โหมโรง - The Overture
Official website
แนว : ดราม่า / ประวัติศาสตร์
ความยาว : 103 นาที
กำหนดฉาย : 6 กุมภาพันธ์ 2547

ณ ประเทศสยาม พุทธศักราช 2429 ศร เด็กหนุ่มที่มีความผูกพันกับดนตรีไทยมาตั้งแต่เกิด ต้องผ่านอุปสรรคนานัปการ กว่าจะได้รับการถ่ายทอดฝีไม้ลายมือในเชิงระนาดจาก ครูสิน บิดาซึ่งเป็นครูสอนดนตรีไทย ที่มีชื่อเสียงแห่งอัมพวา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากสูญเสียพี่ชาย ซึ่งเป็นนักระนาดหนุ่ม ที่ต้องพบจุดจบของชีวิต ด้วยน้ำมือของคู่ปรับ ผู้พ่ายแพ้ในการดวลระนาด ทำให้ครูสินหยุดการสอนดนตรีไทยลง จนกระทั่งได้รับการเตือนสติจากหลวงพ่อ ทำให้ครูสินคิดได้ว่า ไม่ควรปิดกั้นโอกาส และความสามารถของลูกชายคนเล็ก ที่มีพรสวรรค์ทางด้านระนาดตั้งแต่วัยเยาว์ จึงกลับมาสอนดนตรีไทยอีกครั้ง ศรในวัยสิบกว่าขวบ จึงได้รับการถ่ายทอดฝีมือในทางระนาดจากบิดา โดยมี ทิว เพื่อนสนิทเพียงคนเดียวที่คอยช่วยเหลือ เป็นทั้งกำลังใจและผู้ฟังที่ดีมาตลอด

จนย่างเข้าเป็นหนุ่ม ศร (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) กลายเป็นดาวเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือในเชิงระนาด ที่ยากจักหาใครทัดเทียมในอัมพวา ผ่านการประชันขันแข่งเวทีแล้วเวทีเล่า จนเกิดลำพองในฝีมือของตน

กระทั่งได้มีโอกาสเดินทางเข้าสู่บางกอก เมื่อบิดาได้พาไปชมการประชันทางด้านการแสดงระนาดของคณะครูแก้ว ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของบิดา ที่นั่นเองที่ศรได้เรียนรู้ถึงความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก เมื่อได้มีโอกาสขึ้นเล่นระนาดแทน นายขวด (บุ๋มบิ๋ม) ซึ่งเป็นมือระนาดเอกของคณะครูแก้ว จนตกอยู่ในห้วงการประชันทางฝีไม้ลายมือกับ ขุนอิน (อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า) นักระนาดเอกผู้มีทางระนาดที่แข็งกร้าวดุดัน และเป็น 1 ไม่เป็น 2 รองใคร จนพบกับความปราชัย

ศร ซี่งครั้งหนึ่งเคยมั่นใจ และลำพองในฝีมือระนาดของตนเอง ต้องเดินทางกลับบ้านด้วยหัวใจที่แตกสลาย เสียงระนาดอันดุดันหนักหน่วงของขุนอิน ยังคงดังกึกก้อง เป็นเหมือนภาพหลอนที่ยังคงอยู่ในศีรษะของเขา

หลังจากความภาคภูมิใจถูกทำลายไปจนหมดสิ้น แต่แล้วความสับสน ท้อแท้ สิ้นหวังกลับกลายเป็นความมุมานะที่จะฝึกฝนฝีมือ จนสามารถคิดค้นเทคนิคการตีระนาดที่ไม่เหมือนใคร จนชื่อเสียงของศรร่ำลือไปจนถึงพระบรมมหาราชวัง ศรได้รับการอุปถัมภ์ให้เป็นนักดนตรีประจำราชสำนักจากเจ้านายในวัง (สมภพ เบญจาธิกุล) จนได้พบกับ แม่โชติ (อาระตี ตันมหาพราน) สตรีผู้สูงศักดิ์ในวัง และได้กลายเป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมา

