ภาพยนตร์บันเทิง

Guest Talk

 

อภิญญา เคนนาสิงห์ : บทประพันธ์ไม่ถูกนำไปทำละคร ไม่ใช่จุดจบของนักเขียน

อภิญญา เคนนาสิงห์ (แวว) เจ้าของนามปากกา "วัตตรา" และ "กานติมา" นักประพันธ์มีชื่อ ที่ผลงานเขียนของเธอถูกผู้จัดฯหยิบไปทำละครหลายต่อหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นแนวดราม่าหรือโรแมนติกคอมเมดี้ อาทิ "ลูกไม้เปลี่ยนสี" "บอดี้การ์ดแดดเดียว" "พระจันทร์สีรุ้ง", "คุณหนูฉันทนา", "สะใภ้เจ้าสัว", "ผมไม่อยากเป็นสายลับ", "สายลับสะบัดช่อ", "รักสุดปลายฟ้า", "ทะเลสาบนกกาเหว่า", "ร่ายริษยา", "รุ้งร้าว", "โบตั๋นกลีบสุดท้าย", "สะใภ้พญายม" ส่วนที่ไม่ได้หยิบมาทำเป็นละครก็มีหลายเรื่อง เช่น "ก้าวที่กล้า", "มายาน้ำผึ้ง", "น้ำค้างกลางตะวัน", "หงส์ไพร", "มงกุฎน้ำค้าง" ฯลฯ

ชีวิตนักเขียนของ อภิญญา เคนนาสิงห์ เริ่มต้นเมื่อตอนเรียนมัธยมที่โรงเรียนสายปัญญา เธอเขียนกลอนส่งไปประกวดตามนิตยสารต่างๆจนได้รางวัลมากมาย พอมาช่วงที่เรียนปริญญาตรี คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เขียนเรื่องสั้นส่งไปตามนิตยสารต่างๆ จนได้รับการตีพิมพ์ พอเรียนจบก็มาทำงานเป็นนักข่าวให้กับนิตยสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน และยังคงเขียนนิยายเรื่องสั้นอยู่ จนเมื่อเธอเริ่มมาเขียนนวนิยาย ในนาม ปากกา "วัสตรา" เธอก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันมายึดอาชีพนักเขียนอย่างจริงจัง
"เราทำงานนักข่าวพร้อมกับเขียนเรื่องสั้นมานานเป็นสิบปี ก็สะสมประสบการณ์ในเชิงข่าวเยอะเพราะได้ไปเจอนั่นเจอนี่ เพราะเราทำนิตยสารรายสัปดาห์เรื่องการทำงานก็กดดันก็เหนื่อยเพราะอายุเยอะ 30 กว่าไม่ไหวแล้วมั้ง ออกไปทำข่าวไม่ไหวเลยคิดว่าลองหยุดดีกว่าไปเลี้ยงลูกและคิดว่าจะมาเขียนนิยายจริงจัง หลังจากมีผลงานเขียนออกไป 3 เรื่องคือ "ก้าวที่กล้า", "จตุรัสรัก", "ม่านรักไฟเสน่หา"

ตอนที่หันมาเขียนนวนิยายจริงจังคิดไหมว่าจะต้องเขียนเพื่อทำเป็นละคร
"ไม่ๆ เราแค่คิดว่าต้องหาสนามมีเนื้อหาให้เราลงนิยายเป็นตอนแบบประจำ หรือถ้าเราเขียนเป็นเล่มได้ต้องมีที่พิมพ์ เขียนเป็นเล่มถ้าเราอยากเขียนสิ่งที่เราอยากเขียนก็สะท้อนปัญหาสังคมสะท้อนชีวิต แต่กลายเป็นว่าพี่ บ.ก.คุยให้ฟังสิ่งที่เราอยากเขียนคนอ่านอาจจะไม่อยากอ่านก็ได้ ลองทำอะไรที่สอด คล้องกันคือเราอยากเขียนด้วยและตลาดต้องการด้วย เขาก็เหมือนให้ข้อคิด ตอนนั้นเลยคิดว่าลองไปเรียนเขียนบทโทรทัศน์ดีกว่าดูสิว่าคนทำโทรทัศน์ต้องการอะไร พอไปเรียนก็เป็นคนละศาสตร์เหมือนกัน ถ้าเราอยากจะเป็นคนเขียนแบบที่เราคิดว่าเขียนไปแล้วไม่มีใครมากำหนดชีวิตเราได้ เราอยากเขียนก็เขียน งั้นเราเป็นนักเขียนดีกว่าถ้าเราไปเขียนบทละครโทรทัศน์ต้องแล้วแต่ลูกค้าแล้วแต่คนสั่ง งั้นเราเป็นนักเขียนอิสระดีกว่าอยากเขียนอะไรก็เขียนแต่เขียนแล้วมันขายได้มั้ย ในแง่ของการรวมเล่มกับในแง่ที่จะลงนิตยสาร เกิดเราเขียนแนวแรงๆ ไปแต่นิตยสารที่เราลงไม่ใช่แนวเขาก็ไม่เอา ก็เลยเกิดการแบ่งนามปากกา แบ่งลักษณะงาน อย่างนามปากกาเดิม วัสตรา สะกดด้วย ส.เสือ คนเกิดวันอาทิตย์ ส.เสือ เป็นกาลกิณี อาจารย์บอกว่าลองเปลี่ยนใหม่ไหมเลยเปลี่ยนมาเป็น วัตตรา เขียนแนวคอมเมดี้งานแนวตลาดเพ้อฝันความรักโรแมนติก กับนามปากกา กานติมา เขียนแนวดราม่าสะท้อนสังคม"

