SMEs PLUS

Scoop

 
มองต่างมุม
สปา – ท่องเที่ยว
ธุรกิจที่ต้องตั้งรับในประเทศ

 
แม้การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการขยายตลาด หรือบุกเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนได้ง่ายและสะดวกขึ้น แต่ก็มีผู้ประกอบการบางกลุ่มมองต่างมุมว่า สำหรับบางธุรกิจและบางบริการเหมาะที่จะตั้งรับอยู่ในฐานที่มั่นในประเทศไทยมากกว่า
   
ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสปาและธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

บนเวทีสัมมนา “รุก รับ เลิก...เจาะลึก AEC ที่คุณต้องรู้” ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย “รังสิมันตุ์ กิ่งแก้ว” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สุโขสปา หนึ่งในวิทยากรที่มาร่วมแชร์แนวคิดและประสบการณ์ในมุมของธุรกิจที่ควรตั้งรับไว้อย่างน่าสนใจ

รังสิมันตุ์ได้หยิบเอาธุรกิจสุโขสปามาเป็นกรณีศึกษา โดยเริ่มจากการเล่าถึงที่มาในการสร้างคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างของสุโขสปา
   
“สุโขสปาเราเป็นสปาแห่งวัฒนธรรมที่แรกของโลก ถามว่าทำไมถึงเป็นที่แรก แล้ววัฒนธรรมมาเกี่ยวอะไรกับสปา คือเราเอาเรื่องของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเรามองว่าความเป็นไทยไม่มีใครเลียนแบบได้ เราก็เลยเอาตรงนี้เข้าไปสอดประสานกับการบริการในหลายๆขั้นตอน แล้วนำเสนอในเรื่องของความเป็นไทย

เราพบว่าในตลาดของสปาจะชอบทำธุรกิจเหมือนๆกัน ไม่ชอบทำแตกต่าง คุณเข้าไป 10 แห่ง มีลักษณะคล้ายๆกัน 9 แห่ง จะมีสัก 1 แห่ง ที่โดดเด่นขึ้นมา เข้าไปก็จะเจอเสียงเพลงธรรมชาติ เกือบ 100% ใช้อย่างนั้น เข้าไปก็เสิร์ฟน้ำมะตูมหรือน้ำตะไคร้ ผ้าเย็นเหมือนกัน แต่งชุดไทยคล้ายๆกัน มีนวดไทย นวดน้ำมัน นวดเท้า ขัดตัวเหมือนกัน แล้วถามว่าสิ่งที่เขาจะเอามาใช้ในการสร้างคุณค่าคืออะไร ไม่มี สิ่งที่ใช้ในการแข่งขัน ก็คือ เรื่องของราคา

ในขณะที่สุโขสปาเรามองต่าง ตั้งแต่เรื่องของกระบวนการในการให้บริการ ลูกค้าที่เข้ามาเราจะให้ตีฆ้องสักการะพระพิฆเนศ ลอยดอกไม้ ติดทองหน้าประตู เราสร้างเรื่องราวขึ้นมา โดยเปรียบตัวเองเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ เพราะฉะนั้นผู้ใช้บริการจะต้องเดินขึ้น ตรงนั้นเราสอดแทรกทั้งในเรื่องของกิมมิค มาร์เกตติ้ง สอดแทรกเรื่องวัฒนธรรมไทย และสอดแทรกในเรื่องวิชาการในด้านสปา

ถามว่าทอดแทรกยังไง เราต้องเข้าใจก่อนว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่จะไปเที่ยวสนุกสนานเฮฮา ไปเที่ยวเกาะกันเสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นจิตใจจะฟุ้งซ่าน สิ่งที่เราทำ ก็คือ กระบวนการทั้งหมดทำให้เขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น แล้วมันจะง่ายต่อการทำทรีทเม้นท์ เราให้เขาลอยดอกไม้ เพื่อให้เห็นว่าจริงๆแล้วคนไทยรู้จักในเรื่องของการอนุรักษ์ธรรมชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เราเคารพในเรื่องของการใช้น้ำ เพราะฉะนั้นเราจะใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

เรามีการติดทองหน้าประตู ให้เขาเซ็นชื่อเอาไว้ว่าได้มาใช้บริการที่นี่แล้ว ทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วม นี่คือเรื่องของการตลาด ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ร่วม นอกจากในเรื่องของการนวดอย่างเดียว เพราะตอนนวดคุณถ่ายรูปลงเฟซบุ๊คไม่ได้ แต่ตอนทำกิจกรรมเหล่านี้คุณสามารถถ่ายได้ แล้วก็เอาไปประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรของเราได้ โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย เราคิดตรงนี้มา 8 – 9 ปีแล้ว ก่อนที่จะมีเฟซบุ๊ค ซึ่งพอมีเฟซบุ๊คมันทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่า กิจกรรมเหล่านี้มันช่วยส่งเสริมทำให้ธุรกิจของเราดีขึ้น”

รังสิมันตุ์ ยังบอกถึงเหตุผลที่มองว่าธุรกิจสปาควรเป็นธุรกิจตั้งรับในประเทศว่า เป็นเพราะหนึ่ง – มีข้อจำกัดในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างมาก

สอง – จากการคาดการณ์ขององค์กรทางด้านการท่องเที่ยวระดับนานาชาติมองว่าหลังจากการเปิด AEC แล้ว นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเกือบ 100% โดยตอนนี้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เที่ยวอยู่ในภูมิภาคนี้ประมาณ 77 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคนในปี 2558 ตลาดจะขยายตัวมากขึ้น แต่ปัจจุบันพนักงานที่ให้บริการในธุรกิจสปายังมีไม่เพียงพอ ฉะนั้นการจะออกไปต่างประเทศเป็นเรื่องยาก