หนทางการเป็นนักระนาดเอกมือหนึ่งของแผ่นดิน ดูเหมือนยังคงห่างไกลจากจุดที่ศรยืนอยู่ ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ศรจะต้องเรียนรู้ ตั้งแต่การฝึกสมาธิ, การควบคุมสติ และอารมณ์ ที่พร้อมจะพลุ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่สามารถสะบัดเสียงตีระนาด ที่แสนจะบาดหูจากระนาดทางดุอย่างขุนอิน ยังมีบททดสอบอีกหลายประการ ที่การพิสูจน์ในความสามารถที่แท้จริงของศร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลายทางกับการประลองความสามารถทางระนาด กับมือหนึ่งของแผ่นดินอย่างขุนอิน ในที่สุด ศรก็สามารถเอาสติชนะขุนอินคู่ปรับเก่าได้

ศรเดินทางผ่านยุคทองของดนตรีไทย จากวัยหนุ่มสู่วัยชรา เขากลายมาเป็น ท่านครู (อดุลย์ ดุลยรัตน์) ครูดนตรีอาวุโส ผู้มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย รวมทั้ง เทิด (ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง) ลูกชายของทิว เพื่อนสนิทแต่วัยเยาว์ ซึ่งเดินทางมาขอฝากตัวเป็นศิษย์ และคอยอยู่ดูแลรับใช้ใกล้ชิด ในวัยที่ร่วงโรยนี้ ท่านครูยังคงเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งกระแสดนตรีตะวันตก ที่ ประสิทธิ์ (สุเมธ องอาจ) ลูกชายของท่านเอง ที่ได้เดินทางไปศึกษา และติดเอามาจากประเทศญี่ปุ่น

แต่แล้ว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของบ้านเมือง ทั้งด้านการปกครองและวัฒนธรรม รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประเทศ และพลเมืองให้มีความทันสมัย เป็นอารยะตามแบบชาติตะวันตก มีกฏระเบียบมากมายออกมา ควบคุมศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ รวมทั้งดนตรีไทย โดยมีนายทหารหนุ่ม พันโทวีระ (พงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง) เป็นผู้ดูแลนโยบายนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบ และสร้างความปวดร้าวแก่นักดนตรีไทยทุกคน รวมทั้งท่านครู ซึ่งยังคงหาญกล้า ใช้เสียงเพลงของเขาต่อสู้ เพื่อพิสูจน์คุณค่าของดนตรีไทยที่เขารักดั่งชีวิต

ดูเหมือนว่า ชะตากรรมจะนำให้บุรุษหนึ่ง ได้เดินทางผ่านยุคทองแห่งดนตรีไทย ค้นพบชัยชนะและความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญจากวัยเยาว์ สู่ช่วงบั้นปลายของวัยชรา จากจุดสูงสุดสู่จุดต่ำสุด เมื่อดนตรีไทยเริ่มถูกปิดกั้นจากทางรัฐบาล ที่ต้องการให้ประเทศเป็นศิวิไลซ์ เป็นอารยะตามแบบตะวันตก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้สร้างความปวดร้าวให้กับคนดนตรีไทยทุกคน รวมทั้งศร แต่เขาก็ยังหาญกล้าใช้เสียงเพลงต่อสู้ เพื่อให้ดนตรีไทยที่เขารักดั่งชีวิตนั้น อยู่รอดจากการถูกทำลาย...


สหมงคลฟิล์ม, พร้อมมิตร, ภาพยนตร์หรรษา และ กิมมิคฟิล์ม ภูมิใจเสนอ โหมโรง ถ่ายทอดภาพชีวิต และเส้นทางการมุ่งหน้า สู่ความเป็นนักระนาดเอกมือหนึ่งของแผ่นดิน จากอัตชีวประวัติบางส่วนของ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) บรมครูของนักดนตรีไทย ผู้ผ่านยุคทองที่รุ่งเรืองอย่างสูงสุด และยุคสมัยที่กล่าวได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุดของวงการดนตรีไทย ผลงานกำกับอีกครั้งของ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ คนทำหนังตัวจริง ที่เคยฝากฝีไม้ลายมือในผลงานระดับคุณภาพอย่าง 'ลูกบ้า เที่ยวล่าสุด' เมื่อปี 2536 และมีผลงานกำกับละครโทรทัศน์อย่าง 'พระจันทร์ลายกระต่าย' เมื่อปี 2542 และงานเขียนอย่าง 'เพียงความทรงจำเอาไว้เลย'

ภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง อำนวยการสร้างโดย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล, หม่อมกมลา ยุคล ร่วมอำนวยการผลิตโดย นนทรีย์ นิมิบุตร, ดวงกมล ลิ่มเจริญ, คุณากร เศรษฐี ควบคุมการผลิตโดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, พิศมัย เหล่าดารา ด้วยแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์โดย อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์, ดลกมล ศรัทธาทิพย์, พีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริ

โหมโรง หรือ The Overture นำแสดงโดย อนุชิต สพันธุ์พงษ์ (จาก 15 ค่ำ เดือน 11) รับบท ศร ในสมัยรัชกาลที่ 5, อดุลย์ ดุลยรัตน์ รับบท ท่านครู หรือ ศร ในยุคสมัยรัชกาลที่ 8, พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง รับบท พันโทวีระ นายทหารหนุ่มผู้ยึดมั่นในคำสั่งของรัฐบาล ในการปรับปรุงวัฒนธรรม ให้เทียบเท่าอารยะธรรมตะวันตก, อาระตี ตันมหาพราน รับบท แม่โชติ สตรีในวังผู้สูงศักดิ์ ผู้เป็นกำลังใจให้ศร, สุเมธ องอาจ รับบท ประสิทธิ์ ทายาทเพียงคนเดียว ของบรมครูทางด้านดนตรีไทยผู้ยิ่งใหญ่, ภูวฤทธิ์ พุ่มพวง (จาก โอเคเบตง) รับบท เทิด ลูกชายทิวเพื่อนสนิทของศร, อาจารย์ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า จากวง 'บอยไทย' รับบทเป็น ขุนอิน นักระนาดเอกมือฉกาจ คู่ปรับเก่าของศร ผู้ซึ่งทำให้ศรได้เรียนรู้ถึงความผ่ายแพ้เป็นครั้งแรก

ไม่เพียงเท่านี้ ภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง ยังได้บรรดานักแสดงระดับฝีมือ ทั้งหน้าเก่าและใหม่ มาร่วมถ่ายทอดความเข้มข้น และพลังความสามารถทางด้านการแสดง ได้อย่างเยี่ยมเต็มเปี่ยม อาทิ สมภพ เบญจาธิกุล รับบทของเจ้านายจากในวัง ผู้ทรงโปรดปรานในความงดงามของดนตรีไทย และเป็นผู้ผลักดันให้นักระนาดหนุ่มผู้ทะนงตนอย่างศร ได้กลายเป็นระนาดเอกมือหนึ่ง, ชุมพร เทพพิทักษ์ รับบท ทิว เพื่อนรักที่เป็นกำลังใจ และคอยอยู่เคียงข้างศร, บุ๋มบิ๋ม สามโทน รับบทเป็นนายขวด มือระนาดจอมอู้แห่งบางกอก ที่เปิดโอกาสให้ศร ได้ประชันกับขุนอินเป็นครั้งแรก, อุดม ชวนชื่น ศิลปิน ลิเก นักแสดงตลกรุ่นอาวุโส มารับบทเป็นช่างซ่อมเครื่องดนตรีไทย ในยุคสงครามโลก, สมชาย ศักดิกุล แห่ง 15 ค่ำเดือน 11 มาเป็นอีกหนึ่งนักแสดงรับเชิญ รวมไปถึงเหล่านักแสดง และอาจารย์ผู้คร่ำหวอดทางด้านดนตรีไทย มาร่วมถ่ายทอดความสามารถ ผ่านแผ่นฟิล์มอีกนับไม่ถ้วน อาทิเช่น อ.เกริกเกียรติ พันธุ์พิพัฒน์, ลูกปู ดอกสะเดา, มืด ไข่มุก, อ.อภิธาร สมานมิตร และ วัชรากร บุญเพ็ง