แยกยามปากกาเพื่อให้เกิดความชัดเจนในงานเขียน
"เคยมีผู้ใหญ่บอกจะเขียนงานจะขายงานจะเข้าสู่อาชีพก็ต้องดูแนวทางด้วยว่าตัวเองจะอยู่ในแนวทางไหน ถ้าเขียนเรื่อยเปื่อยก็จะไม่ได้อะไร เราต้องสร้างเอกลักษณ์สร้างลักษณะงานของเราเหมือนกัน เราเลยแยกเพราะอยากให้มันชัดเจน คนที่มุ่งมาหาแนวคอมเมดี้ก็ต้อง วัตตรา หรือแนวดราม่าก็กานติมา จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์ไปแล้ว โดยที่เราก็ต้องแยกตัวเองเวลาทำงานอย่างวัตตราเราก็จะเฮฮาไปเรื่อย เขียนหนังสือก็คือจะเขียนง่ายขึ้น อ่านง่าย แต่ถ้าเป็นกานติมาก็จะอ่านยากหน่อยแต่ก็ไม่เชิงยากมาก"

งานเขียนถูกนำไปทำเป็นละครเยอะพอสมควร
"เป็นจังหวะมากกว่าบางเรื่องเขียนไว้หลายปีแต่เพิ่งถูกมาทำเป็นละครก็มี เป็นเพราะมันน่าจะตอบโจทย์เขาได้พอดีด้วย เท่าที่ฟังมาเขาบอกพออ่านเรื่องย่อของเราแล้วเขาทำงานได้เลย เพราะเราเลาเรื่องย่อค่อนข้างละเอียดและนิยายเราจะไม่เป๋ไปจากนี้"

เขียนมาหลากหลายแนวทั้งดราม่า, แนวคอมเมดี้และสะท้อนสังคม
"ถ้าจะถามว่าชอบแนวไหนก็ต้องคอมเมดี้มากกว่า เพราะไม่ต้องมาเฟ้นมาบรรจงมาก แต่บางคนที่อ่านหวังจะเอาความประทับใจในภาษาเราทุกอย่าง เวลาคนพูดตลกจะมานั่งปั้นคำทำไม แม้แต่การที่เราเล่าเรื่องไปบางทีเราก็อยากจะแทรกรอยยิ้มในตัวหนังสือตรงนั้นบ้าง แต่ถ้าคนมาตั้งความหวังกับเรามากจะเกร็ง ขอให้ฉันเล่าสบายๆ ของฉัน เพียงแต่เราใช้ภาษาไม่ผิดก็แล้วไป บางทีสมัยนี้ใช้ภาษาผิดเหมือนกันเพื่อให้ออกเสียงเพื่อให้ได้อารมณ์ขัน แต่เราพยายามรักษาถึงจะเขียนคอมเมดี้หรือตลกใช้ภาษาวัยรุ่นหรือแนวขนาดไหนก็อย่าให้มันผิดเพราะมีคนอ่านเรา เราอยากรักษาภาษาไทยใช้ให้มันถูก ส่วนดราม่าถ้ามันมากระทบใจเราจริงๆ นะการผูกเรื่องดราม่ามันยากการที่เราจะให้อะไรกับคนอ่าน บางทีการทำผิดทำถูกของตัวละครหรือเหตุการณ์ต่างๆ มันต้องผ่านการกลั่นกรองแล้วว่าผลจะออกมาเป็นยังไง"

