ตำนานสมเด็จนเรศวรมหาราช
Official website
more info. from IMDB
แนว : แอ็คชั่น / ดราม่า / ประวัติศาสตร์ / สงคราม
กำหนดฉาย : 18 มกราคม 2550

พุทธศักราช 2106 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง (รับบทโดย สมภพ เบญจาธิกุล) ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยา ทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับ ได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยา อันมีเมืองพิษณุโลก เป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ

ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชา (รับบทโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวร หรือ พระองค์ดำ ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลก จำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง เพื่อรักษาไว้ ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์ มิให้ต้องมีภยันตราย และจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่า เข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยา ทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้ สมเด็จพระราเมศวร (รับบทโดย สถาพร นาควิไล) ราชโอรส โดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดี ตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง ก็ได้ถวาย สมเด็จพระนเรศวร (รับบทโดย ด.ช. ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ราชโอรสองค์โต ให้ไปเป็นองค์ประกัน ประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้น พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา

สมเด็จพระนเรศวร ทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญ สบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้า สมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝัง ให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์ เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักร ซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรส คือ มังเอิน (พระเจ้านันทบุเรง) และพระราชนัดดา มังสามเกียด นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้น หาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรม อันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้าง และทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญา และความรักใคร่หวงแหน

เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรง และราชโอรส มังสามเกียด ขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น

พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ พระมหาเถรคันฉ่อง (รับบทโดย สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณ และเจนจบในตำราพิชัยสงคราม เป็นพระอาจารย์ ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานคร ยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญ หาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญา อันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวร สามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า

พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่า หัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือ แลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (รับบทโดย ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา สมเด็จพระมหินทร์ (รับบทโดย สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัย ในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา แต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลก ก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควร ก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์ จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ ถึงกับหันไปสมคบกับ สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้าง ร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก

แต่กระทำการมิสำเร็จ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็น เชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวร (รับบทโดย พ.ต.วันชนะ สวัสดี) ร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสา แต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชา โดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุง ด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อม ให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญ ซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวช มาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึก พุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง

ข้างสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงาม หรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดา มิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิด ผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดิน จึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงถวาย พระสุพรรณกัลยา (รับบทโดย เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวร แก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมา ครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา สืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลก เป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง

เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรง (รับบทโดย จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) ได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อ และได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาท ครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสา มีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดี พระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเอง ก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมี ของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้น สมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ ให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุ และศึกเมืองคังเป็นอาทิ

พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่า สืบไปเบื้องหน้า สมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึก หมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครู ลอบนำแผนประทุษร้ายนั้น มาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทย ข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงคราม สั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยา สืบแต่นั้นมา...


ราวคริสตศตวรรษที่ 16 อันเป็นยุคที่นักเดินทางแห่งโลกตะวันตก ได้ล่องทะเลออกเผชิญโชค เพื่อแสวงหาเส้นทางใหม่สู่แหล่งสินค้าหายาก โดยมีประเทศในแถบเอเชียโพ้นทะเลเป็นเป้าหมาย ชาวโปรตุเกสเป็นชาติแรกๆ ที่เข้ามายังพม่า อโยธยา ตลอดจนมลายู ชวา ฯลฯ ในขณะที่บ้านเมืองในลุ่มน้ำอิระวดี เจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขง ต่างทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ เช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งมีทั้งที่มุ่งขยายอำนาจให้แผ่ไพศาล และที่ต้องต่อสู้เพื่อปกป้องเอกราชอธิปไตย

สงครามระหว่างหงสาวดีและอโยธยา นับเป็นมหาสงครามแห่งยุคนั้น ด้วยความเข้มข้น แรงร้อน และ เกริกไกร จนเกินจะจินตนาการถึงปริมาณไพร่พล จักรกลสงคราม อาวุธยุทธโธปกรณ์ ตลอดจนพาหนะที่ใช้ ขับเคี่ยวในสมรภูมิ สงครามระหว่างสองอาณาจักรนี้ ยังฝังแน่นอยู่ในความทรงจำของผู้คน และยังถูกเล่าขานสืบต่อมาไม่ขาดช่วง ตลอดหลายร้อยปี

ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถ่ายทอดความทรงจำของมหายุทธสงครามครั้งนั้น จารึกลงบนแผ่นฟิล์ม เป็นเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบผู้มีระบือนามที่สุดพระองค์หนึ่ง ในหน้าประวัติศาสตร์ของอโยธยาและอุษาคเนย์ยุคนั้น พระองค์ทรงมีชีวิตวัยเยาว์ ที่ถูกส่งไปเป็นองค์ประกันในแดนศัตรู โดยถูกพระเจ้าบุเรงนองนำไปเลี้ยงไว้ ยังกรุงหงสาวดีราชธานีของพม่า หลังจากที่อโยธยาพ่ายศึก ทรงฝึกฝนศิลปวิทยาในการรณรงค์สงคราม กับพระมหาเถรคันฉ่อง – สงฆ์มอญผู้ทรงภูมิ จนเชี่ยวชาญในเชิงยุทธและกลศึก เกินหน้าพระราชโอรส และพระราชนัดดาของพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้องทรงเสี่ยงภัยลอบหนีจากพุกามประเทศสู่มาตุภูมิ อโยธยา เมื่อทรงหยั่งรู้ว่า พระอัจฉริยภาพที่ทรงมีเหนือพระยุพราชของหงสาวดี กำลังชักนำภยันตรายมาสู่พระองค์ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญ ที่จะนำไปสู่วันแห่งการประกาศเอกราชของอโยธยา ให้พ้นจากอุ้งหัตถ์ของกษตริย์พม่า

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ฟื้นอดีตให้เห็นถึงกุศโลบาย และพิชัยยุทธที่ทรงใช้ต้านศึกพม่าหลายครั้ง ภายหลังการประกาศอิสรภาพ ทั้งที่กำลังรบของอโยธยาตกเป็นรองในทุกด้าน จนท้ายที่สุด ก็ทรงสามารถมีชัยชนะเหนือผู้รุกรานได้อย่างเด็ดขาด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ จะทำให้ประวัติศาสตร์กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งเมืองพม่ารามัญ อโยธยา ป้อมค่ายคูประตูหอรบโบราณ และวิถีชีวิตชาวบ้าน-ชาววัง ด้วยทุนสร้างที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะฉากสงคราม ภาพกระบวนทัพนับหมื่นชีวิต ทำศึกชิงเมืองชิงค่าย การลอบสังหารด้วยจารชน การสู้รบบนสะพานแพข้ามแม่น้ำสะโตง ไปจนถึงทำยุทธหัตถี บนหลังช้างศึกที่เกรี้ยวกราดตกมัน แต่ภายใต้บรรยากาศที่ความขัดแย้ง คุกรุ่นจนปะทุเป็นไฟสงครามร้อนแรงนั้น ยังคงมีบทรักระหว่างรบ สอดแทรกสร้างสีสันได้อย่างลงตัว

ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการภาพยนตร์ไทย โดย ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับ มุ่งมั่นที่จะสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติ วีรกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร และให้ทั่วโลกได้ตระหนักในฝีมือ และผลงานภาพยนตร์ของคนไทย ที่ทัดเทียมต่างประเทศ

ภาพยนตร์เรื่อง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นำแสดงโดย พ.ต.วันชนะ สวัสดี, นพชัย ชัยนาม, อินทิรา เจริญปุระ, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, สมภพ เบญจาธิกุล, ฉัตรชัย เปล่งพานิช, ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, สันติสุข พรหมศิริ, สรพงษ์ ชาตรี, เกรซ มหาดำรงค์กุล, ด.ช. ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์, ปวีณา ชารีฟสกุล, ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์ และผู้แสดงสมทบอีกมากมาย

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กำกับโดย ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล อำนวยการสร้างโดย หม่อมกมลา ยุคล, คุณากร เศรษฐี, บทภาพยนตร์โดย ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล และ ดร. สุเนตร ชุตินทรานนท์ ช่วยกำกับโดย วชิระ ชอบเพื่อน, กิตติกร เลียวศิริกุล ออกแบบงานสร้างและกำกับศิลป์โดย ประสพโชค ธนะเศรษฐวิไล และ ประเสริฐ โพธิ์ศรีรัตน์ กำกับภาพโดย ณัฐวุฒิ กิติคุณ และ Stanislav Dorsic ลำดับภาพโดย ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย หม่อมกมลา ยุคล เครื่องแต่งกายโดย ฐิติกรณ์ ศรีชื่น, สุกัญญา มะเรืองประดิษฐ์ แต่งหน้า/ทำผมโดย มนตรี วัดละเอียด, ทิฆัมพร แซ่หลิม ดนตรีประกอบโดย Richard Harvey