โอ - อนุชิต สพันธุ์พงษ์ นักแสดงหนุ่มจากภาพยนตร์เรื่อง '15 ค่ำ เดือน 11' มารับบท ศร ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งเขาต้องใช้เวลาในการหัดเล่นเครื่องไม้เครื่องมือ และฝึกซ้อมดนตรีไทยประเภทต่างๆ อาทิ ซอ ฆ้อง ระนาดทุ้ม ฉิ่ง โดยเฉพาะระนาดนานถึง 8 เดือน เพราะต้องสวมบทมือระนาดเอกฝีมือดี ที่มีแนวทางในการเล่นระนาดแนวใหม่ในสมัยนั้น นั้นคือการเล่นระนาดเชิงพริ้วไหว ซึ่งต้องโชว์ลีลาในการสะบัดข้อมือ ลงระนาดด้วยตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องกล้อนผมแต่งเนื้อแต่งตัวให้เข้ากับยุคสมัย โดยต้องนุ่งโจงกระเบน เพราะตัวละครที่เขาแสดง เดินเรื่องราวชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ต้องมีการเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ในการแสดง โดยเฉพาะการโชว์ฝีไม้ลายมือ ในการเล่นระนาดได้อย่างสมจริง ซึ่งกว่าจะได้อย่างที่เห็นในภาพยนตร์ ก็ต้องใช้ความสามารถ และพึ่งพาความอดทน ในการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง

ทีมงานสร้างประกอบด้วย ผู้กำกับภาพ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ (ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด, นางนาก, จันดารา, โกลคลับ, เจ็ดประจัญบาน, ตะเคียน, องค์บาก, องคุลีมาล, ละครโทรทัศน์เรื่อง 'พระจันทร์ลายกระต่าย') บันทึกเสียงโดย คอนราด แบรดลี่ สเตเลอร์ ฝึกสอนดนตรีโดย อาจารย์ถาวร ศรีผ่อง ผู้เล่นระนาดเอกให้กับมหาราชาคอนแชร์โต และเป็นมือระนาดที่สามารถเล่นระนาดโชว์ พร้อมกันทีเดียวถึง 4 ราง ที่ปรึกษาดนตรีโดย อัษฎาวุธ สาคริก อาจารย์ผู้สอนและทำงานเผยแพร่ดนตรีไทย ในมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ ที่ปรึกษาการแสดงโดย อรชุมา ยุทธวงศ์ กำกับศิลป์โดย รัชชานนท์ ขยันงาม, นวชาติ สำเภาเงิน, เกียรติชัย คีรีศรี ออกแบบเครื่องแต่งกายโดย พราวเพลิน ตั้งมิตรเจริญ ออกแบบหน้า-ผมโดย มนตรี วัดละเอียด ผู้ช่วยผู้กำกับได้แก่ พีระศักดิ์ ศักดิ์ศิริ (ขอเก็บหัวใจไว้ที่เธอ, ฉลุยหิน), สวนีย์ อุทุมมา, นฤมล สุทัศนะจินดา, ศรีรัตน์ บุญวัธนะศักดิ์ ดนตรีประกอบโดย ชาติชาย พงษ์ประภาพันธุ์ (นางนาก, จันดารา, โคลนนิ่ง คนก๊อปปี้คน, มนต์รักทรานซิสเตอร์, บางระจัน, ขุนแผน, นช.นักโทษชาย, ตะลุมพุก, องคุลีมาล, โอเคเบตง) และ ชัยภัค ภัทรจินดา


เกร็ดภาพยนตร์

  • เพลงโหมโรง หมายถึงเพลงที่บรรเลงก่อนที่จะแสดงโขน ละคร หรือก่อนที่จะมีการบรรเลงดนตรี เพลงโหมโรงเป็นเพลงบรรเลงล้วนๆ ไม่มีการขับร้อง และกลายเป็นเพลงสัญลักษณ์ ก่อนที่จะเปิดการแสดงใดๆ ที่ต้องใช้ดนตรีไทยประกอบ