เคยเขียนงานตามที่ผู้จัดละครขอให้เขียนบ้างไหม
"ไม่ถึงกับเขียนงานตามใบสั่งถ้าเขาขอมาอยากให้เขียนแนวนี้ถ้าเรามีของอยู่แล้วเราเขียนให้ได้  แต่ถ้าไม่มีก็บอกไม่มีค่ะ ถ้าจะให้ทำตอนนี้ก็ไม่ทำหรอกทำไม่มัน เวลาใครโทร.มาถามมีอะไรมั้ย พอเราบอกไปถ้าถูกใจผู้จัดฯก็ได้ทำเป็นละคร แต่บางทีไม่ถูกใจก็มี ส่วนใหญ่เขาจะถามมีไหม ถ้ามีคือมี ถ้าไม่มีก็ไม่มี  หรือของที่เรามีอยู่สมมติเป็นแกงจืดจะให้ทำเป็นแกงส้มเราก็ตีลังกามันหน่อย อย่างละคร "สะใภ้เจ้าสัว" จริงๆ เป็นแนวดราม่าแต่วิธีเล่าเรื่องเราเปลี่ยนให้เป็นคอมเมดี้ได้"

มีนิยายเรื่องไหนที่อยากให้ผู้จัดฯทำเป็นละคร
"บางเรื่องเราอยากนำเสนอมากเลยอย่าง "ตะวันอาบดาว" ซึ่งเขียนเป็นนิยายจบแล้วรอพิมพ์เป็นเล่มอยู่ มันสื่อความรักของพี่น้องของแม่ลูก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกความรักในครอบครัวซึ่งสังคมยุคใหม่ขาดไป ขาดการมองว่าลูกต้องการอะไรหรือภรรยาต้องการอะไร และอีกเรื่องอยากให้มาทำเป็นละครมากคือ "น้ำค้างกลางตะวัน" สะท้อนเรื่องการเลี้ยงลูกเกิดจากไหนเลี้ยงยังไง เรื่องของเด็กที่มีแม่สวยแต่มีพัฒนาการทางสมองเหมือนเด็กอายุ 8 ขวบ ถูกน้าที่ไม่มีความรู้เลี้ยงดูมาแต่ก็สามารถได้ดีทั้งที่อยู่ในสลัมอยู่กับความยากจน เพราะเขาเป็นเด็กสมองดีและรักดี ก็เคยมีผู้จัดฯมาถามแต่เขาไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้หรือ"

ผลงาน ณ ปัจจุบันนี้
"มีเรื่อง "ไฟพ่ายน้ำ" และ "ปีกพยาบาท" ที่ใช้นามปาก กานติมา กำลังตีพิมพ์ในนิตยสาร และ "พ่อหม้ายเนื้อทอง" ของ วัตตรา กำลังตีพิมพ์ในนิตยสารเช่นกัน ส่วนที่ผู้จัดฯซื้อไปแล้วกำลังทำเป็นละครมี "สะใภ้พญายม" และ "รักสุดปลายฟ้า" และเรื่อง "สายลับสะบัดช่อ" ถูกซื้อไปแล้วแต่ไม่รู้จะทำเป็นละครเมื่อไหร่"

หลักในการทำงาน
"หลักการของเราคือการเข้าสู่อาชีพนี้ หมายถึงเราเป็นคนในอาชีพเพราะฉะนั้นการทำอะไรในงานอาชีพของเรา เมื่อเราทำแล้วมันไม่ไปล้ำเส้นใครหรือละเมิดใครก็ดี หรือว่าก็อบปี้หรือไปพาดพิงใครมันไม่มีในเนื้องาน เรามืออาชีพก็ต้องสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง จุดประกายทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ถึงแม้จะมีใครมาช่วยจุดประกายก็คือเขาเรียกว่ามันเป็นเหมือนสิ่งเอื้ออำนวยเรา คนเราทำอะไรไม่ได้เดินไปคนเดียวการที่เรามีเพื่อนหรือมีใครมาคอยให้คำแนะนำบ้าง หรือมาชี้ทางบ้างก็ดีทำให้เราเหมือนเซฟเวลาเซฟต้นทุน และในช่วงที่วงการละครมีการแข่งขันกันสูงและมีทางเลือกเยอะ สมมติกลุ่มเป้าหมายของเราตลาดของเราเหลือน้อยลงเพราะมีคนยุคใหม่มีกลุ่มตลาดใหญ่กว่า มันก็คืออัตราการทำงานขายอยู่ในกำลังซื้อน้อย เราก็ต้องเดินไปข้างบนจะถอยไปข้างล่างไม่ได้ และการที่ผู้จัดฯไม่ซื้อบทประพันธ์ของเราไปทำละครไมได้หมายถึงจุดจบของเรานะ จุดจบของเราอยู่ตรงที่วันหนึ่งเราไม่มีที่ลงแล้วเพราะเราไม่มีแฟนไม่มีเรตติ้งเราก็ต้องหยุดต้องถอย หรือถ้าเราไม่ต้องเขียนหนังสือยังชีพแล้วเราอยากเขียนอะไรที่อยากเขียนโดยไม่ต้องกังวลว่าอันนี้จะขายหรือไม่ขาย ก็เป็นงานที่เราตอบโจทย์ตัวเองว่าเราอยากเขียน"

