๋วเที่ยวภูฏานปีใหม่ – ตรุษจีน – วาเลนไทน์ นี้ซิคะ
“ไม่มีสี่แยกไฟแดง ไม่มีไฟจราจร” ถ้าไม่ผิดพลาด ตอนที่อิชั้นไปงานแต่งกษัตริย์จิกมี่ เชื่อไหมหละคะ ทั้งประเทศไม่มีไฟจราจร คนเขาถ้อยทีถ้อยอาศัย ตกลงกันได้ พลัดกันมาพลัดกันไป โอ๊ย ลองเป็นบ้านเราเด่ะ “ไอ้นี่ลักเขียว ไอ้ฝั่งนู่นลักแดง ชนกันตู้ม ไม่ตายก็ลงมายิงกันอีก” ควรให้คนไทยมาทัวร์ภูฏาน สงสัยไปทัวร์แถวเวสเทิ้นกันหมด ชอบลงมาควงปืนกันเป็นคลิ๊นอีสวู๊ด Clint Eastwood หรือมิตรชัยบัญชา น่าไปแว๊นม้าแว๊นควายให้สมกับเป็นคาวบอยซะเลยไป
“ไม่ให้ชาวต่างชาติขับรถเอง” ไปไหนดูดี มีคนขับรถให้ เขาคงเดาใจกันถูก เพราะไม่มีไฟแดง ต้องใช้พลังจิตส่งกัน จะสวนขวาจะแซงซ้ายถ้าเป็นพลังจิตคนละคลื่น คงจะสื่อไม่สำเร็จ เออ...เข้าใจแล้ว ทำไมไม่ต้องมีไฟแดง…..
  • รีแพร์...ปลุกไฟรักให้ร้อนแรงอีกครั้งจริงหรือ? โดยคุณหมอสูติฯ ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ 
หลังคลอด...เรื่องอย่างว่าก็จืดจาง ควรจะผ่าตัดทำรีแพร์ไหม แล้วมันจะดีจริงหรือ เป็นคำถามที่คาใจผู้หญิงหลายต่อหลายคนอยู่ตลอดเวลา คำตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือ ถ้าช่องคลอดหลวมและหย่อนยานจนการร่วมรักไม่ได้ความกระชับรัดรึง และได้สัมผัสที่แนบแน่นเหมือนเดิมแล้ว การผ่าตัดกระชับช่องคลอดที่เรียกกันทั่วไปว่า “รีแพร์” โดยแพทย์ที่มีความชำนาญในการผ่าตัดตกแต่งดังกล่าว ย่อมจะสามารถนำความรู้สึกเดิมๆ
เหมือนเมื่อครั้งยังมีสัมพันธ์สวาทกันใหม่ๆ กลับมาได้ดังเดิม คงจะต้องขอย้ำว่า กระบวนการผ่าตัดนั้นถ้าทำอย่างถูกต้องโดยผู้ที่ชำนาญในการผ่าตัดดังกล่าวแล้วผลที่ได้ย่อมจะดีจริง...

แต่จะดีกว่านั้นถ้าเรียนรู้ที่จะฝึกขมิบช่องคลอดทันทีที่หายเจ็บจากการคลอด วิธีการง่ายๆ ก็คือ นั่งบนเก้าอี้ ห้อยขาทั้งสองข้างลงกับพื้น ประสานมือทั้งสองข้างอยู่ที่หน้าตัก หายใจเข้าให้เต็มที่ ทำการแขม่วท้องจนหน้าท้องตึงและส่วนหลังตรง จากนั้นทำการขมิบกล้ามเนื้อรอบช่องคลอดเหมือนการกลั้นการถ่ายอุจจาระให้แรงที่สุดนับ 1-10 ช้าๆ ก่อนที่จะผ่อนคลายแล้วทำซ้ำอีก ทำให้ได้วันละ 100 ครั้งโดยไม่จำเป็นจะต้องทำต่อเนื่อง ทำทีละกี่ครั้งก็ได้แต่ทำให้ได้วันละ 100 ครั้ง
แบบนี้เมียน้อยกี่คนก็ไม่สามารถมาราวีได้ เพราะช่องคลอดจะกระชับรัดรึงให้ผู้ชายของเธอคนนั้นต้องหลงใหลได้ปลื้ม และรอเวลาที่จะร่วมรักกับเธออย่างมิรู้เบื่อหน่าย

Editor Talk


สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน เริ่มต้นฉบับนี้ ลัดดามีเรื่องดีๆ มาเล่าให้ฟังค่ะ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นิตยสารบันทึกคุณแม่ได้มีโอกาสเดินทางไปบริจาคสิ่งของให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว สถานีตำรวจภูธร  บางศรีเมือง อ.บางกรวย และศูนย์พักพิงชั่วคราว โรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนา อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยออกเดินทางร่วมกับตำรวจภูธรภาค 1 และ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดส่งทีมแพทย์เชียงใหม่พร้อมด้วยทีมพยาบาล และเจ้าหน้าทางการแพทย์
พร้อมครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพื่อให้บริการตรวจรักษาประชาชนผู้ประสบอุทกภัย

การเดินทางไปบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้เป็นไปตามโครงการ “ซับน้ำตาแม่” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ซึ่งนิตยสารบันทึกคุณแม่ริเริ่มขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำของใช้จำเป็นต่างๆ สำหรับแม่และเด็กไปแจกให้กับบรรดาคุณแม่และลูกน้อยที่ต้องหนีภัยน้ำท่วมมาอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิง
โดยนิตยสารบันทึกคุณแม่ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีหลายรายที่เอื้อเฟื้อผลิตภัณฑ์ไปร่วมช่วยเหลือในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็น
ผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ จากบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผลิตภัณฑ์เคาทน์เตอร์เพน จาก บริษัท บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ฟาร์มา(ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์ยาลดไข้เด็กเทมปร้า จากบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์ผ้าอ้อมสำหรับเด็กดรายเพอร์ส
จากบริษัท เอสซีเอ ไฮยีน จำกัด รวมทั้งกระติกใส่น้ำลูนนี่ ตูนส์ และ แก้วใส่น้ำ โคโดโม จากบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด

แม้ว่าโครงการ“ซับน้ำตาแม่” เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ทีมงานนิตยสารบันทึกคุณแม่ทุกคนต่างก็มีความสุขที่ได้เห็นแววตาอันสุขใจของเหล่าคุณแม่และเด็กๆ
เป็นจำนวนมากที่ได้รับสิ่งของจากพวกเราไป เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ใจดีทุกคน อย่างไรก็ตาม พวกเราได้แต่หวังใจว่าเมื่อสถานการณ์น้ำคลี่คลายลงพวกเขาจะได้กลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านอันอบอุ่นของพวกเขาในไม่ช้า

สุดท้ายนี้ ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ลัดดาและทีมงานนิตยสารบันทึกคุณแม่ ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านพบแต่ความสุข ความเจริญ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกาย สบายใจ ปราศจากทุกข์โศก โรคภัยทั้งหลายทั้งปวง แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ

ลัดดา  ชาญพัฒนากร
บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร บันทึกคุณแม่

 
Jan 2011
::  มกราคม  2555 ::
แวะอ่าน
ติดต่อ บ.ก.
  • บรรณาธิการ
    โทร 02-716-1717 ต่อ  509  ,โทร 02-716-1720
::ฉบับย้อนหลัง::