Bringing Out The Dead
ฉาย 19 พฤศจิกายน 2542





เสียงไซเรนหวีดร้องและดวงไฟสว่างวาบ รถพยาบาลแห่งมหานครนิวยอร์คซิตี้คันหนึ่ง พุ่งทะยานไปในรัตติกาล ผู้ขับล้วนเป็นบุรุษพยาบาลกะดึก บุรุษผู้เผชิญหน้าต่อมัจจุราช และความตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อิดโรยจากหน้าที่การงานคืนแล้วคืนเล่า พวกเขาแทบไม่ต่างอะไรกับร่างที่พวกเขาพาห้อตะบึงไปตามท้องถนน มีเพียงอารมณ์ขันอันน่าเจ็บปวด และมุมมองต่อโลกอันน่าขมขื่น ซึ่งดูเหมือนมันจะมี จุดศูนย์กลางอันเหนือจริงอยู่ในแมนฮัตตันนี้เอง ที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้พวกเขาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้

“Bringing out the dead” ซึ่งนำแสดงโดย นิโคลาส เคจ และกำกับโดยมาร์ติน สกอร์เซซี่ เป็นผลงานการร่วมสร้างของพาราเม้าท์ พิคเจอร์ส และทัชสโตน พิคเจอร์ส อำนวยการสร้างโดย สก็อตต์ รูแดง และบาบาร่า เดอ ฟิน่า ร่วมแสดงโดย แพ็ตทริเซีย อาร์เก็ตต์, จอห์น กู๊ดแมน, วิง เรมห์ส และทอม ไซส์มอร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ อดัม ชโรเดอร์ และบรู๊ซ เอสฟัสติน เป็นผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร และได้เค้าโครงเรื่องมาจากนวนิยายของ โจ คอนเนลลี่ พาราเม้าท์ พิคเจอร์สเป็นส่วนหนึ่ง ของแผนกสร้างสรรค์ความบันเทิงของ บริษัท เวียคอม จำกัด และทัชสโตน พิคเจอร์สเป็น ส่วนหนึ่งของบริษัท บัวนาวิสต้า โมชั่น พิคเจอร์ กรุ๊ป

นิโคลาส เคจ รับบทเป็นบุรุษพยาบาลฉุกเฉินนาม แฟร้งค์ เพียร์ซ เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 1990 และนิวยอร์คยังไม่เข้าสู่ยุคฟื้นฟูเช่นในปัจจุบัน ห้อมล้อมไปด้วยผู้บาดเจ็บและล้มตาย แฟร้งค์อาศัยอยู่ในโลกของราตรีกาลแห่งสังคมเมือง ชีวิตจิตใจของเขากำลังแตกสลาย ภายใต้การทับถมชั่วนาตาปี ของการกู้และการสูญเสียชีวิตมากมาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ตามติดชีวิตตลอด 56 ชั่วโมง (2 วันและ 3 คืนในหน้าที่) ขณะที่เขากำลัง ถึงจุดวิกฤตของการล่มสลายแห่งจิตวิญญาณ และการกู้มันกลับคืนมาอีกครั้ง

แพ๊ตทริเซีย อาร์เก็ตต์ รับบทเป็นแมรี่ เบิร์ก ลูกสาวของชายชะตาขาดที่แฟร้งค์ พยายามจะช่วยชีวิตไว้ จอห์น กู๊ดแมน, วิง เรมห์ส และทอม ไซส์มอร์รับบทเป็น 3 เพื่อนร่วมงานที่แฟร้งค์แชร์รถพบาลบาลด่วนด้วย

มาร์ค แอนโธนี่ ซึ่งเพิ่งจะมีผลงานเมื่อเร็วๆนี้ ในละครเพลงบรอดเวย์ของ พอล ไซมอน เรื่อง “The Capeman” แสดงเป็นชายจรจัดวิตกจริต ที่เฝ้าหลอกหลอนในพื้นที่เฮลล์สคิตเช่นที่แฟร้งค์ทำงานอยู่ “ผมโชคดีมาก” มาร์ติน สกอร์เซซี่ กล่าว “นักแสดงเหล่านี้เปิดกว้าง กล้า และยินดีที่จะปลดปล่อยฝีมือเต็มที่ ถ้าเพียงแต่ฉากนั้นต้องการการใช้อารมณ์สูง”

นักเขียนนวนิยาย โจ คอนเนลลี่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาทางเทคนิค แก่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ใช้เวลานาน 10 ปีในการประกอบอาชีพบุรุษพยาบาลสายด่วนแห่งนิวยอร์คซิตี้ “มันอาจเป็นอาชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก” เขากล่าว “แต่มันก็แย่ที่สุดด้วย ไม่มีอะไรเปรียบได้กับการช่วยเหลือชีวิตคน มันเป็นอาชีพที่ตื่นเต้นที่สุดไม่มีใครเหมือน และความน่าตื่นเต้นของมันนั่นเองที่ค่อยๆจางหายไป ผมพบว่าการเฝ้าดูคนตาย การสูญเสียผู้คน การเป็นพยานให้กับโศกนาฏกรรมมากมาย เรื่องเหล่านั้นมันฝังอยู่ในการเขียนหนังสือ เป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยชีวิต” ตัวผมไม่ยอมเลือนหาย มันทำให้ผมถึงจุดที่อยากจะถ่ายทอด หรือปลดปล่อยมันออกมา สำหรับผมในอีกแง่มุมหนึ่ง