วงการละครมีการแข่งขันกันสูงแล้ววงการนักเขียนล่ะคะ
"เราไม่ได้แข่งกับใครเราแข่งกับตัวเอง แต่ในด้านการตลาดความสนใจเป็นการแข่งเหมือนกัน แต่เราคงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดถ่ายทอดสิ่งที่เราคิดว่าจะให้ความบันเทิงเริงใจกับคนอ่าน แต่ก็ต้องใช้พลังเยอะในการทำอะไรสักชิ้นให้ถูกใจเขา เพราะเราต้องหนีความซ้ำซากจำเจต้องมีอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็จะอยู่ในบล็อกอยู่ในสูตรความสำเร็จของชิ้นงานนั้นเหมือนกัน"

สูตรสำเร็จของชิ้นงานมีอะไรบ้าง
"พล็อตที่ดีไม่ซ้ำใคร ถามว่าอ่านแล้วสนุกสนานไหมเราไม่รู้ คนอ่านก็สนุกของเขาแต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่สนุกหรือไม่สนุก คอมเมดี้บางทีเขียนไปคนอ่านจะขำไหมเราไม่รู้ก็เขียนไป แต่เขาบอกขำ พี่ว่าคนเขียนคอมเมดี้ตัวเองไม่ได้ขำหรอกแต่ให้คนอื่นขำ เพราะฉะนั้นสูตรสำเร็จของงานแต่ละชิ้นของเรามันคือส่งไปแล้ว บ.ก.ชอบ และพิมพ์ให้ หรือค่ายละครมาถามเราส่งเรื่องย่อไปให้เขาอ่านแล้วชอบคือความสำเร็จของงานชิ้นนั้น คือตอบสนองคนอ่านได้ตอบสนองผู้จัดฯได้"

มาไกลเกินฝันกับอาชีพนักเขียน
"เราพอใจในฝันของตัวเองที่มาไกลเกินฝันด้วยซ้ำไป แรกๆ คิดว่าเราอยากเป็นนักเขียน พองานเขียนที่ทำมาแล้วถ่ายเป็นละครได้ถามว่ามันเกินความคาดหมายตรงที่เราคิดว่าเขียนมาได้สักเรื่องสองเรื่องก็ภูมิใจ แต่นี่เหมือนเราก้าวเข้าสู่ยุทธภูมิของการค้าขายงานทั้งงานเขียนและงานละคร ถามว่าเราจะต้องแต่งชุดพร้อมรบไหมเราไม่ถึงขั้นนั้น คือวันหนึ่งเมื่อมีใครมาซื้องานเรามีขายก็มีไป เกิดวันหนึ่งความนิยมเสื่อมไปก็ต้องว่ากันไป โดยที่เราไม่ต้องคาดหวังอะไรมาก ไม่ถึงขนาดเรื่องนี้ต้องได้เป็นละครเรื่องนี้ต้องได้อะไร เพียงแต่เรื่องนี้ค่าเรื่องจะออกเมื่อไหร่ ถ้าคนอยู่ในอาชีพก็ถือว่าทำงานเพื่อขายได้แล้วรอว่าค่าเรื่องชุดนี้ออกอีกสองเดือนข้างหน้าค่าเรื่องชุดนี้ออก เหมือนคนทำงานและรอรับเงินเดือน แต่ถ้างานมันประสบความสำเร็จมีคนพูดถึงมากๆ มีคนชอบเรานะ เหมือนเป็นกำลังใจให้คนทำงานอย่างเรา  เพราะฉะนั้นมันคงไม่ไกลกว่านี้แล้วล่ะก็อยู่ของเราแบบนี้ไป ไม่ต้องเปรี้ยงปร้างมีปีละหลายๆ เรื่อง แต่มีเรื่อยๆ ทุกปีปีละสองสามเรื่องถือว่าเราอยู่ในอาชีพนี้ได้จนกว่าเราจะทำไม่ไหวหรือจนกว่าเราจะเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำอย่างอื่น"

:: อ่านต่อในฉบับ ::

:: กลับไปหน้าหลัก ::