15 ค่ำ เดือน 11
Official website
แนว : ลึกลับ / ระทึกขวัญ
ความยาว : 115 นาที
กำหนดฉาย : 11 ตุลาคม 2545

“๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากความเชื่อ ของชาวท้องถิ่นในแถบอีสาน เกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ซึ่งเป็นการเรียกขานลูกไฟประหลาดสีชมพูจำนวนมาก ที่พวยพุ่งขึ้นจากลำน้ำโขง ในคืนวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น “๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑” ของทุกปี โดยลูกไฟนั้นไม่มีกลิ่น ไม่มีเสียง พุ่งขึ้นสูงประมาณ 20-30 เมตร แล้วก็หายไป โดยไม่มีการโค้งลงมา เช่นเดียวกับไฟที่เกิดจากพลุทั่วไป และเกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่แน่นอน ในท้องที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

ผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขง ได้รับการบอกเล่าสืบทอดต่อๆ กันมาว่า ลูกไฟเหล่านี้คือ "บั้งไฟพญานาค" ที่พญานาคสร้างขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี และจะมีผู้คนจำนวนมาก แห่แหนมานั่งชมปรากฏการณ์ ที่มหัศจรรย์ดังกล่าว ปรากฏการณ์นี้ ก่อให้เกิดมีคำถามตามมามากมายว่า บั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษา และเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย มีหลายทฤษฎีกล่าวถึงเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีทางด้านวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีที่บอกว่า อาจจะมีใครบางคนไปสร้างขึ้น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และความเชื่อของชาวอีสาน เกี่ยวกับพญานาค...


“๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑” เรื่องราวของบั้งไฟพญานาค มหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนไทยในอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ที่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพไปกว่าแปดชั่วโมง แต่ที่แห่งนี้ กลับมีสิ่งเร้นลับมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นตรงกันทุกปี ในคืนวันออกพรรษา บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นเรื่องที่โด่งดังไปทั่วโลก และยังไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่า บั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์? เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ? หรือเป็นพุทธบูชาของพญานาค จริงตามความเชื่อ และ ศรัทธาของชาวอีสาน? ยังคงเป็นปริศนาที่ท้าทาย และรอคอยการพิสูจน์มาจนทุกวันนี้

จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส ร่วมกับ หับโห้หิ้น ฟิล์ม ภูมิใจเสนอ ภาพยนตร์เรื่อง “๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑” มหัศจรรย์แห่งภาพยนตร์ไทย จากฝีมือการกำกับฯ ของผู้กำกับหนุ่ม เก้ง - จิระ มะลิกุล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดี ผลงานที่ผ่านมา มีทั้งงานด้านกำกับภาพยนตร์โฆษณา และกำกับมิวสิควิดีโอ โดยก่อนจะมาทำงานในเรื่องนี้ เขาได้มีส่วนร่วมเขียนบทกับ สิน - ยงยุทธ ทองกองทุน ในภาพยนตร์เรื่อง สตรีเหล็ก

จิระ มะลิกุล ผู้กำกับหนุ่ม อ่านพบเรื่องนี้ จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี 2538 ข้อถกเถียงและทฤษฎีที่ถูกยกมากล่าวอ้าง สร้างความฉงนสนเท่ห์ ชวนให้ติดตามยิ่งนัก และเขาเริ่มค้นคว้าหาข้อมูล จากหนังสือเป็นลังๆ นำเรื่องราวทั้งหมดมาประมวล พร้อมเดินทางไปดูบั้งไฟพญานาคให้เห็นกับตา เดินย่ำรอยเท้าไปทั่วบริเวณริมน้ำโขง พูดคุยกับชาวบ้าน และกลับมาศึกษาค้นคว้าถึงเรื่องนี้ อย่างจริงจังอีกครั้ง เข้าพิพิธภัณฑ์ ค้นคว้าต่อเติม รวบรวมข้อมูลทั้งหมด บวกจินตนาการในสิ่งที่อยากจะให้เป็นภาพ โดยใช้เวลานานกว่าแปดเดือนใ นการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ เมื่อบทเขียนเสร็จ เขานำบทปึกใหญ่มาให้ ยงยุทธ ทองกองทุน และ ประเสริฐ วิวัฒนานนท์พงษ์ ผู้ที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมสถาบัน และร่วมก่อตั้งบริษัท หับโห้หิ้น ฟิล์ม

หลังอ่านบทจบ ทั้งสิน และ เสริฐ รู้สึกได้ว่าเป็นบทที่ดีมาก และเมื่อบทดี การนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยากที่จะออกมาไม่ดี สองโปรดิวเซอร์คู่หู ยงยุทธ และ ประเสริฐ ก็ตัดสินใจว่า “๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑” น่าจะเป็นหนังที่ หับโห้หิ้น ฟิล์ม เลือกเป็นหนังเปิดตัวกับ จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส เป็นเรื่องแรก และเมื่อได้รับอนุมัติจากทาง จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ส อย่างเป็นทางการ การทำงานก็เริ่มขึ้น

