Official website
แนว : ตลก / ดราม่า
ความยาว : 105 นาที
กำหนดฉาย : 28 กุมภาพันธ์ 2546
ปี พ.ศ. 2535 ปีสุดท้ายแห่งยุคทอง ของนิตยสารปลุกใจเสือป่าระดับมวลชน และปีแห่งความผันผวนแปรปรวนทางการเมือง เต่า (ผิง - พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์) สาวห้าวทอมบอย นักศึกษาคณะอักษรฯ เธออาศัยอยู่กับป้า ซึ่งเปิดร้านขายอาหาร ใต้อพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมี จ้อน (ต่อ - นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล) ซึ่งเป็นเด็กหนุ่มติ๋มๆ ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์เดียวกัน เป็นเพื่อนสนิท นอกจากนี้ เต่ายังหลงรัก น้องหมวย (บอลลูน - พินทุ์สุดา ตันไพเราะ) นักศึกษาสาวสวยรุ่นน้อง ผู้มากด้วยเสน่ห์และจริตจะก้าน อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เต่าหารายได้พิเศษลับๆ โดยการรับจ้างเขียนเรื่องสั้นประสบการณ์ทางเพศ ให้กับนิตยสารปลุกใจเสือป่าที่ชื่อ สยิว ซึ่งบริหารงานโดย เฮียกังฟู (นิรุธ วิจิตรวงศ์เจริญ) บรรณาธิการผู้คร่ำหวอดในวงการ และมีอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่การณ์กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อสถานการณ์ของตลาดกำลังเปลี่ยนไป ผู้อ่านกำลังต้องการเรื่อง ที่สำนวนและเนื้อหาโจ๋งครึ่มมากขึ้น เต่าได้รับการเรียกร้องจากเฮียกังฟู ให้เปลี่ยนสำนวนและเนื้อหาของเธอ ให้เข้ากับตลาด แถมเธอยังต้องพบคู่ปรับคนสำคัญ ซึ่งเป็นนักเขียนหนุ่มหน้าใหม่ไฟแรง ที่มีสำนวนโจ๋งครึ่ม เนื้อหาวิตถารสะใจผู้อ่าน จนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เขามีชื่อว่า หนุ่มพลังม้า (อานนท์ สายแสงจันทร์ - ปู แบล็กเฮด) เต่าต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเขียนเรื่อง ที่จริงๆ แล้วเธอเองก็ยังไม่มีประสบการณ์ เส้นทางการผจญภัยของเต่า ที่ว่าด้วยจินตนาการทางเพศ จึงเริ่มสาหัสขึ้น เธอเริ่มหยิบยืมเรื่องราวของผู้คนรวบข้างในชีวิตเธอ ชาวบ้านบริเวณอพาร์ทเมนท์ ต่างถูกจินตนาการของเธอ สร้างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น พี่แดง สาวทรงมโหระทึก, คุณนายช้อย ผู้แสนเปลี่ยวข้างอพาร์ทเมนท์, พันธ์และก้อย พี่เขยน้องเมียอารมณ์กรุ่น แต่จนแล้วจนรอด ผลงานของเธอก็ยังไม่เข้าเป้าที่เฮียกังฟูต้องการ ปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมเต่า เริ่มเขม็งเกลียวเข้ามามากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องานเขียนของเธอ วิทยานิพนธ์ซึ่งกำลังมีที่ท่าว่าจะไปไม่รอด น้องหมวยซึ่งกำลังมีเด็กหนุ่มต่างคณะมาติดพัน และที่สำคัญที่สุด คือการถูกท้าทายและคุกคามจากหนุ่มพลังม้า เต่าพยายามต่อไปอีกครั้ง โดยการไปขอคำปรึกษากับ ลุงหมอ นักเขียนคนหนึ่งในกองบก. เต่าพยายามเลียบเคียง