March of the Penguins aka The Emperor's Journey
Official website (FR)
Official website (US)
more info. from IMDB
แนว : สารคดี
ความยาว : 85 นาที
กำหนดฉาย : 29 ธันวาคม 2548

จะว่าไป ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ (หรือ The Emperor Penguins) นั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เพนกวินที่มี ‘ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’ แต่แท้ที่จริงแล้ว พวกมันกลับเหมือนเป็น ‘สิ่งมีชีวิตที่ต้องสาป’ เนื่องจากการสืบทอดเผ่าพันธุ์ของพวกมัน เต็มไปด้วยความสุ่มเสี่ยงและลำบากแสนเข็ญ

ในทุกฤดูหนาวของทุกปี ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ต้องละทิ้งทะเลซึ่งอุดมไปด้วยอาหาร แล้วจับกลุ่มเดินกระย่องกระแย่ง เป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร สู่สถานที่เวิ้งว้างว่างเปล่าหนาวเหน็บแห่งหนึ่ง เพียงเพราะว่าที่นั่น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การสืบพันธุ์ของพวกมัน

นอกจากนั้น ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ยังมีธรรมชาติที่แสนแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ หลังจากที่ตัวเมียออกไข่แล้ว ก็จะส่งมอบไข่ให้ตัวผู้รับหน้าที่ฟูมฟักเลี้ยงดู ในขณะที่ตัวเมียจะเดินทางกลับทะเล เพื่อหาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตัวเอง และนำกลับมาให้ทารกน้อย ซึ่งกำลังจะฟักตัวในอีกไม่ช้า

การส่งมอบไข่ของ ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ถือเป็นขั้นตอนที่อันตรายยิ่ง เนื่องจากไข่จะต้องได้รับความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา หากพ่อแม่เพนกวินคู่ใดสะเพร่า กะจังหวะรับส่งไม่ดี ปล่อยให้ไข่ตากลมนานเกินไป ไข่ใบนั้นก็จะถูกความหนาวทำให้แตกสลาย ซึ่งนั่นหมายถึงว่า ลูกน้อยของพวกมันจะต้องตายตั้งแต่ยังไม่เป็นตัวเสียด้วยซ้ำ

หลังการส่งมอบไข่เสร็จสิ้น แม่และพ่อเพนกวินต่างต้องแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตน - แม่เพนกวินจะตะลุยฝ่าหิมะเพื่อมุ่งหน้าสู่ทะเล ส่วนพ่อเพนกวินก็ต้อง ‘อยู่นิ่งๆ’ อย่างอดทนโดย ‘ไม่มีอาหาร’ ท่ามกลางพายุหิมะอันแสนโหดร้ายทารุณ เพื่อประคบประหงมไข่ใบเขื่องไว้ภายในอุ้งเท้าทั้งสองข้าง

ราว 60 วันหลังจากนั้น ขณะที่พ่อเพนกวินอ่อนล้าและหิวโหยจนถึงขีดสุด ไข่ก็จะฟักตัว และลูกเพนกวินที่เกิดใหม่ จะมีอายุอยู่ได้โดยปราศจากอาหาร เป็นเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งนั่นหมายความว่า หากแม่เพนกวินของมัน ไม่สามารถนำอาหารกลับจากทะเลได้ทันเวลา อายุขัยของลูกเพนกวินก็จะสิ้นสุดลงเพียงแค่นั้น…

แม่เพนกวินตัวใดที่ทำหน้าที่ได้สำเร็จทันเวลา จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับสามีและลูกอีกครั้ง

ส่วนแม่เพนกวินที่กลับมาไม่ทัน จะพบเพียงร่างไร้ชีวิตของลูกน้อย พวกมันจะพากันกลับคืนสู่ทะเลอย่างเศร้าสร้อย แล้วตั้งความหวังว่า เมื่อถึงช่วงเวลานี้ของปีหน้า …มันจะไม่ทำพลาดอีก


เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่ทีมผู้สร้างแทบจะกิน นอน และว่ายน้ำ ไปกับนกเพนกวินฝูงนี้ เพื่อให้ได้ภาพที่ดูราวกับว่า ผู้ชมกลายเป็นนกเพนกวินไปแล้ว ภาพบางภาพที่ให้ความรู้สึกของ Spectacle Shot ลูกนกเพนกวินสะบัดขน และว่ายน้ำทะลุก้อนน้ำแข็งขึ้นมาหาแม่... และนี่จะเป็นครั้งแรก ที่ผู้ชมได้เห็นเพนกวิน ‘พูดได้’!

The Emperor’s Journey หรือในชื่อต้นฉบับจากฝรั่งเศสว่า La Marche de L’Empereur และชื่อในระหว่างฉายในอเมริกาว่า่ March of the Penguins ไม่ได้ใช้เสียงผู้บรรยายบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด ในฐานะ ‘บุคคลที่ 3’ เหมือนอย่างที่หนังสารคดีชีวิตสัตว์ปรกติทั่วไปมักจะทำ ทว่าหนังใช้ผู้บรรยายชายและหญิงอย่างละหนึ่ง เป็นตัวแทน ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ฝ่ายตัวผู้ และ ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ ฝ่ายตัวเมีย แล้วให้เพนกวินเล่าเรื่องผ่านสายตาของพวกมันเอง ดังนั้น เราจึงจะได้เห็นเพนกวินเล่าว่า...

"ในฤดูหนาวของทุกปี พวกเราจะต้องเดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง…"

"ฉันหิว ฉันเหนื่อยเหลือเกิน อีกไกลไหมกว่าจะถึงทะเล…"

"ฉันกลับมาทันเวลาไหมนี่ ลูกจ๋า ลูกอยู่ที่ไหน" เป็นต้น

The Emperor’s Journey ฉบับที่เข้าฉายในอเมริกา มี มอร์แกน ฟรีแมน เป็นหนึ่งในทีมพากย์ ส่วนที่จะเข้าฉายในไทยเป็นเวอร์ชัน ‘ต้นฉบับ’ ซึ่งให้เสียงเป็นภาษาฝรั่งเศส ให้เสียงพากย์โดย ชาร์ลส์ แบร์แลงก์, โรมาน โบห์แรงเฌร์, ฌูลส์ ซิตรูค์

The Emperor’s Journey กำกับโดย ลุก ฌาคเกต์ ใช้ทุนสร้างราว 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นโปรเจกต์ใหญ่ยักษ์ ที่ต้องใช้กองทัพทีมงานจำนวนมหาศาล แต่แท้ที่จริงแล้ว The Emperor’s Journey ใช้บุคลากรหลักๆ สำหรับการถ่ายทำในทวีปแอนตาร์คติกาเพียง 4 คนเท่านั้น!

เมื่อออกฉายในอเมริกา The Emperor’s Journey ติดอันดับ ‘ท็อป 10’ ในบ๊อกซ์ ออฟฟิศ นานถึง 10 สัปดาห์ และท้ายที่สุด ก็กลายเป็นหนังสารคดีที่ทำเงินสูงสุด เป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ เป็นรองก็แต่ Fahrenheit 9/11 ของ ไมเคิล มัวร์ เท่านั้น