การคัดเลือกนักแสดงนั้น ทีมงานเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคอีสานอยู่นานกว่าจะลงตัว ทีมงานสร้างเลือกใช้นักแสดงหน้าใหม่ ที่ยังไม่เคยผ่านงานแสดงภาพยนตร์มาเป็นดารานำ นักแสดงที่มีบทสำคัญเป็นตัวเดินเรื่อง ได้แก่ โอ - อนุชิต สพันธุ์พงษ์ มาในบท คาน เด็กวัดผู้กุมความลับในการสร้างบั้งไฟ ที่ทำหน้าที่ดำน้ำลงไปวางบั้งไฟ เก้ง - จิระ เห็นแววของเขา มาจากภาพยนตร์โฆษณาของโค้ก ส่วน ตี้ - ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ อดีตผู้ประกาศข่าวสีสันบันเทิงทางช่อง 3 แม้จะเป็นที่คุ้นเคย ของใครๆ จากหน้าจอโทรทัศน์ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องแรก ในชีวิตการแสดงของเธอ ที่ต้องมารับบทครูอลิศ ด้าน เปี๊ยก - บุญชัย ลิ่มอติบูลย์ ที่กว่าจะได้ตัวมาต้องใช้เวลาไม่น้อย เพราะหนุ่มคนนี้ มีหน้าที่การงานหลักฐานมั่นคง และไม่เคยคิดอยากจะเป็นดารา มารับบทหมอนรติ ผู้เฝ้ารวบรวมทฤษฎี เพื่อยืนยันความเชื่อของตัวเองว่า ลูกไฟนั้นเกิดขึ้น เกิดจากการหมักหมมของซากพืชซากสัตว์ ร่วมด้วยตัวแสดงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่อง

นักแสดงสมทบยังมี นพดล ดวงพร เจ้าของวงดนตรี เพชร พิณทอง ที่ลือลั่นในภาคอีสาน มารับบทหลวงพ่อโล่ห์ ผู้ที่มีความผูกพันกับพญานาค และบั้งไฟพญานาคในวันออกพรรษา สุรสีห์ ผาธรรม อดีต ผู้กำกับใหญ่ที่ตื่นเต้นยินดีปรีดา เมื่อมีคนคิดตรงกับเขา ในการนำเรื่องบั้งไฟพญานาค มาสร้างเป็นภาพยนตร์ มาในบทครูใหญ่ ผู้ที่ไม่อยากรู้เลยว่า บั้งไฟพญานาคเกิดจากอะไร, สิงห์คาน นันกวน หมอลำ คณะเพชร พิณทอง มารับบท พระยอดสน ผู้ที่คอยไปรับส่ง และดูแลคานกับหลวงพ่อ เป็นหนึ่งในคนทำบั้งไฟพญานาค

นอกเหนือจากนี้ เก้ง - จิระ ยังได้ชักชวนเพื่อนฝูง ที่เคยทำงานร่วมกันมาอย่าง ชนินทร์ (โปสาภิวัฒน์) นินจา มารับบท ดร.กริช นักประหลาดวิทยา ที่เดินทางไปทั่วเพื่อพิสูจน์ว่า พญานาคนั้นมีจริงหรือไม่, สมชาย ศักดิกุล นักดนตรีอารมณ์ดี มารับบท ดร.สุรพล ผู้คัดค้านทฤษฎีของหมอนรติในทุกกรณี นอกจากนี้ ยังได้ความร่วมมือจากชาวบ้านอำเภอโพนพิสัย มาร่วมเข้าฉากเป็นดาราจำเป็น ด้วยความยินดีและมีน้ำใจ

“๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑” ยังได้ เอก เอี่ยมชื่น ผู้ฝากผลงานไว้ในฐานะโปรดั๊กชั่นดีไซน์ ในภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ อย่างมากมายอย่าง จันดารา, ฟ้าทะลายโจร, นางนาก มาร่วมทำงานคุมภาพ, ฉาก และงานด้านโปรดั๊กชั่น ที่ปรากฏเป็นภาพในเรื่องนี้

การทำงานเรื่องนี้ ในส่วนของทีมงานสร้าง ประกอบด้วย สมบูรณ์ พิริยะภักดีกุล ผู้กำกับภาพและช่างภาพ, ปาน บุษบรรณ ลำดับภาพ, มนตรี วัดละเอียด ช่างแต่งหน้าเอฟเฟ็ค, ธิฐิพล แฝงสีคำ ช่างแต่งหน้า, เอกศิษฐ์ มีประเสริฐกุล ออกแบบเครื่องแต่งกาย