ถามในสิ่งที่ตนเองไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์ ลุงหมอตอบเพียงว่า หน้าที่ของนักเขียนนั้น มีเพื่อเติมเต็มสิ่งที่คนอ่านขาดหายไป ส่วนเรื่องของประสบการณ์ เมื่อถึงเวลาแล้วเต่าจะรู้เอง เต่ายังคงไม่เข้าใจสิ่งที่ลุงบอกเท่าไรนัก เวลาเส้นตายที่เหลือเพียงน้อยนิด ทำให้โลกในจินตนาการ และโลกในความเป็นจริงของเต่า เริ่มหลอมเข้าหากันอย่างชุลมุนวุ่นวาย และเต่าก็ตัดสินใจ โดดเข้าสู่สนามที่หนักข้อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบเข้าดูกิจกรรมหนังสด ในห้องลึกลับที่อพาร์ทเมนท์ ต่างไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นเจ้าของห้องนี้ การเข้าหาน้องหมวย อย่างเข้าได้เข้าเข็ม แต่กลับได้พบว่า น้องหมวยไวไฟไม่สนเพศเสียยิ่งกว่าที่เธอคิด และสุดท้าย เธอตัดสินใจเอาตัวเองเข้าเสี่ยง ไปหาหนุ่มพลังม้าถึงรัง ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว และอุปกรณ์วิตถารพิสดารพันลึกร้อยแปดของเขา เพื่อและกับประสบการณ์จริง! ผลลัพธ์สุดท้าย เต่าได้พบกับความจริงในชีวิตของเธอจนได้ โดยผู้ให้คำตอบนั้นกับเธอคือ จ้อน หนุ่มติ๋มที่อยู่เคียงข้างเธอตลอดเวลานั่นเอง และนั่นเองทำให้ผลงานการเขียนและชีวิตของเธอ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของผู้คน ที่กำลังถูปลอบประโลมด้วยละครเวทีน้ำเน่าอยู่ดีๆ ก็ถูกกระชากความฝัน ไปด้วยวิถีทางแห่งการเมือง สหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนล เสนอ สยิว ภาพยนตร์ตลกปนชีวิตแนวใหม่ หยิบเอาเรื่องราวชีวิตของผู้คน ในกองบรรณาธิการหนังสือโป๊ใต้ดินเลื่องชื่อ ในยุคปี พ.ศ.2535 ที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคทอง ของหนังสือแนวปลุกใจเสือป่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เขียนบทและกำกับโดย คงเดช จาตุรันต์รัศมี หนึ่งในสมาชิกวงสี่เต่าเธอ และ เกียรติ ศงสนันทน์ สองผู้กำกับหน้าใหม่ของวงการ จากโครงการประกวดหนังสั้น 'ส่งฝันสู่ฟิล์ม' ที่จัดขึ้นโดยนิตยสารซีเนแมก จนกระทั่งผลงานเรื่อง "เจ๊ง" ไปคว้ารางวัลชมเชย จากเทศกาลหนังสั้นของมูลนิธิไทย อำนวยการสร้างโดย ปรัชญา ปิ่นแก้ว โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ผู้อยู่เบื้องหลังหนังดังมากมาย อาทิ ปอบหวีดสยอง, มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม, 7 ประจัญบาน รวมทั้งเคยมีงานกำกับภาพยนตร์ร้อยล้านอย่าง องค์บาก สยิว แสดงโดย พิมพาภรณ์ ลีนุตพงษ์ เป็น เต่า เด็กสาวช่างฝันที่คิดว่าตัวเองเท่ เก๋ และเป็นทอม มีความสามารถอย่าล้นเหลือ เพราะรับจ้างเขียนเรื่อง 'อย่างว่า' ให้กับนิตยสาร สยิว แต่ด้วยความที่เต่า เป็นหญิงสาวอ่อนหัดที่ขาด 'ประสบการณ์ตรง' ทำให้ "อย่างว่า" ที่เธอคิดว่าดีแล้วเป็นเพียงสวรรค์ชั้นหนึ่งของผู้อ่านเท่านั้น กระทั้งเธอได้พบว่า เธอกำลังมีคู่แข่งเป็นนักเขียนหน้าใหม่มาแรงสำนวนถึงลูกถึงคน