    จุดประสงค์ที่แท้จริงที่ต้องมีเพลงโหมโรงก่อนนั้น มีผู้ให้ข้อสันนิษฐานไปหลายทาง เช่น เป็นเสียงโฆษณาให้ทราบว่า จะมีการแสดงดนตรีหรือมหรสพ หรือการแสดงนั้นๆ กำลังจะเริ่มขึ้นแล้วบ้าง เป็นการอุ่นเครื่องให้กล้ามเนื้อทำงานได้คล่องแคล่ว เพื่อให้บรรเลงเพลงต่อไปได้สะดวกขึ้นบ้าง เป็นการทดสอบความถูกต้องของเสียงในเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้องบ้าง จนถึงการเอาภูตผีเทวดา เทพเจ้า เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบรรเลงก็มี อันล้วนแล้วให้เกิดประโยชน์ ทั้งผู้ฟังดนตรีและนักดนตรีเอง

    มีผู้ให้ข้อคิดเห็นว่า เพลงโหมโรงของไทย มีส่วนคล้ายกับเพลงโหมโรงของชาวตะวันตกที่เรียกว่า Overture แต่จะต่างกันตรงที่ว่า เพลงโหมโรงของไทยบรรเลงก่อนจะเปิดการบรรเลงดนตรี หรือแสดงโขน ละคร ส่วน Overture ของตะวันตก บรรเลงก่อนที่จะเปิดการแสดงโอเปร่า (Opera)

  • ระนาดเอก เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากกรับ โดยประดิษฐ์ไม้กรับให้มีขนาดลดหลั่นกัน โดยประดิษฐ์ไม้กรับให้มีขนาดลดหลั่นกัน เจาะรูร้อยเชือกแล้วนำไปแขวนบนรางไม้ เพื่อช่วยอุ้มเสียงให้เกิดความไพเราะ ลักษณะของระนาดค่อยเปลี่ยนแปลงขึ้นเรื่อยๆ มีเสียงไพเราะยิ่งขึ้น จนถือว่าเป็นเสียงมาตรฐานในวงดนตรีไทย ระนาดรางหนึ่งจะมี 21 ลูก คำว่าระนาด เป็นคำไทยแผลงมาจากคำว่า "ราด" หมายถึงการวางเรียงแผ่ออกไป นับเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญของวงปี่พาทย์ไทย ทำหน้าที่แปลงลูกฆ้องให้เป็นทำนองเต็ม มีกลเม็ดสลับซับซ้อน มีเก็บ สะบัด ขยี้ ฯลฯ ผู้เล่นจะต้องมีความสามารถ มีความชำนาญ เพราะระนาดเอกมีเสียงเด่น และเป็นเสียงนำในวงปี่พาทย์

  • ก่อนที่จะมาใช้ชื่อภาพยนตร์ว่า โหมโรง อิทธิสุนทรได้ตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Overture มาก่อน ความหมายของทั้งสองคำคล้ายคลึงกัน สิ่งที่เหมือนกันคือ ทั้งสองคำต่างเป็นศัพท์ของการเล่นดนตรี และมีเป้าหมายคือเล่นเพื่อเปิดการแสดง เพื่อประกาศว่าดนตรีจะเริ่มแล้ว หรือเป็นการเล่นเพื่อวอร์มอัพ แต่ก่อนหน้านี้ ในระหว่างที่ภาพยนตร์กำลังอยู่ในระหว่างการถ่ายทำ ระนาดเอก 5 แผ่นดิน เคยเป็นตัวเลือกหนึ่ง ของชื่อที่ใช้สื่อสารให้กับคนทั่วไป ได้ทราบถึงความเคลื่อนไหวของโปรเจ็คต์ แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ที่อาจทำให้นึกถึงภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ในอดีต เรื่อง "ระนาดเอก" ทำให้ในท้ายที่สุด จึงมาลงตัวที่ชื่อของ โหมโรง หรือ The Overture