K-19: The Widowmaker
ลึกมฤตยู นิวเคลียร์ล้างโลก
Official website
more info. from IMDB
แนว : ดราม่า / ระทึกขวัญ
ความยาว : 137 นาที
กำหนดฉาย : 2 สิงหาคม 2545

กัปตัน มิคาอิล โพเลนิน (เลียม นีสัน) ผู้เป็นที่รัก และยอมรับนับถือในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ว่าเป็นผู้บัญชาการเรือดำน้ำผู้มีประสบการณ์สูง แห่งกองทัพเรือโซเวียต เขาถูกย้ายจากอำนาจบังคับการเรือ K-19 เมื่อผู้นำของสหภาพโซเวียตเห็นว่า เขาไม่พร้อมสำหรับภารกิจนี้ ทางการได้เรียกตัว กัปตัน อเล็กไซ วอสตริคอฟ (แฮริสัน ฟอร์ด) ผู้นำกฎเหล็กเข้ามาประจำการแทน เวลาออกปฏิบัติการคือ 16.00 น. ของวันที่ 18 มิถุนายน 1961

ด้วยความที่โพลินินมีความรู้ เกี่ยวกับเรือดำน้ำเป็นอย่างดี เขาจึงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของวอสตริคอฟ ทันทีที่ได้พบหน้ากัน ทั้งคู่ก็ปะทะคารมกันทันที อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้ง แต่ทั้งคู่ก็มีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ หน้าที่เพื่อกองทัพเรือและประเทศ

ในการซ้อมครั้งหนึ่ง วอสตริคอฟได้ทดสอบเรือ K-19 และลูกเรือ ด้วยการด่ำดิ่งลงไปในจุดที่ลึกที่สุด ใต้ท้องทะเลกว่า 1,000 ฟุต ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ตำแหน่งที่เหมาะสม ในการทดลองยิงขีปนาวุธ จากนั้นคำสั่งตรงจากมอสโคว์ก็มาถึง: ให้ K-19 เคลื่อนที่ไปยังทิศตะวันตก ผ่านฐานรบของนาโต้ ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งสหรัฐฯ เพียง 400 กิโลเมตรเท่านั้น ระหว่างกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กับนิวยอร์ค

ด้วยความที่ไม่รู้ว่าเรือยังขาดความพร้อม กัปตัน วอสตริคอฟ อนุมัติให้กองบัญชาการนำเรือ K-19 และลูกเรือออกปฏิบัติการที่อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย เพียงแค่ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1961 ก็เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นแล้ว เมื่อเกิดรอยรั่วขึ้นที่ระบบหล่อเย็น ของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ จนเป็นเหตุให้เตาปฏิกรณ์เกิดความร้อนขึ้นอย่างช้าๆ และถ้าหากว่าอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 1,000 องศา ความหายนะก็จะเกิดขึ้น อีกหนึ่งวิกฤติที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน คือ สถานที่ที่เรือมีปัญหาอยู่ใกล้กับฐานทัพนาโต้มาก และถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ก็เชื่อกันว่า ชนวนของสงครามโลกครั้งที่สาม ..ได้ถูกจุดขึ้นแล้ว !!!


Paramount Pictures และ Intermedia Films เสนอ K-19: The Widowmaker ภาพยนตร์ผลงานสร้างของ National Geographic / Palomar Pictures / First Light / IMF Production ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรือดำน้ำ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของฮอลลีวู้ด ด้วยทุนสร้างกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นผลงานการกำกับของ แคธรีน บิ๊กโลว์ ผู้กำกับหญิงที่ผ่านงานระดับยักษ์อย่าง Strange Day และ Point Break มาแล้ว จากบทภาพยนตร์ที่เขียนโดย คริสโตเฟอร์ ไคล์ (ซีรีส์ Homicide: Life on the Street) ดัดแปลงจากเรื่องเดิมของ หลุยส์ นาวร่า (Black and White, The MatchMaker) อำนวยการสร้างโดย แคธรีน บิ๊กโลว์, โจนี ซิกห์วาสสัน, คริสติน วิธเทคเกอร์ และ เอ็ดเวิร์ด เอส. เฟลด์แมน โดยมี แฮริสัน ฟอร์ด, ไนเจล ซินแคลร์, มอริทซ์ บอร์แมน และ กาย อีสต์ เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร ส่วนผู้ร่วมอำนวยการสร้างได้แก่ สตีเวน-ชาร์ล จาฟฟ์ และ เบซิล ไอแวนิก