ทำให้อาชีพการงานของเธอเริ่มสั่นคลอน, นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล เป็น จ้อน หนุ่มน้อยเพื่อนสนิทของเต่า ซึ่งอาศัยร่วมอพาร์ทเม้นท์ ชายคาเดียวกับเต่า จ้อนคุ้นเคยกับเรื่องทางธรรมเป็นอย่างดี เพราะเคยเป็นเด็กวัดมาก่อน ดังนั้นในสายตาของเต่า จ้อนจึงเป็นเพียงเด็กหนุ่ม ที่เต็มไปด้วยความจืดชืด ไม่มีอะไรเร้าใจหรือน่าตื่นเต้น ซึ่งขัดแย้งกับบุคลิกของเต่า ชนิดที่เรียกว่าสุดขั้วเลยทีเดียว, อานนท์ สายแสงจันทร์ หรือ ปู แบล็กเฮด เป็น หนุ่ม นักเขียนในกองบรรณาธิการ ที่กำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในหมู่นักอ่าน เพราะสำนวนเผ็ดร้อน จัดจ้าน ถึงพริกถึงขิง ว่ากันจะๆ แบบไม่บันยะบันยัง โดยใช้นามปากกาว่า 'หนุ่มพลังม้า' เพียงแค่นี้ก็คงนึกภาพออกว่า งานของเขา จะโขยกอารมณ์คนอ่าน ให้มันซาบซ่านส์ส์ส์ส์ ได้ขนาดไหน, นิรุธ วิจิตรวงศ์เจริญ เป็น เฮียกังฟู บรรณาธิการหนังสือ สยิว ผู้เต็มไปด้วยอุดมการณ์ ในการทำหนังสือโป๊ใต้ดิน โดยมุ่งหวังให้ครอบครัวของชาวไทย อยู่กันอย่างผาสุกในครัวเรือน, จุฑารัตน์ อัตถากร เป็น หมอชไมพร หมอสาวที่รับหน้าที่ตอบปัญหาให้กับผู้อ่าน ที่มีข้อข้องใจ ไขขานทางด้านเซ็กส์ เธอมีลีลาร้อนแรง และบำบัดสำนวนในการตอบปัญหาของผู้อ่าน ในส่วนของนักแสดงสมทบ หนังเรื่องนี้อุดมไปด้วยนักแสดงที่มีฝีมือ มาแฝงตัวอยู่เพื่อเพิ่มสีสันให้กับหนัง ไม่ว่าจะเป็น นักแสดงรุ่นใหญ่ วิยะดา อุมารินทร์, ศิลปินนักร้องรุ่นใหญ่ ฉันทนา กิติยาพันธุ์, ศิลปินตลก เพชร ดาราฉาย และนักแสดงหน้าใหม่อย่าง บอลลูน - พินทุ์สุดา ตันไพเราะห์ นางแบบสาวหน้าใสขวัญใจวัยทีน รับบท หมวย ดาวมหาวิทยาลัยที่ใครๆ พากันชื่นชอบ ร่วมด้วยนักแสดงรับเชิญอย่าง สอง วงพาราด็อกซ์, มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง และ นรเศรษฐ์ หมัดคง หรือ ดีเจซี้ด นักวิจารณ์เพลงชื่อก้อง มาเติมสีสันให้กับหนัง ในส่วนของกองบรรณาธิการ สยิว เป็นต้น ด้วยความที่หนังเรื่องนี้ มีลักษณะเฉพาะตัว ทั้งในแง่ของตัวละครและบรรยากาศ อีกทั้งเรื่องราวในหนังยังเป็นการย้อนยุค กลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2535 ทำให้การวางโจทย์ ในส่วนของการสร้างบรรยากาศด้วยภาพและเสียง ถือเป็นส่วนสำคัญยิ่ง สำหรับทางด้านภาพได้ สยมภู มุกดีพร้อม ที่เพิ่งเสร็จจาก สุดเสน่หา ภาพยนตร์อินดี้ไทย ที่ไปสร้างชื่อในตลาดโลก มาถ่ายทอดภาพบรรยากาศในยุด พศ.2535 ด้วยวิธีล้างแบบที่เรียกว่า By Pass ได้ภาพที่แปลกตากว่าหนังเรื่องอื่นๆ ส่วนงานด้านโปรดักชั่นได้ รัชตะ สมบัติไพบูลย์ชัย ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอมือทอง และเคยมีผลงานออกแบบงานสร้าง ให้แก่หนังอย่าง โลกทั้งใบ..