และสาม – ลักษณะของธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่ให้บริการแบบ 1 ต่อ 1 คือ พนักงาน 1 คน สามารถให้บริการลูกค้าได้ครั้งละ 1 คนเท่านั้น เพราะฉะนั้นธุรกิจสปาเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ปัญหาเรื่องแรงงานคนเป็นปัจจัยหลักในการที่จะไปต่างประเทศ

“ต่อไปการแข่งขันมันจะมีความแหลมคมมากขึ้น เพราะคู่แข่งเรามากขึ้น แล้วเป็นคู่แข่งที่แข็งแรงมากขึ้นด้วย  เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถหยุดนิ่งได้ ข้อจำกัดของคนไทยที่เราไม่ค่อยทำกัน ก็คือ เราไม่ค่อยพัฒนา เราชอบรู้สึกว่ามันดีอยู่แล้ว ฉันไม่ต้องเปลี่ยน ฉันทำแบบนี้แหละ ทำมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว 20 ปีที่แล้ว ไม่เคยเปลี่ยน นี่คืออันตราย

ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ได้แปลว่า ณ ปัจจุบันจะต้องประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะเมื่อตลาดมันเปลี่ยนแปลงไป จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แล้วในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ถามว่าเราเคยได้ไปเรียนรู้วัฒนธรรมคนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย เพราะแต่ละประเทศมีความใกล้เคียงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว”

อย่างไรก็ดี รังสิมันตุ์ บอกว่า แม้ธุรกิจสปาและธุรกิจด้านการท่องเที่ยวควรตั้งรับอยู่ในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถรุกในเรื่องของการตลาดไปพร้อมๆกันได้เช่นกัน

“เรามักจะนึกว่าคนที่เข้ามาท่องเที่ยวในภูเก็ตมักจะเป็นยุโรป จีน รัสเซีย แต่ประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดมากๆ ก็คือ ลาว เพราะอะไร เพราะลาวบินมาง่าย ขึ้นจากอุดรธานีบินตรงมาภูเก็ตได้เลย ตลาดนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจ  และคนกลุ่มนี้ใช้เงินเยอะมาก

เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราเอาของไปขายในงานเทรดโชว์ เราขายให้คนที่อยู่ในอุดรธานีได้ดีกว่าคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ จริงๆแล้วมันมีหลายภูมิภาคที่มีศักยภาพจะเป็นแหล่งในการสร้างตลาด มีดีมานด์ค่อนข้างสูง แล้วมีหลายประเทศที่ผมมองว่าในอนาคตจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ในขณะที่เราเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักไม่ได้ เรายังเป็นเกตเวย์ในการท่องเที่ยวได้ ผมเชื่อว่าด้วยความเป็นประเทศไทยหลายๆชาติยังอยากที่จะบินมาลงที่เรามากกว่าจะบินไปลงที่พม่าโดยตรง

เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากให้มอง คือ การรวมกัน เราต้องมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นพาร์ทเนอร์เราด้วย ต้องมีความจริงใจ แล้วผมเชื่อว่าการที่เราจะสร้างให้โปรดักส์ทางด้านการท่องเที่ยวของเรามีมูลค่ามากขึ้น เราสามารถทำทั้งกลุ่มอาเซียนได้ ตัวที่อยากจะให้เกิดขึ้น ก็คือ single visa ขอวีซ่าที่เดียวแล้วไปเที่ยวได้ทั่วภูมิภาค เหมือนที่ยุโรปทำ

แต่ไม่ว่าจะรุกหรือรับ ผมอยากให้มองอีกมุมหนึ่ง ก็คือ แทนที่เราจะเริ่มไปรุกในต่างประเทศ เราเริ่มรุกในประทศเราหรือยัง ขยายสาขาหรือยัง ถ้าเรายังทำในประเทศไม่ได้ อย่าคิดไปทำในต่างประเทศเลย ในประเทศเรามันง่ายกว่าเยอะ การทำธุรกิจหนึ่งประสบความสำเร็จ ไม่ได้แปลว่าสาขาที่ 2 จะต้องประสบความสำเร็จด้วยเหมือนกัน และเมื่อคุณมี 5 สาขา มี 10 สาขา มี 20 สาขา มันยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นต้องเรียนรู้จากประสบการเหล่านี้

และเนื่องจากเราเป็นผู้ประกอบการรายย่อย สิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การรวมกลุ่มกัน การสร้างเครือข่าย เหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเงินเยอะที่จะเข้ามาได้ สิ่งที่พูดกันในกลุ่มนักธุรกิจเราไม่กลัวอาเซียน แต่เรากลัวอาเซียนบวก 3 บวก 6 เพราะในภูมิภาคนี้เราร่วมมือกันได้ แต่เราสู้กับจีนได้แน่ๆ

และสิ่งสุดท้าย ผู้ประกอบการต้องไม่ทำตัวเป็นแก้วที่เต็ม เราต้องสามารถเติมความรู้ได้เรื่อยๆ ไม่ใช่ฉันรู้แล้ว ฉันเก่งแล้ว เราต้องทำตัวเป็นแก้วที่พร่องน้ำเสมอ สามารถเติมน้ำเข้าไปได้ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งอาเซียนและระดับโลก” รังสิมันตุ์ สรุปทิ้งท้าย


:: อ่านต่อในฉบับ ::

:: กลับไปหน้าหลัก ::