K-19: The Widowmaker เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าระทึกขวัญ ที่ว่าถึงเหตุการณ์ที่หลายคนเชื่อว่า น่าจะกลายเป็นช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด ของประวัติศาสตร์โลก มันเป็นช่วงเวลาที่กลไกแห่งสันติภาพ ได้รับการยืนยันว่า มีความเสี่ยงต่อการถูกทำลายล้างอย่างสูงสุด และผู้คนทั่วโลกก็มีชีวิตอยู่อย่างตึงเครียด เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1961 ขณะที่สหภาพโซเวียตมีขุมพลังอาวุธนิวเคลียร์ ที่มากพอจะทำลายโลกได้ ส่วนสหรัฐก็มีพลังงานมากพอ ที่จะทำลายโลกมากกว่าโซเวียตถึงสิบเท่า ขณะที่เด็กนักเรียนถูกพร่ำสอนให้ซ้อมวิธีป้องกันตัว ด้วยการหลบไปซ่อนใต้โต๊ะเรียน ส่วนพ่อแม่ก็สร้างหลุมหลบภัยหลังบ้านอย่างอลหม่าน แต่ละชาติก็แข่งขันกันสะสมอาวุธกันอย่างมากมาย รอเวลาว่าฝ่ายไหนจะเริ่มต้นก่อนเท่านั้น

K-19: The Widowmaker ไม่ใช่หนังสงคราม แต่เป็นเรื่องของความกล้าหาญ มันเป็นเรื่องของหัวใจ ความเข้มแข็ง และความกล้าหาญ นอกจากนี้ ยังพูดถึงโลกสมัยที่เทคโนโลยีเป็นพระเจ้า ขณะที่การเสียสละเพื่อชาติเป็นสิ่งที่รู้กันทั่วไป ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ ที่ทหารต้องรู้สึกต่อชาติและประชาชน ตลอดจนการพึ่งพาต่อความรับผิดชอบของผู้นำ และสุดท้าย หนังยังบอกด้วยว่า โศกนาฏกรรมเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อได้อย่างไร ไม่ว่าจะในช่วงสงคราม โดยอุบัติเหตุ โดยความผิดพลาดของเครื่องจักร ตลอดจนความผิดพลาดของมนุษย์

ด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง ภาพยนตร์เรื่องนี้ ติดตามความกล้าหาญของกัปตันเรือผู้มีนามว่า อเล็กไซ วอสตริคอฟ (แฮริสัน ฟอร์ด) ผู้ซึ่งในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดของสงครามเย็น ถูกสั่งให้ควบคุมเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ K-19 แทนผู้บังคับบัญชาคนเดิม กัปตัน มิคาอิล โพเลนิน (เลียม นีสัน) ภารกิจของวอสตริคอฟคือ ต้องเตรียมพร้อมเรือดำน้ำ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรพร้อมสักอย่างให้ทันเวลา ไม่ว่าจะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายเท่าใดก็ตาม

แต่วอสตริคอฟ, โพเลนิน กับลูกเรือผู้ซื่อสัตย์ของ K-19 คงนึกไม่ถึงว่า จะเกิดสิ่งที่เลวร้ายกับพวกเขา ไม่มีใครจะคิดว่า ราคาของความผิดพลาด มีผลไม่เพียงเฉพาะแค่พวกเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลกด้วย ถ้าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดระเบิดขึ้นมา ขณะที่พวกเขากำลังด่ำดิ่งลงไปในทะเลอาร์คติก เหล่าลูกเรือและกัปตันได้แสดงความกล้าหาญ จนสามารถปกป้องเรือ K-19 ได้ในที่สุด ซึ่งผลพวงของความกล้าหาญครั้งนี้ ทำให้โลกผ่านพ้นวิกฤติการณ์นิวเคลียร์อย่างฉิวเฉียด

K-19: The Widowmaker นำแสดงโดย แฮริสัน ฟอร์ด (Star Wars: Episode IV-VI, Indiana Jones, What Lies Beneath, Air Force One) รับบทกัปตัน อเล็กไซ วอสตริคอฟ และ เลียม นีสัน (Star Wars: Episode I, Schindler's List, Rob Roy) รับบท กัปตัน มิคาอิล โพเลนิน ร่วมด้วย ปีเตอร์ ซาร์สการ์ด (Boys Don't Cry, The Man in the Iron Mask, Dead Man Walking) รับบท เจ้าหน้าที่ วาดิม แร้ดเชนโก้, คริสเตียน คามาโก้ (Poison Tree, Henry V) รับบท พาเวล ลอคเทฟ, สตีฟ นิโคลสัน (ซีรีส์ Big Bad World)


รายละเอียดของเรือ K-19

ความยาวของลำเรือ : 114.1 เมตร (374.3 ฟุต)

แหล่งพลังงาน : เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้แรงดันน้ำ 2 ตัว แต่ละตัวมีกำลัง 70 เมกกะวัตต์

อาวุธ : จรวดมิสไซล์ R-13 บรรจุหัวรบนิวเคลียร์ขนาด 1.4 เมกกะตัน 3 ลูก และมีท่อยิงตอร์ปิโด 8 ท่อ

ลูกเรือ : ปกติรับลูกเรือได้ 125 คน ทั้งระดับนายทหารและกลาสี แต่ขณะที่เกิดเหตุในปี 1961 เรือบรรทุกผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก จนทำให้มีคนในเรือทั้งหมดถึง 139 คน

ข้อเท็จจริงของมหันตภัยเรือ K-19

ปี 1961 สงครามเย็นกำลังคุกรุ่นสุดขีด มหาอำนาจทั้งสอง อันประกอบด้วย สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ต่างตกเป็นจำเลยของกันและกัน ในฐานะผู้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และมีเจตนาจะใช้มันก่อน เดือนพฤศจิกายน ปี 1960 สหรัฐอเมริกาได้ส่งเรือดำน้ำ ยูเอสเอส จอร์จวอชิงตัน ซึ่งติดขีปนาวุธเป็นลำแรกเข้าประจำการ เรือลำดังกล่าวได้แล่นผ่านแนวป้องกันของโซเวียตมาหลายครั้ง โดยที่โซเวียตไม่ทันเอะใจ นอกจากนี้ เรือลำดังกล่าวยังมีคุณสมบัติในการยิงขีปนาวุธ 16 ลูก เพื่อเป็นการตอบโต้ ทางผู้นำโซเวียตจึงเร่งผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกบ้าง โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกเรือ จากภาวะของความไม่พร้อม

ด้วยสมญานาม "ปฏิบัติการเงียบ" เรือดำน้ำมักเป็นเรือที่อันตราย ซึ่ง K-19 ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 4000 ตัน และยาวกว่า 400 ฟุต ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ตลอดช่วงสงครามเย็น กองทัพเรือสหรัฐฯ สูญเสียเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไปสองลำ ได้แก่ เรือ ยูเอสเอส เทรชเชอร์ ในปี 1963 และ ยูเอสเอสสกอร์เปี้ยนในปี 1968 ส่วนโซเวียตก็สูญเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไปสามลำ ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยล่าสุดในปี 2000 ทางรัสเซียเพิ่งเสียเรือดำน้ำ เคิร์สก ในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ K-19 : The Widowmaker กำลังเริ่มต้นขั้นตอนก่อนการถ่ายทำ

เรือ K-19 เป็นเรือดำน้ำที่มีความเสี่ยงในการใช้สูง ติดจรวดมิสซายล์สามลูก ใช้เชื้อเพลิงเหลว ซึ่งมีพิษ, ติดไฟง่าย และ สามารถระเบิดได้ทุกเวลา ที่แย่กว่านั้นก็คือ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ยังไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1961 ขณะที่กำลังอยู่ระหว่างการซ้อม ได้เกิดรอยรั่วขึ้น ในระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ภายในเรือ เพราะความละเลย จึงทำให้เกิดความร้อนในเตาปฏิกรณ์ แม้ว่าจะไม่ระเบิดในทันที เหมือนกับระเบิดนิวเคลียร์ทั่วๆ ไป แต่อันตรายของมัน ก็มากพอที่จะแพร่กระจายสารกัมมันตรังสีไปทั่ว ก่อนที่จะเกิดการระเบิดตามมา ท่ามกลางความตรึงเครียดของสงครามเย็น และจุดเกิดเหตุก็อยู่ห่างจากฐานทัพองค์การนาโต้เพียงไม่กี่ไมล์ หากเรือเกิดระเบิด แน่นอนว่ามันจะนำไปสู่การเผชิญหน้า ของสองมหาอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และการขอความช่วยเหลือจากอเมริกา ลูกเรือของ K-19 จึงทำทุกวิธีที่จะอุดรอยรั่วให้ทันเวลา และพวกเขาก็ทำได้สำเร็จ ด้วยผลตอบแทนที่ร้ายแรงกว่าที่คิด หลายสัปดาห์หลังจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น ลูกเรือกว่า 20 คน ต้องเสียชีวิตจากการได้รับสารกัมมันตรังสี

น่าแปลกใจว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น เรือ K-19 ก็ถูกนำกลับมาซ่อม ก่อนที่จะถูกนำกลับไปประจำการอีกครั้ง แต่เรือลำนี้ก็ยังกลายเป็นเรืออาถรรพ์ต่อไป ในปี 1969 เรือได้ชนกับเรือดำน้ำของสหรัฐฯ อย่างไม่ตั้งใจ และประสบความเสียหายอย่างสูง จากนั้นเรือ K-19 ก็ถูกนำกลับมาซ่อมต่อ และนำเข้าประจำการอีก จนถึงปี 1972 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นในเรือ ระหว่างที่กำลังดำดิ่งลงไปใต้น้ำ ผลจากอุบัติครั้งนั้น ทำให้กองทัพต้องสูญเสียลูกเรือไปถึง 28 คน

ย้อนกลับมาในปี 1961 หลังจากที่ได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เรื่องราวของเรือ K-19 และลูกเรือก็ถูกปกปิด เรื่องราวของพวกเขาไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่ง 30 ปีต่อมา

more info. of K-19