ให้นายคนเดียว, ล่องจุ๊น มาเป็นโปรดักชั่นดีไซเนอร์ โดยมีโจทย์ว่า ทั้งตัวละคร เสื้อผ้า อาร์ตไดเร็กชั่น ซึ่งจะต้องอยู่ในยุค พศ.2535 ทั้งหมด โดยเป็นแบบเรียลลิสต์ คือสมจริง ยกเว้นบางตัวละครเท่านั้น ที่จะเป็นตัวละครในจินตนาการ สำหรับงานด้านเสียง ทั้งในส่วนของการออกแบบเสียง และดนตรีประกอบ จะใช้เพลงเก่าคุ้นหูในยุค 2535 มาเป็นตัวสร้างบรรยากาศให้กับหนัง โดยมี ชัยบรรฑิต พืชผลทรัพย์ และ อภิชาติ กำภู ณ อยุธยา เป็นผู้รับผิดชอบงานดนตรีประกอบ ส่วนงานตัดต่อและซาวดน์ดีไซเนอร์ เป็นผลงานของ ลี ชาตะเมธีกุล ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง 'เมืองมายา กรุงธิดา' ที่ได้รับรางวัลที่ 2 จากงานประกวดของมูลนิธิหนังไทย และเป็นผู้ที่ตัดต่อ 'สุดเสน่หา' ทีมงานทางด้านการออกแบบเสียงของลี ยังมีผู้ร่วมงานอีก 2 คนคือ แจสมิน วรบุตร ซึ่งเรียนมาทางด้านการออกแบบเสียงโดยตรงจาก Sanfrancisco State University และมี Custom Sound Recordist หรือ ผู้บันทึกเสียงพิเศษอย่าง ไพสิฐ พันธุ์พฤกษชาติ นักออกแบบเสียง ให้กับหนังอินดี้เรื่องดังหลายเรื่องในเมืองไทย ด้วยเหตุที่ว่า หนังเรื่องนี้จะออกพีเรียด วงการเพลงช่วงนั้นเป็นยุคก่อร่างสร้างตัว ของระบบเพลงจนถึงปัจจุบัน ยุค 80 มีเพลงแบบแปลกๆ เยอะมาก เพราะเป็นเพลงที่ทำตามโจทย์การตลาดมากๆ ปรากฏว่าเพลงเหล่านี้ ก็เข้ากับเนื้อหาของหนังเรื่องนี้มาก ทำให้เพลงดังหลายเพลงในยุคนั้น ถูกดึงมาทำใหม่เป็นซาวนด์แทร็ก โดยศิลปินในแบบอินดี้ ได้แก่ ใจสยิว (สี่เต่าเธอ), หนึ่งเดียวคนนี้ (นภ พรชำนิ), อยู่ไปวันๆ (HOLYBERRY), มนุษย์ค้างคาว (Blackhead), แมงมุม (Kidnappers), โธ่เอ้ยยย... (Stylish Nonsense), กล้าได้กล้าเสีย (CAD), ไม่อยากเป็นแปรงสีฟัน (Paradox), ผู้ชายในฝัน (ดี.เจ.ซี้ด), แม่มด (Bear garden), ผมรักคุณ (Day Tripper) นอกจากนี้ คงเดช ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ ยังได้แต่งเพลงใหม่ขึ้น คือ 'ฝันกลางวัน' โดยได้ พิมพาภรณ์ นางเอกของเรื่องเป็นผู้ขับร้อง ส่วนเพลงที่จะอยู่ในภาพยนตร์ และเป็นต้นฉบับจริงๆ ก็มีเช่น หนึ่งเดียวคนนี้, อยู่ไปวันๆ ของ อัญชลี จงคดีกิจ, China Girl ของ วงทู, แมงมุม ของ แสงระวี อัศวรักษ์, ไม่อยากเป็นแปรงสีฟัน ของ ปานามา และ ผู้ชายในฝัน ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ภาพยนตร์เรื่อง สยิว เป็นที่ฮือฮาและถูกจับตามองมากที่สุด ตั้งแต่อยู่ในช่วงระหว่างการถ่ายทำ จนกระทั่งปรากฎสายตาแก่ชาวไทย และชาวต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อย ด้วยการประเดิมฉายรอบพิเศษ เวิลด์พรีเมียร์ รอบแรกของโลก ไปในเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพนานาชาติครั้งที่ 1 (Bangkok International Film Festival) เมื่อต้นปี 2546 ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ถึงขนาดบัตรชมภาพยนตร์ในเทศกาลทั้ง 3 รอบ ถูกจำหน่ายหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว |